Link Copied!

ด้านที่ไม่สวยงามของทีม “ผู้ลี้ภัย” โอลิมปิก

กีฬาดูจะเป็นเรื่องไกลตัว เมื่อคุณไม่มีประเทศให้อยู่ ไม่มีอนาคตให้มองเห็น กว่า 25 ปีที่ผ่านมาคณะกรรมการโอลิมปิกสากลจับมือกับองค์การผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติพยายามส่งเสริมให้ “ผู้ลี้ภัย” จากทั่วโลกเข้าถึงกีฬา และสุดท้ายนักกีฬาไร้สัญชาติเหล่านั้นก็มีโอกาสลงแข่งขันในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ จากครั้งแรกใน “โอลิมปิก”  2016 มาจนถึงครั้งนี้ในโตเกียวเกมส์ 2020 

ท่ามกลางขบวนพาเหรดของนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกในพีธีเปิดโอลิมปิก 2016 มีนักกีฬา 10 คนเดินตามธง”“โอลิมปิก” ลงสนามภายใต้ชื่อ “ทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิก” (IOC Refugee Olympic Team) กลายมาเป็นความหวังและแสงสว่างให้ “ผู้ลี้ภัย” กว่า 20.7 ล้านคนทั่วโลก 5 ปีต่อมาทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิกเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้งที่กรุงโตเกียว คราวนี้มีนักกีฬามากกว่าเดิมเกือบ 3 เท่าตัว ด้วยจำนวนนักกีฬา 29 คน จาก 13 ประเทศที่ต่างลี้ภัยออกจากบ้านเกิด เพื่อลงสนามแข่งขันใน 12 ชนิดกีฬา 

อีกครั้งที่มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติจะเป็นเวทีของการก้าวข้ามสงคราม ความยากจน และข้อจำกัดต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีด้านที่ไม่สวยงามสำหรับทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิก ย้อนกลับไปในปี 2019 ท่ามกลางนักวิ่งกว่า 2,880 คนลงแข่งในการวิ่งระยะทาง 10 กิโลเมตรที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ชนะเป็นเด็กกำพร้าจากซูดานใต้ซึ่งหนีไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่เคนยา “โดมินิค โลคินโยโม โลบาลู” ยืนอยู่บนสุดของแท่นรับรางวัล ในมือถือถ้วยแชมป์และช่อดอกไม้ หลังพิธีการ เขาเอ่ยปากถามผู้จัดการทีมถึงเงินรางวัลที่เขาจะได้รับ แต่คำตอบที่ได้คือ จะคุยกันเมื่อกลับไปถึงเคนยา 

โลบาลูเคยฝันว่าเขาจะเป็นคนแรกจากทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิกที่คว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งในโตเกียวมาครองให้ได้ แต่กลับกลายเป็น 1 ในนักวิ่ง 6 คนจากทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิกที่ออกจากค่ายฝึกซ้อมและออกจากทีมในระหว่างปี 2017-2019 โดยหลังการวิ่งที่กรุงเจนีวาและมีบทสนทนากับผู้จัดการทีม โลบาลูตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิต และความฝันที่จะคว้าเหรียญโอลิมปิก 

ความคิดที่ว่าผู้ลี้ภัยไม่ควรจะเรียกร้องอะไร นักกีฬาผู้อพยพควรยอมรับสิ่งที่ถูกหยิบยื่นให้ ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงินก็ตาม ทำให้นักกีฬาไร้สัญชาติเหล่านี้เลือกเดินออกมาจากทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิก “พวกเราไม่สามารถพูดคุยเรื่องเงิน พวกเราแค่ต้องไป และกลับมาที่ค่าย พวกเขาพาเราไปเจนีวา พวกเราไม่ควรพูดอะไร เพราะพวกเราเป็นแค่ผู้ลี้ภัย” โลบาลูเอ่ย ก่อนรุ่งเช้าหลังวันแข่งขันที่เจนีวา โลบาลูและเพื่อนร่วมทีมอีกคนหนึ่งออกจากโรงแรม ไม่ทิ้งข้อความบอกกล่าวใดๆ ทั้งสองคนเดินเข้าไปในเมืองที่พวกเขาไม่รู้จัก ไม่มีเงินติดตัว มีแผนแค่ว่าพวกเขาจะไม่กลับไปค่ายที่เคนยา และจะหาวิธีอยู่ต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ให้ได้ แต่สิ่งที่แลกมาคือการอดลงแข่งในกีฬาโอลิมปิก 

สามเดือนหลังจากโลบาลูไม่กลับเคนยา ค่ายผู้ลี้ภัยในสวิตเซอร์แลนด์ติดต่อ มาร์คุส ฮักมันน์ โค้ชวิ่งในสวิตเซอร์แลนด์ โดยบอกว่า มีผู้ลี้ภัยจากซูดานใต้ที่ต้องการเป็นนักวิ่ง ฮักมันน์เชิญโลบาลูและเพื่อนมาที่สโมสรของเขา ซึ่งฮักมันน์รู้ทันทีเลยว่า เจอเพชรในตมแน่นอนแล้ว เขาส่งโลบาลูลงแข่งรายการแรกที่สามารถทำได้ และนักวิ่งลี้ภัยก็ชนะ ฮักมันน์มอบเงินรางวัลให้โลบาลูทั้งหมด ตอนนี้โลบาลูยังลงวิ่งและคว้าแชมป์รายการต่างๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เพราะออกจากโปรแกรมของทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิกและไม่มีสัญชาติ ต่อให้เก่งแค่ไหนเขาก็จะไม่ได้ลงแข่งโอลิมปิก ตอนนี้โลบาลูมีสปอนเซอร์สนับสนุนและยังคงฝึกซ้อมต่อไป โดยมีความพยายามเดินเรื่องขอสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์เพื่อลงแข่งในโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ติดอยู่ตรงที่การขอสัญชาติอาจจะกินเวลายาวนานถึง 10 ปี ฝันที่จะวิ่งในโอลิมปิกอาจจะล่มสลายไปก่อน 

กรณีของโลบาลูเปิดประตูให้ตั้งคำถามถึงการทุจริตในค่ายฝึกซ้อมทีมผู้ลี้ภัยแห่งโอลิมปิก เชื่อกันว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสากลตั้งงบราวๆ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระหว่างปี 2016-2021 เพื่อออกทุนให้กับ 56 นักกีฬาผู้ลี้ภัยทั่วโลก โดยนักกีฬาแต่ละคนมีงบประมาณเดือนละ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐซึ่งจ่ายผ่านทางค่ายฝึกซ้อม ผ่านองค์กรต่างๆ แต่ปรากฏว่าค่ายฝึกซ้อมบางแห่งมอบเงินให้นักกีฬาแค่ 46 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเท่านั้น ยังไม่รวมบรรดาเงินรางวัลจากการลงแข่งขันในรายการต่างๆ ของนักกีฬาจากทีมผู้ลี้ภัยที่บางคนไม่เคยได้รับเลยแม้แต่ดอลลาร์เดียว 

ค่ายของโลบาลูอยู่นอกเมืองไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ก่อตั้งโดย เลกลา โลรูเป ตำนานนักวิ่งชาวเคนยา เจ้าของแชมป์นิวยอร์กมาราธอน 2 สมัย องค์กรของเธอเป็นแรงบันดาลใจการก่อตั้งทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิก นักกีฬาที่แยกตัวออกจากทีมก็ยังพูดถึงค่ายนี้ว่า การได้ฝึกซ้อมที่ค่ายเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขา ทำให้พวกเขามีจุดมุ่งหมายในชีวิต แต่ด้วยเหตุผลใดก็ตามนักกีฬาหลายคนตัดสินใจออกจากค่ายเพื่อไปหาชีวิตใหม่ เมื่อโลรูเปถูกถามถึงเรื่องเงินสำหรับนักกีฬา เธอบอกว่า “นักกีฬาของเราไม่ได้อยู่เพื่อจะได้รับเงิน พวกเขาอยู่เพื่อเหตุผลบางอย่าง”

โลบาลูบอกว่าในฐานะนักกีฬาผู้ลี้ภัย พวกเขารู้สึกว่าไม่มีการสนับสนุน หรือเสนอความช่วยเหลือในการออกจากค่าย ออกจากชีวิตแบบนั้น ค่ายฝึกซ้อมผู้ลี้ภัยต้องการเก็บพวกเขาไว้ที่นั่น จุดมุ่งหมายของค่ายไม่ได้ทำเพื่อนักกีฬาจริงๆ นักกีฬาทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิกหลายคนจากริโอเดจาเนโร ในปี 2016 ยังคงไม่ได้รับโอกาสจริงๆ จังๆ ในฐานะนักกีฬาหลังจากมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติจบลง

จากจุดเริ่มต้นของความตั้งใจดี เพื่อส่งต่อความหวังและความฝันให้ผู้ลี้ภัยทั่วโลก ในทางอ้อมทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิกกำลังทำร้ายความฝันของนักกีฬาบางคน เหมือนโลบาลู ที่ฝันในการลงแข่งโอลิมปิกดูจะห่างไกลออกไปเรื่อยๆ

บทความอ้างอิงจาก Time Magazine

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares