เกมหมากรุก มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เกี่ยวข้องคู่ขนานกับประวัติศาสตร์ของมนุษย จะกล่าวว่าเป็นเกมการละเล่นแห่งมวลมนุษยชาติก็คงไม่เกินเลยไปนัก และเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์เกมหมากรุกว่า เกมหมากรุกหลายชนิดส่วนใหญ่พัฒนามาจากจุดเริ่มต้นเดียวกันจากทางแถบภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียในยุคโบราณ อีกนัยหนึ่งคือถือกำเนิดมาจากรากเหง้าเดียวกันนั่นเอง
เราได้นำเสนอข้อเปรียบเทียบในเรื่องของตัวหมาก ระหว่างหมากรุกสากลและหมากรุกไทยไปบ้างแล้ว โดยที่ผ่านมาได้ยกเอาความเหมือนกันของตัวหมากคิงกับขุน อัศวินกับม้า และหอรบหรือรุคกับเรือมานำเสนอพอสังเขป ในตอนนี้จะพูดถึงความแตกต่างของตัวหมากที่เหลืออยู่ ซึ่งทำให้เกมหมากรุกไทยและสากลมีลักษณะเฉพาะตัวหรือฟีเจอร์ (features) ที่แยกกันอย่างโดดเด่นและชัดเจน
หมากควีน ในเกมหมากรุกสากล คือตัวหมากที่ทรงพลานุภาพและทรงคุณค่าอย่างมากที่สุดถ้าจะมองเปรียบเทียบกับพระสวามีของพระนางที่ประทับยืนเคียงข้างกัน จริงอยู่ว่าหมากคิงแม้จะไม่มีอานุภาพ ไม่มีฤทธิ์เดชเสมอเหมือนพระมเหสี แต่ผลแพ้ชนะ ความเป็นอยู่ และการล่มสลายของกองทัพทั้งหมดขึ้นอยู่กับชะตากรรมความอยู่รอดของตัวหมากตัวนี้ การที่คิงถูกจับได้หรือถูกรุกจน (checkmate) มีผลทำให้เกมการเล่นนั้นจบสิ้นลง
กติกากำหนดไว้ว่า หมากคิงฝ่ายไหนถูกรุกจน ฝ่ายนั้นพ่ายแพ้ แต่มีหลายครั้งที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสูญเสียหมากควีนไปอย่างรวดเร็วและเปล่าประโยชน์ในช่วงต้นเกม หรือขณะที่เกมอยู่ในจุดวิกฤติหรือมีความความตึงเครียดสูงสุด ผู้เล่นที่สูญเสียหมากควีนอาจจะประกาศขอยอมแพ้ตั้งแต่ตาเดินที่เสียควีนนั้นก็เป็นได้
ไม่เกี่ยวกับการสูญเสียพระนางอันเป็นที่รัก พระชายาผู้เป็นยอดดวงใจไปแล้ว พระราชาจะรู้สึกโศกเศร้าตรอมพระทัยจนไม่อาจทำการศึกสงครามต่อไปได้ แต่เป็นเพราะการสูญเสียหมากควีนไปอย่างรวดเร็วและไม่คุ้มค่า ทำให้ทิศทางของเกมมีแนวโน้มที่จะตกเป็นรองจนถึงพ่ายแพ้ได้ในอนาคต
ยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัดว่า เพราะเหตุใดเมื่อเกมหมากรุกได้เผยแพร่เข้าสู่ทวีปยุโรป ตัวหมากที่ยืนเคียงข้างหมากคิงจึงปรับเปลี่ยนพัฒนากลายเป็นหมากควีนที่ทรงพลัง ทรงประสิทธิภาพ จนเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองเกี่ยวกับเพศสตรีในยามศึกสงครามไปอย่างสิ้นเชิง
บางข้อมูล บางทฤษฎี กล่าวอ้างถึงสตรีในราชวงศ์ของยุโรปหลายพระนางที่ทรงอิทธิพลในเวทีการเมืองการทูตระหว่างประเทศอย่างโดดเด่น เช่น พระนางวิกตอเรียแห่งจักรวรรดิอังกฤษ พระนางเจ้าอิซาเบลแห่งจักรวรรดิสเปน หรือแม้แต่พระนางมารี อังตัวแน็ต แห่งฝรั่งเศส ล้วนแต่มีบทบาทและมีอิทธิพลอย่างมากในด้านการบริหารและการปกครองประเทศ
ภายหลังการเกิดขึ้นของเกมหมากรุกจัตุรงค์ (chaturanga) เมื่อเกมได้พัฒนาปรับเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ ด้วยการยุบกองทัพจากสี่กองพล เหลือเพียงสองทัพ จอมราชันย์ผู้นำทัพที่เคยมีถึงสี่พระองค์ก็เหลือแค่สอง และอีกสองตำแหน่งที่ว่างลงก็ถูกวางให้เป็นตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” (chancellor) ยืนเคียงข้างใกล้ชิดองค์จอมทัพนั่นเอง
อ้างอิงจากเว็บไซต์ chess.com ที่เปิดให้เล่นหมากรุกสากลออนไลน์ยอดนิยม ได้อธิบายถึงตัวหมากที่ยืนตำแหน่งข้างหมากคิงว่า เป็นตัวหมากที่เสมือนเป็นทหารมหาดเล็กหรือทหารรับใช้ส่วนพระองค์ ส่วนประสิทธิภาพและความสามารถในการเคลื่อนที่แตกต่างจากตัวหมากควีนในยุคปัจจุบันมาก ถ้าท่านผู้อ่านรู้จักเกมหมากรุกไทย ตัวหมากทหารมหาดเล็กนั้นเดินเหมือนอย่าง “เม็ด” ด้วยการเดินแนวทแยงทั้งสี่ทิศด้วยระยะก้าวเพียงหนึ่งช่องตา นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญระหว่างหมากเม็ดและหมากทหารมหาดเล็ก ในขณะที่หมากรุกไทยยังรักษาความดั้งเดิมของตัวหมากตัวนี้เอาไว้ แต่ในเกมหมากรุกสากล ตัวหมากมหาดเล็กมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปมากจนกลายเป็นหมากควีนในที่สุด
ตัวหมากคิง ควีน และรุคนั้น เป็นตัวหมากที่สามารถเดินไปยืนตำแหน่งได้ทุกช่องตาบนกระดานหมากรุก ในกรณีนี้ก็ต้องนับรวมหมากม้าหรืออัศวินก็สามารถเดินไปยืนตำแหน่งได้ทุกช่องตาเช่นกัน แต่กับหมากเม็ดของหมากรุกไทย หรือหมากมหาดเล็กของเกมจัตุรงค์สองกองทัพ กลับมีความสามารถในการยืนตำแหน่งตัวเองได้เพียงสามสิบสองช่องตา หรือพื้นที่เพียงครึ่งกระดานเท่านั้น รวมไปถึงเบี้ยหมากรุกไทยที่ได้หงาย (หรือหมากรุกสากลเรียกว่า เลื่อนชั้น) หรือเบี้ยหงาย ซึ่งมีคุณลักษณะและประสิทธิภาพการเคลื่อนที่เหมือนกับเม็ดทุกประการ เพียงแต่ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องยกเบี้ยตัวที่ได้เลื่อนชั้นออกนอกกระดาน แล้วเปลี่ยนเป็นตัวหมากเม็ด เพียงแค่พลิกเบี้ยตัวนั้นหงายท้อง หรือหงายอีกด้านกลับขึ้นมา เท่านี้การเลื่อนชั้นก็เสร็จสมบูรณ์
ปรมาจารย์หมากรุกไทย หม่อมเจ้าอนันตนรไชย (เติม เทวกุล) เป็นนักวิชาการทางทฤษฎีวิชาหมากรุกไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2490 ได้แต่งกลรูปหมากเป็นกลปริศนาลงในคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวันต่อเนื่องกัน โดยท่านได้พยายามเชื่อมโยงอ้างอิงระบบการบันทึกการเดินหมากของหมากรุกไทยให้ได้มาตรฐาน เป็นระบบระเบียบชัดเจน มีการกำหนดตัวอักษรย่อภาษาไทยไว้สำหรับใช้เรียกหรือบันทึกตัวหมากเช่นเดียวกันกับทางหมากรุกสากล ในขณะที่ทางฟากหมากรุกสากลใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตัว Q (คิว) ไว้สำหรับเรียกแทนหมากควีน หม่อมเจ้าอนันตนรไชยใช้ตัวพยัญชนะไทย น (นอหนู) แทนการเรียกหมากเม็ด นัยว่าเป็นตัวพยัญชนะที่ย่อมาจากคำว่า “นาง” หรือ “พระนาง” ซึ่งใช้และเข้าใจในความหมายที่รู้ว่าคือ หมากควีน ด้วยหม่อมเจ้าอนันตนรไชยเองก็จัดว่าเป็นนักหมากรุกสากลที่มีฝีมือคนหนึ่ง
มาในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2500 อาจารย์นักหมากรุกไทย อ. ไชยา รัตนกุล ได้เริ่มจดบันทึกการแข่งขันเกมหมากรุกไทยด้วยระบบการบันทึกแบบพิกัดสองแกน ซึ่งมีความเหมือนและใกล้เคียงอย่างมากกับระบบการบันทึกการเดินหมากของหมากรุกสากลแบบพีชคณิต หรืออัลจีบราอิค ซิสเต็ม เชส โนเทชั่น (Algebraic system chess notation) และในช่วงนี้มีการบันทึกสัญลักษณ์ตัวย่อภาษาไทยสำหรับหมาก “เม็ด” ว่า “ม็” (มอม้าไม้ไต่คู้) โดยมีไม้ไต่คู้บนมอม้าเพื่อให้ต่างจากมอม้าที่ไม่มีไม้ไต่คู้ซึ่งแทนหมากม้าหรืออัศวินนั่นเอง
เป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่ความคล้ายและความเหมือนหลายๆ อย่างของเกมหมากรุกไทยและหมากรุกสากล ทำให้การเชื่อมโยงกันทางวิชาการและทฤษฎีของการเดินหมากหมากรุกไทยพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในระยะประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งนักวิชาการ นักทฤษฎี หรือที่เราเรียกกันว่าปรมาจารย์หมากรุกไทยหลายๆ ท่านในยุคก่อนล้วนมีความสามารถในการเล่นทั้งหมากรุกไทยและหมากรุกสากล คงจะเพราะหลายท่านได้มีโอกาสศึกษาในโรงเรียนของทางตะวันตก หรือมีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศ จึงสามารถต่อยอดและวางรากฐานบางประการให้กับทฤษฎีวิชาการหมากรุกไทยจนดำรงอยู่มาถึงทุกวันนี้
ถึงตรงนี้ต้องสรุปว่า ด้วยความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างตัวหมากเม็ดและควีนนี้ จึงทำให้เกมหมากรุกไทยแตกต่างอย่างเด่นชัดจากหมากรุกสากล หมากเม็ดยังคงรักษาคุณลักษณะความเป็นของเดิมจากเกมจัตุรงค์ได้มากกว่าหมากควีน ซึ่งพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปไกลมาก ซึ่งมีผลสำคัญต่อรูปแบบการเล่นและความเป็นไปของเกม นักหมากรุกส่วนใหญ่ให้ความเห็นและยอมรับกันว่า รูปแบบความเป็นไปของเกมหมากรุกสากลนั้นรุนแรง รวดเร็ว และดุดันมากกว่าหมากรุกไทย ก็เพราะคุณลักษณะที่ต่างกันมากของหมากเม็ดและควีนนั่นเอง
ยังมีตัวหมากอีกหนึ่งชนิดที่มีส่วนช่วยทำให้เกมหมากรุกไทยนั้นแปลกแยกจากหมากรุกสากล นั่นคือ หมากโคนของไทย กับหมากบิชอพของทางสากล ซึ่งจะนำมาเสนอในตอนหน้าครับ
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม