Link Copied!

ดูบอลเป็นเรื่อง Mind : The Name of the Game

เคยได้ยินมาบ่อยครั้งว่าจิตใจแข็งแกร่งของนักกีฬานั้นสำคัญมากพอๆ กับสมรรถภาพทางร่างกายที่แข็งแรงเพื่อให้ได้ชัยชนะในการแข่งขัน ผู้เขียนจึงตั้งใจติดตามโอลิมปิกครั้งนี้ เฝ้าดูในมุมของสภาพจิตใจของนักกีฬาหลายคนมาตลอดรายการ มาดูตัวอย่างกันครับว่านักกีฬาคนไหนมีสภาพจิตใจอย่างไรกันบ้าง

โดยทั่วไปแล้วการฝึกสภาพจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากกับกีฬาอาชีพ และลดน้อยลงไปในกีฬาสมัครเล่น แต่ในโอลิมปิกครั้งนี้กลับแย้งว่า ไม่ว่าจะเป็นกีฬาอาชีพหรือกีฬาสมัครเล่น จิตใจนั้นส่งผลต่อผลการแข่งขันไม่น้อยเลย

กีฬาหลายประเภทเอาชนะกันที่สภาพจิตใจ ไม่ว่ากีฬาอย่างกอล์ฟ กรีฑา หรือเทควันโด ที่นักกีฬาทีมชาติไทยหลายคนก็ลงสนามแข่งขัน

เริ่มจากการแข่งขันกอล์ฟชาย โปรแจ๊ส อติวิชญ์ เจนวัฒนานนท์ (มือวางอันดับ 33 ของรายการ) ลงเล่นกอล์ฟโอลิมปิกวันแรกออกรอบกับ แม็คเคนซี ฮิวจ์ส โปรชาวแคนาดา (21) กับ อเล็กซ์ โนเรน นักกอล์ฟชาวสวีเดน (27) การออกก๊วนกับนักกอล์ฟฝีมือใกล้เคียงกันทำให้โปรแจ๊สไม่กดดันมากนัก อีกทั้งตัวเองเพิ่งได้รองแชมป์ในรายการเคนยา สวันนา คลาสสิก เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เมื่อไม่มีความกดดันโปรแจ๊สก็สามารถเล่นได้ดี ทำคะแนนได้ถึง 7 อันเดอร์พาร์ อยู่อันดับ 2 ของนักกอล์ฟทั้งหมดในรายการ โดยเพื่อนร่วมก๊วนตี 2 อันเดอร์พาร์ และ 4 อันเดอร์พาร์ ในขณะที่นักกอล์ฟชื่อดังหลายคนยังต้องปรับตัวกับสภาพอากาศอยู่

พอเข้าวันที่สอง โปรแจ๊สยังคงออกรอบในก๊วนเดิม แต่วันนี้ อเล็กซ์ โนเรน ตีได้สม่ำเสมอขึ้น ทำคะแนน 3 อันเดอร์พาร์ใน 9 หลุมแรก และทำเพิ่มอีก 1 อันเดอร์พาร์ในหลุม 11 รวมถึงนักกอล์ฟชื่อดังที่ทำคะแนนวันแรกไม่ดีก็เริ่มจะคุ้นเคยกับสนามและสภาพอากาศ จึงทยอยกันทำคะแนนไล่ตามขึ้นมา บางคนก็ทำแต้มแซงหน้าขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นนักกอล์ฟชาวสหรัฐ แซนเดอร์ ชาฟเฟิล (3) หรือนักกอล์ฟเจ้าถิ่น ฮิเดกิ มัตสึยามะ (7) ที่เพิ่งคว้าแชมป์รายการเมเจอร์ มาสเตอร์ ทัวร์นาเมนต์มาหมาดๆ รวมถึงนักกอล์ฟชื่อดังอย่าง รอรี แม็คอิลรอย (5), พอล เคซีย์ (8) และ ทอมมี ฟลีทวูด (13)

วันนี้โปรแจ๊สได้รับความกดดันรอบด้าน แม้ไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด จาก 1 เบอร์ดี้ 1 โบกี้ แต่ก็ไม่สามารถทำคะแนนเพิ่มได้ในรอบนี้ ยังคงเกาะอยู่อันดับที่ 7 ด้วยคะแนนเท่าเดิม

ถึงวันที่สาม โปรแจ๊สต้องออกรอบพร้อม รอรี แม็คอิลรอย ชาวไอร์แลนด์ เจ้าของแชมป์เมเจอร์ 4 สมัย จากยูเอส โอเพน 2 ครั้ง, พีจีเอ แชมเปี้ยนชิพ 1 สมัย และ ดิ โอเพน อีก 1 สมัย และ เชน ลาวรีย์ นักกอล์ฟชาวไอร์แลนด์อีกคนหนึ่ง มือวางอันดับ 16 ซึ่งมีดีกรีเป็นแชมป์เมเจอร์ ดิ โอเพน ปี 2019

วันที่สามนี้เห็นได้ชัดว่าโปรแจ๊สไม่สามารถตีได้อย่างวันแรก เพราะโดนนักกอล์ฟชาวไอร์แลนด์ทั้งสองคนกดดัน รอรีทำเบอร์ดี้ตั้งแต่หลุมแรก ขณะที่โปรแจ๊สพลาดเสียโบกี้ โดย 9 หลุมแรกรอรีและเชนทำไปคนละ 4 เบอร์ดี้ 1 โบกี้ ส่วนโปรแจ๊สนั้นหลังจากเสียโบกี้ไปในหลุมแรก ก็ยังหาเบอร์ดี้มาคืนไม่ได้ จนกระทั่งครบ 18 หลุม โปรแจ๊สทำคะแนนเกินไป 1 โอเวอร์พาร์ คะแนนรวมอยู่ที่ 6 อันเดอร์พาร์ อันดับหล่นลงไปที่ 28 ร่วม ขณะที่เพื่อนร่วมก๊วนอย่าง รอรี แม็คอิลรอย ตีได้ 4 อันเดอร์พาร์ และ เชน ลาวรีย์ ตีได้ 3 อันเดอร์พาร์

วันสุดท้ายนั้นโปรแจ๊สได้ออกก๊วนเดียวกับ ฟาบริซิโอ ซานอตติ นักกอล์ฟชาวปารากวัย ที่มีอันดับต่ำกว่าโปรแจ๊สมาก และ ซามี วาลิมากิ นักกอล์ฟชาวฟินแลนด์ที่มีอันดับโลกสูสีกัน เมื่อไม่ถูกกดดันโดยเพื่อนร่วมก๊วน ไม่ต้องคาดหวังถึงเหรียญรางวัล โปรแจ๊สก็กลับมาทำต่ำกว่าพาร์สนามอีกครั้ง จบวันสุดท้ายด้วยคะแนน 3 อันเดอร์พาร์ รวม 4 วันตีได้ 9 อันเดอร์พาร์ 275 ได้อันดับ 27

กรณีของกอล์ฟ ถ้าใครได้ชมจะเห็นได้ชัดเจนจากสีหน้าค่าตา วันแรกโปรแจ๊สสีหน้าผ่อนคลาย มีรอยยิ้มตลอดวัน พอเข้าวันที่สองสีหน้าที่สดใสหายไป แม้ว่าในช่วงวันท้ายๆ การถ่ายทอดสด จะไม่ได้เห็นโปรแจ๊สเท่าไรเพราะคะแนนไม่ได้อยู่ในลีดเดอร์บอร์ด แต่อาศัยการสังเกตสีหน้าของเพื่อนร่วมก๊วนอย่างรอรีและเชนแทน

มาต่อกันที่วิ่ง 10,000 เมตร หลังการแข่งขัน คิริน ตันติเวทย์ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอากาศร้อนชื้นที่ญี่ปุ่นมีผลต่อการแข่ง และมีผลกับนักวิ่งทุกคนด้วย แม้กระทั่งเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกครั้งนี้อย่าง เซเลมอน บาเรกา ชาวเอธิโอเปีย ยังทำเวลาตั้ง 27:43.22 นาที ซึ่งมากกว่าสถิติที่ดีที่สุดของคิรินเอง (27:17.14 นาที) เสียอีก

ผู้เขียนเองไม่ค่อยถนัดเรื่องวางแผนการวิ่งเท่าไรนัก ตอนถ่ายทอดสดจึงอาศัยการสังเกตสีหน้าของนักวิ่งเป็นหลัก ตั้งแต่ยืนอยู่ที่จุดสตาร์ตก่อนเริ่มแข่ง จะเห็นว่าสีหน้าคิรินแน่วแน่ ตั้งใจมั่น และด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งของเขานั้นทำให้สามารถวิ่งจนจบการแข่งขัน สร้างสถิติเป็นคนไทยคนแรกที่เข้าร่วมวิ่ง 10,000 เมตร และเข้าเส้นชัยได้ในการแข่งขันโอลิมปิก

ลองมาดูที่เทควันโดกันบ้าง การแข่งขันในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัมที่น้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจคว้าเหรียญทองโอลิมปิกครั้งนี้มาได้ ต้องยอมรับในจิตใจที่แข็งแกร่งของเธอจริงๆ ในนัดชิงชนะเลิศนั้นน้องเทนนิสมีคะแนนตามนักแข่งสาวน้อยชาวสเปน เอเดรียนา เซเรโซ อิเกลเซียส อยู่ 1 คะแนน หลังโดนเตะเข้าที่ลำตัวขณะที่เหลือเวลา 37 วินาที แต่น้องเทนนิสก็ยังมีสมาธิจดจ่อกับเกม จนกระทั่งได้จังหวะหลอกเตะเข้าใส่เอเดรียนาเมื่อเหลือเวลาอีก 7 วินาที และรักษาคะแนนนั้นไว้จนหมดเวลาได้ เอาชนะไปได้ 1 คะแนนอย่างเฉียดฉิว

น้องเทนนิสเล่าเรื่องการฝึกสมาธิผ่านเฟซบุ๊กของเธอว่า การฝึกฝนด้านจิตใจช่วยให้ผ่านฝันร้ายที่ได้รับหลังพ่ายแพ้ช่วงท้ายเกมในริโอเกมส์มาได้ เธอยังบอกอีกว่าถ้าไม่ได้ฝึกจิตใจอย่างหนักแล้ว คงคุมตัวเองไม่ได้ในเกมการแข่งขันที่กดดันอย่างนี้

“ไม่ว่าเวลาจะเหลือกี่วินาที จงทำมันให้เต็มที่จนกว่าจะหมดเวลา ขอแค่จงเชื่อใจตัวเองว่า ‘เราทำได้’”

หลังจากจบการแข่งขันผมยังติดตามเพจของน้องเทนนิสเช่นเดิมครับ มีรายการหนึ่งมาสัมภาษณ์ น้องเทนนิสยังบอกอีกว่า

“ทุกๆ วินาทีมันสามารถพลิกได้ค่ะ ไม่ว่าจะเหลือ 3 วิ, 2 วิ, 1 วิ คิดว่าเราทำได้ค่ะ แต่ถ้าวันนั้นเราทำไม่ได้ก็แค่นั้นค่ะ มันก็เป็นอีกแค่หนึ่งบทเรียนที่เราจะต้องผ่านมันไปให้ได้ เท่านั้นเองค่ะ แค่ทำให้เต็มที่ค่ะ”

นี่คือสภาพจิตใจที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ซึ่งน่าจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งในหลายๆ อย่างที่ทำให้น้องเทนนิสสามารถคว้าเหรียญทองกลับมาประเทศไทยได้ในครั้งนี้

ข้ามมาดูนักกีฬาต่างชาติกันบ้าง คู่แข่งของน้องเทนนิส เอเดรียนา สาวน้อยวัย 17 ปีคนนี้ก็ไม่ธรรมดาเลย เธอสามารถต่อสู้ฝ่าฟันจนเข้ามาสู่รอบชิงชนะเลิศในกีฬาโอลิมปิกได้ เธอผ่านรอบ 16 คนสุดท้ายด้วยการเอาชนะ ทิยานา บ็อกดาโนวิช จอมเตะชาวเซอร์เบียเจ้าของเหรียญเงินจากริโอเกมส์ 2016

จากนั้นก็เอาชนะ อู๋ จิ้งยวี่ แชมป์โอลิมปิกที่กรุงลอนดอน 2012 และเหรียญเงินเวิลด์แชมเปี้ยนชิพครั้งล่าสุด แบบเอาต์สกอร์ในรอบก่อนรองชนะเลิศ

สุดท้ายก่อนเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศก็เอาชนะ รูกิเย ยิลดิริม นักเทควันโดชาวตุรกี เหรียญทองแดงจากการแข่งขันเวิลด์แชมเปี้ยนชิพครั้งล่าสุดมาแบบขาดลอย

ไม่ใช่แค่ฝีเท้าจากการเตะและความแข็งแรงทางร่างกายเท่านั้น ใครที่ติดตามดูเธอแข่ง ในทุกๆ นัดจะเห็นว่าระหว่างพักยก เธอจะไม่เข้าไปคุยกับโค้ชเรื่องปรับแผนการเล่นเลย เธอจะเดินตรงเข้าไปนั่งที่เก้าอี้ในคอกของตัวเอง แล้วนั่งหลับตาทำสมาธิ ไม่ว่าเธอจะทำคะแนนนำห่างคู่แข่งแค่ไหนก็ตาม

แม้แต่ในนัดชิงกับน้องเทนนิสตอนจบยกที่ 2 ที่เธอทำคะแนนตามอยู่ 3 แต้ม เธอก็ยังเดินเข้าไปนั่งหลับตาทำสมาธิตามกิจวัตรของเธอ แสดงว่าเธอให้ความสำคัญกับเรื่องจัดการกับจิตใจอย่างมาก

ซีฟาน ฮัสซัน สาวนักวิ่งจากเนเธอร์แลนด์ที่ถูกนักวิ่งคนอื่นล้มขวางทางจนตัวเองล้มลงไปด้วย กลับลุกขึ้นวิ่งไล่ตาม จนแซงนักวิ่งอีกสิบคนเข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งในรอบคัดเลือกการวิ่ง 1,500 เมตร นี่ก็ต้องอาศัยจิตใจที่แข็งแกร่ง แน่วแน่มากๆ เพื่อกลับสู่การแข่งขัน

อันที่จริงการแข่ง 1,500 เมตรนั้นเป็นระยะที่เธอถนัดน้อยที่สุด ความหวังเหรียญทองของเธออยู่ที่ระยะ 5,000 เมตร กับ 10,000 เมตรมากกว่า แต่ด้วยความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยว อยากจะพิสูจน์ขีดความสามารถของตนเอง ว่าจะก้าวข้ามทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจได้แค่ไหน เธอจึงตัดสินใจวิ่งระยะ 1,500 เมตรด้วยอีกรายการ

ซึ่งในโอลิมปิกครั้งนี้เธอคว้าเหรียญทองได้ในรายการวิ่ง 5,000 เมตรกับ 10,000 เมตรที่เธอถนัด และได้เหรียญทองแดงในการวิ่ง 1,500 เมตร ในสภาพอากาศร้อนชื้นที่ญี่ปุ่นในตอนนั้น เธอพิสูจน์ให้คนทั้งโลกได้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางจิตใจอย่างที่สุด เพราะหลังจากที่เข้าเส้นชัย 10,000 เมตร เธอนอนหมดสภาพแบบที่เรียกว่าร่างกายมันเกินขีดจำกัดไปแล้ว แต่จิตใจยังไม่ยอมแพ้

กีฬาวิ่งมาราธอนถูกจัดไว้เป็นกีฬาสุดท้ายในมหกรรมโอลิมปิก ไม่ใช่เพียงแค่เป็นกีฬาที่อยู่คู่โอลิมปิกมาตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มในปี 1896 เท่านั้น แต่ยังเป็นกีฬาที่ใช้ทั้งร่างกายและจิตใจอย่างสมบุกสมบัน และแสดงถึงความเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริง ช่วงท้ายก่อนเข้าเส้นชัยนั้นนักวิ่งหลายคนใช้จิตใจมากกว่าร่างกายด้วยซ้ำ พอเข้าเส้นชัยได้ บางคนแค่จะก้าวต่อไปยังไม่ไหว ทรุดตัวลงตรงเส้นชัยนั้นเลย นักวิ่งแทบทุกคนที่สามารถเข้าเส้นชัยได้จะแสดงความดีใจออกมา โดยไม่ได้สนใจว่าได้ตำแหน่งที่เท่าไร

โอลิมปิก 2020 ปิดฉากลงแล้ว ผมเชื่อว่านักกีฬาไทยมีสมรรถภาพและทักษะที่ดีพอสำหรับการแข่งขันระดับสากลแล้ว อดคิดไม่ได้ว่าถ้านักกีฬาของเราได้รับการฝึกสมาธิและส่งเสริมด้านจิตวิทยามากขึ้น สามารถควบคุมสติ และมีสมาธิดีกว่าที่เป็นอยู่อีกสักนิด เราน่าจะประสบความสำเร็จในระดับสูงสุดได้ ไม่นานเกินรอครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares