Link Copied!

เมื่อผมเป็นอาร์บิเตอร์ ตอน มวยล้ม ต้มคนดู (2)

ระบบการแข่งขันแบบพบกันหมด (Round Robin) ถึงแม้จะไม่ค่อยถูกเลือกมาใช้ในรายการแข่งขันที่มีระยะเวลาจำกัด และมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นระบบและวิธีการที่น่าจะดีที่สุดในการเฟ้นหาสุดยอดของผู้แข่งขันในรายการนั้นๆ และถ้าผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมดจะทำการแข่งขันอย่างเต็มที่สุดฝีมือ ตรงไปตรงมา ไม่คิดถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการหลอกลวงและดูถูกผู้ชม ระบบการแข่งขันแบบพบกันหมดก็คงถูกเลือกและนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากกว่านี้

ข้อด้อยอีกหนึ่งข้อของระบบการแข่งขันแบบนี้ก็คือ ผู้เข้าแข่งขันที่มีเจตนาต้องการจะล็อกผลการแข่งขันล่วงหน้า จะสามารถวางแผนและมีเวลาพูดคุยเจรจาต่อรองกับผู้แข่งขันคนอื่นๆ ก่อนเกมการแข่งขันจะเริ่มขึ้น เพราะตารางและกำหนดเวลาของเกมการแข่งขันได้ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว ระยะเวลาที่มีอยู่จะทำให้ผู้ที่คิดจะล็อกผลสามารถประเมิน คาดการณ์ และเตรียมการต่างๆ เพื่อทำให้ผลการแข่งขันออกมาได้ตรงตามอย่างที่ใจต้องการมากที่สุด

ที่น่าเกลียดที่สุดและเป็นจุดอ่อนที่สุดของระบบการแข่งขันแบบพบกันหมด คือ ผู้เล่นหรือผู้แข่งขันที่เคยได้ขายคะแนนหรือโยนคะแนนมาแล้ว ยังสามารถขายหรือโยนคะแนนได้อีกถ้ามีโอกาสหรือข้อเสนอจากผู้เล่นผู้แข่งขันคนอื่นๆ เข้ามาอีก และยิ่งถ้าผู้เล่นผู้แข่งขันคนนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิดผลของการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้ผู้อ่านมองภาพได้ชัดเจนอย่างนี้ครับ

นาย ก. นาย ข. และนาย ค. เข้าร่วมการแข่งขันหมากรุกรายการหนึ่ง ซึ่งจัดในระบบการแข่งขันแบบพบกันหมด ผู้แข่งขันทั้งสามคนนี้มีศักยภาพและฝีมือในการเดินหมากรุกที่จัดว่ามีลุ้น มีโอกาสอย่างมากที่จะคว้าตำแหน่งผู้ชนะเลิศในการแข่งขันไปครอบครอง ด้วยฝีมือที่ใกล้เคียงกันมากจนไม่สามารถรับประกันผลการแข่งขันได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ นาย ก. จึงเปิดการเจรจาทำการตกลงซื้อขาย ขอให้นาย ค. โยนคะแนนให้

นาย ค. คิดคำนวณแล้วสรุปว่า ค่าตอบแทนที่ได้จากการโยนคะแนนให้นาย ก. บวกกับถ้าตนเองยังสามารถคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศ หรือตำแหน่งที่สามมาครองได้ ก็นับว่าคุ้มค่า เพราะอย่างไรเสียถ้านาย ค. ทำการแข่งขันอย่างเต็มที่ แล้วปรากฏว่ากลับพ่ายแพ้ ก็จะกลายเป็นว่าชวดโบนัสก้อนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย นาย ค. อาจจะเจรจาต่อรองเรียกร้องผลตอบแทนให้คุ้มค่ามากที่สุดกับการโยนคะแนนครั้งนี้ได้อีกจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะพอใจกัน

เมื่อการแข่งขันผ่านไป นาย ก. มีคะแนนนำหน้านาย ข. และนาย ค. ฝ่ายนาย ข. จึงเปิดการเจรจาซื้อขายคะแนนจากนาย ค. ด้วยเช่นกัน เพื่อให้คะแนนไล่ตามทันนาย ก. และมีสถานภาพที่ยังอยู่ในตำแหน่งลุ้นแชมป์ต่อไป อย่างนี้ นาย ค. ถือว่าได้สองต่อ

หลักการคิดก็เหมือนเดิม คือถ้านาย ค. ทำการแข่งขันอย่างสุดฝีมือ ผลการแข่งขันไม่อาจจะรับประกันได้ การยอมแพ้นาย ข. และโยนคะแนนให้ เขาก็ยังมีรางวัลจากตำแหน่งที่ 3 บวกกับค่าตอบแทนที่ได้จากการขายคะแนนให้ทั้งนาย ข. และนาย ก. ดังนั้นนาย ค. จึงตกลงขายและโยนคะแนนให้นาย ข. ด้วย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อด้อยของระบบการแข่งขันแบบผู้เล่นพบกันหมดหรือราวด์โรบิน ที่ยังเปิดโอกาสให้ผู้แข่งขันที่มีพฤติกรรมอย่างนี้อยู่ในระบบการแข่งขันต่อไป

จะโทษระบบการแข่งขันทั้งหมดนั้นคงจะไม่ใช่ ผู้เขียนมองและพิจารณาเรื่องนี้โดยความคิดเห็นส่วนตัวว่าเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสำนึกและทัศนคติของผู้เล่นผู้แข่งขันล้วนๆ ที่กล่าวว่านี่เป็นอีกหนึ่งข้อด้อยของระบบแบบพบกันหมดก็เพราะว่า ถ้าเป็นระบบการแข่งขันแบบแพ้คัดออกหรือน็อกเอาต์ ผู้แข่งขันแบบนี้จะถูกขับออกจากระบบทันที เมื่อได้ทำการ “โยน” คะแนนให้แก่ผู้แข่งขันคนอื่นสำเร็จเสร็จสิ้น

แต่ในรายการแข่งขันแบบพบกันหมด ถ้ามีผู้เล่นที่มีพฤติกรรมเช่นนี้วนเวียนอยู่ในระบบการแข่งขันตลอดรายการ ผลการแข่งขันของผู้ร่วมการแข่งขันจะไม่สะท้อนความเป็นจริง ผู้ที่ได้ครองตำแหน่งชนะเลิศนั้น อาจจะมีประสิทธิผล (Performance) ในการเล่นที่ไม่สมควรจะได้รางวัลนั้นๆ หรือควรจะทำผลงานได้ดีกว่านั้น แต่กลับไม่ได้ แบบที่ว่าฟอร์มดีไม่มีรางวัลนั่นเอง

ดีที่ว่าระบบการแข่งขันแบบพบกันหมดจะไม่ถูกนำมาใช้ในรายการแข่งขันบนกระดานจริง เนื่องจากข้อจำกัดจากเรื่องการควบคุมเวลาการแข่งขัน และการรับมือกับผู้แข่งขันที่มีจำนวนมาก แต่ในรายการแข่งขันออนไลน์นั้นมีข้อได้เปรียบที่ไม่จำกัดช่วงเวลาของการแข่งขันมากนัก สามารถดำเนินการแข่งขันไปได้นานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรืออาจจะหลายเดือน

แต่ในการแข่งขันแบบออนไลน์ ผู้จัดการแข่งขันนอกจากจะต้องพบกับปัญหาการโยนคะแนนให้แก่กันของผู้เล่นแล้ว บางทีอาจจะต้องรับมือกับผู้แข่งขันขี้โกงบางคนที่แอบใช้ตัวช่วย เช่น แอปพลิเคชั่นหมากรุก โค้ชหรือครูผู้สอน มาช่วยเหลือในการเดินหมากทำการแข่งขัน เป็นปัญหาที่ค่อนข้างแก้ไขและป้องกันได้ยากในรายการแข่งขันแบบออนไลน์

มาดูระบบการแข่งขันแบบสวิสแพริ่ง (Swiss Pairing) กันบ้าง หลักคิดของระบบการแข่งขันแบบนี้คือเป็น “ฉบับย่อ” หรือรูปแบบอย่างย่อของระบบการแข่งขันแบบพบกันหมดหรือราวด์โรบิน

ในเมื่อมีผู้เล่นเข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก ในหลักร้อยคนหรือหลายร้อยคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดให้แข่งขันแบบพบกันหมด การเฟ้นหาแชมป์หรือผู้เล่นที่เก่งที่สุดในรายการแข่งขันนั้นๆ ก็คือ การใช้วิธีให้ผู้เล่นทั้งหมดได้ทำการแข่งขันกับคู่ต่อสู้ที่มีฝีมือ หรือประสิทธิผลในการแข่งขันนั้นๆ เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน โดยมีเกมหรือรอบการแข่งขันจำนวนไม่มากจนเกินไปนัก

อธิบายโดยยกตัวอย่างดังนี้ครับ สมมุติว่ารายการแข่งขันหนึ่งใช้ระบบการแข่งขันแบบสวิสแพริ่งจำนวน 9 รอบ ภายในระยะเวลา 5 วัน สองรอบหรือสองเกมต่อวัน วันสุดท้ายเหลือเกมเดียว และเป็นเกมมาตรฐาน 90 นาที ทด 30 วินาทีต่อทุกหนึ่งตาเดิน และมีจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันจำนวนทั้งหมด 100 คนพอดิบพอดี

เมื่อได้รับทราบรายชื่อของผู้แข่งขันทั้งหมดแล้ว ผู้จัดฯ หรือกรรมการเจ้าหน้าที่ที่ดูแลควบคุมการประกบคู่หรือแพริ่ง (Pairing) จะเรียงลำดับรายชื่อผู้เล่นทั้งหมดตามค่าพลังความแข็งแกร่ง หรือค่าประสิทธิผลเฉลี่ยในการแข่งขัน ซึ่งเรียกกันว่า ฟิเดเรตติ้ง (Fide Rating) ตัวเลขค่านี้ถูกคิดคำนวณมาตามวิธีการและหลักการที่ถูกออกแบบไว้อย่างมีระบบและละเอียด ผู้เล่นที่มีฝีมือสูง ฝีมือดี ก็คือมีค่าเฉลี่ยประสิทธิผลในการแข่งขันที่ดี ตัวเลขจะสูง ผู้เล่นที่ยังไม่มีความชำนาญ หรือเป็นผู้เล่นฝีมือระดับปานกลาง หรือเริ่มต้น ค่าตัวเลขก็จะลดน้อยลงมาตามลำดับ

เมื่อได้เรียงและจัดลำดับรายชื่อผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดตามลำดับค่าตัวเลขฟิเดเรตติ้งแล้ว จากมากลงไปหาน้อย (ผู้แข่งขันบางคนที่ยังไม่มีค่าฟิเดเรตติ้งประจำตัว รายชื่อจะอยู่ในช่วงท้ายของตารางและไล่เรียงตามอายุของผู้เล่น หรือตามลำดับตัวอักษรตัวแรกของชื่อก็แล้วแต่ตามเงื่อนไขของผู้จัดฯ) จากนั้นรายชื่อผู้แข่งขันทั้งหมดจะถูกแบ่งครึ่งหรือพับครึ่งตรงกลาง ลำดับที่ 1 ถึง 50 เป็นครึ่งบน ลำดับที่ 51 ถึง 100 เป็นครึ่งล่าง แล้วนำลำดับรายชื่อของผู้แข่งขันมาประกบคู่

อย่างนี้ผู้แข่งขันลำดับที่ 1 จะเป็นฝ่ายหมากขาว ทำการแข่งขันกับผู้แข่งขันลำดับที่ 51 ซึ่งจะเป็นฝ่ายเดินหมากดำ ผู้แข่งขันลำดับที่ 2 จะเล่นเป็นฝ่ายหมากดำ พบกับผู้แข่งขันลำดับที่ 52 ซึ่งจะได้เล่นเป็นฝ่ายหมากขาว คู่ต่อไปก็จะเป็นผู้แข่งขันลำดับที่ 3 เล่นหมากขาว แข่งขันกับผู้เล่นลำดับที่ 53 ซึ่งก็จะเป็นฝ่ายเดินหมากดำ สลับกันแบบนี้ไปจนครบทั้งหมด 50 คู่ หรือ 50 กระดาน 50 โต๊ะแข่งขัน นี่คือวิธีการประกบคู่โดยระบบสวิสแพริ่งในรอบแรกหรือรอบเริ่มต้น ซึ่งโดยทั่วไปก็จะใช้วิธีการแบบนี้เหมือนกันหมด เช่นเดียวกับการใช้แอปพลิเคชั่นสวิสเมเนเจอร์ หรือแอปพลิเคชั่นสวิสแพริ่ง

ที่เรียกว่าระบบประกบคู่แบบสวิส ก็เพราะวิธีการแบบนี้ถูกคิดประดิษฐ์ขึ้นและนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรายการแข่งขันหมากรุกสากล ณ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1895 นอกจากจะเป็นระบบการแข่งขันที่ใช้ในเกมการแข่งขันของหมากรุกสากลแล้ว หมากกระดานประเภทอื่นๆ หรือเกมการแข่งขันชนิดอื่น เช่น หมากฮอสสากล หมากล้อม หมากรุกญี่ปุ่น หมากรุกไทย และไพ่บริดจ์ ก็นิยมนำระบบประกบคู่แข่งขันแบบสวิสแพริ่งมาใช้งานเป็นมาตรฐานแทบทั้งสิ้น

เมื่อการแข่งขันในรอบแรกเสร็จสิ้นลง ผลการแข่งขันจะออกมาเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้เล่นที่ได้รับชัยชนะจะได้ 1 คะแนน ผู้แพ้ไม่มีคะแนน หรือ 0 คะแนน ส่วนผู้แข่งขันที่มีผลเสมอกันก็จะแบ่งคะแนนกันไปคนละครึ่งคะแนน หรือ 0.5 จากนั้นจะทำการประกบคู่ในรอบที่สอง โดยโปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นจะนำเอาผู้แข่งขันที่มีผลคะแนนเท่ากันมาประกบคู่แข่งขันกัน หรือถ้าผลคะแนนเท่ากันมีจำนวนไม่ครบคู่ โปรแกรมก็จะจัดผู้แข่งขันที่มีผลคะแนนใกล้เคียงกันมาประกบคู่กัน เช่น ผู้แข่งขันที่มีครึ่งคะแนนก็อาจจะได้ทำการแข่งขันกับผู้ที่มี 1 คะแนน หรือศูนย์คะแนนก็เป็นไปได้ และจะเป็นเช่นนี้จนครบจำนวนรอบการแข่งขันที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งในรายการนี้คือจำนวน 9 รอบนั่นเอง

เมื่อผ่านรอบการแข่งขันไปหลายๆ รอบ กลุ่มผู้แข่งขันจะเริ่มมีผลคะแนนแตกต่างกัน มีทั้งทิ้งห่างกัน หรือมีคะแนนเกาะกันเป็นกลุ่มก้อน จนเมื่อครบ 9 รอบ ผู้ที่ชนะเลิศก็คือผู้ที่ทำการแข่งขันได้ผลคะแนนสูงสุด ในกรณีที่ผู้แข่งขันทำผลคะแนนได้เท่ากัน กรรมการหรือผู้จัดการแข่งขันก็จะนำคะแนนรอง ซึ่งมีอีกหลากหลายรูปแบบ นำมาใช้พิจารณาประกอบด้วย เพื่อเฟ้นหา กลั่นกรอง ให้ได้ผลหรือลำดับของผู้แข่งขันจนมีความแตกต่างกัน

และถ้าสมมุติว่าในรอบสุดท้ายมีผู้แข่งขันที่ทำคะแนนได้สูงสุดเท่ากันสองคนหรืออาจจะมากกว่า เมื่อพิจารณาจากคะแนนรองแล้ว ก็ยังปรากฏว่าเท่ากันอีกทุกประการ ถ้าเป็นเช่นนี้กรรมการหรือผู้จัดการแข่งขันก็จะจัดให้มีการแข่งขันในแบบไทเบรก (tie break) ระหว่างผู้แข่งขันที่มีคะแนนเท่ากัน เพื่อในชั้นสุดท้ายจะให้ได้มาซึ่งผู้แข่งขันที่ทำผลงานได้ดีที่สุด และได้ครอบครองตำแหน่งและรางวัลชนะเลิศของรายการแข่งขันนั้น

จะต้องขออนุญาตกล่าวถึงรายละเอียดข้อดี ข้อด้อย ของระบบการแข่งขันแบบสวิสแพริ่งที่มีผลหรือเอื้อต่อวิธีการและขบวนการโยนคะแนนให้แก่กันของผู้แข่งขันในตอนต่อไปนะครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares