ทัพนักกีฬาในโอลิมปิกโตเกียวเกมส์ 2020 สร้างผลงานเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจคนไทย ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองประสบความยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศ จากการคว้า 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง และสร้างสถิติที่เป็นประวัติการณ์ในกีฬายิงปืนและกรีฑา 10,000 เมตร แม้ว่าจะไม่สามารถหยิบเหรียญใดได้ก็ตาม
ชื่อของวีรบุรุษและวีรสตรีจากมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ผู้สร้างชื่อนำธงไตรรงค์ขึ้นสู่เสาในพิธีรับเหรียญรางวัล ถูกจดจำและอ้างอิงถึงในฐานะบุคคลสร้างประวัติศาสตร์ ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ผู้คนยังคงจดจำชื่อของคุณพเยาว์ พูนธรัตน์ ผู้คว้าเหรียญแรกให้กับประเทศไทย จากกีฬามวยสากลสมัครเล่นในมอนทรีออลเกมส์ 1976 ได้เป็นอย่างดี
นั่นคือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว…
ถ้าผมจะบอกว่ามีนักกีฬาทีมชาติไทยอีกท่านหนึ่ง ที่คว้าเหรียญทองในการแข่งขัน 5,000 เมตร และ 1,000 เมตร จากการแข่งขันริโอเกมส์ 2016
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว…
แถมการคว้า 2 เหรียญทองในริโอเกมส์ ยังเป็นการทำเหรียญทองเหรียญที่ 6 และ 7 ของเขาให้ประเทศไทย
นักกีฬาท่านนี้สวมเสื้อติดธงไตรรงค์ลงแข่งในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติมาแล้ว 5 ครั้ง นับตั้งแต่ซิดนีย์เกมส์ในปี 2000 และในโตเกียวเกมส์ ที่เริ่มในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ จะเป็นครั้งที่ 6 ของเขา
ตั้งแต่เขาเริ่มลงแข่งในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ เขาคว้า 7 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ให้กับประเทศไทย
ท่านผู้อ่านพอจะนึกออกมั้ยครับ ว่านักกีฬาท่านนี้มีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร…
หากยังนึกไม่ออก ไม่เป็นไรครับ มาติดตามเรื่องราวของเขาแบบย้อนเวลากันนะครับ
🏅🏅🏅🏅🏅🏅🏅
การลงแข่งในโตเกียวเกมส์ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของเขา เพราะด้วยวัย 37 ปี การแข่งขันในระดับความเข้มข้นสูงสุดของโลก ดูจะเป็นความท้าทายที่ไม่ต่างจากกำแพงที่มองไม่เห็นขอบบน
ที่สำคัญ เขามาในฐานะแชมป์ระยะ 5,000 เมตรที่ต้องการจะรักษาบัลลังก์ในการลงแข่งที่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของตัวเอง
แม้ว่าเขาจะเป็นนักกีฬาอาวุโสในทัพนักกีฬาไทยครั้งนี้ แต่ก็ได้รับความไว้วางใจและผ่านเข้าแข่งขันถึง 4 รายการ นอกเหนือจากรายการข้างต้นแล้ว เขาจะติดธงไตรรงค์ลงแข่งในรายการ 800 เมตร, 1,500 เมตร และมาราธอนอีกด้วย
เมื่อ 12 ปีที่แล้ว เขาได้เดินทางไปพบพ่อแม่ของนักกีฬาอีกท่านหนึ่ง เพื่อร้องขอให้ครอบครัวสนับสนุนนักกีฬารุ่นน้องผู้ซึ่งเขาเห็นแววรุ่งโรจน์ ให้ได้เข้าฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบและลงแข่งขัน
ต่อมาในภายหลังเขาได้มอบอุปกรณ์การแข่งขันมูลค่าหลักแสนให้แก่นักกีฬารุ่นน้องคนนี้ แต่นั่นไม่สำคัญเท่าข้อเท็จจริงที่ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนสิ่งล้ำค่าสำหรับเขา เพราะเขาใช้มันติดตัวในการคว้าชัยมาตลอดชีวิตการแข่งขัน
เขาเชื่อมั่นว่า นักกีฬารุ่นน้องคนนี้จะมารับช่วงคบเพลิงต่อจากเขาได้ และจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้ทีมชาติไทยต่อไป หลังจากที่เขาเลิกแข่งไปแล้ว
5 ปีที่ผ่านมาในริโอเกมส์ นักกีฬารุ่นน้องที่เขาสนับสนุน ก็คว้า 2 เหรียญทอง ในระยะ 400 เมตร และ 800 เมตร ให้กับทีมชาติไทย
นักกีฬารุ่นน้องคนนี้มีชื่อว่า พงศกร แปยอ
ใครกันนะ? ผู้อ่านหลายท่านอาจเกิดความรู้สึกนี้
🏅🏅🏅🏅🏅🏅🏅
ตลอดชีวิตการแข่งขัน เขาลงซ้อมทุกวันเว้นเพียงเย็นวันอาทิตย์และเช้าวันจันทร์เท่านั้น เขาลงซ้อมทั้งในลู่และซ้อมบนถนนไม่ต่ำกว่าวันละ 40 กิโลเมตร
เขาทำอย่างนี้ติดต่อกันมากว่า 20 ปี
นอกเหนือจากการซ้อมความเร็ว เขายังมีวินัยในการวางกลยุทธ์การแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันระยะ 5,000 เมตรหรือมากกว่า เพราะในระยะทางแบบนี้ ไม่จำเป็นที่เขาต้องนำคู่แข่งตลอดทาง บางช่วงอาจจะต้องตามหลังอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อเก็บแรงก่อนที่จะระเบิดพลังในเวลาที่ต้องการ
ที่น่าประหลาดใจคือ ในทุกวันที่ลงซ้อมเขาจะยกน้ำหนักอย่างน้อยวันละ 2,000 กิโลกรัม เพื่อสร้างร่างกายส่วนบนให้แข็งแรง
ว่ากันว่าตลอดชีวิตการแข่ง เขายกน้ำหนักมาแล้วมากกว่า 4,500 ตัน…
เขาก็ไม่แตกต่างจากนักกีฬาชั้นยอดของโลกแบบ โคบี ไบรอันท์ หรือ ไมเคิล จอร์แดน หรือแม้กระทั่ง เซอร์ลูอิส แฮมิลตัน แชมป์โลกฟอร์มูลาวัน 7 สมัย ที่เชื่อว่าวินัย ความมุ่งมั่น และหมั่นเพียร แถมด้วยการซ้อมอย่างบ้าระห่ำ คือหนทางของความสำเร็จ
🏅🏅🏅🏅🏅🏅🏅
“มันเหมือนฝันเลยครับ” เขากล่าวหลังคว้า 2 เหรียญทองจากซิดนีย์เกมส์ในปี 2000 ในระยะ 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร
“ผมมีฝันที่จะติดทีมชาติ แต่ที่ผมโฟกัสคือตั้งใจฝึกซ้อม ทำให้ดีที่สุดในทุกครั้ง พอได้ติดทีมชาติและชนะการแข่งขันในระดับนี้ก็เหมือนฝันที่เป็นจริง และเป็นผลลัพธ์จากความมานะในทุกๆ วันของผม”
นั่นคือความสำเร็จแรกในนามทีมชาติ…เมื่อ 21 ปีที่แล้ว
จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการแข่งความเร็วของเขาเริ่มเมื่ออายุ 11 ปี ได้รับทุนเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ที่ซึ่งเขาได้เห็นนักกีฬารุ่นพี่ฝึกซ้อมและลงแข่ง
นั่นก่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่ทำให้ต้องการพิสูจน์ตัวเองว่า เขาก็ไม่แตกต่างจากคนอื่น
แต่ใช่ว่าหนทางสู่ความสำเร็จจะง่ายดาย เขาต้องต่อสู้กับความไม่มั่นใจในความสามารถของตนเองอยู่เสมอ (Self-doubt) ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจสำหรับนักเรียนทุนแบบเขา ที่เริ่มต้นเข้าสู่วงการด้วยการตามหลังรุ่นพี่ที่มีความเร็วสูงกว่า และไม่มีทีท่าว่าเมื่อไหร่จะตามได้ทัน
มีคำเปรียบเปรยว่าเด็กเหมือนผ้าขาว บาดแผลในวัยเยาว์จึงมักส่งผลยาวนานต่อชีวิตของคนคนนั้น กรณีของนักกีฬาท่านนี้ก็ไม่ต่างกันเลยครับ เขาเกิดมาเหมือนคนปกติทั่วไป แต่มาโชคร้ายที่สภาพร่างกายเริ่มผิดปกติเมื่ออายุเพียง 3 ขวบ
และเมื่อเขาต้องเข้าเรียนร่วมกับเพื่อนที่ร่างกายปกติ ความรู้สึกแตกต่าง ทำอะไรได้ไม่เหมือนคนอื่น ก็เริ่มสร้างบาดแผลในใจขึ้น และพัฒนากลายเป็นความไม่มั่นใจในความสามารถและศักยภาพ ตลอดจนศักดิ์ศรีของตนเอง
ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกระทั่งเขาอายุ 17-18 ปี เป็นช่วงที่เขาเจอความท้าทายที่ต้องก้าวข้ามด้วยการตามให้ทันนักกีฬารุ่นพี่ด้วยพร้อมๆ กัน
ท้ายที่สุดเขาก็สามารถตามได้ทัน และก้าวขึ้นไปติดทีมชาติไทยได้สำเร็จ ตอบแทนทุนการศึกษาที่ได้รับ ด้วยการพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาใช้ความเจ็บปวดของอดีตเป็นพลังสร้างอนาคต อย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้
ทุนจากมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คือทุนที่เขาได้รับที่โรงเรียนแห่งนี้ สถานที่ซึ่งเขาเริ่มหมุนวงล้อวีลแชร์เป็นครั้งแรก ตามด้วยการหมุนวงล้ออีกนับล้านครั้ง
ครับ ถ้าถึงตอนนี้แล้วยังนึกชื่อวีรบุรุษคนนี้ไม่ออก ผมขอเฉลยเลยแล้วกันนะครับ
นี่คือเรื่องราวของนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งนามว่า ประวัติ วะโฮรัมย์ เจ้าของเหรียญทอง 7 เหรียญในมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 5 ครั้งที่ผ่านมา
🏅🏅🏅🏅🏅🏅🏅
ผมชวนให้คิดตามมาตั้งแต่ต้นบทความแล้วนะครับ งั้นผมขอรบกวนอีกสักครั้งให้ท่านผู้อ่านค้นข้อมูลคุณประวัติ วะโฮรัมย์ ในวิกิพีเดียภาษาไทย ก่อนที่จะอ่านต่อนะครับ…
🏅🏅🏅🏅🏅🏅🏅
คงเห็นเหมือนผมนะครับว่าทำไมรายละเอียดประวัติของฮีโร่ 7 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ของประเทศไทย มันช่างยาวเหยียดเสียจริงๆ (ประชดนะครับ)
ทำไมคนที่สร้างเกียรติประวัติให้ประเทศขนาดนี้ ไม่ได้รับการมองเห็น
หรือเพราะว่าทัวร์นาเมนต์ที่เขาลงแข่งคือ พาราลิมปิก ไม่ใช่ โอลิมปิก
หรือเพราะว่าเขาเป็นนักกีฬาคนพิการ เราควรเห็นใจเขามากกว่าเฝ้าชมการแข่งขัน
หรือเพราะเหตุผลอื่นอีกมากมาย…ที่ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษในหลืบเงา ที่ฝรั่งเรียกกันว่า The Unsung Heroes
🏅🏅🏅🏅🏅🏅🏅
โดยส่วนตัวของผม นิยามคำว่า “พิการ” เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว สมัยผมยังเป็นพนักงานกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร และได้มีโอกาสอันดีที่ได้ร่วมจัดงานการพูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ โดยนักกีฬาเทเบิลเทนนิสพาราลิมปิกทีมชาติไทย
ในวันนั้นผมยืนอยู่หลังห้อง และได้เห็นภาพการตั้งใจฟังอย่างจดจ่อของเพื่อนพนักงาน เพื่อซึมซับเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจากนักกีฬา
ผมเห็นภาพของคนที่ตามนิยามมาตรฐานเรียกว่าผู้พิการ ได้ให้แรงใจกับผู้คนที่ไม่ใช่ผู้พิการ ผ่านเรื่องราวความยากลำบากของการพิสูจน์ตัวเอง ที่คนปกติส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำ หรือใส่ใจที่จะทำ แถมเป็นเรื่องราวที่คนปกติส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอยากจะแชร์ความยากลำบากในชีวิตตนเองให้ผู้อื่นได้รับฟัง
ผมเห็นภาพของคนพิการที่เป็นผู้ให้…
หลังงานพูดในวันนั้น ผมได้โอกาสพูดคุยและกล่าวขอบคุณนักกีฬาที่มาสร้างแรงบันดาลใจในวันนั้นด้วยตัวเอง เขาพูดด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า
“ผมดีใจมากครับที่เรื่องราวของผมช่วยให้แรงบันดาลใจกับผู้คนได้ แต่ผมคงจะดีใจมากกว่านี้อีกนะครับ หากผู้คนจะรับรู้ถึงความสำเร็จที่พวกผมทำให้ประเทศครับ”
ใช่ครับ…ในทางกายภาพพวกเขาอาจจะถูกมองว่ามีข้อจำกัด และเราควรให้ความเห็นใจ
แต่ในทางจิตใจและร่างกายที่ธรรมชาติสร้างให้ พวกเขาเป็นนักกีฬาอย่างเต็มเปี่ยม
พวกเขาต้องการแรงใจและการร่วมยินดีจากเพื่อนร่วมชาติเช่นกันครับ
สำหรับผมโอลิมปิกและพาราลิมปิก ไม่แตกต่างกันเลยครับ ตราบใดที่เห็นธงไตรรงค์อยู่บนอกเสื้อแข่งนักกีฬา
ในพาราลิมปิกโตเกียวเกมส์ปีนี้ เราจะทำอะไรที่แตกต่างจากริโอเกมส์ 2016 กันมั้ยครับ
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม