มีคำกล่าวว่าร่างกายที่ใหญ่โตถือเป็นข้อเสียเปรียบของการแข่งขันไตรกีฬา คนตัวเล็กน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ คริส แม็กคอร์แมก หรือ แม็กก้า ได้แสดงให้เห็นว่า การฝึกซ้อม พรสวรรค์ และมุมมองมหัศจรรย์ อยู่เหนือข้อจำกัดด้านร่างกาย
1
เมื่อปี ค.ศ. 2014 คริส แม็กคอร์แมก (Chris McCormack) หรือ แม็กก้า (Macca) คนเหล็กแห่งวงการไตรกีฬา ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 357 ขณะดำรงตำแหน่ง Executive Chairman ของ ธัญญปุระ สปอร์ต แอนด์ เฮลท์ รีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต ว่า “ร่างกายของผมไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นนักไตรกีฬา”
ด้วยส่วนสูงมากถึง 182 เซนติเมตร น้ำหนัก 79 กิโลกรัม ทำให้แชมเปี้ยนผู้คว้ารางวัลจากการแข่งขันไตรกีฬาหลายสถาบันออกตัวด้วยประโยคดังกล่าว
คริส แม็กคอร์แมก หรือ แม็กก้า คือใคร ? คงไม่มีสิ่งใดนิยามตัวตนของชายชาวออสเตรเลียคนนี้ได้มากเท่าเกียรติบัตรยาวเป็นหางว่าว
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 เขาคว้าชัยชนะจากการแข่งขันไตรกีฬาได้มากกว่า 200 รายการ โดยในจำนวนนั้น คือ แชมป์ ไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2 สมัย (ค.ศ. 2007, ค.ศ. 2010) แชมป์ไตรกีฬาโลก International Triathlon Union (ITU) World Cup Series (ค.ศ. 1997) และแชมป์ไตรกีฬา เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ (ค.ศ. 1997)
รวมถึงได้รับการยกย่องให้เป็น นักกีฬาไตรกีฬายอดเยี่ยมแห่งปี (International Triathlete of the Year) 5 สมัย ผู้เข้าแข่งขันยอดเยี่ยมแห่งปี (Competitor of the Year) 4 สมัย
และเคยได้รับการจัดอันดับจาก ESPN ให้เป็นผู้ชายที่ฟิตที่สุดในโลก
2
ในช่วงแรกๆ ที่ลงแข่งขัน ไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ที่โคนา หมู่เกาะฮาวาย รายการไตรกีฬาที่ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในใต้หล้า ชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในชื่อรายการ “ไอรอนแมน” แม็กก้าล้มเหลว ทำไม่สำเร็จแม้แต่จะพาร่างกายของตัวเองไปถึงเส้นชัย แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ เดินหน้าฝึกฝน เข้าร่วมการแข่งขันในรอบคัดเลือกเพื่อโอกาสที่จะกลับมาใหม่
สำหรับนักไตรกีฬาแล้วยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “ไอรอนแมน” คือการแข่งขันไตรกีฬาระยะอัลตรา (Ultra Distance) ว่ายน้ำ 3.86 กิโลเมตร ขี่จักรยาน 180.25 กิโลเมตร และ วิ่ง 42.195 กิโลเมตร เป็นที่หมายปองของนักไตรกีฬาจากทุกมุมโลก ขอเพียงในช่วงชีวิตได้มีโอกาสเข้าร่วมลงแข่งไอรอนแมนที่โคนาสักครั้ง
แต่สำหรับแม็กก้าแล้วเขาต้องการมากกว่านั้น นอกจากเข้าร่วมแข่งขัน เขาต้องการก้าวเท้าออกจากหมู่เกาะฮาวายในฐานะแชมเปี้ยน
3
ก่อนคว้าแชมป์ไอรอนแมน แม็กก้าชนะการแข่งขันแทบทุกอย่างมาแล้ว แต่สำหรับไอออนแมน รายการอันเป็นที่สุดของที่สุด หลายต่อหลายเสียงที่อยู่รอบตัวแม็กก้า ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักวิจารณ์ หรือแม้กระทั่งโค้ช พากันตั้งข้อสังเกตว่าแม็กก้ายากที่จะทำได้สำเร็จ ด้วยสาเหตุสำคัญคือเขาน่าจะมีขนาดร่างกายที่ใหญ่โตเกินไป
โดยทั่วไปแล้วร่างกายที่ใหญ่โตถือเป็นข้อเสียเปรียบของกีฬาประเภทนี้ที่คนตัวเล็กน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
แม็กก้าให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดีว่า “ผมสูง 182 เซนติเมตร หนัก 79 กิโลกรัม ร่างกายของผมไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นนักไตรกีฬา ร่างกายที่ใหญ่โตถือเป็นข้อที่เสียเปรียบที่สำคัญสำหรับการเล่นกีฬาประเภทนี้ เพราะว่าความอึดและการวิ่ง คนตัวเล็กสามารถลงแข่งอย่างมีประสิทธิภาพและได้เปรียบมากกว่า”
แม็กก้ายังกล่าวด้วยว่า “ในบรรดาผู้ที่เคยชนะเลิศการแข่งขันที่โคนา ฮาวาย ผมมีร่างกายใหญ่โตที่สุด”
อย่างไรก็ตามแม้จะถูกปรามาส แต่แม็กก้ากลับยังคงมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าเขาสามารถทำได้ ถึงแม้ร่างกายจะไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อนเล่นไตรกีฬาโดยเฉพาะ แต่ความสำเร็จในสนามยังต้องวัดกันด้วยวิธีบริหารจัดการ การวางแผนที่นักกีฬาแต่ละคนนำมาใช้
“ในปีแรกของการลงแข่งไอรอนแมนที่โคนา ผมล้มเหลว ไปไม่ถึงเส้นชัย เพราะประเมินความยากของการแข่งขันต่ำกว่าความเป็นจริง ผมเตรียมตัวน้อยเกินไปในการเผชิญกับความยากลำบากอย่างน่าสยองของทุ่งลาวา (the Hawaii lava fields) รวมทั้งกระแสลมระหว่างการแข่งขัน ในปี ค.ศ. 2004 เรื่องแบบเดียวกันก็เกิดขึ้นอีก ผมไปไม่ถึงเส้นชัย ร่างกายของผมเหมือนหยุดทำงานและได้รับบาดเจ็บ การแข่งขันครั้งนั้นเป็นการแข่งขันแบบวันเดียวที่หนักหนามากที่สุดเท่าที่ร่างกายของคนหนึ่งเคยเผชิญมาก่อน เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะคาดเดาว่าร่างกายของคุณจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการแข่งขันที่ต้องอดทนทดกลั้นอย่างแสนสาหัสตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงอย่างไร การแข่งขันที่อัตราการเต้นของหัวใจของคุณได้เพิ่มขึ้นใกล้เคียงระดับสูงสุด” แม็กก้ากล่าว
กระทั่งในปี ค.ศ. 2007 แม็กก้าคว้าแชมป์รายการไอรอนแมนได้สำเร็จ เขากล่าวว่า “ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เพราะผมพยายามอยู่หลายครั้ง ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จจนได้ ปีนั้นเป็นปีที่ผ่อนคลาย ปลดปล่อยความกดดันออกไป ผมรู้สึกค่อยยังชั่วว่าถึงที่สุดแล้วก็สามารถเอาชนะในการแข่งขันรายการนี้”
4
รูปร่างของนักไตรกีฬา รวมถึงนักกีฬาประเภทต่างๆ เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่มักจะนำมาพูดถึงกัน กล่าวกันว่านักไตรกีฬามักจะมีรูปร่างผสมผสานกันระหว่างนักวิ่ง นักปั่น และนักว่ายน้ำ
เพจวิ่งไหนกัน ปั่นไหนดี (เว็บไซด์ www.vrunvride.com) เคยตีพิมพ์บทความที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า นักไตรกีฬามักจะตัวสูง แต่ก็ไม่สูงเท่านักว่ายน้ำ การซ้อมกีฬาสามชนิดยังทำให้นักไตรมีกล้ามเนื้อขาที่ใหญ่กว่านักวิ่ง แต่ก็ไม่ใหญ่เท่านักปั่น
นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลอีกว่า นักไตรกีฬาระดับแชมเปี้ยน มีเหมือนกันที่เป็นนักวิ่ง นักปั่น หรือนักว่ายน้ำระดับประเทศ แต่ไม่มีนักกีฬาระดับโลก (world class) ของกีฬาเดี่ยวๆ ทั้งสามชนิดนี้เป็นนักไตรกีฬาระดับแชมป์ ที่เคยเห็นก็มีนักว่ายน้ำระดับโอลิมปิกบางคนที่กลายเป็นนักไตรกีฬาระดับแชมป์โลก แต่ไม่เคยเห็นนักวิ่งหรือนักปั่นระดับสูงสุดกลายมาเป็นแชมป์นักไตรกีฬา ดูเหมือนว่าถ้าร่างกายพัฒนาการจนถึงจุดสูงสุดของกีฬาประเภทหนึ่งๆ แล้ว ร่างกายก็จะไม่ค่อยเหมาะกับกีฬาที่เหลืออีกสองประเภท ดังนั้นนักไตรกีฬาก็จะมีรูปร่างเฉพาะที่เหมาะกับไตรกีฬา ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากนักว่ายน้ำ นักปั่นจักรยาน หรือนักวิ่งอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักไตรกีฬาเหมือนกับนักกีฬา endurance ประเภทอื่นๆ คือการมี body fat น้อย โดยผู้ชายจะอยู่ที่ 6-10 เปอร์เซ็นต์ และผู้หญิงอยู่ที่ 12-16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
5
ตลอดชีวิตการเป็นนักไตรกีฬาของแม็กก้า เขารู้สึกผูกพันกับการแข่งขันไอรอนแมนที่หมู่เกาะฮาวายมากเป็นพิเศษ และสามารถคว้าแชมป์รายการสำคัญอันยากลำบากนี้ได้ถึง 2 สมัย คือในปี ค.ศ. 2007 และ 2010
ระหว่างสองครั้งนั้นแม็กก้ามีช่วงที่ต้องห่างเหินจากการลงแข่งขัน ร้างสนามไปนานร่วมปี เพื่ออุทิศเวลาให้กับครอบครัว ก่อนที่จะกลับมาใหม่และคว้าแชมป์ได้สำเร็จเป็นคำรบสอง
แม็กก้าให้สัมภาษณ์ว่า “การแข่งขันในปี ค.ศ. 2010 นั้นเป็นชัยชนะที่น่าพึงพอใจที่สุด เพราะหลังคว้าแชมป์ไอรอนแมนครั้งแรก ผมกึ่งรีไทร์จากการแข่งขันกีฬาลักษณะนี้ ก่อนจะกลับมาลงแข่งอีกในปี ค.ศ. 2009 เมื่อกลับมาได้แข่งกับผู้เล่นหน้าใหม่หลายคน และพวกเขาต่างเอาชนะผม”
เมื่อตอนที่แม็กก้าประกาศต่อสาธารณะว่าตนเองจะหวนกลับมาลงสนาม และต้องการคว้ารางวัลชนะเลิศ เพื่อนนักไตรกีฬาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเป็นไปไม่ได้ ทุกๆ คนคิดว่าเขาแก่เกินไป ไม่มีความเร็วมากพอจะเอาชนะนักไตรกีฬารุ่นใหม่ๆ ได้แล้ว
“เมื่อผมกลับมา และชนะเลิศการแข่งขันไอรอนแมนได้สำเร็จอีกครั้ง มันจึงกลายเป็นเรื่องที่เปลี่ยนความคิดคน ทำให้ผู้คนมีความหวังว่าอายุอานามไม่ได้หมายถึงอะไรทั้งนั้น เราสามารถเอาชนะการแข่งขันรายการใหญ่ระดับโลกได้ด้วยหัวจิตหัวใจและความหลงใหลในสิ่งที่ทำ”
แม็กก้าถ่ายทอดความรู้สึกว่า “ไอรอนแมนได้มอบมุมมองที่แสนมหัศจรรย์ให้กับผม พรสวรรค์ที่สะท้อนตัวตนและเป็นมาตรวัดศักยภาพของตัวคุณเองออกมา”
มุมมองมหัศจรรย์และพรสวรรค์ที่อยู่เหนือข้อจำกัดด้านร่างกาย
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม