Link Copied!

นักวิ่งรากหญ้า สัญญา คานชัย

แนวทางการใช้ชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย ความเชื่อว่าต้นทุนชีวิตคือร่างกาย กำไรชีวิตคือการได้ใช้ร่างกายทำประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนใคร ถ้าเราพอใจในสิ่งที่มี คนธรรมดาคนหนึ่งก็พึงมีชีวิตที่ดีได้ ถูกถ่ายทอดสู่การฝึกซ้อมของ สัญญา คานชัย นักวิ่งระยะไกลที่ได้รับยกย่องว่ามีฝีเท้าเข้าขั้น Elite

สำหรับนักวิ่งระยะไกล ผู้ที่ประสบความสำเร็จคือผู้ที่มีวินัยในการฝึกฝน ผลลัพธ์ในการวิ่งคือภาพสะท้อนความมุ่งมั่นที่ซ่อนอยู่ในตัวนักวิ่งแต่ละคน

เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่เส้นชัย นักวิ่งหลายคนเลือกเข้าสู่โปรแกรมการฝึกฝนตามที่นักวิ่งรุ่นพี่ชี้ช่องทางไว้ เพื่อให้สามารถทำเวลาและระยะทางดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ หลายคนศึกษาเรื่องวิ่งจากตำรับตำราต่างประเทศ อาศัยอุปกรณ์เสริมทันสมัย หากมีสะตุ้งสตางค์ก็อาจจะถึงขั้นเข้าคอร์สฝึกวิ่งกับ “โค้ช” เพื่อบรรลุเป้าหมายในการวิ่งโดยไว

แต่สำหรับ สัญญา คานชัย เขาไม่ได้มีต้นทุนชีวิตมากมายอะไร ความสำเร็จของนักวิ่งตัวเล็กๆ จากจังหวัดหนองคาย ที่มีฝีเท้าเข้าขั้น Elite เพียงไม่กี่คนในเมืองไทย เกิดจากการใช้ต้นทุนชีวิตคือ “ร่างกาย” และ “หัวใจ” นำทาง

1.

ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรมต่างๆ ที่ผู้คนต้องมาอยู่รวมกันหยุดชะงัก ไม่เว้นแม้แต่งานวิ่งที่เคยถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ลดปริมาณลงมาจนเหลือศูนย์

สัญญา คานชัย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำงานรับจ้างทั่วไป และหารายได้เสริมจากการคว้ารางวัลจากงานวิ่ง ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต หลายเดือนแล้วที่เขาหันมารับจ้างขี่จักรยานส่งอาหารและสินค้า นอกจากพาหนะสองล้อที่เขาคุ้นเคยแล้วบางครั้งก็ใช้ขาทั้งสองข้างวิ่งรับส่งของ

ในแต่ละวันที่มี “ออเดอร์” สัญญาจะลัดเลาะไปตามเส้นทางต่างๆ ตั้งแต่แถวบ้านย่านคู้บอน ไปจนถึงลาดพร้าว ศรีนครินทร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงย่านพุทธมณฑล ! รวมระยะทางไปกลับหลายสิบกิโลเมตร

สินค้าที่เขารับส่งมีตั้งแต่ของกินประเภทถั่วทอด เผือกทอด เทมเป้ ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามอย่างครีมพอกหน้า

ระยะทาง ไม่เกิน 10 กม. จากคู้บอนซึ่งอยู่แถวบ้าน เขาคิดค่าส่ง 60 บาท

ด้วยความเชื่อว่า ต้นทุนชีวิตคือร่างกาย กำไรชีวิตคือการได้ใช้ร่างกายทำสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นไม่คิดเอาเปรียบใครทุกครั้งที่ต้องออกเดินทางไปส่งก๋วยเตี๋ยว สัญญามีหลักคิดง่ายๆ ว่า ต้องรีบไปให้ถึงมือเร็วที่สุด เพื่อที่ลูกค้าได้กินก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ

2.

ภาพ : เทมเป้ SmaHealthy โชคชัย4

เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน ครอบครัวชาวไร่ชาวนาครอบครัวหนึ่ง ได้ให้กำเนิด สัญญา คานชัย หรือ ป้อม ที่จังหวัดหนองคาย

สัญญายังจำได้ดีว่าสมัยเด็กๆ ตนเองเป็นคนขี้โรค เจ็บป่วยง่าย ทางบ้านต้องขายวัวขายควายเพื่อนำเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตามถึงแม้ครอบครัวจะมีฐานะไม่สู้ดีนัก และป้อมต้องไปหาหมอเป็นประจำ แต่ทุกคนก็มีความสุขตามประสา

เด็กชายป้อมเป็นเด็กตัวเล็ก รูปร่างผอมบาง เมื่อเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ก็มักจะถูกคนอื่นเบียด ชน เข้าปะทะ เตะสกัดแรงๆ จนต้องเจ็บตัว ถึงกระนั้นเขาก็ต้องทนเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ เพราะชอบเล่นกีฬา อีกทั้งหมอยังแนะนำด้วยว่าให้ออกกำลังกายเป็นประจำร่างกายจะได้แข็งแรง มีสุขภาพดี

หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษา สัญญาออกจากโรงเรียนมาช่วยทางบ้านทำไร่ทำนาตามวิถีทางของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบทสมัยนั้น ต่อมาก็ตัดสินใจตามพี่สาวมาหางานทำในกรุงเทพฯ ออกเดินทางจากบ้านเกิดด้วยหวังว่าชีวิตในเมืองหลวงจะมอบโอกาสใหม่ๆ

งานที่เขาทำคือรับจ้างทั่วไป ทั้งเสิร์ฟอาหาร เป็นลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยว ล้างจาน เป็นลูกมือติดตั้งศาลพระภูมิ เป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ

ช่วงแรกๆ ที่เข้ากรุงเทพฯ เขาพักอยู่แถวปทุมวันไม่ห่างจากสนามศุภชลาลัย หลังเลิกงานจึงมีโอกาสไปออกกำลังกายกับก๊วนคนรักสุขภาพ ได้พบนักวิ่งเก่งๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจ

ในขณะที่เพื่อนๆ บางคนหลงแสงสีในเมืองหลวง หลังเลิกงานก็ตั้งวงลงขวด แต่สำหรับสัญญา หลังเลิกงานเขาจะสวมรองเท้าออกมาวิ่ง และได้มีโอกาสตามมิตรสหายไปลงแข่งวิ่งทั่วเมืองไทย เริ่มได้รับถ้วยรางวัล ของที่ระลึกติดไม้ติดมือ และบางรายการทางผู้จัดยังมีเงินรางวัลให้

สัญญาพบว่าการวิ่งนอกจากจะทำให้สุขภาพกายแข็งแรง จิตใจเบิกบาน และยังสามารถใช้เป็นช่องทางหาเงินได้ด้วย

3.

การซ้อมวิ่งของสัญญามีรูปแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ทุกๆ เช้าเขาจะตื่นขึ้นมาซ้อมวิ่งริมถนนเส้นที่อยู่ใกล้ที่พัก โดยมีเอกลักษณ์การซ้อมที่เขาคิดขึ้นเองเพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่งกว่านักวิ่งทั่วไป คือการวิ่งลากและดันยางรถยนต์ รวมถึงวิ่งขึ้นสะพานลอยหรือบันไดตึกสูง ซึ่งช่วยสร้างเสริมร่างกายให้แข็งแกร่งพร้อมสำหรับการวิ่งเทรล (trail running) ซึ่งมักจะเป็นการวิ่งไกลๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมงตามป่าเขา การวิ่งชนิดนี้ร่างกายและกล้ามเนื้อจะถูกใช้งานอย่างหนัก เนื่องจากต้องวิ่งผ่านเส้นทางธรรมชาติ ทั้งขุนเขา ธารน้ำ ถนนลูกรัง

แต่ละวันเขามักจะวิ่งลากและดันยางรถยนต์ไปเป็นระยะทาง 400 เมตรแล้วก็วิ่งกลับ ทำซ้ำอยู่อย่างนี้นับชั่วโมง

ยามอยู่ที่ห้อง เปิดดูโทรทัศน์ ก็ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป แทนที่จะนั่งหรือนอนดูทีวีเขากลับยืนดูแล้วซอยเท้าวิ่ง เวลาดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ถ้านักฟุตบอลในหน้าจอวิ่งไล่กวดลูกฟุตบอล เขาก็เร่งจะความเร็วตาม ยามอาบน้ำ แปรงฟัน คุยกับเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ยืนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเขาก็ซอยเท้าวิ่งไปด้วย !

ครั้งหนึ่งสัญญาเคยให้สัมภาษณ์วารสาร Thai Jogging ฉบับเดือนกรกฎาคม 2557 ของสมาพันธ์เดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยว่า

“ผมไม่มีครู ไม่มีโค้ช ทั้งที่อยากมี ถ้าผมมี ผมน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ การซ้อมวิ่งของผมหลายคนถาม ผมจะบอกว่าซ้อมแบบโค้ชผีบอก คือ ผมจะคอยจินตนาการเอาเองว่าต้องซ้อมอย่างไร”

ยกตัวอย่างการวิ่งลงคอร์ท (Interval training) หรือที่รู้กันในหมู่นักวิ่งว่าเป็นแนวทางการซ้อมวิ่งเพื่อเพิ่มระยะทางและความเร็ว นักวิ่งมักจะซ้อมวิ่งบนลู่วิ่งรอบสนามกีฬาขนาดมาตรฐาน ที่ 1 รอบสนามมีระยะทาง 400 เมตร วิ่งเร็วสุดฝีเท้า 100 เมตร แล้วเดินต่ออีก 300 เมตร หรือวิ่งเร็ว 200 เมตร แล้วเดินต่ออีก 200 เมตรจนครบรอบสนาม ทำซ้ำๆ 3-4 รอบแล้วแต่โปรแกรมการฝึก รูปแบบการวิ่งแบบ “หนัก” สลับ “เบา” จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ร่างกายต่อกรกับความเหนื่อนล้าได้ยาวนานและทำเวลาได้เร็วขึ้น

แต่สำหรับสัญญา การลงคอร์ทของเขาไม่ได้เกิดขึ้นบนลู่วิ่งรอบสนามกีฬาที่ไหน แต่เขาจะออกไปวิ่งบนฟุตบาทที่อยู่ติดถนนใหญ่

การลงคอร์ทของสัญญา คือ การวิ่งแข่งกับรถประจำทางที่จะจอดแวะรับ-ส่งผู้โดยสารชนิดป้ายต่อป้าย ยกตัวอย่างสัญญาจะวิ่งไล่รถเมล์สาย 26 ตั้งแต่ท้ายๆ ถนนรามอินทราเรื่อยไปถึงหลักสี่ วิ่งไปเรื่อยๆ จนถึงสวนจัตุจักร สนามหลวง หัวลำโพง เหนื่อยล้าเมื่อไรก็หยุดพัก เมื่อถึงจุดหมาย ถ้ายังไปต่อไหวก็วิ่งกลับ ถ้าไม่ไหวก็นั่งรถเมล์กลับบ้าน

ด้วยรูปแบบการซ้อมเช่นนี้เองที่ทำให้เขาคว้าแชมป์มาแล้วมากมายหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น

เดอะ นอท เฟซ วันฮันเดรท ไทยแลนด์ ระยะทาง 100 กิโลเมตร

อัลตราเทรล รายการ ไทยแลนด์ บาย ยูทีเอ็มบี ระยะทางประมาณ 157 กิโลเมตร

โป่งแยง เทรล ระยะทาง 166 กิโลเมตร

อัลตรา เทรล เชียงราย ระยะทาง 230 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นระยะทางไกลที่สุดของการแข่งขันในเมืองไทย

4.

“การวิ่ง คือ การหาเงินเพื่อดำรงชีวิต แต่ก็มีความสุขไปในตัว บางรายการไม่ติดอันดับก็ต้องทำใจ หากได้รางวัลก็จะนำมาต่อยอดเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต, ค่าเดินทาง, ค่าสมัครแข่งขัน (บางรายการที่ไม่ได้รับเชิญ) เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินคือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต อย่างน้อยก็พอได้ซื้ออาหารกินและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ต้องขอขอบคุณพี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ ที่คอยส่งกำลังใจมาให้ หลายๆ คนเป็นห่วงสุขภาพ สัญญาว่าถัดจากปีนี้จะวิ่งเบาๆ ไม่หักโหมร่างกายมากแล้ว” ครั้งหนึ่งสัญญาเคยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว

ข้อความข้างต้นสะท้อนหลักการใช้ชีวิตของยอดนักวิ่งระดับ Elite ผู้ผ่านการพิสูจน์ตัวเองด้วยเหรียญและเงินรางวัลมาแล้วหลายรายการตลอดการแข่งขันที่ผ่านมา

ทุกวันนี้แม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังคับฟ้าในวงการวิ่งระยะไกล แต่ สัญญา คานชัย ยังใช้ชีวิตสมถะ เรียบง่าย การเดินทางไปแข่งขันส่วนใหญ่เขาเลือกนั่งรถไฟชั้นธรรมดาเพราะเห็นว่าประหยัด และรักที่จะได้ชมวิวนอกหน้าต่างไปตลอดทาง

บางครั้งก็ประกาศหาเพื่อนร่วมทางโดยโพสต์ถามว่าพรุ่งนี้มีใครจะไปวิ่งรายการเดียวกันบ้าง ตนเองจะขอติดรถไปด้วย

ปลายปี 2563 ต่อต้นปี 2564 สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย สัญญาได้กลับมาลงสนามแข่งขัน แต่ก็เป็นเพียงช่วงๆ สั้น ก่อนที่โรคจะกลับมาระบาด

แม้ไม่มีรายการให้ลงแข่งขันมาแล้วเป็นเวลานาน แต่สัญญายังคงฝึกซ้อมจริงจังสม่ำเสมอ การฝึกซ้อมคือสิ่งที่เขาทำมาตลอดทั้งชีวิตจนติดเป็นนิสัย

และด้วยสถานการณ์ระบาดของโรคร้าย เขาจึงเริ่มหารายได้ด้วยการขี่จักรยานรับส่งของ ด้วยความเชื่อว่านิยาม “ชีวิตดี” สำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเราพอใจในสิ่งที่มีและมีความสุขกับสิ่งนั้น คนธรรมดาคนหนึ่งก็พึงมีชีวิตที่ดีได้

“สำหรับผมชีวิตดีก็คือการมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักและมีความสุข และมีโอกาสได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่น” เป็นคำของสัญญาระหว่างรอคอยเวลาที่จะได้กลับมาลงสนามอีกครั้ง

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares