Link Copied!

“ทอม เดลีย์” การเดินทาง 4 โอลิมปิกและสิทธิ LGBTQ

ในงานประกาศรางวัลออสการ์ ปี 2009 รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมตกเป็นของ MILK หนังที่พูดถึงเรื่องราวของ ฮาร์วีย์ มิลค์ นักการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่เปิดเผยว่าตนเป็นเกย์ โดยผู้เขียนบทคือ ดัสติน แลนซ์แบล็ค บอกว่า ชีวิตของ ฮาร์วีย์ มิลค์ ทำให้เขามีความหวังที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเขาเอง หวังว่าวันหนึ่งอาจจะตกหลุมรักและสักวันหนึ่งจะได้แต่งงาน สี่ปีหลังจากออสการ์ ดัสตินพบกับ “ทอม เดลีย์” นักกระโดดน้ำหนุ่มจากยูเค ที่มีเรื่องราวชีวิตไม่ธรรมดา ทั้งสองแต่งงานกันในปี 2017 และล่าสุดเดลีย์คว้าเหรียญทองโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ถ้า ดัสติน แลนซ์ แบล็ค มี ฮาวีย์ มิลค์ เป็นแรงบันดาลใจ สำหรับ “ทอม เดลีย์” จุดหมายของการเป็นนักกระโดดน้ำเริ่มต้นตอนที่เขาอายุ 10 ขวบ เมื่อเห็น ลีออน เทย์เลอร์ ตำนานนักกระโดดน้ำชาวอังกฤษคว้าเหรียญเงินโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 2004 หลังจากนั้นมาเด็กชายจากพลีมัธก็เดินตามความฝัน ด้วยวัย 14 ปี ในโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ปี 2008 เด็กหนุ่มขึ้นไปยืนจุดเดียวกันกับที่ไอดอลของเขาทำได้ คือการลงแข่งในโอลิมปิก แม้ว่าครั้งนั้น ทอม เดลีย์ จะคว้าเหรียญรางวัลใดๆ มาครองไม่ได้เลย แต่โลกทั้งใบและคนทั้งสหราชอาณาจักรก็ตกหลุมรักรอยยิ้มที่ใสซื่อของเด็กชายทอมไปแล้วเรียบร้อย

แต่น้อยคนจะรู้ว่าท่ามกลางรอยยิ้ม ทอมกำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ร็อบ เดลีย์ พ่อของเด็กชายที่กุมใจคนทั้งยูเค ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกในสมองมาตั้งแต่ปี 2006 นอกจากนั้นชื่อเสียงที่ได้มาจากการลงแข่งโอลิมปิกในวัย 14 ปี ต้องแลกมาด้วยการถูกคนบางกลุ่มรังแกที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเกิดจากความอิจฉาหรืออะไรก็ตามแต่ นั่นทำให้เจ้าตัวอยากจะเรียนหนังสือที่บ้าน แทนที่จะออกไปใช้ชีวิตวัยแตกเนื้อหนุ่มที่โรงเรียน ซึ่งสุดท้ายพลีมัธคอลเลจก็เข้ามาช่วยให้ทอมได้เรียนชั้นมัธยมต้นปีสุดท้ายที่นั่น  

เมื่อปี 2009 ในวัย 15 ปี ทอมถึงจุดสูงสุดในอาชีพกระโดดน้ำเมื่อคว้าแชมป์โลกในระดับความสูง 10 เมตรมาครอง ไม่กี่เดือนหลังจากความสำเร็จ ครอบครัวเดลีย์ก็ได้รับข่าวร้าย แม้ว่าจะผ่าตัดนำเนื้องอกออกจากสมองของพ่อไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แต่อาการไม่ดีขึ้น วันที่ 27 พฤษภาคม 2011 สิบสี่เดือนพอดีก่อนหน้าโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน ทอม เดลีย์สูญเสียพ่อไปอย่างไม่มีวันกลับ ซึ่งทอมก็จัดการกับความเศร้าได้ไม่ดีนัก

“คุณพ่อของผมตายในวันศุกร์ และผมไปฝึกซ้อมในวันเสาร์ตอนเช้า งานศพมีขึ้นในวันพุธ หลังจากนั้นผมก็ไปแข่งชิงแชมป์ประเทศ ตอนนี้เมื่อมองกลับไปในฐานะนักกีฬาที่อายุมากขึ้น มันมีสิ่งอื่นที่สำคัญกับชีวิตมากกว่าการกระโดดน้ำ แต่ในตอนนั้นผมรู้แค่ว่าโอลิมปิกที่ลอนดอนสำคัญ คุณพ่อกับผมฝันถึงเรื่องนี้มาตลอด และนั่นเป็นแรงผลักที่จะต้องขึ้นไปยืนรับเหรียญในปี2012” นักกระโดดน้ำหนุ่มเอ่ย 

เมื่อพ่อของเขาเสียชีวิต ในฐานะพี่ชายคนโตของบ้าน ทอมรับหน้าช่วยเหลือแม่ด้วยการขับรถพาน้องชายจากโรงเรียนไปฝึกซ้อมรักบี้ทุกวัน โอลิมปิกครั้งที่ 2 ของเขาเกิดขึ้นบนแผ่นดินเกิด ท่ามกลางความกดดันที่ถาโถม เจ้าตัวคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ เขาขอบคุณพ่อที่จากไปแล้ว พร้อมกับปลดปล่อยตัวเองให้โศกเศร้า จนถึงขนาดจะเลิกกระโดดน้ำ ต้องเข้ารับการบำบัด และตัดสินใจกลับมาลงสนามแข่งขันอีกครั้งในรายการชิงแชมป์โลกปี2013 จบที่ 6 ในตารางคะแนน หลังจากนั้นทอมก็ออกเดินทางไปค้นหาตัวเองที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และทริปนั้นเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

เหมือนชะตากำหนด หนุ่มนักกระโดดน้ำจากอังกฤษพบรักกับนักเขียนชาวอเมริกัน “การพบกับแลนซ์ และเปิดตัวว่าเป็นเกย์ในปี 2013 เปลี่ยนทุกอย่าง มันทำให้ผมหยุดกังวล เลิกกลัว และเป็นแค่ตัวผมเอง” ทอมเอ่ย ในปี 2016 โอลิมปิกครั้งที่ 3 ซึ่ง ทอมเชื่อว่าเขาอยู่ในจุดที่ดีที่สุด แต่สุดท้ายกลับทำได้แค่เหรียญทองแดงในประเภทชายคู่ ซึ่งเขาสัญญากับตัวเองว่าจะกลับมาให้ได้ในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว 2020 

5 ปีต่อมาหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป ทอมแต่งงานกับ ดัสติน แลนซ์ แบล็ค ทั้งสองคนมีลูกชายด้วยกัน ในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด นักกระโดดน้ำก็หันไปถักไหมพรมจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีแฟนตามเรื่องราวการถักไหมพรมของเขา โอลิมปิกเลื่อนแข่งขันไปอีก 1 ปี ความฝันต้องรอต่อไปอีก สุดท้ายหลังเดินทางผ่าน 4 โอลิมปิกท่ามกลางรอยยิ้ม ความสูญเสีย และคราบน้ำตา ทอมก็ทำสำเร็จ ด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกประเภทชายคู่ 10 เมตรมาครอง โดยคนที่เขากระโดดน้ำคู่ด้วยคือ แม็ตตี ลี เด็กหนุ่มที่มี ทอม เดลีย์ เป็นไอดอล 

“ผมรู้สึกภูมิใจมากที่จะได้พูดว่า ผมเป็นเกย์ และผมเป็นแชมป์โอลิมปิก ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมคิดว่าไม่สามารถจะประสบความสำเร็จได้เพราะสิ่งที่ผมเป็น การได้เป็นแชมป์โอลิมปิกแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถประสบความสำเร็จได้” ทอม เดลีย์เอ่ย 

คำพูดของ ทอม เดลีย์ ตอกย้ำสิ่งที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ในญี่ปุ่นพยายามบอกรัฐบาลและสังคมแดนอาทิตย์อุทัยให้ได้ยิน ฟูมิโนะ ซุกิยามะ อดีตนักฟันดาบชาวญี่ปุ่น เริ่มต้นฟันดาบมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และค่อยๆ ก้าวขึ้นมาติดทีมชาติ แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกเล่นเมื่อแปลงเพศมาเป็นผู้ชายในวัย 25 ปี ซุกิยามะเคยเปิดตัวกับโค้ชคนหนึ่งว่า เธอชอบผู้หญิงด้วยกัน โค้ชคนนั้นกลับบอกในสิ่งที่ซุกิยามะไม่มีวันลืม เขาเสนอให้นักฟันดาบมีเพศสัมพันธ์กับเขา ด้วยคิดเอาว่าที่ซูกิยามะเป็นแบบนี้เพราะไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย 

ในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ มีนักกีฬาที่เปิดตัวว่าเป็น LGBTQ ลงสนามแข่งขันมากที่สุด โดยมีจำนวนมากกว่า 160 คน ซึ่งนั่นส่งเสียงทางอ้อมไปยังสังคมของญี่ปุ่นเอง ที่เรื่องความเท่าเทียมกันของกลุ่ม LGBTQ ยังเป็นปัญหา การแต่งงานกับเพศเดียวกันยังไม่ถูกกฎหมาย สิทธิของคู่รัก LGBTQ น้อยนิด และไม่มีนักกีฬา LGBTQ ที่เปิดเผยตัวอยู่ในทีมชาติญี่ปุ่นเลยแม้แต่คนเดียว

ในทางหนึ่งโอลิมปิกเป็นเวทีของความเท่าเทียม อาจจะต่างที่มา ต่างชาติกำเนิด แต่ทุกคนลงแข่งบนกฎกติกาเดียวกัน ถ้าเรากำลังเฉลิมฉลองความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน เราก็ควรจะเลิกมองคนอื่นผ่านทางสีผิว, ชาติกำเนิด และเพศสภาพ ได้แล้วเช่นกัน

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares