ศักยภาพและความทรงจำในการวิ่งมาราธอนของ วันชัย ครุฑแก้ว
เพจ บันทึกสองเท้า : ภาพ
1
ทุกปีเมื่อใกล้ถึงวันเกิด วันชัย ครุฑแก้ว อดีตครูประชาบาลจะบริจาคเงินให้สภากาชาดไทย
แต่ในปี 2556 เมื่อเขากำลังจะมีอายุ 76 ปี ชายชราคนนี้อยากทำสิ่งพิเศษกว่าปีที่ผ่านๆ มา
หลังเกษียณอายุราชการออกมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน
วันชัยวาดหวังถึงการวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตร
2
ย้อนกลับไปราว 2 ปีก่อน ครูวันชัยเริ่มวิ่งอย่างจริงจังที่สวนหน้าบ้าน โดยมีแรงบันดาลใจ คือ ดร. ชุมพล ครุฑแก้ว อดีตหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค) ผู้เป็นลูกชาย
ดร. ชุมพล หลงใหลการวิ่ง และเป็นผู้จุดประกายการวิ่งออกกำลังกายให้กับเพื่อนร่วมงาน
ด้วยพื้นฐานที่เคยทำงานหนัก นอกจากสอนหนังสือแล้วยังปลูกต้นไม้ ขุดบ่อปลา ยกคันดิน ครูวันชัยซึ่งมีอายุกว่าเจ็ดสิบปีจึงสามารถวิ่งมินิมาราธอนระยะทาง 10.5 กิโลเมตรสำเร็จในเวลาไม่นาน โดยมีลูกชายเป็นผู้ให้คำแนะนำและออกวิ่งเคียงข้าง หลังวิ่ง “มินิ” แล้วเขาก็สามารถวิ่งฮาล์ฟมาราธอนระยะทาง 21.1 กิโลเมตร อีกหลายครั้ง
แต่ถึงแม้จะผ่านการวิ่ง “ฮาล์ฟ” มาแล้วหลายสนาม แต่สำหรับ “ฟูล” มาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตรนั้นแตกต่างออกไป
แม้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นจาก 21.1 เป็น 42.195 แค่สองเท่า
แต่เป็นไปได้ว่าความเหนื่อยยากนั้นอาจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ
3
“ความจริงในการซ้อมวิ่งที่บ้าน พ่อไม่เคยวิ่งเกินระยะทาง 10 กิโลเมตรเลย แต่พ่อกลับทำสำเร็จ วิ่งถึงเส้นชัยทุกครั้งที่ลงแข่งฮาล์ฟมาราธอน” ดร. ชุมพล ครุฑแก้ว ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนตั้งข้อสังเกตว่า ในงานวิ่งทุกๆ สนาม กำลังใจจากนักวิ่งและกองเชียร์ตลอดเส้นทางน่าจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญสำหรับพ่อ
เมื่อพ่อคิดท้าทายศักยภาพของตัวเองในวัยใกล้ 76 ปี ดร. ชุมพลจึงติดต่อไปยังผู้จัดงานลากูน่า ภูเก็ต มาราธอน ขอให้เตรียมเหรียญที่ระลึกพิเศษสำหรับทำกิจกรรมการกุศล อาทิ เชิญชวนผู้ที่สนใจช่วยกันบริจาคเงินให้สภากาชาดไทยตามระยะทางที่พ่อวิ่งได้ เช่น กิโลเมตรละ 1 บาท หรือ 10 บาท
ในส่วนของการซ้อมและลงแข่งนั้นพ่อกับลูกชายตั้งมั่นว่าจะวิ่งได้ถึงระยะฟูลมาราธอนภายในเวลา 8 ชั่วโมง
การซ้อมวิ่งอย่างจริงจังของทั้งสองคนดำเนินไปอย่างเข้มข้น แต่ก็พบว่าระยะทางซ้อมสูงสุด 35 กิโลเมตร พ่อใช้เวลาเกิน 7 ชั่วโมงทุกครั้ง จึงยังน่ากังวลว่าในสนามจริงที่มีทางลาดชันของจังหวัดภูเก็ตพ่อจะทำสำเร็จหรือไม่
รศ.ดร. กฤษฎา เกิดดี อาจารย์สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต นักวิชาการที่สนใจเรื่องการวิ่ง เคยอธิบายความยากลำบากของการวิ่งมาราธอนจากประสบการณ์ของตนเองว่า “จากที่เคยอยากรู้ว่าการวิ่งมินิมาราธอนเหนื่อยแค่ไหน ถ้าเพิ่มระยะทางเป็นสองเท่าจะเป็นอย่างไร ผมพบว่าการเพิ่มระยะทางจาก 10.5 เป็น 21.1 กิโลเมตรนั้นอาจจะเหนื่อยขึ้นเป็นสองเท่า แต่จากฮาล์ฟมาราธอน 21.1 เป็นฟูลมาราธอน 42.195 นั้นมันเหนื่อยยากเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ”
นอกจากนี้นักวิ่งหลายคนยังต้องเผชิญ “ภาวะวิ่งชนกำแพง” หรือที่บางคนเรียกว่า “ปีศาจกิโลเมตรที่ 35” หมายถึงความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า วาดขาตุปัดตุเป๋ สีหน้าเหยเกแบบคนก้าวขาไม่ออก อธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ว่าพลังงานในร่างกายที่สะสมไว้ถูกใช้จนหมดเกลี้ยง
นำนักวิ่งทุกคนเข้าสู่สถาณการณ์ที่รู้สึกโดดเดี่ยวและต้องตัดสินใจ
4
ลมทะเลกลางปี 2556 พัดเข้าหาฝั่ง เสียงสัญญาณปล่อยตัวลากูน่า ภูเก็ต มาราธอน ดัง
ครูวันชัยและชุมพลสองพ่อลูกวิ่งเคียงข้างกันเหมือนทุกครั้ง จากก้าวแรกสู่ “มินิ” และ “ฮาล์ฟ”
เมื่อผ่านพ้นครึ่งทาง วิ่งถึงกิโลเมตรที่ 32 พ่อขอนั่งพักเพราะรู้สึกเวียนหัว ก่อนที่จะอาเจียนอาหารที่กินระหว่างทางออกมาทั้งหมด
สองกิโลเมตรต่อมาตระคริวเริ่มกัดกินแข้งขาจนต้องก้าวเท้าเขยก ลูกเร่งนวดและถามว่าพ่อต้องการไปต่อไหม พ่อตอบรับอย่างมั่นใจแล้วชวนลูกชายออกวิ่ง ปฏิเสธรถพยาบาล
ช่วงกิโลเมตรที่ 35-42 พ่อมีอาการวิ่งก้าวขาทั้งที่ตาหลับ ลูกห่วงกังวลแต่พ่อยังยืนยันว่าจะวิ่งต่อ
ดร. ชุมพลบอกว่าช่วงนั้นเขาต้องชวนพ่อคุยไปตลอดทาง และคอยดูว่าท่านยังมีสติดีอยู่ไหม
กิโลเมตรที่ 42 ผ่านไป พละกำลังของทั้งสองคนเหมือนหวนคืน สองพ่อลูกวิ่งเข้าเส้นชัยอย่างมีความสุข ท่ามกลางเสียงเชียร์และเสียงปรบมือให้กำลังใจ ทำเวลา 7 ชั่วโมง 50 นาที
ยิ้มปริ่มอย่างมีความสุขแม้เหนื่อยล้า ไม่ว่าจะเข้าสู่เส้นชัยเป็นลำดับที่เท่าไร และใช้เวลาในการวิ่งเท่าไรก็ไม่สำคัญ นี่คือสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์จารึกไว้ด้วยสองขา
นี่คือกีฬาแห่งชัยชนะ
หมายเหตุ : ด้วยรักและอาลัย ครูวันชัย ครุฑแก้ว ผู้ฝึกวิ่งครั้งแรกตอนอายุ 74 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 สิริรวมอายุ 81 ปี 11 เดือน 4วัน