การแข่งรถฟอร์มูล่าวันฤดูกาลนี้ ผ่านช่วงโค้งสุดท้ายเข้าทางตรงก่อนถึงเส้นชัยเต็มทีแล้ว เพราะเหลืออีกเพียง 2 สนามก็จะทราบแล้วว่า ระหว่าง แม็กซ์ เวอร์สแตปเพ็น นักแข่งชาวดัตช์ของทีมเรดบูล กับแชมป์เก่า ลูอิส แฮมิลตัน เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก 7 สมัยชาวอังกฤษจากทีมเมอร์เซเดส ใครจะคว้าแชมป์โลกฤดูกาล 2021 ไปครอง แม้ความได้เปรียบในขณะนี้ยังอยู่ที่ แม็กซ์ เวอร์สแตปเพ็น ซึ่งมีคะแนนนำอยู่ 8 คะแนน แต่หากดูจากผลงานใน 2 สนามหลังสุดที่แชมป์เก่าจากทีมเมอร์เซเดสทำได้ดี โอกาสที่ ลูอิส แฮมิลตัน จะเร่งทำคะแนนแซงกลับมาคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 8 ก็มีไม่น้อยเช่นกัน
ว่ากันว่าในวินาทีที่ ลูอิส แฮมิลตัน ถูกปรับแพ้ในรอบควอลิฟายวันศุกร์ รายการบราซิเลียน กรังด์ปรีซ์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะถูกร้องเรียนเรื่องระบบดีอาร์เอสบนปีกหลังรถ แทบเป็นการดับความหวังที่จะคว้าแชมป์โลกฤดูกาลนี้ เพราะในรอบสปรินต์ ควอลิฟายวันเสาร์เพื่อจัดอันดับออกสตาร์ตในวันอาทิตย์ เขาจะต้องออกสตาร์ตในตำแหน่งท้ายแถว แต่ด้วยหัวจิตหัวใจที่กล้าหาญไม่ยอมถอดใจยกธงขาวยอมแพ้ง่ายๆ ลูอิส แฮมิลตัน เร่งจากอันดับที่ 20 มาจนได้อันดับที่ 5 สำเร็จ แต่ถึงกระนั้นจากการถูกปรับจากกรณีเปลี่ยนเครื่องยนต์เกินกำหนดก่อนหน้านี้ เท่ากับว่า ลูอิส แฮมิลตัน จะต้องออกสตาร์ตในอันดับที่ 10 ซึ่งก็ยังเสียเปรียบมากอยู่ดี
ด้วยความที่รู้ตัวดีว่าแพ้ไม่ได้ ประกอบกับการปรับแต่งเครื่องยนต์ที่เคยเป็นรองทีมคู่แข่งเรดบูล จนเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทาง แม้ แม็กซ์ เวอร์สแตปเพ็น แซง วัลท์เทอรี บอตตาส นักแข่งมือสองของทีมเมอร์เซเดสขึ้นเป็นผู้นำได้ตั้งแต่ในช่วงออกสตาร์ต แต่ ลูอิส แฮมิลตัน ก็เร่งความเร็วขึ้นมาจนสามารถแซงรถของคู่แข่งจากทีมเรดบูลได้สำเร็จในรอบที่ 59 และรักษาอันดับผู้นำไว้ได้จนเข้าเส้นชัยเป็นคันแรก เพิ่มความหวังที่จะกลับมาเบียดลุ้นแชมป์ในช่วง 3 สนามสุดท้าย และจากการที่ ลูอิส แฮมิลตัน คว้าแชมป์สนามต่อมาในรายการกาตาร์ กรังด์ปรีซ์ เป็นสนามที่ 2 ติดต่อกัน สถานการณ์ตอนนี้ยิ่งบีบหัวใจคู่แข่งจากทีมเรดบูลยิ่งขึ้นไปอีก
ต้องยอมรับว่าการแข่งขันฟอร์มูล่าวันฤดูกาลนี้ สูสี เข้มข้น เร้าใจกว่าหลายฤดูกาลที่ผ่านมามาก แม้ ลูอิส แฮมิลตัน จะคว้าแชมป์กาตาร์ กรังด์ปรีซ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ก็จริง แต่สำหรับ แม็กซ์ เวอร์สแตปเพ็น แล้ว ถือว่าทำผลงานได้ดีไม่แพ้กัน เนื่องจากเขาถูกลงโทษให้ออกสตาร์ตต่ำกว่าอันดับที่ได้ในรอบควอลิฟาย 5 อันดับ เพราะไม่ยอมลดความเร็วในช่วงที่กรรมการตีธงเหลืองในรอบควอลิฟายในรอบจัดอันดับออกสตาร์ต แต่ยังเร่งจากอันดับที่ 7 กลับมาคว้าอันดับที่ 2 ทำให้ไม่ถูกแชมป์เก่าทำคะแนนไล่จี้เข้ามากกว่านี้
แต่สิ่งที่แฟนกีฬาทั่วโลกรับรู้ขณะชมการแข่งรถ กาตาร์ กรังด์ปรีซ์ ไม่ได้มีเพียงแค่ความเก่งกาจของ ลูอิส แฮมิลตัน กับ แม็กซ์ เวอร์สแตปเพ็น แต่ยังมีประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนไม่แพ้กันคือการที่ ลูอิส แฮมิลตัน สวมหมวกกันน็อกสีรุ้งลงแข่ง เพื่อแสดงจุดยืนเรื่องสิทธิเท่าเทียมทางเพศ ต่อต้านกฎหมายที่มีบทลงโทษคนกลุ่มหลากหลายทางเพศอย่างรุนแรงในประเทศกาตาร์ เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบีย เจ้าภาพการแข่งขันสนามรองสุดท้าย ก่อนหน้านี้เขาก็เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายต่อต้านกลุ่มหลากหลายทางเพศของฮังการี ก่อนการแข่งขันฮังกาเรียน กรังด์ปรีซ์ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
และแน่นอน ลูอิส แฮมิลตัน ไม่ใช่นักแข่งรถฟอร์มูล่าวันคนแรกที่สวมหมวกสีรุ้งเพื่อสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ความจริงแล้ว เป็น เซบาสเตียน เฟทเทิล อดีตแชมป์โลก 4 สมัยชาวเยอรมันของทีมแอสตันมาร์ตินที่ไม่ได้สวมแค่หมวกสีรุ้งลงแข่ง แต่สวมเสื้อยืดสีรุ้ง มีข้อความ “Same Love” และนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งในช่วงเปิดเพลงชาติฮังการี เพื่อคัดค้านกฎหมายต่อต้านกลุ่มหลากหลายทางเพศของรัฐบาลหัวอนุรักษ์ของประเทศฮังการี ช่วงก่อนเปิดการแข่งขันรายการฮังกาเรียน กรังด์ปรีซ์ ซึ่งทำให้เขาถูกตำหนิอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับ วัลท์เทอรี บอตตาส, คาร์ลอส ไซน์ และ แลนซ์ สโตรลล์ ที่สวมเสื้อยืดมีข้อความว่า “We Race As One”
ครั้งนั้นนักข่าวถามว่าเหตุใดถึงสวมเสื้อยืดสีรุ้ง เซบาสเตียน เฟทเทิล ตอบแกมประชดประชันว่า “ช่วงก่อนการแข่งขัน พวกเรายืนสวมเสื้อยืดที่มีข้อความความหมายดี แต่รู้สึกมันจะเป็นปัญหาสำหรับบางคน ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม บางเรื่องก็น่าเศร้านะ แต่ถ้าหากสิ่งที่ทำมันเป็นการช่วยสนับสนุนผู้คนที่ต้องทุกข์ทนจากการถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ในประเทศที่เป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรป ผมก็ยินดีนะที่จะแสดงออกแบบนั้น ทางฝ่ายผู้มีอำนาจจะตำหนิผมอย่างไรก็ตามถนัด แต่ยืนยันว่าหากให้เลือกใหม่ก็จะทำแบบเดิมอีก”
ต่อมา เซบาสเตียน เฟทเทิล ให้สัมภาษณ์บีบีซีถึงสาเหตุที่ตัดสินใจทำเช่นนั้นว่า “เอาจริงแล้ว ผมไม่ได้รู้สึกกังวลหรือกระดากอายที่จะสวมเสื้อสีรุ้ง ใครจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ผมต้องการส่งสารบางอย่าง และรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำเช่นนั้น ตอนทราบข่าวว่ารัฐบาลฮังการีจะออกกฎหมายห้ามการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มหลากหลายทางเพศในโรงเรียน แม้ประเด็นดังกล่าวจะมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สำหรับผมมองว่าการทำแบบนั้นมันไม่ใช่ จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าในช่วงก่อนการแข่งขันน่าจะสื่อสารอะไรบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ ออกไปให้โลกรับรู้ว่า คนทุกคนไม่ว่าจะเชื้อชาติอะไร จะรักคนเพศเดียวกันหรือไม่ ก็สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน”
การกระทำของเฟทเทิลสร้างความยินดีให้กับบรรดาองค์กรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหนึ่งในนั้นคือ แม็ทท์ บิช็อป ประธานฝ่ายสื่อสารองค์กรของทีมแอสตัน มาร์ติน ผู้ที่คลุกคลีกับวงการแข่งรถฟอร์มูล่าวันมาเกือบ 30 ปีแล้ว และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม “Racing Pride” ซึ่งเปิดเผยว่าสมัยที่ตนเข้ามาวงการใหม่ๆ น่าจะเป็นคนที่กล้าแสดงตัวว่าเป็นคนกลุ่มหากหลายทางเพศเพียงคนเดียวในวงการแข่งรถฟอร์มูล่าวัน และจนถึงปัจจุบันแม้จะมีคนเปิดตัวมากขึ้น แต่ยังถือว่าน้อยมาก
แม็ทท์ บิช็อป จึงชื่นชมการกระทำของ เซบาสเตียน เฟทเทิล เป็นอย่างมาก โดยกล่าวว่า “การที่นักแข่งดีกรีแชมป์โลกอย่าง เซบาสเตียน เฟทเทิล ซึ่งเป็นผู้ชายแท้ๆ แต่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ และเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเลือกใช้ชีวิต และเลือกที่จะรักใครก็ได้ตามใจปรารถนา เป็นเรื่องน่าตื้นตันใจ” แม้แต่ ลูอิส แฮมิลตัน ก็ส่งข้อความผ่านอินสตาแกรมสัญญาว่า คราวหน้าจะขอแจมร่วมสวมเสื้อสีรุ้งกับเซบาสเตียนด้วย ซึ่งความจริง ลูอิส แฮมิลตัน อาจทำเช่นเดียวกับ เซบาสเตียน เฟทเทิล ไปแล้ว หากไม่ใช่เพราะเขาเคยถูกตำหนิอย่างเป็นทางการ กรณีสวมเสื้อมีข้อความต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับคนผิวสีมาก่อน
แต่ถึงกระนั้นช่วงก่อนการแข่งขันรายการฮังกาเรียน กรังด์ปรีซ์ ลูอิส แฮมิลตัน ได้ออกมากล่าวต่อต้านการออกกฎหมายไม่ให้บรรจุเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มหลากหลายทางเพศในหลักสูตรการศึกษาของรัฐบาลฮังการีเช่นกัน โดยกล่าวว่า “สำหรับประเทศที่สวยงามอย่างฮังการี ผมต้องการที่จะร่วมให้กำลังใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายต่อต้านกลุ่มหลากหลายทางเพศของรัฐบาลฮังการี มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เป็นความขาดกลัว และมิจฉาทิฐิของผู้อำนาจ ในการออกกฎหมายที่ล้าหลังเช่นนั้น ทุกคนมีอิสระเสรีในการเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเอง หรือเลือกที่จะรักใครก็ตามแต่”
แน่นอน ลูอิส แฮมิลตัน ไม่ได้รอจนถึงการแข่งขัน ฮังกาเรียน กรังด์ปรีซ์ ในปีหน้า เพื่อที่จะแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยส่งสารให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศกาตาร์ ที่เพิ่งได้เข้าร่วมการแข่งขันฟอร์มูล่าวันเป็นปีแรก ตามที่กลุ่มแอมเนสตี้เรียกร้อง โดยกล่าวว่า “เราตระหนักดีถึงปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ซึ่งมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนรุนแรงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ดังนั้นในโอกาสที่มีการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ขึ้นที่นั่น จึงควรสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะประเด็นเรื่องความเท่าเทียมเป็นเรื่องใหญ่มาก”
ด้วยเหตุนี้ ลูอิส แฮมิลตัน จึงตัดสินใจสวมหมวกสีรุ้งที่ออกแบบเป็นพิเศษที่นอกจากจะสื่อถึงคนกลุ่มหลากหลายทางเพศแล้ว ยังเพิ่มสีที่สื่อถึงความเท่าเทียมของคนทุกเชื้อชาติ ลงแข่งรายการ กาตาร์ กรังด์ปรีซ์ บนแผ่นดินประเทศที่การมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีบทลงโทษถึงขั้นปรับเงินและจำคุก และในศาลที่อิงศาสนาเป็นหลัก ชาวมุสลิมอาจถูกลงโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตได้ หากมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ชัยชนะของลูอิสในรายการนี้จึงเปรียบเสมือนชัยชนะของคนกลุ่มหลากหลายทางเพศทั่วโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เขาจะกลายเป็นขวัญใจของคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกับ เซบาสเตียน เฟทเทิล
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์ของโลกหลายคนมักหลีกเลี่ยงประเด็นร้อนแรงในลักษณะนี้ อาทิเช่น ไมเคิล จอร์แดน และ ไทเกอร์ วูดส์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนสหรัฐฯ หลายครั้งว่า ชอบทำตัววางเฉยกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคม โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดสีผิว ทั้งที่ทั้งคู่ก็เป็นนักกีฬาเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันที่เคยถูกเหยียดผิวมาก่อนเช่นกัน แต่เห็นแก่ผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้ในเชิงธุรกิจมากกว่า คำพูดของ ไมเคิล จอร์แดน ที่บอกว่า “พวกรีพับลิกันก็ซื้อรองเท้ากีฬาเหมือนกันนะ” ถูกตีความในทำนองว่า ไม่อยากแตะต้องเรื่องพวกนี้มาก เพราะพวกเหยียดผิวก็ซื้อรองเท้าของตนเช่นกัน
ส่วน ไทเกอร์ วูดส์ ดีกรีแชมป์ เดอะ มาสเตอร์ส 5 สมัย มักเลือกที่จะไม่แสดงความเห็นกรณีการเหยียดผิวและกีดกันทางเพศของออกัสตา เนชันแนล กอล์ฟคลับ ซึ่งเป็นเจ้าภาพกอล์ฟ เดอะ มาสเตอร์ส แต่ช่วงที่ไทเกอร์โดนประณามมากที่สุดคือช่วงหลังจากเกิดเหตุตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงกับ จอร์จ ฟลอยด์ ด้วยการเอาเข่าข้างหนึ่งกดทับคอ ทั้งที่ชายผิวสีผู้นี้ร้องบอกว่าหายใจไม่ออก จนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา และเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในหลายเมืองของสหรัฐฯ เมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นบรรดานักกีฬาต่างพากันแสดงความเห็นสนับสนุนผู้ประท้วง ขณะที่ไทเกอร์รอจนผ่านไปเกือบสัปดาห์ถึงโพสต์ข้อความถึงเรื่องนี้
หากเปรียบเทียบ ไมเคิล จอร์แดน หรือ ไทเกอร์ วูดส์ กับ ลูอิส แฮมิลตัน ต่างกันราวฟ้ากับเหว แม้แชมป์โลกฟอร์มูล่าวัน 7 สมัยจะเป็นชาวอังกฤษ แต่เขาไม่ได้วางเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐฯ และได้ออกมาประณามเกือบทุกครั้งที่มีข่าวตำรวจสหรัฐฯ ใช้ความรุนแรงเกินเหตุกับชาวผิวสี และมันทำให้เขาเคยถูกตำหนิอย่างเป็นทางการมาแล้ว เมื่อครั้งที่สวมเสื้อยืดมีข้อความเรียกร้องให้คืนความยุติธรรมให้กับ บรีออนนา เทย์เลอร์ หญิงผิวสีที่ถูกตำรวจยิงถึง 8 นัดจนเสียชีวิตในบ้านของตนเอง ทั้งที่ตำรวจบุกเข้าบ้านผิดหลังและเธอไม่ใช่คนร้าย ในช่วงก่อนการแข่งขันรายการยูเอส กรังด์ปรีซ์ เมื่อเดือนกันยายนปี 2020
ลูอิส แฮมิลตัน เป็นคนที่กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ก่อนหน้านั้นเขาก็เคยมีวิวาทะกับ เบอร์นี เอ็คเคิลสโตน อดีตประธานฝ่ายบริหารการแข่งรถฟอร์มูล่าวันมาแล้ว จากกรณีที่เบอร์นีกล่าวถึงความพยายามในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความหลากหลายในวงการกีฬาแข่งรถของลูอิสว่า ตนไม่เชื่อว่าตั้งขึ้นมาแล้วจะทำให้อะไรดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะในความเห็นส่วนตัวแล้ว หลายกรณีที่เกิดขึ้น คนดำเป็นพวกที่ชอบเหยียดเชื้อชาติมากกว่าคนขาวเสียอีก ทำให้ลูอิสต้องออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่า มันน่าเศร้าที่คนที่คลุกคลีกับกีฬาแข่งรถมานานอย่างเบอร์นี กลับมองไม่เห็นปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติที่ตนเองประสบมาตลอดชีวิตนักแข่งรถ
แชมป์โลกฟอร์มูล่าวัน 7 สมัยชาวอังกฤษ ไต่เต้ามาจากครอบครัวฐานะธรรมดาๆ และผ่านการดูถูกหรือเหยียดผิวมานับครั้งไม่ถ้วน ลูอิส แฮมิลตัน จึงย้ำว่าคำพูดของอดีตประธานฝ่ายบริหารการแข่งรถฟอร์มูล่าวัน เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนว่าที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลยปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ และการขาดความหลากหลายของผู้คนในวงการแข่งรถมานานเพียงไร ขนาดอดีตผู้บริหารสูงสุดยังพูดจาเหมือนคนไม่ได้รับการศึกษาแบบนี้ คนอื่นๆ ที่ทำงานด้วยกันมานานก็ย่อมมองไม่เห็นปัญหาเช่นกัน มันจึงถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ ต้องได้รับโอกาสและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
ลูอิส แฮมิลตัน ยืนยันว่าจะยังสวมหมวกกันน็อกสีรุ้งที่มีข้อความ “We Stand Together” และ “Love Is Love” ลงแข่งรายการซาอุดีอาระเบีย กรังด์ปรีซ์ ต้นเดือนธันวาคมนี้ และอาจรวมถึงการแข่งขันสนามปิดท้ายฤดูกาล อาบูดาบี กรังด์ปรีซ์ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในสัปดาห์ถัดไปด้วย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศก็ไม่ยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศเช่นกัน ซึ่งในความเห็นของเขาการให้การสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นเรื่องที่โลกควรรับรู้ และหวังว่าคนอื่นๆ ที่มีพื้นที่ในการแสดงออกก็ควรออกมาสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศในดินแดนที่ว่ากันว่า น่ากลัวที่สุดสำหรับชาวสีรุ้งเช่นกัน
สำหรับผู้มีอำนาจในการแข่งรถฟอร์มูล่าวันหรือแม้แต่ฟุตบอลโลก คาถายอดนิยมที่มักนำมากล่าวอ้างในการเพิกเฉยต่อประเด็นการไม่ยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศในดินแดนตะวันออกกลางหลายประเทศ คือ “ไม่อยากให้นำเอากีฬาไปปะปนกับการเมือง” ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ เพราะการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนทุกเพศทุกเชื้อชาติไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล และทั่วโลกมีคนกลุ่มหลากหลายทางเพศอยู่เกือบ 2% จึงไม่ควรปล่อยให้คนกลุ่มนี้ต้องชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะกลัวถูกตีตราบาปอีกต่อไป
ลูอิส แฮมิลตัน ย้ำเสมอว่า เขาอยากให้เพื่อนนักกีฬาและนักแข่งรถทุกคน ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ทั้งในเรื่องเชื้อชาติและเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะมันจะทำให้มีพลังในการเปลี่ยนโลกให้ดีกว่าได้มากกว่าเดิม สำหรับเขาแล้ว ทุกคนไม่ควรต้องทนทุกข์หรือถูกกระทำอย่างรุนแรงและเลวร้าย เพียงเพราะมีสีผิวต่างจากคนอื่น หรือมีรสนิยมทางเพศต่างจากคนส่วนใหญ่ และหวังว่าเมื่อเด็กๆ เห็นหมวกสีรุ้งแล้วจะตั้งคำถามว่ามันมีความหมายอะไร ทำไมเขาจึงต้องสวมมัน ด้วยความมุ่งมั่นและกล้าหาญที่จะทำเพื่อคนอื่นแบบนี้ ลูอิส แฮมิลตัน จึงไม่เพียงแต่เป็นสุดยอดนักแข่งในสนามแข่งรถฟอร์มูล่าวันเท่านั้น เขายังเป็นวีรบุรุษของผู้คนอีกมายมายทั่วโลก ยามใช้ชีวิตนอกสนามแข่งขันด้วย
ไม่บอกคงรู้แล้วนะครับว่าในการแข่งรถ 2 สนามสุดท้ายในฤดูกาล 2021 บรรดากลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เอาใจช่วยอยากให้ใครคว้าแชมป์โลกฤดูกาลนี้!
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม