วงการฟุตบอลนั้นมีวิวัฒนาการซ่อนอยู่ในการแข่งขันทุกยุคสมัย อย่างวงการฟุตบอลอาเซียนของเราก็เช่นกัน
สมัยก่อนมองกันแค่แชมป์ซีเกมส์ และทำให้ดีที่สุดในรายการระดับทวีป
โดยเฉพาะในรายการชิงเหรียญทองซีเกมส์ ทุกทีมชาติต้องการเป็นหนึ่ง ซึ่งเหรียญทองไม่ใช่เพียงแค่เหรียญรางวัล
แต่มันเป็นทั้งความภาคภูมิใจของชาติ เป็นความความแข็งแกร่งของประเทศ และเป็นหน้าตาของประชาชน ซึ่งต่อมาได้รวมรายการอาเซียนคัพเข้าไปด้วย
นั่นจึงทำให้ฟุตบอลของย่านนี้มีความเข้มข้น รุนแรง และไม่สนวิธีการ โดยมีเพียงแค่ทำตามเป้าหมายอันสูงสุดได้
แต่เมื่อโลกกว้างกับกาลเวลาสอนให้ทุกชาติได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายต่างหาก และการแข่งขันระดับทวีปต่างหาก ที่เป็นจุดหมายหลักที่สมควรไปให้ถึง
ความเข้มข้นระหว่างภูมิภาคจึงลดลงไปพอสมควร โดยมีความเป็นมาตรฐานสากลทยอยเข้ามาทดแทน
แต่การเข้ามาคุมทีมชาติเวียดนามของ ปาร์ค ฮัง ซอ คือจุดที่ทำให้วงการฟุตบอลอาเซียนกลับมาเข้มข้นเหมือนเดิมอีกครั้ง แถมยังนำความรุนแรงกลับมาด้วยเช่นกัน
เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ปาร์ค ฮัง ซอ ทำให้ทีมชาติเวียดนามเป็นทีมที่ดีที่สุดในยุคของอาเซียนได้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า วิธีการที่เขาใช้กับทีมชาตินั้น กระทบกับลีกของชาติ และกระทบกับทัศนคติของลูกทีม
ทีมชาติเวียดนามแข็งแกร่งขึ้นจนเข้าถึงรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย รวมทั้งตั้งเป้าเป็นจ้าวอาเซียน ด้วยการทำในสิ่งที่ดีต่อทีมชาติในระยะสั้น ๆ อย่างการปิดลีกเพื่อรวมทีมชาติของเขา โดยที่สมาคมฟุตบอลเห็นดีเห็นงาม
เขานำเอาจุดเด่นของเกาหลีใต้ คือความแข็งแกร่ง ใจสู้ และทุ่มเท มาปลูกฝังให้ลูกทีมทุกคน
แต่เขาคงยังติดหล่มอยู่กับการเป็นหนึ่งในสต๊าฟโค้ชของทีมชาติชุดอันดับ 4 ฟุตบอลโลกที่บ้านตัวเอง
นั่นก็คือ สิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ด้านมืดของฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
ภาพลักษณ์ของ ปาร์ค ฮัง ซอ ในรายการแข่งขันของอาเซียน จึงกลายเป็นคนที่มุทะลุ ดุดัน จนทำทุกอย่างเพียงเพื่อต้องการชัยชนะ
ถ้าทีมชาติเวียดนามชุดสู้ศึกฟุตบอลโลก ใช้พละกำลังเข้าสู้ชาติอื่น ๆ โดยเน้นไปที่การเล่นในสนามเป็นหลัก
ส่วนทีมชาติชุดบู๊อาเซียน ใช้ทั้งพละกำลัง และ ใช้ความเกลียดชังที่ลูกทีมหลายคนมีต่อคู่แข่งไม่ต่างไปจากเขา นั่นก็คือการทำทุกอย่างในสนามเพื่อชัยชนะ
ผู้เล่นเวียดนามบางคน ราวกับได้รับการปลุกถ่ายดีเอ็นเอมาจากคนเป็นโค้ช คล้ายกับที่ เรอัล มาดริด ยุคของ โชเซ มูรินโญ ที่ได้ปลูกฝังการเอาชนะ บาร์เซโลนา ด้วยทัศนคติของเขา
จนทำให้ เอล กลาซิโก ในยุคนั้น ดุเดือดเลือดพล่านสุด ๆ อันทำให้แกนนำของทีมบางคนต่อต้านแนวคิดเอาชนะคู่แข่งของเขา ซึ่งจะไปกระทบกับความสามัคคีของทีมชาติสเปน
แต่แกนนำทีมชาติของ ปาร์ค ฮัง ซอ กลับไปรับแนวคิดนั้นมา จนทำให้พวกเขาลงสนามไปด้วยเป้าหมายชนะ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ซึ่งรวมทั้งเหล่าแฟนบอลดาวแดงอีกนับไม่ถ้วนด้วย
สิ่งที่ผู้เล่นเวียดนาม ที่เราก็ทราบกันดีว่ามีใครบ้างได้กระทำลงไป ผลที่พวกเขาเหล่านั้นได้รับกลับมาก็คือ ความเกลียดชังอย่างร่วมใจสามัคคีจากหลาย ๆ ชาติคู่แข่ง
ในวันที่พวกเขาชนะ แฟนบอลคู่แข่งตามโห่ แล้วในวันที่พวกเขาพ่ายแพ้ แฟนบอลคู่แข่งล้วนสะใจราวกับเป็นชัยชนะจากทีมชาติของตนเอง
แต่ท่ามกลางความชุลมุนนั้น ปาร์ค ฮัง ซอ กลับช่วยยกระดับมาตรฐานของอาเซียนด้วยวิธีการที่เขามั่นใจ นั่นก็คือถ้าพวกเขาเอาจริงอย่างเป็นระบบ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ก็เป็นไปได้ถ้าทุกฝ่ายของชาติร่วมมือกันอย่างเต็มที่
ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่ดีที่สุดเพียงสิ่งเดียวที่เขาทำให้ทุกชาติได้เรียนรู้ร่วมกันก็คือ ความสกปรกไม่ทำให้ฟุตบอลของภูมิภาคนี้ดีขึ้น
แต่ความรุนแรง ทำให้ฟุตบอลย่านนี้ดูล้าหลังไปหลายสิบปี
ดังนั้นการอำลาอย่างถาวรของ ปาร์ค ฮัง ซอ จึงทิ้งร่องรอยของความเกลียดชังเอาไว้ให้ลูกทีมของเขาต้องรับกรรมต่อไปอีกหลายปี
อย่างน้อยก็จนกว่าพวกตัวแสบของทีมจะเลิกพฤติกรรมเหล่านั้นได้หมด แล้วกลับมาเล่นฟุตบอลให้ดีตามความสามารถที่แท้จริงของพวกเขาที่มีในระดับแนวหน้าอยู่แล้ว
รวมทั้ง ยังสอนใจทุกชาติ ไม่เว้นแม้แต่ทีมชาติไทยว่า ความเป็นมาตรฐานสากลนั้น ยั่งยืนกว่าเป้าหมายระยะสั้น
และหมดเวลาแห่งการทำทุกอย่างโดยไม่สนความสกปรกเพื่อเป็นแชมป์แล้ว
การเริ่มต้นอย่างถูกทาง จึงไม่ใช่แค่ทีมชาติเวียดนาม แต่หมายความถึงทุกทีมชาติแห่งย่านนี้
โดยเฉพาะถ้ายังหวังร่วมเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในอนาคต
ซึ่งทัศนคติของนักฟุตบอล สมาคมฟุตบอล และ แฟนบอล ต้องพัฒนาไปสู่สากลให้ได้เสียก่อน