Link Copied!

กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

คริสเตียโน โรนัลโด และ แฮร์รี แม็กไกวร์ คือ 2 นักเตะทีมปีศาจแดงที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในช่วงหลังๆ แต่ทั้งคู่ยังเป็นผู้เล่นที่ทีมขาดไม่ได้ แม้ไม่ใช่ผู้เล่นในแบบฉบับของ ราล์ฟ รังนิค ก็ตาม

ใครที่เป็นแฟนของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชั่วโมงนี้ คงรู้สึกแห้งเหี่ยวหัวใจอย่างบอกไม่ถูก เนื่องจากผลงานของทีมในช่วงหลังๆ แทบไม่กระเตื้องขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ โอเล กุนนาร์ โซลชา จะถูกปลดจากตำแหน่งผู้จัดการทีมมากนัก นับตั้งแต่ ราล์ฟ รังนิค เข้ามาคุมทีมอย่างเป็นทางการต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทีมปีศาจแดงแพ้ให้กับวูล์ฟแฮมป์ตันเพียงนัดเดียว ในการลงคุมทีมทำศึกพรีเมียร์ลีก 11 นัด แต่ก็พลาดท่าทำแต้มหลุดมือ จากการทำได้เพียงแค่ผลเสมอถึง 4 นัด ทำให้สถานการณ์ในการลุ้นโควตา ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ถือว่ายังหนักหนาสาหัส เนื่องจากมีทีมคู่แข่งที่ลุ้นอันดับ 4 อย่างน้อย 5 ทีม

ส่วนความหวังที่จะเบียดขึ้นไปลุ้นอันดับ 3 ณ วินาทีนี้ ค่อนข้างห่างไกลความจริง เพราะทั้งแมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล และเชลซี มาตรฐานการเล่นค่อนข้างเหนือกว่าทีมอื่นๆ มาก ในขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด, เวสต์แฮม, อาร์เซนอล, สเปอร์ส และวูล์ฟส์ ผลงานค่อนข้างใกล้เคียงกัน และมีปัญหาคล้ายๆ กัน คือยังไม่มีความเฉียบขาดหรือสม่ำเสมอมากเท่ากับ 3 ทีมหัวแถวของตาราง เวลาที่ทีมหนึ่งทีมใดสะดุด ทีมที่เหลือก็มักมีผลงานไม่ดีเช่นกัน คะแนนจึงยังคงเกาะกลุ่มกันอยู่ ชนิดยากที่จะบอกได้ว่าทีมใดจะมีโอกาสคว้าอันดับ 4 มากที่สุด

บรรดาเรดอาร์มีค่อนข้างผิดหวังที่ทีมรักทำได้เพียงเสมอกับเบิร์นลีย์และเซาแธมป์ตันในพรีเมียร์ลีก 2 นัดก่อนหน้านัดล่าสุดที่ชนะไบรท์ตัน 2-0 เพราะทั้ง 2 นัดดังกล่าว แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายออกนำก่อน แต่ก็ถูกตามตีเสมอ และไม่มีความเด็ดขาดมากพอที่จะทำประตูชัยเหมือนกันทั้ง 2 นัด ไม่รวมนัดแพ้จุดโทษทีมมิดเดิลสโบรห์ตกรอบเอฟเอคัพก่อนหน้านั้น ทำให้พลาดโอกาสที่จะยึดอันดับ 4 ของตารางไว้ให้ได้มั่นคง และที่สำคัญถึงตอนนี้ ราล์ฟ รังนิค เริ่มเข้าใจแล้วว่าปัญหาของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ชุดนี้มีมากเหลือเกิน และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะพลิกสถานการณ์ให้แมนฯ ยูไนเต็ด กลับมาเป็นทีมแถวหน้าของพรีเมียร์ลีกอีกครั้งได้ในฤดูกาลนี้

ย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้าที่ โอเล กุนนาร์ โซลชา จะถูกไล่ออก ตอนนั้นหลายคนมองว่า การเข้ามาของ คริสเตียโน โรนัลโด เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แมนฯ ยูไนเต็ด มีผลงานที่ตกลง ทั้งที่ภาพรวมของทีมตอนนั้นแย่กว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้เสียอีก และหากไม่ได้โรนัลโดทำประตูสำคัญๆ ให้กับทีมได้ในหลายนัด อันดับของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด อาจยังคงอยู่ในกลุ่มกลางตารางเสียด้วยซ้ำ รวมทั้งยังอาจตกรอบ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ไปแล้วด้วย ปัญหาของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดในช่วงที่มีโซลชาคุมทีม ไม่ใช่เพราะโรนัลโดทำให้ทีมเสียระบบ เพราะโซลชาเน้นความสามารถเฉพาะตัวในการเข้าทำอยู่แล้ว การเข้ามาของโรนัลโดจึงแทบไม่มีผลต่อระบบการเล่นของทีมในยุคโซลชาเลย

พูดง่ายๆ ว่าแมนฯ ยูไนเต็ด แทบไม่ได้เน้นระบบการเล่นอะไรเป็นพิเศษในยุคของโซลชา เรียกว่าต่างคนต่างเล่นก็ได้ แต่โรนัลโดสามารถเอาตัวรอด และมีผลงานที่ดีในช่วงหวนคืนถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ดใหม่ๆ เพราะยังเป็นช่วงต้นฤดูกาล สภาพร่างกายของเขายังสดกว่าปัจจุบัน แต่เมื่อการแข่งขันผ่านมาได้เกินกว่าครึ่งทาง และทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ในยุคของ ราล์ฟ รังนิค เน้นการเล่นระบบเพรสซิ่งมากขึ้น ถึงตอนนี้บรรดาเรดอาร์มี หรือแม้แต่ตัวโรนัลโดเองอาจรับสภาพแล้วว่าพรีเมียร์ลีกที่ขึ้นชื่อเรื่องความหนักหน่วง และโปรแกรมแข่งขันที่อัดแน่นอาจเป็นลีกที่หนักหนาสาหัสเกินไปสำหรับนักเตะวัย 37 ปีแบบโรนัลโดแล้วจริงๆ

โรนัลโดยืนยันมาตลอดว่าสภาพร่างกายของตนเองยังฟิตเพียงพอสำหรับการลงเล่นในลีกระดับสุดยอด หากไม่มั่นใจว่าจะสามารถสร้างผลงานที่ดีให้กับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ได้ เขาคงไม่ตัดสินใจหวนคืนถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ดอีกครั้ง แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธเรื่องความเป็นมืออาชีพในการดูแลร่างกายตนเองของนักเตะซูเปอร์สตาร์ทีมชาติโปรตุเกสผู้นี้ได้ เพียงแต่การเป็นนักเตะอายุ 37 ปีที่ฟิตที่สุด อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เกมรุกของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เฉียบคมมากพอที่จะขับเคี่ยวกับทีมคู่แข่งชื่อชั้นระดับเดียวกันได้ โดยเฉพาะหากแนวโน้มผลงานของโรนัลโดเริ่มตกลงเรื่อยๆ

นัดที่เสมอกับเซาแธมป์ตัน 1-1 โรนัลโดทำประตูไม่ได้ 6 นัดติดต่อกันแล้ว ยาวนานที่สุดย้อนหลังไปจนถึงปี 2009 และที่น่าตกใจคือ ก่อนหน้านัดชนะไบรท์ตัน 2-0 นับตั้งแต่เริ่มปี 2022 เป็นต้นมา โรนัลโดนอกจากทำประตูไม่ได้เลยแล้ว ยังไม่มีให้เห็นแม้แต่การทำแอสซิสต์เดียวเสียด้วยซ้ำ และมันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำประตูของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ในฤดูกาลนี้ฝืดเคืองเหลือเกิน ความจริงจะโทษโรนัลโดคนเดียวก็ไม่ได้ เพราะผลงานของนักเตะทีมแมนฯ ยูไนเต็ด คนอื่นๆ ก็ใช่ว่าจะดี เพียงแต่ฟอร์มโดยรวมของโรนัลโดในช่วงหลังๆ มันบอกเป็นนัยให้บรรดาเรดอาร์มีรับรู้ว่า ไม่อาจวาดหวังว่าโรนัลโดจะทำประตูได้ชนิดเป็นกอบเป็นกำให้กับทีมได้อีกต่อไป

จริงอยู่บรรดาเรดอาร์มีไม่ได้คาดหวังว่าการย้ายมาเล่นให้กับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด อีกเป็นครั้งที่สอง โรนัลโดจะทำผลงานได้อย่างสุดยอด เหมือนสมัยที่เล่นให้กับทีมในยุคเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในช่วงปี 2003–2009 เพราะรู้ดีว่าโรนัลโดผ่านจุดสุดยอดในอาชีพค้าแข้งไปแล้ว แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าอดีตนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลก 5 สมัย จะมีช่วงเวลาที่ปืนฝืดยาวนานขนาดนี้ ความจริงกองหน้าตัวอื่นของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เช่น มาร์คัส แรชฟอร์ด หรือ เอดินสัน คาวานี ก็ไม่ได้ทำผลงานเหนือกว่าโรนัลโด แต่ด้วยชื่อเสียงและผลงานที่สั่งสมมายาวนาน ความคาดหวังในมาตรฐานการเล่นของโรนัลโดย่อมสูงกว่าคนอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงที่ยังสุดยอด โรนัลโดถือเป็นนักฟุตบอลในอุดมคติตัวจริง รูปร่างสูงใหญ่ แข็งแกร่ง เร็ว เลี้ยงบอลคล่อง ผ่านบอลแม่น ยิงประตูได้ดีทั้งจากลูกตั้งเตะและจังหวะโอเพ่นเพลย์ อีกทั้งยังเล่นลูกกลางอากาศได้อย่างยอดเยี่ยม ถือเป็นกองหน้าที่สามารถพลิกโฉมหน้าของการแข่งขันได้ในเสี้ยววินาที หลังจากประสบความสำเร็จระดับสุดยอดกับทีมเรอัล มาดริด แล้ว การย้ายไปเล่นในอิตาลีให้กับทีมยูเวนตุสก็ยังถือว่าประสบความสำเร็จในระดับน่าพอใจ เรียกว่าเป็นตัวหลักของทีมยิ่งกว่าสมัยยังท็อปฟอร์มกับเรอัล มาดริด เสียอีก แม้ฤดูกาลสุดท้ายจะมีเสียงวิจารณ์ตามหลังมาไม่น้อยว่าเขาเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้งก็ตาม

ในช่วงที่เล่นให้กับยูเวนตุสในกัลโช เซเรีย อา กองหน้าดาวค้างฟ้าทีมชาติโปรตุเกส มีโอกาสสัมผัสบอลเฉลี่ย 52.5 ครั้งต่อนัด, 56 ครั้งต่อนัด และ 47.8 ครั้งต่อนัด ในแต่ละฤดูกาล เทียบกับฤดูกาลนี้โรนัลโดมีโอกาสเล่นบอลเพียง 38.5 ครั้งต่อนัด ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เขามีโอกาสสัมผัสบอลโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 40 ครั้งต่อนัด คือเมื่อฤดูกาล 2015/16 ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เนื่องจากเป็นช่วงที่เขาลงเล่นให้กับทีมเรอัล มาดริด ที่มีนักเตะซูเปอร์สตาร์ล้นทีม ดังนั้นเมื่อมาเล่นให้กับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งหาได้เป็นยอดทีมเหมือนในอดีต แต่กลับได้เล่นบอลน้อยครั้งมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อโอกาสในการหาจังหวะทำประตูของโรนัลโดด้วย

ที่ผ่านมาสถิติการหาจังหวะยิงประตูเฉลี่ยต่อนัดของโรนัลโดอยู่ที่ประมาณ 5.5-7 ครั้งต่อนัด แต่เริ่มตกลงมาเหลือ 5.35 ครั้งต่อนัดในการลงเตะฤดูกาลสุดท้ายให้กับทีมยูเวนตุส แต่ถึงกระนั้นก็ยังเอามาเปรียบเทียบกับสถิติปัจจุบันกับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้ เพราะเขาหาจังหวะยิงประตูเฉลี่ยต่อนัดได้เพียง 4 ครั้งเท่านั้น และหากเจาะลึกไปอีกเปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดในจังหวะทำประตูที่ควรจะได้ประตูของโรนัลโดสูงกว่าที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการทำประตูกับเพื่อนร่วมทีมหรือการแอสซิสต์เฉลี่ยต่อนัดก็ลดลง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานโดยรวมของโรนัลโดเริ่มตกลงจริง ๆ

แต่ปัญหาที่แท้จริงในเกมรุกของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้อยู่ที่โรนัลโดคนเดียว ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เขาได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมทีมน้อยลง และถูกมองว่ามีสไตล์การเล่นที่เห็นแก่ตัว ทั้งที่หลายนัดโรนัลโดยินดีผ่านบอลให้เพื่อนร่วมทีมที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่ายิงประตู ในขณะที่หลายนัดนักเตะรุ่นน้องอย่าง จาดอน ซานโช, มาร์คัส แรชฟอร์ด, เมสัน กรีนวู้ด หรือแม้แต่ บรูโน แฟร์นันด์ส เลือกที่จะฝืนยิงเอง ทั้งที่โรนัลโดอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่า มันจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้าตัวชอบแสดงท่าทางผิดหวังเมื่อขอบอลแล้วไม่ได้ และได้บอกกับ ราล์ฟ รังนิค ตรงๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ท่าทางที่โรนัลโดแสดงออกทำให้เขาถูกวิจารณ์หนักกว่าเดิม เพราะตอนแรกบรรดาเรดอาร์มีคาดหวังว่า การเข้ามาของเขาจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเตะรุ่นน้อง แต่การออกอาการไม่พอใจเวลาถูกเปลี่ยนตัวออก การโวยวายหรือแสดงท่าทางผิดหวังเวลาไม่ได้บอล ยิ่งทำให้สถานการณ์ภายในทีมและกับตัวโรนัลโดเองแย่ลง แต่มันเป็นธรรมชาติของเจ้าตัวที่มุ่งมั่นที่จะทำประตูให้ได้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปมันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เอาเข้าจริงเวลาที่ทีมเล่นดี ผลงานของโรนัลโดก็น่าจะดีขึ้นตามไปด้วย แต่ในยามที่ทีมเล่นแย่ สภาพของโรนัลโดในปัจจุบันคงไม่สามารถแบกทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ด้วยตัวคนเดียวได้อย่างแน่นอน

แต่ที่แน่ๆ ผู้สันทัดกรณีในวงการฟุตบอลอังกฤษเอง แม้จะวิจารณ์โรนัลโดว่ามีผลงานที่ตกลง แต่ก็ยังยอมรับว่าเขายังเป็นความหวังสูงสุดในการทำประตูของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้เล่นคนอื่นๆ ในทีม และจากสถิติการทำประตูที่ผ่านมาในฤดูกาลนี้ และในนัดชนะไบรท์ตัน 2-0 ในฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนัดล่าสุด โรนัลโดก็แสดงชั้นเชิงนักเตะระดับโลกให้เห็นในจังหวะยิงประตูแรกให้ทีมขึ้นนำ เรียกว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัวล้วนๆ ยิ่งตอกย้ำว่าเขาคือความหวังสูงสุดของทีมจริงๆ แม้ว่าจะไม่ใช่ศูนย์หน้าในแบบฉบับที่ ราล์ฟ รังนิค ต้องการก็ตาม ได้แต่หวังว่าความมั่นใจที่กลับหวนคืนมาอีกครั้งจะทำให้ฟอร์มการยิงประตูของโรนัลโดกลับมาสม่ำเสมอขึ้น

แน่นอนว่าหากโรนัลโดยังคงสวมวิญญาณกองหน้าปืนฝืดในนัดต่อๆ ไป เสียงวิจารณ์ทั้งหลายแหล่จะกลับมาทันที โดยที่รังนิคเองก็คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าจับโรนัลโดนั่งเป็นตัวสำรองในบางนัด ด้วยเหตุผลด้านแทคติก เนื่องจากในทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เอง การทำประตูกลายเป็นจุดอ่อนซึ่งยากจะฝากความหวังไว้กับใครอื่นได้ จริงอยู่ เอดินสัน คาวานี ซึ่งสภาพร่างกายและความขยันวิ่งเพรสซิ่งอาจเหนือกว่า แต่เรื่องสัญชาตญาณในการหาตำแหน่งยิงประตูของโรนัลโดยังไว้วางใจได้เสมอ ถึงแม้ความเร็วและความแข็งแกร่งในการเบียดปะทะจะลดลงไปมากก็ตาม

เดิมจุดอ่อนของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด คือตำแหน่งกองกลางตัวรับ ซึ่งต้องใช้ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ กับเฟรดเล่นคู่กัน เพราะเอากองกลางทีมคู่แข่งไม่อยู่ ถึงตอนนี้นอกจากปัญหาเรื่องการทำประตูอันฝืดเคืองแล้ว แมนฯ ยูไนเต็ด กลับมีปัญหาในเกมรับขึ้นมาอีก แม้จะเล่นกันได้เหนียวแน่นกว่าในช่วงก่อนโซลชาถูกไล่ออก แต่หลังๆ กลับเสียประตูจากความผิดพลาด และเวลาที่ถูกทีมคู่แข่งกดดันหนักๆ บ่อยครั้งขึ้น แน่นอนว่าคนที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดหนีไม่พ้น แฮร์รี แม็กไกวร์ เซ็นเตอร์ฮาล์ฟผู้สวมปลอกแขนกัปตันทีม เนื่องจากมีค่าตัวถึง 80 ล้านปอนด์ แต่กลับทำผลงานได้ไม่คุ้มค่าตัวในสายตาแฟนบอล และมันก็เป็นปัญหาที่ทำให้ ราล์ฟ รังนิค กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องโรนัลโดไม่เหมาะกับการเล่นเพรสซิ่งสูง

แม็กไกวร์เป็นเซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่เล่นลูกด้วยเท้าดี และรูปร่างสูงใหญ่เล่นลูกกลางอากาศดี แต่ปัญหาใหญ่ของเขาคือความเชื่องช้า ทำให้ไม่สามารถช่วยบล็อกเวลาที่แบ็กถอยลงมาไม่ทัน หรือในยามที่ต้องเข้าสกัดบอลในจังหวะสุดท้าย จึงมักมีเสียงเรียกร้องจากแฟนบอลให้รังนิคถอดแม็กไกวร์เป็นตัวสำรอง แต่เมื่อไรก็ตามที่ไม่มีแม็กไกวร์เชื่อหรือไม่ว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เคยเก็บคลีนชีตในศึกพรีเมียร์ลีกได้เลย เรียกว่านับตั้งแต่แม็กไกวร์ย้ายเข้ามาเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2019 ทุกนัดที่แม็กไกวร์ไม่ได้ลงเล่น ไม่มีนัดไหนที่แมนฯ ยูไนเต็ด ลงแข่งพรีเมียร์ลีกแล้วไม่เสียประตูเลย มันจึงเป็นสิ่งบ่งบอกว่านอกเหนือจากความเป็นผู้นำแล้ว แม็กไกวร์ยังเป็นตัวเลือกในตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่ดีที่สุดเท่าที่ทีมมี

แต่ตัวเลือกที่ดีที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาแม็กไกวร์ทำผลงานได้คุ้มค่าตัว เพียงแต่ วิกตอร์ ลินเดอเลิฟ, เอริก ไบญี เองก็ไม่แข็งแกร่งพอ หรือมักบาดเจ็บบ่อยๆ แม้แต่ ราฟาเอล วาราน เองก็เช่นกัน แม็กไกวร์จึงยังคงเป็นเซ็นเตอร์ฮาล์ฟตัวหลักของทีมต่อไป แต่ต้องยอมรับว่ากัปตันทีมร่างใหญ่ผู้นี้ทำผลงานในระดับสโมสรได้ไม่ดีเท่ากับในยามรับใช้ทีมชาติ ซึ่งเป็นเพราะระบบของทีมชาติอังกฤษภายใต้การคุมทีมของ แกเร็ธ เซาท์เกต เอื้อต่อสไตล์การเล่นของแม็กไกวร์มากกว่าทีมแมนฯ ยูไนเต็ด และภาระของแม็กไกวร์ในนามทีมชาติก็น้อยกว่ายามรับใช้ทีมปีศาจแดงด้วย

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะทีมชาติอังกฤษมี ดีแคลน ไรซ์ กับ คาลวิน ฟิลลิปส์ 2 กองกลางตัวรับชั้นเยี่ยมคอยสกรีนบอลก่อนถึงเขตโทษอยู่แล้ว ภาระของคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟจึงลดลงมาก ต่างจากทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่ง 2 กองกลางตัวรับที่มีอยู่ คุณภาพแตกต่างกับคู่กองกลางทีมชาติอังกฤษราวฟ้ากับดิน ภาระของคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟทีมแมนฯ ยูไนเต็ด จึงหนักกว่าอย่างชัดเจน เมื่อแม็กไกวร์ต้องตัดบอลบ่อยๆ ความเชื่องช้าก็เป็นเหตุให้ต้องทำฟาวล์ตัดเกม หรือเกิดความผิดพลาดมากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และรังนิคเองก็ไม่ชอบเล่นระบบแผงเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัว ซึ่งจะทำให้แม็กไกวร์เล่นง่ายขึ้นด้วย

ประกอบกับประสิทธิภาพในการเช็กล้ำหน้าของแผงกองหลังทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ทำได้ไม่ดีเอาเสียเลย โดยเฉพาะ ลุก ชอว์ เวลาที่บีบเข้ามาช่วยสกัดบอลในกรอบเขตโทษ มักยืนห้อยต่ำในตำแหน่งที่ทำให้นักเตะทีมคู่แข่งไม่ถูกเช็กล้ำหน้า จนนำไปสู่การเสียประตูบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันการที่แบ็ก 2 ข้างของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ต้องดันขึ้นไปเติมเกมรุกแล้วถูกสวนกลับ ก็เปรียบเสมือนการลอยแพคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟแบบไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะกองหลังที่ไม่มีความรวดเร็วแบบแม็กไกวร์ ความผิดพลาดของเขาย่อมเกิดขึ้นง่ายกว่าที่จะเกิดกับลินเดอเลิฟหรือวารานที่คล่องตัวกว่า คนอื่นพลาดไม่เท่าไร แต่หากเป็นเซ็นเตอร์ฮาล์ฟค่าตัวแพงที่สุดในโลกพลาด ความผิดเล็กน้อยจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในสื่อโซเชียลทันที

หากจะให้พูดกันอย่างยุติธรรม แม็กไกวร์ไม่ใช่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟสมัยใหม่แบบ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ของทีมลิเวอร์พูล แต่เป็นเซ็นเตอร์ฮาล์ฟตามแบบฉบับฟุตบอลอังกฤษโบราณ เน้นการปักหลักตั้งรับในกรอบเขตโทษเป็นหลัก จะบุกต่อเมื่อขึ้นไปโหม่งลูกเตะมุมหรือลูกโทษนอกเขตเป็นส่วนใหญ่ แม้แม็กไกวร์จะเลี้ยงบอลได้ดี แต่ความเร็วของเขาไม่เหมาะกับการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่ที่เน้นเพรสซิ่งสูง เพราะเวลาถูกสวนเร็วจะเอากองหน้าทีมคู่แข่งไม่อยู่ ต่างจากฟาน ไดจ์ค ที่เร็วและเก่งกาจในการดวลตัวต่อตัว ทำให้ทีมลิเวอร์พูลเล่นเพรสซิ่งสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องชมทีมแมวมองของลิเวอร์พูลที่เลือกซื้อนักเตะที่เหมาะสมกับแผนการเล่นของทีมอย่างแท้จริง

ตรงกันข้ามกับแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งชอบซื้อนักเตะแบบที่คิดว่าซื้อมาแล้วเดี๋ยวคงปรับตัวให้เข้ากับทีมได้เอง ไม่ได้ทำการบ้านมากพอว่านักเตะที่อยากได้ตัวมาเสริมทีม จะเล่นเข้ากับระบบและเพื่อนร่วมทีมได้หรือไม่ ความสามารถเฉพาะตัวแม้จะดีก็จริง แต่เมื่อไม่มีคุณสมบัติพื้นฐานบางอย่างที่คล้ายกัน ย่อมส่งผลต่อทีมเวิร์ก สุดท้ายก็ต่างคนต่างเล่น แม็กไกวร์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการซื้อตัวของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดที่ดูจากผลงานที่เล่นให้กับทีมต้นสังกัดเดิมเป็นหลัก โดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนว่าจะเล่นเข้ากับระบบของทีมได้หรือไม่ ที่ต้องบอกแบบนี้ก็เพราะแม็กไกวร์ทำผลงานที่ดีในการเล่นให้กับทีมที่เน้นตั้งรับลึก รอสวนเป็นหลักมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, ฮัลล์ ซิตี้ หรือเลสเตอร์ ซิตี้

แม็กไกวร์ไม่ใช่นักฟุตบอลฝีเท้าแย่ เพียงแต่สไตล์การเล่นของเขาอาจเหมาะกับทีมระดับกลางๆ หรือทีมที่เน้นการตั้งรับลึก ไม่ใช่ทีมที่เน้นการเพรสซิ่งสูง ซึ่ง ราล์ฟ รังนิค ผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เองก็รู้ดี แต่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีไปกว่านี้ ความจริงหากทีมแมนฯ ยูไนเต็ด มีประสิทธิภาพในการเพรสซิ่งทีมคู่แข่งดีกว่านี้ อาจช่วยแบ่งเบาภาระกองหลังได้มาก แต่ทว่าพวกเขายังทำได้ไม่ดีพอ เนื่องจากสภาพร่างกายยังไม่ฟิตขนาดวิ่งได้ 90 นาทีไม่มีหมด และนักเตะส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับสไตล์การเล่นแบบเพรสซิ่งสูงเหมือนลิเวอร์พูล หรือแมนฯ ซิตี้ ทั้งแม็กไกวร์และโรนัลโดจึงทำให้ยอดโค้ชชาวเยอรมันรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

อย่างที่บอกไว้ว่ารังนิครู้แล้วว่าปัญหาของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด มากเกินกว่าที่ใช้เวลาพลิกสถานการณ์ได้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน และมันจึงเป็นเหตุผลที่เขาพยายามย้ำอีกครั้งว่า อยากคุมทีมต่อไปเพื่อวางรากฐานระบบการเล่นของทีมให้มั่นคงขึ้น แต่ฝ่ายบริหารของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ทำให้มันแย่ลงเช่นเดิม โดยแบไต๋ออกมาชัดเจนว่าต้องการให้รังนิคเข้ามาเป็นกุนซือขัดตาทัพจนจบฤดูกาลนี้ และอยากได้ผู้จัดการทีมคนอื่นเข้ามาคุมทีมแทน ซึ่งทำให้งานของรังนิคยากขึ้นไปอีก เนื่องจากนักเตะทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ส่วนใหญ่มีอีโก้สูง แต่ระเบียบวินัยในการเล่นต่ำ จึงไม่เคารพยำเกรงรังนิคเท่าที่ควร เพราะเชื่อว่าเขาเป็นเพียงผู้จัดการทีมรักษาการ ไม่ใช่นายใหม่ตัวจริง

ด้วยสภาพทีมชุดปัจจุบัน ต่อให้ได้ เมาริซิโอ โปเชตติโน, เอริก เทน ฮาก หรือแม้แต่ โรแบร์โต มันชินี มาคุมทีม ก็ไม่ได้หมายความว่าผลงานของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด จะดีขึ้นผิดหูผิดตา เนื่องจากแมนฯ ยูไนเต็ด ต้องซื้อผู้เล่นใหม่เข้ามาเสริมทีมอย่างน้อย 4 ตำแหน่งคือ แบ็กขวา, เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ, กลางรับ และศูนย์หน้า ถึงจะพอมีโอกาสขยับขึ้นไปเทียบชั้นกับแมนฯ ซิตี้, ลิเวอร์พูล และเชลซี ได้ ที่น่าเสียดายคือรังนิคไม่มีโอกาสซื้อผู้เล่นที่เข้ากับระบบการเล่นที่เขาต้องการเข้ามาเสริมทีมเลยแม้แต่คนเดียว ต้องคุมทีมชนิดตามมีตามเกิด การจับโรนัลโดนั่งเป็นตัวสำรองหรือเปลี่ยนตัวออก แสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีปัญหาในการรับมือนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ และมีความเด็ดขาดกว่า โอเล กุนนาร์ โซลชา แน่นอน

ขอย้ำอีกครั้งครับว่า การรีบบอกตั้งแต่แรกว่า ราล์ฟ รังนิค เป็นเพียงผู้จัดการทีมรักษาการ คือความผิดพลาดอีกครั้งหนึ่งของฝ่ายบริหารทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เพราะมันทำให้นักเตะหลายคนไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่งของผู้จัดการทีมชาวเยอรมันผู้นี้ พูดง่ายๆ ว่ายังคงเล่นเพื่อตนเองมากกว่าที่จะทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อทีม ซึ่งบอกตามตรงเหนื่อยใจแทนรังนิคจริงๆ โดยเฉพาะเดือนมีนาคม โปรแกรมของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ต้องเจอทั้งแมนฯ ซิตี้, สเปอร์ส และลิเวอร์พูล เรียกว่าของแข็งล้วนๆ ผลการแข่งขันในเดือนมีนาคมนี้จึงอาจบ่งบอกได้ว่า พวกเขายังมีโอกาสลุ้นอันดับ 4 ในตอนจบฤดูกาลหรือไม่!

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares