ก่อนหมดเส้นตายการย้ายตัวของต้นฤดูกาลนี้ บาเยิร์น มิวนิกซื้อตัว มาร์เซล ซาบิตเซอร์ นักเตะไลป์ซิกอีกคน หลังจากที่เพิ่งเซ็นสัญญาคว้าตัว ดาโยต์ อูปาเมกาโน จากไลป์ซิกมาก่อนหน้านี้ หลายคนบอกว่าบาเยิร์น มิวนิก ครองความยิ่งใหญ่อยู่ในบุนเดสลีกามายาวนานตั้งแต่ในยุค 2000s โดยคว้าถาดแชมป์ (Championship Shield – ความจริงมันคือสัญลักษณ์โล่ของอัศวิน) มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะใน 9 ปีหลังสุดที่ไม่ปล่อยให้ทีมอื่นๆ เข้ามาแทรกได้เลย ก็เพราะการดึงตัวนักเตะดาวเด่นมาจากทีมคู่แข่งแย่งแชมป์ เรามาย้อนรอยดูกันว่ามันเริ่มต้นมาอย่างไร
ผมติดตามฟุตบอลเยอรมันมาตั้งแต่ฤดูกาล 1976/77 ที่โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ครองความยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์ 3 ปีติด จนปีต่อมาก็เป็นทีมเอฟซี โคโลญ จากนั้นต่อด้วยช่วงสิงห์เหนือกับเสือใต้แย่งตำแหน่งแชมป์กัน จนกระทั่งเสือใต้ได้ อูโด ลัทเท็ค ต่อด้วย จุ๊ปป์ ไฮย์เกส มาเป็นโค้ช บาเยิร์นก็ครองตำแหน่งจนถึงปี 1990
ในยุคต้นๆ ที่ผมเริ่มดูบอลนั้น การย้ายทีมยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจำกัด แต่ละทีมมักจะสร้างนักเตะกันขึ้นมาเอง มีบ้างที่โยกย้ายนักเตะ แต่ไม่ได้ใช้เงินซื้อนักเตะมากมายนัก ต้องยอมรับว่าบาเยิร์น มิวนิก เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเยอรมนี เพราะเป็นทีมแรกที่ครองแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพในปี 1974 และยังทำทริปเปิลคว้าถ้วยบิ๊กเอียร์ต่อเนื่องในปี 1975 และ 1976 กว่าจะมีทีมอื่นในบุนเดสลีกาขึ้นมาคว้าถ้วยนี้ก็ต้องรอถึงปี 1983 ที่ทีมสิงห์เหนือ ฮัมบวร์ก เอาชนะทีมยูเวนตุสได้ในนัดชิงชนะเลิศ 1-0 ตามมาด้วยทีมเสือเหลือง ดอร์ทมุนด์ในปี 1997
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นักเตะเยอรมันทั้งหลายอยากมีโอกาสสักครั้งในชีวิตการค้าแข้ง ที่ได้ลงเล่นในสนามโอลิมปิกสเตเดี้ยม ต่อเนื่องมาจนถึงอลิอันซ์อารีนาภายใต้เสื้อของบาเยิร์น มิวนิก
การย้ายเข้าทีมเสือใต้อย่างครั้งที่ โลธาร์ มัทเธอุส, อันเดรส เบรห์เม, โอลาฟ โธน, สเตฟาน รอยเตอร์ ในยุค 80s ก็เป็นการย้ายแบบปกติ มีเพียง เจอร์เกน โคห์เลอร์ เท่านั้นที่ย้ายจากโคโลญมาขณะที่ทีมแพะบ้าเป็นรองแชมป์ และเป็นทีมที่แรง กำลังขึ้นมาลุ้นแชมป์กับเสือใต้ในฤดูกาล 1988/89
มาในยุค 90s มีอยู่สองฤดูกาลที่บาร์เยิร์น มิวนิกซื้อนักเตะจากทีมอื่นในบุนเดสลีกาหลายคน คือในฤดูกาล 1992/93 ที่เสือใต้ไล่กวาด โธมัส เฮลเมอร์ จากดอร์ทมุนด์, จอร์จินโญ จากไบเออร์ เลเวอร์คูเซน และ เมห์เม็ท โชลล์ จากคาร์ลสรูห์ เพราะปีก่อนหน้านั้นเสือใต้จบที่อันดับ 10 จำต้องเปลี่ยนถ่ายนักเตะกันครั้งใหญ่ สุดท้ายไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงนักเตะ แต่ต้องถึงกับปลด เอริก ริบเบ็ค ออก แล้วให้ ไกเซอร์ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ มาคุมทีมแทน จึงกลับมาคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้อีกในฤดูกาล 1993/94 หลังจากห่างหายจากถาดแชมป์ไป 3 ปี
อีกครั้งที่ทีมเสือใต้ระดมซื้อนักเตะภายในประเทศหลายคนในยุค 90s คือตอนที่ ออตมาร์ ฮิตซ์เฟลด์ เข้ามารื้อทีมที่ จิโอวานนี ทราปัตโตนี ทำไว้ โดยซื้อตัว สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก จาก โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค, อาลี ดาอี จากอาร์มีเนีย บีเลเฟลด์, เยนส์ เยเรมีส จาก 1860 มิวนิก, โธมัส ลิงเค จาก ชาลเก้ 04 และ ฮาซาน ซาลิฮามิดซิช จาก ฮัมบวร์ก ทั้งหมดนี้ไม่ได้กวาดมาจากทีมที่ลุ้นแชมป์ใดๆ เลย
ในยุค 90s นี้ยังมีนักเตะที่ย้ายเข้ามายังโอลิมปิก สเตเดี้ยมจากสโมสรในเยอรมนีอีกหลายคน ที่มาโด่งดังกับบาเยิร์น มิวนิก เช่น โอลิเวอร์ คาห์น, มาริโอ บาสเลอร์, จิโอวานนี เอลแบร์, ทอร์สเทน ฟิงค์ และ มิชาเอล ทาร์นาต ทั้งหมดนี้ไม่มีใครเลยที่ย้ายมาจากทีมคู่แข่งที่ลุ้นแชมป์กับทีมเสือใต้
พอข้ามเข้าศตวรรษใหม่ ดอร์ทมุนด์เริ่มขึ้นมาเทียบรัศมีของเสือใต้ จากการคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพมาในปลายยุค 90s พอมาในฤดูกาล 2001/02 ดอร์ทมุนด์ได้ทีมที่แข็งแกร่งมาก มีผู้รักษาประตูอย่าง เย็นส์ เลห์มัน กองหลังอย่าง สเตฟาน รอยเตอร์, เจอร์เกน โคห์เลอร์ มีนักเตะต่างชาติอย่าง แยน โคลเลอร์/โทมัส โรซิคกี้ (เช็ก), เอเวอร์ธอน (บราซิล) ก็ผงาดขึ้นมาคว้าแชมป์บุนเดสลีกา แต่ ออตมาร์ ฮิตซ์เฟลด์ ก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะเขาได้นักเตะอย่าง เคลาดิโอ ปิซาโร, โรเบิร์ต โควัช และ นิโก โควัช เข้าสู่ทีม ขณะที่คู่แข่งอย่างเสือเหลืองเสีย เจอร์เกน โคห์เลอร์ ไปให้กับยูเวนตุส ส่วน สเตฟาน รอยเตอร์ ก็เข้าสู่ยุคท้ายๆ ของอาชีพ จึงไม่เหลือความจำเป็นที่จะต้องดึงตัวจากทีมคู่แข่ง
ตั้งแต่ปี 2004 จนถึง 2013 เหมือนเป็นการเล่นเก้าอี้ดนตรีของโค้ชเสือใต้ ที่ยังหาทิศทางการทำทีมไม่เจอ จากยุคของฮิตซ์เฟลด์เข้าสู่ยุคของ เฟลิกซ์ มากัธ แล้วกลับมาที่ฮิตซ์เฟลด์อีกรอบ ผ่องถ่ายไปสู่ เจอร์เกน คลินส์มันน์ ค่อยให้ จุ๊ปป์ ไฮย์เกส แวะมาคุมอีก ต่อไปที่ หลุยส์ ฟานกัล, แอนเดรียส ยอนเคอร์ และย้อนกลับมาที่ จุ๊ปป์ ไฮย์เกส อีกหน มีนักเตะที่ย้ายมาจากสโมสรในประเทศปีละคนสองคน แต่ก็ไม่ได้ย้ายมาจากทีมที่เป็นคู่แข่งแย่งแชมป์บุนเดสลีกาโดยตรงเลย ตัวอย่างที่คุ้นชื่อกันเช่น ลูคัส โพโดลสกี จากเอฟซี โคโลญ, มิโรสลาฟ โคลเซ จากเวเดอร์ เบรเมน, มาริโอ โกเมซ จากสตุตการ์ต, มานูเอล นอยเออร์ จากชาลเก้ 04, มาริโอ มานด์ซูคิช จากโวล์ฟบวร์ก และ เคลาดิโอ ปิซาร์โร จากแวร์เดอร์ เบรเมน
พอเข้าสู่ยุคของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา บาเยิร์น มิวนิกเริ่มใช้แนวทางการตัดกำลังคู่ต่อสู้อย่างนี้ชัดเจนมากขึ้น โดยต้นฤดูกาล 2013/14 ที่เป๊ปเข้ามาคุม เสือใต้ก็ซื้อ มาริโอ เกิตเซ ฉายาโกลเด้นบอยแห่งวงการลูกหนังเมืองเบียร์ มาจากเสือเหลืองที่หาญกล้าขึ้นมาท้าชน โดยการคว้าแชมป์ลีก 2 ปีติดในฤดูกาล 2010/11 และ 2011/12 และยังเป็นรองแชมป์ในฤดูกาล 2012/13 ในฤดูกาลต่อมาเสือใต้ก็ตอกย้ำคว้า โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ดาวยิงสูงสุดของบุนเดสลีกามาจากเสือเหลืองอีกคน
พอเป๊ปย้ายออกไป คาร์โล อันเชล็อตติ เข้ามาคุมทีมแทน เสือใต้ก็ยังยืนหยัดนโยบายเดิม ซื้อกองหลังตัวหลักของดอร์ทมุนด์ ทีมรองแชมป์อย่าง มัตส์ ฮุมเมลส์ ปีต่อมาทีมฮอฟเฟนไฮม์ถีบตัวเองขึ้นมาจากอันดับ 15 เกือบจะตกชั้น ขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ใน 2 ปี ก็ต้องเสียนักเตะสำคัญมาให้บาเยิร์น มิวนิก โดยเสือใต้คว้า นิคลาส ซูเล, ซานโดร วากเนอร์ และ เซบาสเตียน รูดี มาจากฮอฟเฟนไฮม์
ฤดูกาล 2018/19 เสือใต้ก็ตัดกำลังของทีมชาลเก้ 04 รองแชมป์ปีก่อนหน้าด้วยการเซ็นสัญญาคว้าตัว ลีออน โกเร็ตซ์กา มาเสริมทัพ จนกระทั่งฤดูกาลล่าสุดคว้า มาร์เซล ซาบิตเซอร์ นักบอลสัญชาติออสเตรียกับ ดาโยต์ อูปาเมกาโน นักเตะฝรั่งเศส มาจากไลป์ซิก
การตัดกำลังคู่แข่งรูปแบบนี้ ทำให้ทีมเสือใต้ครองความยิ่งใหญ่ คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้นานติดต่อกันถึง 8 ปีอย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้น (ไม่นับฤดูกาล 2012/13 ที่ยังไม่ได้ใช้แนวทางนี้) การที่ไม่ต้องกังวลมากกับบอลลีกในประเทศ ทำให้ทีมสามารถไปโฟกัสที่บอลถ้วยสโมสรยุโรปได้มากขึ้น แต่ปีนี้ทีมดอร์ทมุนด์มีอาวุธสำคัญอย่างคู่กองหน้า เออร์ลิง ฮาแลนด์ กับ มาร์โก รอยส์ ที่ประสานงานเข้าขากันมากขึ้น แถมปีนี้ยังได้วันเดอร์คิดวัย 16 ปี ยูสซูฟา มูโกโก้ ที่หายเจ็บมาสอดแทรกในตำแหน่งกองหน้าด้วย ในขณะที่ไลป์ซิกแม้จะเสียนักเตะไปให้คู่แข่งถึงสองคน แต่ก็คว้าตัว อันเดร ซิลวา มาจากแฟรงก์เฟิร์ต และล่าสุดก่อนตลาดซื้อขายนักเตะจะปิดก็ได้ อิลัช มูริบา มาจากบาร์เซโลนา คงต้องติดตามดูว่าจะมีสโมสรไหนที่จะขึ้นมาทาบรัศมีของทีมเสือใต้ได้ และจะมีวิธีอย่างไรในการรักษานักเตะของทีมเอาไว้
ผมเองแม้จะเอาใจช่วยบาเยิร์น มิวนิก เป็นหลัก เพราะมีนักเตะที่ชื่นชอบอยู่หลายคน แต่ก็รู้สึกไม่ถูกใจที่ทีมชื่อชั้นเหนือกว่า เงินหนากว่า ใช้ความได้เปรียบตรงนี้ดึงดูดนักเตะเข้ามาร่วมทีมแบบง่ายๆ เพื่อตัดกำลังคู่แข่งโดยตรง จนบางฤดูกาลก็แอบปันใจไปเชียร์ทีมอื่นให้ขึ้นมาขย่มบัลลังก์เสือใต้เสียบ้าง การแข่งขันจะได้มีสีสัน สนุกสนาน และตื่นเต้นขึ้น
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม