Link Copied!

โหม่งบอลทำสมองเสื่อม?

ฟุตบอลอาจไม่ใช่กีฬาที่ปะทะกันหนักจนสมองกระทบกระเทือน แต่การโหม่งบอลสะสมเป็นเวลายาวนาน อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมและเป็นโรคอัลไซเมอร์ในช่วงบั้นปลายชีวิตได้

ฟุตบอลอุ่นเครื่องนัดที่ทีมอังกฤษเปิดสนามเวมบลีย์ เอาชนะสวิตเซอร์แลนด์ 2-1 เมื่อวันเสาร์ที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ในช่วงครึ่งแรกและครึ่งหลังเสื้อของนักเตะทีมชาติอังกฤษมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ครึ่งแรกมีชื่อนามสกุลของผู้เล่นหลังเสื้อตามปกติ ส่วนครึ่งหลังมีแต่หมายเลขเสื้อ แต่ไม่มีชื่ออยู่ด้านบนเหมือนในครึ่งแรก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องการให้ผู้ชมใช้สมองจดจำเอาเองว่านักเตะแต่ละคนเป็นใคร เนื่องจากต้องการให้ผู้ชมและแฟนบอลทั่วโลกตระหนักถึงภาวะสมองเสื่อมในนักฟุตบอล ซึ่งที่พบบ่อยสุดคือโรคอัลไซเมอร์ ที่เกิดขึ้นกับผู้คนมากมายหลายล้านคนทั่วโลก

เสื้อที่นักเตะทีมชาติอังกฤษใส่ลงเล่นในนัดนี้จะถูกนำไปประมูลหาเงินช่วยเหลือมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสมาคมฟุตบอลอังกฤษกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์อย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากระยะหลังๆ มักมีรายงานว่าอดีตนักฟุตบอลอาชีพป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น จนกระทั่งเริ่มมีการศึกษาความเกี่ยวโยงระหว่างการเล่นฟุตบอลกับภาวะสมองเสื่อมอย่างจริงจัง ที่ชัดเจนที่สุดคืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ซึ่งมีการเปิดเผยเมื่อเดือนตุลาคมปี 2019

ผลการศึกษาของนักวิจัยมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ได้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นอดีตนักฟุตบอลชาวสก็อตที่เกิดในช่วงปี 1900-1975 จำนวน 7,676 คนที่เสียชีวิตไปแล้วพบว่า อดีตนักฟุตบอลเหล่านี้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์, โรคพาร์กินสัน และโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อม มากกว่าคนปกติถึง 3.5 เท่า แม้ในงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้อธิบายสาเหตุที่ทำให้อดีตนักฟุตบอลกลุ่มดังกล่าวเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท แต่มันก็ทำให้หลายฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น

ที่ผ่านมาประเด็นภาวะสมองเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับการเล่นฟุตบอล ถือเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่มีใครอยากพูดถึงนัก คล้ายยุคก่อนหน้าที่ มูฮัมหมัด อาลี อดีตนักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวตระดับตำนาน จะป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ผู้เกี่ยวข้องในวงการมวยก็ไม่อยากพูดถึงประเด็นอาการบาดเจ็บทางสมองที่เกิดกับอดีตนักมวยที่ได้รับความกระทบกระเทือนที่ศีรษะอย่างรุนแรงเป็นประจำจากการชกมวยอาชีพ จนทำให้เกิดอาการเมาหมัดและเซลล์ประสาทเสื่อม นอกจากอาลีแล้ว ที่ใกล้ตัวคนไทยมากหน่อยคือ ชาติชาย เชี่ยวน้อย อดีตนักมวยรุ่นฟลายเวตแชมป์โลกคนที่ 2 ของไทย ซึ่งทรมานด้วยโรคพาร์กินสันอยู่นานหลายปี ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคปอดติดเชื้อเมื่อ พ.ศ. 2561

กลับมาที่ฟุตบอลกันต่อ ไม่น่าเชื่อว่า 11 นักเตะตัวจริงของทีมชาติอังกฤษชุดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกและสมัยเดียวเมื่อปี 1966 จะมีถึง 5 คนที่ประสบภาวะสมองเสื่อมในช่วงบั้นปลายของชีวิต ไล่ตั้งแต่ เรย์ วิลสัน แบ็กซ้ายวัย 31 ปีจากทีมเอฟเวอร์ตัน ซึ่งเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุด ในบรรดา 11 ตัวจริงของทีมชาติอังกฤษชุดที่ชนะทีมเยอรมนีตะวันตก 4-2 ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1966, มาร์ติน ปีเตอร์ส กองกลางจากทีมเวสต์แฮม ผู้ทำประตูเดียว นอกเหนือจาก “แฮตทริก”ของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ ในนัดชิงชนะเลิศ, แจ็กกี ชาร์ลตัน เซ็นเตอร์ฮาล์ฟรูปร่างสูงโย่งจากทีมลีดส์ และ น็อบบี สไตลส์ กองกลางตัวรับร่างเล็กจากทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ทั้ง 4 คนเสียชีวิตแล้ว และสาเหตุการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ทุกคน คนสุดท้ายจากทีมชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์คือ เซอร์บ็อบบี ชาร์ลตัน ยอดกองกลางจากทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของ แจ็กกี ชาร์ลตัน ปัจจุบันเขาอายุ 84 ปี และเริ่มทนทุกข์กับภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ปี 2020 แล้ว โดยผู้ที่เปิดเผยความจริงเรื่องนี้คือ นอร์มา ชาร์ลตัน ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก สาเหตุที่เธอเปิดเผยความลับเรื่องนี้ก็เพราะอยากให้สังคมตระหนักรู้ถึงความสำคัญของโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมในนักฟุตบอลนั่นเอง

ใช่ว่าจะมีแต่อดีตนักฟุตบอลในสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่ประสบกับปัญหาเรื่องโรคที่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม เฟเรนซ์ ปุสกัส ยอดกองหน้าระดับตำนานทีมชาติฮังการีและเรอัล มาดริด ในยุคทศวรรษที่ 1950 ก็เสียชีวิตจากโรคอัลไซเมอร์ เช่นเดียวกับ แกร์ด มุลเลอร์ ศูนย์หน้าผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของทีมชาติเยอรมนีตะวันตกชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1974 ซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อปี 2015 และเสียชีวิตอย่างเงียบเหงาที่สถานดูแลผู้สูงอายุในปี 2021 อดีตแชมป์โลกอีกคนหนึ่งที่ต้องจากไปเพราะโรคอัลไซเมอร์คือ โฮเซ หลุยส์ บราวน์ เซ็นเตอร์ฮาล์ฟจอมโหม่งทีมชาติอาร์เจนตินาชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เสียชีวิตขณะที่มีอายุเพียง 62 ปี

แต่นักฟุตบอลที่ทำให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเริ่มหันมาให้ความความสำคัญของปัญหาภาวะสมองเสื่อมในอดีตนักฟุตบอล ไม่ใช่นักเตะจากทีมอังกฤษชุดแชมป์โลกปี 1966 แต่เป็น แดนนี บลานช์ฟลาวเวอร์ อดีตกองกลางกัปตันทีมสเปอร์ส ในยุคทศวรรษที่ 1960 ที่เสียชีวิตด้วยโรคอัลไซเมอร์เมื่อปี 1993 และคนสำคัญที่สุดคือ เจฟฟ์ แอสเทิล กองหน้าจอมโหม่งของทีมเวสต์บรอมวิช ชุดแชมป์เอฟเอคัพปี 1968 ซึ่งเสียชีวิตช่วงต้นปี 2002 ขณะอายุเพียง 59 ปี ซึ่งในการไต่สวนของคณะกรรมการอิสระ แพทย์ชี้ว่าสาเหตุการเสียชีวิตของแอสเทิลมาจากการทำงาน หรือพูดง่ายๆว่า เสียชีวิตจากโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง เพราะการโหม่งลูกบอลตลอดช่วงค้าแข้งนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ เจฟฟ์ แอสเทิล จึงเป็นนักฟุตบอลอังกฤษคนแรกที่ได้รับการบันทึกว่า เสียชีวิตอันเนื่องมาจากผลของการโหม่งลูกฟุตบอลเป็นเวลายาวนานหลายปี!

มันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งมูลนิธิ เจฟฟ์ แอสเทิล ขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาอาการบาดเจ็บทางสมองจากการเล่นกีฬาทุกชนิด และช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว แม้มูลนิธิจะถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2008 แต่ประเด็นปัญหาภาวะสมองเสื่อมจากการโหม่งลูกบอลและการปะทะกันในสนาม ยังถูกซุกอยู่ใต้พรมเหมือนเดิม จนกระทั่งปี 2016 หลังจาก เจฟฟ์ แอสเทิล เสียชีวิตแล้ว 14 ปี หนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ ถึงกลายเป็นผู้ที่จุดพลุตั้งประเด็นขึ้นมาว่า เหตุใดจึงไม่มีการศึกษาหาคำตอบอย่างจริงจังว่า การเล่นฟุตบอลมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเซลล์สมองเสื่อมจริงหรือไม่?

ใน 1 ปีถัดมามหาวิทยาลัยยูซีแอลในกรุงลอนดอน และมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์เปิดเผยผลการศึกษาสมองของอดีตนักฟุตบอลที่เสียชีวิตแล้ว 6 คน ซึ่งพบว่า มีสัญญาณโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรังถึง 4 คน สภาพสมองของทั้ง 4 คนดูเหมือนกับสมองของนักมวยที่ผ่านศึกบนสังเวียนอย่างโชกโชน เป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานว่าอาการบาดเจ็บที่สมองในวัยหนุ่มสามารถนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมในช่วงวัยชราได้ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวนี้ทางมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ได้นำไปทำการศึกษาต่อยอดออกไปอีก จนได้ข้อสรุปว่าอดีตนักฟุตบอลอาชีพมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคภาวะสมองเสื่อมมากกว่าคนปกติถึง 3.5 เท่า

เมื่อปี 2017 BBC สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ เคยนำเสนอสารคดีเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมในอดีตฟุตบอลอาชีพ โดยมี อลัน เชียเรอร์ อดีตศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษเป็นผู้ดำเนินเรื่อง และมีการสัมภาษณ์ ดอว์น แอสเทิล ลูกสาวของเจฟฟ์ซึ่งยอมรับว่าตนเองกับครอบครัวรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นบุคคลอันเป็นที่รักต้องเผชิญกับโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง ซึ่งปกติจะเกิดกับนักมวยหรือนักอเมริกันฟุตบอล ซึ่งกว่าจะทราบว่าเป็นโรคนี้ได้ก็ต้องรอให้ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว นักพยาธิวิทยาถึงจะนำเนื้อเยื่อไปพิสูจน์ได้ ซึ่งนักพยาธิวิทยาบอกกับเธอว่า สมองของ เจฟฟ์ แอสเทิล อยู่ในสภาพที่เสียหายราวกับสมองของนักมวย

ดังนั้นจึงมีคำอธิบายเดียวว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นผลมาจากการโหม่งลูกบอลอย่างต่อเนื่องยาวนานในฐานะนักฟุตบอลอาชีพของ เจฟฟ์ แอสเทิล ซึ่งต้องไม่ลืมว่าลูกฟุตบอลสมัยก่อนที่เย็บจากหนัง มีน้ำหนักมากกว่าลูกบอลในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเปียกน้ำจะยิ่งหนักขึ้นอีก ดอว์น แอสเทิล ยอมรับว่า การที่มีนักเตะชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 ถึง 5 คน ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม ทำให้ผู้คนทั่วไปและผู้มีอำนาจในวงการฟุตบอลเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้มากขึ้น จะปล่อยปละละเลยปัญหาเหมือนในอดีตไม่ได้อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้สมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงมีมาตรการหรือแนวทางให้โค้ชฟุตบอล ห้ามสอนเด็กอายุต่ำกว่า 11 ปีโหม่งลูกบอลในช่วงการฝึกซ้อม ส่วนเด็กที่อายุมากกว่านั้นก็ขอให้ลดการฝึกซ้อมการโหม่งบอลให้มากที่สุด ซึ่งมีเพียงสมาคมฟุตบอลในสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่มีแนวทางเดียวกัน ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีการห้ามเด็กๆ ฝึกซ้อมลูกโหม่งแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า ปกติจะฝึกสอนการโหม่งบอลให้เด็กที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไปอยู่แล้ว และที่สำคัญยังมีเรื่องถกเถียงกันอีกว่า การไม่ฝึกสอนแนวทางการโหม่งลูกบอลที่ถูกหลัก อาจเป็นผลเสียมากกว่า หากนักเตะเยาวชนโหม่งบอลแบบไม่รู้หลัก เวลาที่ลงแข่งขันจริง ซึ่งไม่ได้ห้ามการโหม่งบอลแต่อย่างใด

ถึงตอนนี้คำถามที่ทุกคนอยากรู้คือ การโหม่งลูกบอลทำให้สมองเกิดความเสียหายได้จริงหรือ? คำตอบคือ มันทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อสมองถูกทำลายได้จริงๆ หากโหม่งบอลสะสมหลายๆ ครั้ง ลูกบอลมีน้ำหนักประมาณ 400 กรัมกว่าๆ หรือเกือบครึ่งกิโลกรัม หากโหม่งลูกที่ลอยหรือพุ่งมาด้วยความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก้อนเนื้อสมองจะเหวี่ยงไปถูกด้านหลังของกะโหลกศีรษะ ทำให้สมองช้ำหรือกระทบกระเทือนได้ นอกจากนี้ยังพบว่าโปรตีนชนิดหนึ่งในเส้นเลือด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายเซลล์ประสาท จะมีระดับสูงขึ้นหลังการโหม่งลูกบอล แน่นอนการโหม่งลูกบอลเพียงครั้งเดียวหรือนานๆ ครั้ง คงไม่ทำให้สมองได้รับความเสียหายอย่างมีนัย แต่หากโหม่งลูกสะสมยาวนานหลายปี ย่อมมีผลต่อสมองอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองกระทบกระเทือนจากมหาวิทยาลัยโคโลญน์ในเยอรมนีมองว่า มันยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า การโหม่งลูกบอลจะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม หรือโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง ที่สำคัญคือมันยากที่จะบอกได้ว่า ต้องโหม่งบอลกี่ครั้งถึงจะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ ประกอบกับภาวะสมองเสื่อมมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มันมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย อาทิ รูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละคน เช่น หากสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า และมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ก็เป็นปัจจัยให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน

สมาคมฟุตบอลอังกฤษในฐานะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง นอกจากจะให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมในนักฟุตบอลเพิ่มเติมและอย่างเจาะลึกมากขึ้นแล้ว สมาคมฟุตบอลอังกฤษยังเป็น 1 ใน 5 สมาคมฟุตบอลที่ร่วมทดลองใช้กฎการเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้เพิ่มเป็นกรณีพิเศษ หากสมองกระทบกระเทือนหรือ คอนคัสชั่น โปรโตคอล ของคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (International Football Association Board) นอกจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษแล้ว อีก 4 สมาคมที่เริ่มทดลองใช้กฎการเปลี่ยนตัวเพิ่มเป็นกรณีพิเศษนี้ คือ เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ

พรีเมียร์ลีกเริ่มทดลองใช้การเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้เพิ่มเป็นกรณีพิเศษหากสมองกระทบกระเทือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 โดยอนุญาตให้ทีมที่มีผู้เล่นบาดเจ็บที่ศีรษะหรือแพทย์สนามตรวจดูอาการแล้ว เห็นว่ามีแนวโน้มที่สมองจะกระทบกระเทือน สามารถเปลี่ยนตัวเพิ่มเป็นกรณีพิเศษได้ไม่เกินนัดละ 2 คน โดยไม่นับรวมกับโควตาการเปลี่ยนตัวตามปกติอีก 3 คนในแต่ละนัด ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้สมาคมฟุตบอลอังกฤษยินดีทดลองกฎการเปลี่ยนตัวเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษนี้ ก็เพราะแรงกดดันจากการที่นักตะชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 คนที่ 5 คือ เซอร์บ็อบบี ชาร์ลตัน มีอาการป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง

หลายสโมสรในพรีเมียร์ลีกมองว่ามันอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะในกรณีที่แพทย์สนามต้องวินิจฉัยอาการผู้เล่นว่า มีแนวโน้มสมองกระทบกระเทือนหรือไม่นั้น ทีมต้นสังกัดของผู้เล่นคนนั้น จะเหลือผู้เล่นในสนามเพียง 10 คน แพทย์สนามจึงอาจมีความกดดันที่ไม่สามารถใช้เวลาดูอาการของผู้เล่นคนนั้นได้อย่างเต็มที่ ต้องรีบตัดสินใจว่าเข้าข่ายสมองกระทบกระเทือนหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้เล่นคนนั้น หากแพทย์สนามด่วนสรุปเร็วเกินไปว่าอาการของผู้เล่นไม่รุนแรงมากนัก และอนุญาตให้กลับไปลงเล่นต่อได้ ทางเลือกที่ดีกว่าจึงน่าจะเป็นการอนุญาตให้เปลี่ยนตัวชั่วคราว โดยสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นคนเดิมกลับลงสนามได้อีกครั้ง หากแพทย์สนามชี้ว่าอาการไม่รุนแรง

แน่นอนฟุตบอลไม่ใช่รักบี้หรืออเมริกันฟุตบอล คงยากที่จะทำตามข้อเสนอดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องภาวะสมองเสื่อมในอดีตนักฟุตบอลเชื่อว่า บางทีมันอาจถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่า การโหม่งบอลยังมีความจำเป็นสำหรับกีฬาฟุตบอลจริงๆ หรือไม่? เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการศึกษาที่เริ่มบ่งชี้มากขึ้นว่า การโหม่งบอลหรือการปะทะกันในสนามแข่งขัน มีผลต่อสมองของนักฟุตบอลในระยะยาว แต่การชี้ชัดลงไปว่าต้องโหม่งบอลกี่ครั้งถึงจะส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมในระยะยาว คงไม่สามารถหาคำตอบในระยะเวลาอันใกล้ได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับคำแนะนำทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกว่า ไม่ควรให้ผู้เล่นฝึกซ้อมโหม่งบอลจากการเตะแรงๆ เกิน 10 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยลดความเสี่ยงได้แค่ไหน

อาการเจ็บป่วยด้วยโรคภาวะบกพร่องทางการสื่อความของ บรูซ วิลลิส นักแสดงชื่อดัง อาจไม่เกี่ยวกับการเล่นกีฬา แต่มันบ่งบอกได้ว่า สมองของคนเรามีความเปราะบางและซับซ้อนมากเพียงไร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวงการฟุตบอลควรให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากการโหม่งบอล หรือปะทะกันในสนามแข่งขันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่นำเสื้อที่ไม่มีชื่อนามสกุลบนหลังเสื้อของผู้เล่นไปประมูลหาเงินช่วยการกุศลเท่านั้น เพราะความน่ากลัวของมันอยู่ตรงที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ปรากฏอาการสมองเสื่อมทันที แต่มักแสดงอาการให้เห็นเมื่อเลิกเล่นหรือเริ่มเข้าสู่วัยชราแล้ว และมันคงเป็นเรื่องน่าเศร้า หากในอนาคตอดีตนักฟุตบอลชื่อดังอีกหลายคนอาจต้องเสียชีวิตด้วยโรคอัลไซเมอร์!

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares