Link Copied!

เจาะลึก “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก” การก่อกบฏ ของทีมใหญ่

“ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก” เบื้องหลังเม็ดเงินมหาศาลที่นำไปสู่การประกาศสงครามกับ ยูฟ่า และสมาคมฟุตบอล โดยอ้างผลประโยชน์ของฟุตบอลเป็นที่ตั้ง

การออกแถลงการณ์ของฟีฟ่า ร่วมกับสมาพันธ์ฟุตบอลระดับทวีปอีก 6 แห่งรวมทั้งยูฟ่า ในเรื่องการไม่รับรองความชอบธรรมของ “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก” พร้อมประกาศแบนสโมสร และนักฟุตบอลที่ลงแข่งขันในรายการนี้จากการเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ที่ทางฟีฟ่าและสมาพันธ์ต่างๆ เป็นผู้จัดตั้งขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ ใครลงสนามในรายการนี้ จะอดไปเล่นฟุตบอลโลก, ฟุตบอลชิงแชมป์ระดับทวีปต่างๆ และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก เป็นต้น การออกมาประกาศกร้าวของฟีฟ่าในครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่า การจัดตั้ง “ซูเปอร์ลีก” นำสโมสรชั้นนำของยุโรปมาเล่นลีกเดียวกันไม่ได้เป็นเพียงไอเดีย แต่ใกล้ความจริงกว่าที่เราคิด

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา เอกสารรายละเอียดเรื่องการก่อตั้งยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก จำนวน 18 แผ่น ถูกส่งต่อไปยังสื่อต่างๆ ทั่วอังกฤษ โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้ การแข่งขันจะมีทั้งหมด 20 ทีม โดยมีสโมสรที่ร่วมก่อตั้ง 15 ทีม ซึ่งเป็นทีมชั้นนำจากชาติต่างๆ ในยุโรป เป้าหมายเพื่อเข้ามาแทนที่การแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 

15 ทีมผู้ร่วมก่อตั้งคาดว่าจะมี Top 6 จากอังกฤษ ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, เชลซี, อาร์เซนอล และสเปอร์ส ที่เหลือก็มาจากชาติอื่นๆ เช่น เอซี มิลาน, เรอัล มาดริด และ เปแอสเช ถึงจะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อที่แน่นอนออกมา แต่มีการคาดว่าทีมที่เป็นแรงผลักดันเรื่องนี้คือปีศาจแดง จากอังกฤษ, ราชันย์ชุดขาว จากสเปน และปีศาจแดงดำ จากอิตาลี โดยในเดือนพฤศจิกายน 2020 เอ็ด วูดเวิร์ด บอกแฟนบอลแมนยูไนเต็ดว่า ทีมกำลังอยู่ท่ามกลางการพูดคุยถึงอนาคตของการแข่งขันฟุตบอลระดับทวีปยุโรป

ในเอกสารทั้ง 18 หน้าระบุอีกว่า สโมสรร่วมก่อตั้งทั้ง 15 ทีม และทีมที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละปีอีก 5 ทีม จะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 10 ทีม ลงแข่งขันแบบพบกันหมดในแต่ละกลุ่ม จากนั้นนำทีมที่ได้อันดับ 1-4 ในแต่ละกลุ่มเข้ามาเล่นแบบทัวร์นาเมนต์ แข่งเหย้าเยือน แพ้ตกรอบ ไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยจะเป็นการแข่งขันเกมกลางสัปดาห์เท่านั้น และแต่ละทีมยังคงลงเล่นในฟุตบอลลีกภายในประเทศของตัวเองอยู่ โดยมี JP Morgan Chase เป็นเจ้าของเงินรายใหญ่ที่จะลงทุนในโปรเจ็กต์นี้

โดย 15 ทีมผู้ก่อตั้งจะมีส่วนกับเงินแรกเข้าเพื่อวางรากฐานการแข่งขัน เป็นกองทุนกว่า 3.1 พันล้านปอนด์ แต่ละสโมสรผู้ก่อตั้งจะได้รับเงินดังกล่าวในฐานะผู้ก่อตั้งมากสุด 310 ล้านปอนด์ ไล่ไปจนถึง 89 ล้านปอนด์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการขยายสนามการแข่งขัน, ปรับปรุงสนามฝึกซ้อม หรืออื่นๆ ตามความเหมาะสม ในส่วนเงินรางวัลของการแข่งขันมีมูลค่าร่วมกว่า 2.66 พันล้านปอนด์ ทีมที่ก่อตั้งได้รับการันตีแน่ๆ ที่ 130 ล้านปอนด์ และมีสิทธิที่จะทำเงินสูงถึง 213 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล มากกว่าการคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกที่ได้เงิน 100 ล้านปอนด์เท่านั้น

แต่ละทีมจะได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดเกมของตัวเอง 4 นัดต่อฤดูกาลผ่านทางช่องทางดิจิทัลของตัวเองไปได้ทั่วโลก ส่วนแบ่งรายได้จากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ จำนวน 32.5 เปอร์เซ็นต์จะถูกแบ่งออกให้เท่าๆ กันมอบให้กับสโมสรผู้ก่อตั้งทั้ง 15 สโมสร อีก 32.5 เปอร์เซ็นต์ถูกแบ่งให้เท่าๆ กันให้กับทั้ง 20 สโมสร เรียกว่าทีมผู้ก่อตั้งจะได้รับเงิน 2 ต่อ อีก 20 เปอร์เซ็นต์จะแบ่งให้แต่ละสโมสรตามอันดับในตารางคะแนน และอีก 15 เปอร์เซ็นต์จะแบ่งโดยขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละสโมสร โดยวัดจากการขายโฆษณา 

นอกจากนี้ยังลงรายละเอียดเรื่องการใช้เงินของสโมสรเพื่อควบคุมความได้เปรียบเสียเปรียบ เงินเดือนนักเตะ และเงินในการซื้อ-ขายผู้เล่นเข้าสโมสรนั้นจะต้องไม่เกิน 55 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมของทีม จะมีการจัดตั้งทีมงานด้านไฟแนนซ์เพื่อเฝ้าดูการใช้จ่ายของแต่ละสโมสร ถ้าเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนาเข้าร่วม ทั้งสองทีมจะได้รับเงินพิเศษ 27 ล้านปอนด์ ซึ่งเอกสารไม่ได้ระบุว่าเพราะอะไร 

หลังจากที่เอกสารดังกล่าวเผยแพร่ออกมา มีกระแสต่อต้านมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากยูฟ่า และบรรดาฟุตบอลลีกต่างๆ ทั่วยุโรป โดยมองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการคุกคามต่อฟุตบอลยุโรป อาจจะกลายไปเป็นต้นแบบที่ลุกลามไปทั่วโลก แผนการนี้จะทำให้สโมสรเล็กๆ ตายลง ช่องว่างระหว่างทีมใหญ่กับทีมเล็กจะมากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าทีมเหล่านั้นยังคงลงเล่นฟุตบอลลีกภายในประเทศอยู่ แต่ได้เงินมาทำทีมมากขึ้น ความได้เปรียบเลยมีมากกว่าทีมอื่นๆ ที่มีรายได้น้อยกว่า 

ยังไม่รวมกับเงินจากการโฆษณาที่แบรนด์ต่างๆ ต้องมุ่งไปที่ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีกเพราะเป็นจุดรวมของทีมดังๆ คนดูเยอะ นั่นจะทำให้แบรนด์ต่างๆ ลดเงินกับฟุตบอลลีก ทำให้รายรับจากการโฆษณาของแต่ละลีกน้อยลง ส่วนแบ่งแต่ละทีมก็น้อยลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในอังกฤษที่พรีเมียร์ลีกแบ่งเงินรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยทีมขนาดเล็ก และสโมสรฟุตบอลรากหญ้า ถ้าขาดเงินเหล่านั้น หลายสโมสรจะต้องล้มหายตายจากอย่างแน่นอน

นอกจากเรื่องเงินที่มากกว่าแล้ว ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีกยังเป็นแผนการก่อกบฏต่อยูฟ่าอย่างชัดเจนที่สุด แทนที่จะต้องทำทุกอย่างผ่านยูฟ่า สโมสรดึงอำนาจจากสมาพันธ์ฟุตบอล เพื่อมาดำเนินการแข่งขันเอง แบ่งรายได้กันเอง ตัดคนกลางออก และมีอำนาจบริหารจัดการได้เต็มที่ การมีอยู่ของยูฟ่ากำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากสโมสรยักษ์ใหญ่ และมาเป็นระลอกๆ ล่าสุดที่พอจำกันได้ก็เรื่องการแบนแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากบอลยุโรป ซึ่งสุดท้ายเรือใบสีฟ้าก็เอาชนะด้วยการอุทธรณ์ไปที่ศาลกีฬาโลก

แถลงการณ์ของฟีฟ่าที่ระบุว่าจะมีการแบนสโมสรและผู้เล่นที่ลงสนามยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีกไม่ให้ลงสนามในทัวร์นาเมนต์ที่พวกเขาจัดขึ้น ออกแนวขู่มากกว่าเตือน ก็ถูกโต้กลับจากทนายความ โดยระบุว่าประกาศดังกล่าวอาจจะละเมิดกฎหมายการแข่งขันของสหภาพยุโรป จริงอยู่ที่ฟีฟ่าไม่ได้ห้ามการจัดตั้งซูเปอร์ลีก แต่การประกาศแบนไม่ให้นักกีฬาลงแข่งขันในรายการที่ทางฟีฟ่าและยูฟ่าจัดขึ้นนั้น ดูเหมือนเป็นการรังแกผู้อื่นในสายตาของกฎหมาย 

ด้านยูฟ่าเองนั้นก็มีการตอบโต้กลายๆ โดยบอกว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ตั้งแต่ปี 2024 โดยเปลี่ยนจำนวนทีมที่ลงแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่มจาก 32 ทีม เป็น 36 ทีม โดยแต่ละทีมจะต้องจับสลากแข่งกับทีมต่างๆ 10 ทีม นับคะแนนแบ่งลีก และเลือกทีมเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ต่อไป ฟังดูค่อนข้างซับซ้อนกว่าที่เป็นอยู่ แต่ได้รับอิทธิพลมาจากซูเปอร์ลีกด้วยแน่นอน งานนี้ก็ไม่รู้ว่าจะจบลงแบบไหน ในยุคที่อำนาจเงินเป็นใหญ่ในวงการฟุตบอล อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares