กลับถึงบ้านเรียบร้อยสำหรับทัพ “ชบาแก้ว” หลังจากผิดหวังพลาดตั๋วไป “บอลโลกหญิง” สมัยที่ 3 ติดต่อกัน
อย่างที่ทราบ บอลโลกหญิงหนนี้ สาวไทยผิดพลาดตั้งแต่รอบคัดเลือกโซนเอเชีย เมื่อพ่ายคู่ปรับอาเซียนอย่าง เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ทำให้ต้องมาเหนื่อยต่อในรอบเพลย์ออฟ
โจทย์ของ “ชบาแก้ว” หลังจากนี้ คือเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่? ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การที่ “ชบาแก้ว” พัฒนาและก้าวมาได้ถึงจุดนี้ เพราะได้รับการเอาใจใส่อย่างทุ่มเทและไม่มีท้อของ “มาดามแป้ง” ตลอด 2 สมัยที่ได้ไปบอลโลกก่อนหน้านี้
ถ้าการพัฒนาไม่ต่อเนื่อง ขาดช่วง หรือ หยุดชะงัก “ความฝัน” ที่ “ชบาแก้ว” จะได้ไปเล่นบอลโลกหญิงรอบสุดท้ายอีกสมัย คงได้แต่ “ทำใจ”
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสนับสนุนอย่างจริงจังและยั่งยืนจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการดำเนินการอย่างมีแบบแผนขององค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ”
ที่ต้องก้มหน้ายอมรับ เราไม่มีทรัพยากรให้เลือกมากนัก เพราะเรายังไม่มีลีกอาชีพหญิงที่แข็งแกร่ง ทำให้ต้องเปิดคัดเลือกเยาวชน เพื่อหานักเตะไปติดทีมชาติ
เมื่อได้นักเตะเข้ามาสู่ระบบแล้ว ก็ยังต้องมาเรียนรู้กระบวนการใหม่ ทั้งเทคนิคและแท็คติก บางคนทำได้ก็ไปต่อ ไม่ได้ก็ต้องโบกมือลา ทว่ามันยากมากที่จะหานักเตะมาทดแทนรุ่นพี่ได้ทันในเวลาอันใกล้
ส่วนเรื่องนักเตะรูปร่างใหญ่ ๆ ไซส์ยุโรป ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกับหญิงไทยจะมีสักกี่คน หรือจะให้เอานักวอลเลย์ฯ นักบาสฯมาเล่นบอล ก็คงเป็นเรื่องยาก จึงทำได้แค่ดึงลูกครึ่งมาเล่นเท่านั้น
สุดท้ายหนีไม่พ้น สมาคมฟุตบอล ที่ต้องรับผิดชอบไปเต็ม ๆ โดยเฉพาะการจัด “ลีกอาชีพหญิง” ที่ต้องเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่จัดแบบขอไปที
ที่ผ่านมา ทั้งยุคก่อนและปัจจุบัน สมาคมฯ มีการจัดแข่งขันแบบไม่ต่อเนื่อง แถมยังเป็นแบบกึ่งอาชีพ มีคนดูเพียงน้อยนิด เหมือนเล่นกันเองดูกันเอง
หากในอนาคต สมาคมฯ จริงจังในการจัดฟุตบอลลีกหญิงให้มีมาตรฐาน มีงบสนับสนุนจากทุกภาคส่วน มีการประชาสัมพันธ์ที่มากกว่าเดิม มีอดีตทีมชาติไทย คอยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่หันมาเล่นฟุตบอลมากขึ้น เชื่อว่าทีมชาติไทยจะมีตัวเลือกนักเตะเพิ่มขึ้น นั่นย่อมส่งผลให้ทีมชาติแกร่งขึ้นตามไปด้วย
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องร่วมด้วยช่วยกัน ทำควบคู่กันไปหลายหน่วยงานและองค์กรอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระความรับผิดชอบของใคร “คนใดคนหนึ่ง” เหมือนที่ผ่าน ๆ มา