ความรู้สึกของนักฟุตบอลทีมชาติอินโดนีเซียชุด U20 ทุกคนคงจะไม่ต่างไปจากสมาชิกหลายรายที่ออกมาแสดงความคิดเห็นกัน
โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่า คนในชาติส่วนหนึ่งออกมาปกป้องเสรีภาพของคนชาติอื่น แต่กลับทำลายความฝันของเด็กในชาติตัวเอง
การถูกฟีฟ่าริบสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลฟุตบอลโลก U20 2023 จึงเป็นการทั้งการตัดสิทธิ์ และ ตัดความฝันของนักเตะชุด U20 ของอินโดนีเซีย
เด็กๆ ที่เป็นนักฟุตบอลล้วนมีความฝันว่าสักวันจะพาชาติของตนเองไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายให้ได้
แต่ด้วยสภาพความเป็นจริงที่พวกเขาหลายคนล้วนยอมรับ นั่นก็คือพวกเขายังดีไม่พอเมื่อเทียบกับชาติมหาอำนาจใหญ่ๆ อีกหลายทีม
ดังนั้นฝันของทั้งผู้เล่น และ แฟนบอล จึงมองมาที่ฝันที่เล็กลงมาอย่างฟุตบอลโลกชุดเล็กลงมาอย่าง U20 และ U17 แม้ว่าจะได้ฝันนั้นมาในฐานะเจ้าภาพก็ตาม แต่ใครเล่าจะแคร์เรื่องนี้
ความผิดหวังอาจจะใหญ่ แต่อย่างน้อยเด็กหนุ่มของทีมชาติ U20 ชุดนี้ จะได้เรียนรู้ว่า คำที่คนโตเคยพูดกันเล่นๆ ว่า การเมือง, ศาสนา, ความเชื่อ และ กีฬา หลายครั้งกลายเป็นเรื่องที่สามารถหาข้อตกลงไม่ได้ในชีวิตจริง
อย่างเช่นความคิดเห็นของคนที่ออกมาคัดค้านการมาร่วมแข่งขันของทีมชาติอิสราเอล เพราะมีมุมมองในเรื่องของการเมือง และ ศาสนา ให้อยู่เหนือกีฬา ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นสิทธิ์ของพวกเขาเหล่านั้น ที่แม้จะทำให้ฝันของเด็กหลายคนพังทลายลงก็ตาม
เด็กหนุ่มที่เสียน้ำตา และ ไม่เห็นด้วย คงทำได้แค่ยอมรับมัน และ เรียนรู้ให้ตกผลึกเมื่อเติบโตขึ้นไป จากนั้นก็นำสิ่งที่ได้ไปสอนคนรุ่นต่อๆ มา
กฎของฟีฟ่าที่ระบุว่า ฟุตบอลจะต้องไม่มีการเมืองเข้ามาปนเปื้อน จึงอาจถูกมองว่าเกินเหตุไป แต่ถ้าเรามองไปที่เรื่องของความปลอดภัย ฟีฟ่าอาจทำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว
เพียงแต่ว่า ฟีฟ่าคงต้องใช้มุมมองที่มีความเห็นใจ กับ ดวงตาที่เห็นธรรม จนสามารถเข้าใจได้ว่าความผิดหวังจากการถูกตัดสิทธิ์นั้นคือค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมแล้ว
จนจะไม่ลงมือทวงค่าใช้จ่ายที่แพงเกินจริงด้วยการตัดสิทธิ์ ริบความฝัน และ ทำลายโอกาสของวงการฟุตบอลประเทศนี้อย่างที่ตกเป็นข่าวอีกเลย