“บิ๊กหอย-มาดามแป้ง” คว้าผู้จัดการทีมแห่งทศวรรษ ส่วน “บังยี” ติดโผผู้ทำชื่อเสียงในเวทีสากล ด้าน “เจ-ซิโก้” ซิวรางวัลที่สุดและนักกีฬาตัวอย่าง ในงาน ”3 ทศวรรษ วินาทีสู่ฝันพลังแห่งความภาคภูมิใจ”
สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย จัดงานใหญ่ ”3 ทศวรรษ วินาทีสู่ฝันพลังแห่งความภาคภูมิใจ” เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงละครอักษรา คิงเพาเวอร์ โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน
นายไพฑูร ชุติมากรกุล นายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า การจัดงานครบรอบ 30 ปี หรือ 3 ทศวรรษของการก่อตั้งสมาคมฯครั้งนี้ จัดเพื่อเป็นการรำลึกถึงผลงานของนักกีฬารุ่นต่าง ๆ ในยุคตั้งแต่ 30 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ นักกีฬารุ่นก่อน ๆ ที่แฟนกีฬารุ่นใหม่ส่วนใหญ่แทบไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยดูผลงาน ก็ได้เห็น ได้รับรู้กัน โดยงาน ”3 ทศวรรษ วินาทีสู่ฝันพลังแห่งความภาคภูมิใจ” ที่สมาคมฯจัดขึ้นเพื่อเชิดชู เป็นการให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับนักกีฬาในยุคต่างๆ ประเภทต่างๆ ที่เสียสละเวลาส่วนตัว ไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศมากมาย สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการยกย่อง ได้รับการรับรู้ทั่วกันจากแฟนกีฬาทั้งยุคก่อนและยุคปัจจุบัน สุดท้ายต้องขอขอบคุณทุกท่าน ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ที่สนับสนุน จนงานผ่านไปได้ด้วยดี ในนามสมาคมฯ พร้อมที่จะทำสิ่งดีๆเพื่อสังคม เพื่อวงการกีฬาไทยต่อไป”
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล แยกเป็นประเภทของรางวัลในแต่ละทศวรรษ มีดังนี้
1.สมาคมกีฬาแห่งทศวรรษ Sport Association of Decade
ทศวรรษที่ 1 (2535-2545) ได้แก่ สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย
ทศวรรษที่่ 2(2545-2555) สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย
ทศวรรษที่ 3 (2555-2565) สมาคมกีฬาเทควันโด้แห่งประเทศไทย
2.บุคคลสำคัญแห่งทศวรรษ The Person of Decade
ทศวรรษที่ 1 พลตรีจารึก อารีราชการัณย์/ทศวรรษที่ 2 นายธนา ไชยประสิทธิ์
ทศวรรษที่ 3 คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล
3.ทีมกีฬาแห่งทศวรรษ Team of the Decade
ทศวรรษที่ 1 ฟุตบอลดรีมทีม
ทศวรรษที่ 2 เซปัคตะกร้อ ชุดของสืบศักดิ์ ผันสืบ
ทศวรรษที่ 3 วอลเลย์บอลหญิง ชุด 7 เซียน
4.นักกีฬาอาชีพยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษ The Profession Player of the Decade
ทศวรรษที่ 1 สามารถ พยัคฆ์อรุณ (มวยสากล-มวยไทย)
ทศวรรษที่ 2 ธงชัย ใจดี (กอล์ฟ)
ทศวรรษที่ 3 โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล (กอล์ฟ)
5.ผู้จัดการทีมแห่งทศวรรษ The Manager of the Decade
ทศวรรษที่ 1 “บิ๊กหอย” ธวัชชัย สัจจกุล (ฟุตบอล)
ทศวรรษที่ 2 บุษบา ยอดบางเตย (ยกน้ำหนัก)
ทศวรรษที่ 3 “มาดามแป้ง”นวลพรรณ ล่ำซำ (ฟุตบอล)
6.ผู้ทำชื่อเสียงในเวทีกีฬาสากลแห่งทศวรรษ The Man of the Decade
ทศวรรษที่ 1 “บังยี” วรวีร์ มะกูดี (อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ)
ทศวรรษที่ 2 ผศ.ดร.พิมล ศรีวิกรณ์ (นายกสมาคมกีฬาเทควันโด้)
ทศวรรษที่ 3 วิชัย ศรีวัฒนประภา (อดีตประธานสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้)
7.นักกีฬาตัวอย่างแห่งทศวรรษ The Idol of the Decade
ทศวรรษที่ 1 “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (ฟุตบอล)
ทศวรรษที่ 2 บัวขาว บัญชาเมฆ (มวยไทย)
ทศวรรษที่ 3 “ตูน บอดี้สแลม” อาทิวราห์ คงมาลัย (นักวิ่ง-เทเบิลเทนนิส)
8.นักกีฬายอดเยี่ยมแห่งทศวรรษ The Gloden Player of the Decade
ทศวรรษที่ 1 นาวาตรี สมรักษ์ คำสิงห์ รน. (มวยสากล)
ทศวรรษที่ 2 ร.อ.หญิงปวีณา ทองสุข (ยกน้ำหนัก)
ทศวรรษที่ 3 “เทนนิส” พานิภัค วงศ์พัฒนกุล (เทควันโด้)
9.ที่สุดนักกีฬาแห่งทศวรรษ The Icon of the Decade
ทศวรรษที่ 1 “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” วัฒนา ภู่โอบอ้อม (สนุกเกอร์)
ทศวรรษที่ 2 “บอล” ภราดร ศรีชาพันธ์ (เทนนิส)
ทศวรรษที่ 3 “เจ” ชนาธิป สรงค์กระสินธ์ (ฟุตบอล)
10.วินาทีความทรงจำแห่งทศวรรษ The Moment of the Decade
ทศวรรษที่ 1 “วัง” ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล ลูกยิงปลิดชีพเกาหลีใต้ในเอเชียนเกมส์ (ฟุตบอล)
ทศวรรษที่ 2 พันโทหญิง อุดมพร พลศักดิ์ เจ้าของวลีเด็ด “สู้โว้ย” (ยกน้ำหนัก)
ทศวรรษที่ 3 “โค้ชเช” ชัชชัย ชเว (เทควันโด้)
ประเภทของรางวัลพิเศษ
1.รางวัลที่สุดแห่งความทรงจำ The Forever Memory of the Decade มี 2 รางวัล
1.”ซ้ายทะลวงใส้” เขาทราย แกแล็คซี่ สุระ แสนคำ (มวยสากล)
2.”เพชรฆาตหน้าหยก” นาวาอากาศเอก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน (ฟุตบอล)
2.รางวัลเกียรติยศแห่งทศวรรษ The Greatest Honour of the Decade มี 6 รางวัล
1.มนัส บุญจำนงค์ (มวยสากล)
2.พันตำรวจโท วิจารณ์ พลฤทธิ์ (มวยสากล)
3.สมจิตร จงจอหอ (มวยสากล)
4.พันตรีหญิงประภาวดี เจริญรัตนธารากุล (ยกน้ำหนัก)
5.โสภิตา ธนสาร (ยกน้ำหนัก)
6.สุกัญญา ศรีสุราช (ยกน้ำหนัก)