นัดสุดท้ายในฤดูกาล 2021-22 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่บุกไปพ่ายแพ้ให้กับคริสตัล พาเลซ ถ้ามองผ่านๆ คือความล้มเหลว แต่ผมกลับมองว่าทีมปีศาจแดงภายใต้การนำทีมของ ราล์ฟ รังนิก มีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เห็นมาหลายปีมากๆ หลังจากหมดยุคของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
นั่นคือการได้เห็นนักเตะจากอคาเดมีอย่าง ฮานนิบาล เมจบรี (19 ปี), แอนโธนี เอลังกา (20 ปี) ลงเล่นเป็นตัวจริง, อเลฮานโดร การ์นาโช (17 ปี) ลงเป็นตัวสำรอง แถม ชาร์ลี ซาเวจ (19 ปี) ยังมีชื่ออยู่ในตัวสำรอง ทำให้เห็นถึงการหันมาโฟกัสในการสร้างทีมจากนักเตะเยาวชนที่แฟนปีศาจแดงเคยเห็นมาในยุคก่อน ที่มีนักเตะอย่าง คลาส ออฟ 1992 ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีม
หลังจากที่แมนยูไนเต็ดประสบความสำเร็จอย่างมากมายในยุคนั้น แต่กลับกลายเป็นทีมปีศาจแดงเองที่ไม่ค่อยได้สร้างนักเตะเยาวชนจนสามารถก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จกับชุดใหญ่ได้
เพราะหลังยุคเซอร์อเล็กซ์ มีนักเตะเพียงไม่กี่คนที่เป็นผลผลิตจากอคาเดมีที่ได้รับโอกาสขึ้นมาเล่นในทีมใหญ่ เช่น ปอล ป็อกบา (ไม่ได้ก้าวขึ้นมาเล่นทีมใหญ่แต่ไปพัฒนาฝีเท้าที่ยูเวนตุส), มาร์คัส แรชฟอร์ด, เจสซี ลินการ์ด, เมสัน กรีนวูด ซึ่งมีเพียง ป็อกบา เท่านั้นที่ได้รับการยอมรับในฝีเท้าว่าเป็นของจริง
::
ในฤดูกาลนี้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คู่แข่งร่วมเมืองหันมาสร้างนักเตะเยาวชนอย่างจริงจัง หลังจากที่ไม่ค่อยมีนักเตะจากอคาเดมีเบียดขึ้นมาทีมใหญ่ได้นอกจาก ฟิล โฟเดน ที่โดดเด่นขึ้นมาจนกลายเป็นคนสำคัญของทีม
โดยในปีนี้ทีมเรือใบสามารถครองแชมป์ลีกได้ทั้งทีมชุดใหญ่, ชุด U-23, รุ่น 18 ปี, รุ่น 17 ปี และ รุ่น 16 ปี
ในขณะที่ทีมอื่นๆ เน้นการสร้างเด็กจากอคาเดมีมาได้หลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลิเวอร์พูล ที่มีอคาเดมีขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่ได้อย่างจริงจัง เช่น เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์, เคอร์ติส โจนส์, ฮาร์วีย์ เอลเลียต
เชลซี ก็มี รูเบน ลอฟตัส-ชีค, เมสัน เมาท์, รีส เจมส์, คัลบัม ฮัดสัน-โอดอย เป็นผู้เล่นตัวจริง และ สลับกันเป็นสำรองที่ไม่ห่างชั้นกับตัวจริงมากนัก
ส่วนการที่ได้เห็นนักเตะเยาวชนของสโมสรมีโอกาสพิสูจน์ฝีเท้าแม้จะเพียงไม่กี่นัด ทำให้ได้เห็นว่า ปีศาจแดง ได้มีการกลับมาโฟกัสการสร้างนักเตะจากอคาเดมีอีกครั้ง รวมถึงการกลับมาครองแชมป์ FA Youth Cup 2022 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อันทำให้ดูจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้บ้าง
การได้เห็นนักเตะเยาวชนมีโอกาสลงเล่น ถือว่าหน้าที่ของ ราล์ฟ รังนิก ในตำแหน่งที่ปรึกษา และเป็นโค้ชชั่วคราวในช่วงรอสรรหาโค้ชที่เหมาะสมนั้น ถือว่าเขาทำได้ไม่เลว
เพราะอย่างที่รู้กันว่าการหาโค้ชในช่วงกลางฤดูกาลนั้น เป็นไปได้ยากที่สโมสรจะได้โค้ชดีๆ (แม้จะเสีย อันโตนิโอ คอนเต ไปให้กับ สเปอร์ส) แต่ในระหว่างที่รอคนที่ใช่ ทีมก็มาโฟกัสที่ระบบอคาเดมีโดยไม่พึ่งนักเตะใหม่ในช่วงตลาดนักเตะฤดูหนาว
ผมเองไม่รู้หรอกว่าการที่มีนักเตะจากอคาเดมีลงเล่นถึง 3 คนในนัดนี้มาจากการบาดเจ็บของนักเตะตัวหลัก หรือ เอริก เทน ฮาก โค้ชคนใหม่อยากเห็นฟอร์มของนักเตะเหล่านี้ หรือเป็น รังนิก เองที่อยากให้โอกาสกับนักเตะเยาวชน แต่แมตช์นี้ยังคงมีความสำคัญมากๆ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย และไม่ได้เห็นมานานพอสมควรในถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ด
::
การสร้างทีมให้มีขนาดใหญ่ มีนักเตะให้โค้ชได้เลือกใช้หลากหลายตำแหน่ง ล้วนมีความจำเป็นอย่างมากกับแผนการเล่นฟุตบอลในปัจจุบัน
คงต้องติดตามกันต่อว่าอคาเดมีของ แมนยูไนเต็ด จะกลับมาสร้างนักเตะเก่งๆ จนก้าวขึ้นมาช่วยทีมชุดใหญ่ได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากปล่อยให้คู่แข่งทีมอื่นสร้างเยาวชนฝีเท้าดีขึ้นมามากมาย
แล้ว เอริก เทน ฮาก จะสานต่อเรื่องนี้ได้หรือไม่ จะมีอคาเดมีรายใดที่ขึ้นมาติดทีมชุดใหญ่อย่างถาวร เรื่องนี้น่าสนใจมากพอๆ กับการซื้อนักเตะใหม่เลยทีเดียว
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม