Link Copied!

จากนี้ Man Utd จะไม่เหมือนเดิม

ราล์ฟ รังนิค อาจไม่ใช่ผู้จัดการทีมในฝันของบรรดาเรดอาร์มี แต่เขาคือตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการวางรากฐานความสำเร็จให้กับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ในระยะยาว

ความเคลื่อนไหวในแวดวงพรีเมียร์ลีกที่ฮอตสุดในเวลานี้ หนีไม่พ้นการเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ ราล์ฟ รังนิค ยอดโค้ชชาวเยอรมันวัย 63 ปี ซึ่งถึงแม้ในสัญญาระบุว่าจะคุมทีมถึงเพียงแค่จบฤดูกาลนี้เท่านั้น หลังจากนั้นเขาจะยังรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับทีมปีศาจแดงต่อไปอีก 2 ปี ซึ่งอำนาจหน้าที่ใหม่ที่จะได้รับ ในทางปฏิบัติมีไม่น้อยกว่าตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค จึงเป็นที่น่าจับตาของสื่อมวลชนและแฟนบอลเป็นอย่างยิ่งว่ารังนิคจะสามารถผลักดันให้ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด กลับมาประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้อีกครั้งได้หรือไม่?

ความจริงแล้วในตอนแรกที่มีข่าวว่าฝ่ายบริหารของทีม แมนฯ ยูไนเต็ด เริ่มมองหาผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน โอเล กุนนาร์ โซลชา นั้น ชื่อของรังนิคไม่ได้เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในสายตาของแฟนบอลเรดอาร์มี ซึ่งปรารถนาจะได้ยอดโค้ชที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อาทิ ซีเนอดีน ซีดาน, อันโตนิโอ คอนเต, เมาริซิโอ โปเชตติโน, เบรนแดน ร็อดเจอร์ส และ เอริก เทน ฮาก โดยชื่อของรังนิคถูกมองว่ามีโอกาสได้รับเลือกในฐานะ “กุนซือขัดตาทัพ” เท่านั้น หากมองอย่างผิวเผินมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

แต่ในทางลึกรังนิคอาจเป็นคนที่ฝ่ายบริหารทีมแมนฯ ยูไนเต็ด มองว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะการเข้ามาของ ราล์ฟ รังนิค ไม่ใช่แค่เข้ามากอบกู้สถานการณ์อันย่ำแย่ของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงหลังๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการเข้ามาเพื่อวางรากฐานแห่งความสำเร็จในระยะยาวของทีมอีกด้วย เนื่องจากหากศึกษาประวัติการทำงานของยอดโค้ชชาวเยอรมันผู้นี้จริงๆ จะพบว่า รังนิคประสบความสำเร็จในการคุมทีมเล็กๆ และกลางๆ ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ฝ่ายบริหารของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด สนใจมากกว่า คือการที่รังนิคสามารถยกระดับทีมฟุตบอลในอาณาจักรเรดบูลล์ให้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านธุรกิจและผลงานในสนามแข่งขันต่างหาก

ใช่ครับ! ตระกูลเกลเซอร์เลือกรังนิคเข้ามาคุมทีม โดยไม่ได้หวังเพียงให้เขาเป็นกุนซือขัดตาทัพจนจบฤดูกาลนี้เท่านั้น แต่ยังหวังว่าด้วยความเชี่ยวชาญด้านแทคติก และประสบการณ์ในการทำงานเบื้องหลังความสำเร็จของทีมฟุตบอลในอาณาจักรเรดบูลล์ เช่น ไลป์ซิก, ซัลซ์บวร์ก หรือ นิวยอร์ก เรดบูลล์ ทำให้รังนิคเหมาะสมที่สุดที่จะเข้ามาวางรากฐานแห่งความสำเร็จในระยะยาวให้กับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งตกต่ำลงไม่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยที่เคยเป็นสโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในพรีเมียร์ลีก และมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ในยุคที่มีเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นผู้จัดการทีม

ย้อนหลังไปเมื่อครั้งที่ โอเล กุนนาร์ โซลชา ได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด อย่างถาวร เหตุผลสนับสนุนสำคัญที่สุดคือ เขาเป็นอดีตผู้เล่นที่เคยประสบความสำเร็จกับสโมสรมาก่อน และเข้าใจ DNA แห่งความยิ่งใหญ่ในถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นอะไรที่เป็นนามธรรมมาก เนื่องจากหาก DNA ของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด หมายถึงการคว้าแชมป์รายการใหญ่อย่างต่อเนื่องและลีลาการเล่นที่เร้าใจ ได้บทพิสูจน์แล้วว่าคนในอย่างโซลชาที่เรียกได้ว่าเป็น DNA พันธุ์แท้ ไม่สามารถทำผลงานได้ดีตามที่ฝ่ายบริหารและแฟนบอลคาดหวังไว้

ถึงตอนนี้ความหวังจึงฝากคนนอกอย่าง ราล์ฟ รังนิค ซึ่งสิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือนับจากนี้ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!

รังนิคเป็นโค้ชที่เชี่ยวชาญด้านแทคติกการเล่นที่สุดคนหนึ่งของโลกในยุคปัจจุบัน จนได้รับฉายาว่า “ท่านศาสตราจารย์” และ “เจ้าพ่อแห่ง เกเกนเพรสซิ่ง” แนวคิดเรื่องระบบการเล่นฟุตบอลของเขามีอิทธิพลอย่างสูงต่อยอดโค้ชชาวเยอรมันอย่างเช่น เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล, โทมัส ทูเคิล ผู้จัดการทีมเชลซี และ ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ โค้ชทีมบาเยิร์น มิวนิก ฯลฯ ในฐานะผู้ปฏิวัติระบบการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่ในประเทศเยอรมนี ด้วยการเน้นการเพรสซิ่งสูงตั้งแต่ในแดนคู่แข่ง เพื่อบีบให้ผู้เล่นทีมคู่แข่งเสียการครองบอลเร็วที่สุด เพื่อสร้างโอกาสทำประตูให้เร็วที่สุด ผสมผสานกับการใช้แผงกองหลัง 4 ตัวคุมโซนในเกมรับ

ตอนแรกที่รังนิคนำแนวคิดแบบนี้มาใช้ เขาถูกตั้งฉายาว่า “ท่านศาสตราจารย์” เพื่อล้อเลียนเรื่องแนวคิดที่ดูเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสื่อมวลชนส่วนใหญ่เชื่อว่านักเตะเยอรมันคุ้นเคยกับการเล่นแผงหลัง 3-5-2 หรือแบบเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัว วิงแบ็กซ้าย-ขวา และถึงแม้จะใช้เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 2 ตัว แบบ 4-4-2 ก็ไม่ยืนแนวเดียวกันแบบคุมโซน แต่คนหนึ่งจะเป็นตัวประกบหรือตัวชน ส่วนอีกคนหนึ่งจะยืนต่ำกว่า เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกวาด แต่ในที่สุดรังนิคก็ใช้ผลงานในสนามแข่งขันพูดแทน จนปัจจุบันฉายา “ท่านศาสตราจารย์” กลายเป็นคำยกย่องความรอบรู้ในศาสตร์ฟุตบอลของเขาอย่างแท้จริง

ตัวอย่างผู้ที่นำระบบเกเกนเพรสซิ่งมาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จในการคุมทีมมากที่สุด หนีไม่พ้น เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล ผู้ที่นิยามระบบการเล่นของตนว่า เปรียบเสมือนดนตรีร็อกประเภทเฮฟวีเมทัล ซึ่งใช้เวลาพอสมควรกว่าจะปั้นแต่งทีมลิเวอร์พูลจนกลับมาเป็นทีมชั้นแนวหน้าของอังกฤษอีกครั้ง เนื่องจากเมื่อครั้งที่คล็อปป์เข้ามาคุมทีมลิเวอร์พูลเมื่อปี 2015 สภาพทีมยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ และต้องซื้อนักเตะตามแผนการสร้างทีมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากไม่ใช่สโมสรเงินถุงเงินถัง แต่ด้วยระบบการเล่นที่ยอดเยี่ยม บวกกับการซื้อตัวที่ไม่ผิดพลาด คล็อปป์จึงสามารถพาทีมคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก และพรีเมียร์ลีก มาครองสำเร็จ

ความสำเร็จของทีมลิเวอร์พูลในยุคที่มีคล็อปป์เป็นผู้จัดการทีม และความสำเร็จของทีมเชลซีนับตั้งแต่ทูเคิลเข้ามาคุมทีมช่วงท้ายฤดูกาลที่แล้ว มีส่วนสำคัญที่ทำให้ตระกูลเกลเซอร์ต้องการดึงตัวรังนิคมาวางรากฐานความสำเร็จให้กับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งแน่นอนว่ามันคงต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากความสำเร็จใช่ว่าจะได้มาในเวลาข้ามคืน ประกอบกับรังนิคเองก็ยอมรับว่า สิ่งที่ยากที่สุดในระบบการเล่นแบบเกเกนเพรสซิ่งไม่ใช่การทำให้สภาพร่างกายนักเตะฟิตชนิดวิ่งได้ 90 นาทีไม่มีหมด แต่เป็นความเข้าใจในระบบการเล่นอย่างถ่องแท้ว่า เวลาทีมคู่แข่งครองบอล หรือเวลาที่เป็นฝ่ายได้บอล จะต้องทำอย่างไร

สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาเรียนรู้ เนื่องจากที่ผ่านมานักเตะทีมแมนฯ ยูไนเต็ด อาศัยความสามารถเฉพาะตัว และความเร็วในการเข้าทำเป็นหลัก แต่สิ่งหนึ่งที่รังนิคได้เปรียบกว่าเมื่อเทียบกับสมัยที่คล็อปป์ย้ายมาคุมทีมลิเวอร์พูล คือศักยภาพฝีเท้านักเตะในทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ในเวลานี้ดีกว่าทีมลิเวอร์พูลในยุคนั้น โอกาสที่ยอดโค้ชชาวเยอรมันผู้นี้จะพาทีมกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งในเวลาไม่นานนักจึงมีความเป็นไปได้สูง แม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแม้แต่รังนิคยังยอมรับตามตรงว่าสภาพของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดในปัจจุบัน ยังห่างไกลแมนฯ ซิตี้, ลิเวอร์พูล และเชลซี มาก

แต่ที่แน่ๆ ปัญหาของรังนิคไม่ได้อยู่ที่ คริสเตียโน โรนัลโด ขี้เกียจวิ่ง หรือแก่เกินกว่าจะรับบท “กองหน้าตัวรับ” ในการเพรสซิ่งในแดนหลังทีมคู่แข่งตามที่สายมโนคาดการณ์ไว้ เหตุผลง่ายๆ คือ โค้ชที่เก่งกาจอย่างแท้จริงย่อมมีวิธีใช้นักเตะฝีเท้าระดับโลกอย่างโรนัลโด และแม้กองหน้าตำนานทีมชาติโปรตุเกสผู้นี้จะอายุปาเข้าไป 36 ปีแล้ว แต่สภาพความฟิตของเขายังคงยอดเยี่ยม เพียงแต่อาจช้าไปบ้างตามวัย ที่สำคัญการเพรสซิ่งใช่ว่าจะต้องวิ่งไล่กดดันคู่แข่งตลอดเวลา ต้องมีจังหวะผ่อนบ้าง เพราะหากต้องวิ่งเพรสซิ่งตลอดเวลาจริงๆ ต่อให้เป็นนักเตะหนุ่มๆ ก็คงหมดแรงเหมือนกัน

ปัญหาใหญ่ของรังนิคอยู่ที่ต้องใช้เวลาสักระยะในการถ่ายทอดระบบการเล่นให้นักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด เข้าใจอย่างถ่องแท้ ในขณะที่ต้องค้นหา 11 ตัวจริงชุดที่ดีที่สุดไปพร้อมกันด้วยซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเปรียบเสมือนกับการเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ ต่างจากเมื่อครั้งที่ทูเคิลเข้ามารับงานคุมทีมเชลซีในฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งทูเคิลเพียงแต่ปรับระบบแผงหลังเป็นเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัว เพื่อแก้ไขปัญหาในเกมรับ และยังมองขาดว่าเชลซีมีผู้เล่นหลายคนที่สามารถเล่นวิงแบ็กได้ดี ดังนั้นการปรับเปลี่ยนบางตำแหน่งกับการเปลี่ยนระบบการเล่นใหม่ความยากง่ายจึงต่างกัน แต่หากดูจากนัดที่แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ คริสตัล พาเลซ 1-0 ในการประเดิมคุมทีมนัดแรกของรังนิคก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย

หากดูจากช่วงที่คล็อปป์ทำทีมลิเวอร์พูลยุคแรกๆ จะสังเกตเห็นได้ชัดว่า ลิเวอร์พูลเป็นทีมที่ผู้เล่นวิ่งคลุมพื้นที่ในแต่ละนัดมากกว่าทีมคู่แข่ง เนื่องจากทุกคนต้องช่วยกันไล่กดดันคู่แข่งตั้งแต่หน้าปากประตูของฝ่ายตรงข้าม และยังช่วยชดเชยเรื่องความสามารถเฉลี่ยของผู้เล่นเป็นรองเวลาเจอกับทีมใหญ่ด้วยกัน แต่หลังจากได้นักเตะเข้ามาเสริมทีมอย่างถูกจุดถูกตำแหน่ง ลิเวอร์พูลกลายเป็นทีมที่ผสมผสานความสามารถของผู้เล่นให้เข้ากับระบบการเล่นเพรสซิ่งได้อย่างลงตัว ผลงานจึงดีขึ้นเรื่อยๆ และนักเตะไม่เหนื่อยมากเหมือนในช่วงแรกๆ ซึ่งน่าสนใจมากว่ารังนิคที่เป็นต้นตำรับ “เกเกนเพรสซิ่ง” ตัวพ่อ จะทำได้ดีเหมือนคล็อปป์หรือไม่

“เกเกนเพรสซิ่ง” เน้นความสำคัญในการเข้าไปกดดันให้ผู้เล่นของทีมคู่แข่งเสียการครองบอลตั้งแต่ในแดนหลัง และในจังหวะเปลี่ยนผ่านที่แย่งบอลมาครองได้แล้ว จะต้องหาทางบุกเข้าทำประตูทีมคู่แข่งให้เร็วที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ผู้เล่นทีมคู่แข่งเสียตำแหน่ง เปิดช่องให้เข้าทำได้ ซึ่งระบบการเล่นแบบนี้นักเตะประเภทพรสวรรค์อย่าง ปอล ป็อกบา หรือ บรูโน แฟร์นันด์ส อาจมีความสำคัญน้อยกว่า เฟรด หรือ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการเล่นของทีมได้ แต่หากปรับตัวได้และยินดีเล่นเพื่อทีมมากขึ้น แมนฯ ยูไนเต็ด จะเป็นทีมที่น่ากลัวกว่าสมัยที่มีโซลชาคุมบังเหียนมาก

ผู้จัดการทีมชั้นแนวหน้าของพรีเมียร์ลีกไม่ว่าจะเป็น เป็ป กวาร์ดิโอลา, เจอร์เกน คล็อปป์, โทมัส ทูเคิล และ อันโตนิโอ คอนเต เหมือนกันอย่างหนึ่งคือทุกคนใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจส่งผลต่อโอกาสแพ้ชนะของทีม ต่างจากโซลชาที่ดูปล่อยปละละเลยในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการประกบตัวอย่างหลวมๆ ในเกมรับ โดยเฉพาะลูกตั้งเตะหรือเซ็ตพีซ การปล่อยให้ผู้เล่นผ่านบอลขวางสนามในแดนตนเอง จนถูกผู้เล่นทีมคู่แข่งตัดบอลเข้าไปทำประตู มีให้เห็นอยู่เสมอ เปรียบเทียบกับรังนิคที่แม้เพิ่งคุมทีมนัดแรก แต่เขาก็มองเห็นแล้วว่านักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ยังแสดงความผิดพลาดด้วยการการผ่านบอลขวางสนามในแดนตนเองให้เห็นในนัดชนะพาเลซ 2-3 จังหวะ

การเข้ามาของรังนิค โค้ชผู้รอบรู้ด้านศาสตร์ลูกหนังและใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่เพียงแต่สร้างความหวังให้กับแฟนบอลเรดอาร์มี แต่ยังทำให้นักเตะหลายคนที่ถูกมองข้ามในยุคของโซลชาเริ่มมีความหวังที่จะแจ้งเกิดอีกครั้ง ไล่ตั้งแต่ ดิโอโก ดาโลต์, อเล็กซ์ เตลเลส, ดอนนี ฟาน เดอ เบ็ค, เจสซี ลินการ์ด รวมทั้งบรรดานักเตะดาวรุ่งอีกมากมาย ซึ่งมีโอกาสได้รับความไว้วางใจจากรังนิคให้เป็นตัวจริงมากขึ้น เนื่องจากระบบเกเกนเพรสซิ่งต้องการความสดของนักเตะหนุ่มๆ ไม่น้อย และที่ผ่านมารังนิคไม่ลังเลที่จะให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งลงเล่นเป็นตัวจริง จนสามารถแจ้งเกิดมาแล้วมากมายหลายคน

ดังนั้นความเปลี่ยนที่จะได้เห็นในทีมแมนฯ ยูไนเต็ด นับจากนี้ไม่ใช่เพียงแค่ระบบการเล่นแบบใหม่ที่มีระเบียบแบบแผนและทันสมัยมากขึ้น แต่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในระดับรากฐาน จนถึงระดับผู้บริหารของสโมสรเลยทีเดียว อย่าลืมว่าเมื่อรังนิคเป็นโค้ชที่เน้นระบบการเล่นมากกว่าการพึ่งพาความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นบางคน การฝึกซ้อมและคัดเลือกตัวผู้เล่นจะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในระดับทีมเยาวชน การซื้อผู้เล่นใหม่ก็ต้องซื้อด้วยความมั่นใจว่าเข้ามาแล้วจะช่วยให้ทีมพัฒนาการเล่นได้ดีขึ้น ทุกอย่างจะมีกรอบกำหนดที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เพื่อสร้างความสำเร็จในระยะยาว

จริงอยู่หากรังนิคทำผลงานการคุมทีมในช่วงที่เหลืออยู่ในฤดูกาลนี้ได้ดี คือสามารถจบฤดูกาลติด 4 อันดับแรก, เข้ารอบลึกๆ ในถ้วยยูฟ่า เปียนส์ ลีก และมีลุ้นแชมป์เอฟเอคัพ มีความเป็นไปได้ที่รังนิคอาจได้รับโอกาสให้คุมทีมต่อไปในฤดูกาลหน้าซึ่งเขาเองก็ยินดี และมองว่ามันอาจจะเป็นประโยชน์ต่อทีมแมนฯ ยูไนเต็ด มากกว่า หากเขามีเวลาวางรากฐานความสำเร็จของทีมให้มั่นคงกว่าเดิม ก่อนจะขยับขึ้นไปรั้งตำแหน่งที่ปรึกษา เพื่อเปิดทางให้กับผู้จัดการทีมคนใหม่ แต่ไม่ว่าหลังจบฤดูกาลนี้เขาจะคุมทีมต่อไปหรือไม่ รังนิคย่อมมีอิทธิพลต่อการเลือกตัวผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด คนต่อไปอย่างแน่นอน

ผู้จัดการทีมหลายคนที่เคยตกเป็นข่าวว่าได้รับความสนใจจากทีมแมนฯ ยูไนเต็ด อาจไม่ใช่ตัวเลือกอันดับต้นๆ ในยุคหลังการคุมทีมของรังนิคอีกต่อไป เพราะในฐานะที่ปรึกษาที่อาจมีอำนาจมากกว่าผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด รังนิคย่อมต้องเสนอให้เลือกผู้จัดการทีมที่จะเข้ามาสานต่องานของเขาได้อย่างราบรื่นเท่านั้น ต่อให้เก่งหรือมีผลงานในการพาทีมอื่นๆ คว้าแชมป์มากมายเพียงไร ถ้ารังนิคมองแล้วว่าเข้ามาแล้วจะเปลี่ยนแปลงระบบการเล่นหรือรากฐานต่างๆ ที่เขาวางไว้ ไม่มีทางที่รังนิคจะไฟเขียวให้อย่างแน่นอน ถึงต้องบอกว่าการเข้ามาของรังนิคเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด อย่างแท้จริง

การที่ตระกูลเกลเซอร์ไม่ได้เลือก อันโตนิโอ คอนเต ในช่วงที่ยังไม่ได้รับงานคุมทีมสเปอร์ส อาจไม่ใช่เหตุผลเพียงแค่กลัวคุมยอดโค้ชชาวอิตาเลียนไม่ได้เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นเพราะพวกเขามองว่าการลงทุนกับคอนเตไม่ได้รับประกันว่าจะสร้างความสำเร็จให้กับทีมได้ เหมือนกับเมื่อครั้งที่เคยพลาดกับ โชเซ มูรินโญ มาแล้ว เมื่อตัวเลือกอื่นๆ ไม่อยากเข้ามารับงานคุมทีมกลางฤดูกาล การเลือกรังนิคจึงดูสมเหตุสมผลที่สุด เพราะนอกจากโค้ชชาวเยอรมันผู้นี้มีประสบการณ์เหนือกว่าโซลชาแบบเทียบกันไม่ติดแล้ว จุดขายอย่างหนึ่งของรังนิคคือการทำงานเบื้องหลังที่ทำให้มูลค่าทางธุรกิจของทีมฟุตบอลในอาณาจักรเรดบูลล์เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

การเลือกตัวรังนิคมาเป็นผู้จัดการทีม และเป็นที่ปรึกษาด้านฟุตบอลในอนาคต จึงเป็นความชาญฉลาดของตระกูลเกลเซอร์โดยแท้ เพราะไม่เพียงแต่ “ท่านศาสตราจารย์” จะเข้ามายกระดับผลงานของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ตลอดช่วงที่เหลืออยู่ในฤดูกาลนี้ เขายังเป็นคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะเข้ามาวางรากฐานการเติบโตให้กับสโมสรในระยะยาว อย่าโฟกัสเพียงแค่รังนิคจะทำให้โรนัลโดหรือป็อกบาเล่นในระบบเกเกนเพรสซิ่งได้หรือไม่ เพราะเป้าหมายของรังนิคมีไว้พุ่งชน เอ้อ! ขออภัย เป้าหมายของรังนิคมันยิ่งใหญ่กว่านั้น นับจากนี้แมนฯ ยูไนเต็ด จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

และหากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายของรังนิค ขอทำนายเลยว่ามันไม่เพียงแต่เป็นการพลิกโฉมหน้าของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เท่านั้น แต่มันยังอาจหมายถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพรีเมียร์ลีกด้วย เนื่องจากผู้บริหารหลายสโมสรเมื่อเห็นความสำเร็จของทีมลิเวอร์พูล, เชลซี และแมนฯ ยูไนเต็ด พวกเขาย่อมถวิลหาโค้ชชาวเยอรมันมาเป็นผู้จัดการทีมบ้างอย่างแน่นอน และแม้แต่ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษหรือชาติอื่นๆ เมื่อเห็นความสำเร็จที่เกิดจากระบบการเล่นแบบเพรสซิ่งก็ย่อมต้องการนำไปใช้เพื่อพัฒนาผลงานของทีมตนเองเช่นกัน

ครั้งหนึ่งฟุตบอลอังกฤษเคยสู้กันด้วยการโยนบอลยาวใส่กัน ในอนาคตอันใกล้พรีเมียร์ลีกอาจกลายเป็นลีกที่เน้นเกมเพรสซิ่งสูงเข้าใส่กันก็อาจเป็นได้ โปรดติดตามด้วยใจระทึก!

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares