Link Copied!

“ครูปอน” ปรียาพร โพธิรินทร์ ผู้หญิงรักฟุตบอลที่เล่าเรื่องด้วยภาพถ่าย

ขณะที่เกมฟุตบอลดำเนินไปอย่างดุเดือดในสนามแข่ง ท่ามกลางเสียงเชียร์กระหึ่มของแฟนบอลเนืองแน่นรอบอัฒจันทร์ หญิงสาวท่าทางทะมัดทะแมงพร้อมกล้องและเลนส์ตัวโตนั่งจับภาพอยู่ขอบสนาม แทรกอยู่ระหว่างบรรดาช่างภาพที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

อาจเพราะเธอเป็นช่างภาพหญิงที่มีอยู่เพียงไม่กี่คนในสนามฟุตบอล ครูปอนจึงเป็นที่รู้จักและคุ้นตาของแฟนฟุตบอลหลายๆ ทีม แต่สิ่งที่ทำให้เธอยืนหยัดอยู่ในวงการถ่ายภาพกีฬาลูกหนังมากว่าสิบปีจนถึงวันนี้ ย่อมเป็นเรื่องของจังหวะฝีมือการถ่ายรูป สร้างสรรค์เป็นผลงานภาพถ่ายที่เล่าเรื่องสะท้อนมุมมองเฉพาะตัว กระทั่งเธอได้รับการยอมรับจากทั้งแฟนบอล ทีมฟุตบอล นักเตะ และกลายเป็นไอดอลที่ช่างภาพหญิงรุ่นน้องบางคนอยากเดินตามรอย

ถึงตรงนี้อาจมีคนอยากรู้แล้วว่า จากอาชีพครูสอนหนังสือ “ครูปอน” ปรียาพร โพธิรินทร์ หันเหมาหลงเสน่ห์งานถ่ายภาพฟุตบอลได้อย่างไร

Jaoying photo

จากรั้วโรงเรียนถึงสนามฟุตบอล

หญิงสาวจากจังหวัดน่าน เส้นทางชีวิตส่งให้มาเป็นครูสอนหนังสือแถวภาคกลาง ปัจจุบันครูปอนเป็นข้าราชการครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนหนองแค “สรกิจพิทยา” อ. หนองแค จ. สระบุรี ส่วนเส้นทางคู่ขนานในการเป็นช่างภาพนั้น เธอเล่าย้อนให้ฟังว่า

“เริ่มแรกคือเราเป็นคนชอบจดบันทึก ชอบเขียนไดอารีต่างๆ วันนี้ไปไหน ทำอะไรบ้าง แล้วพอมาทำงานเป็นครู เราไม่มีเวลาที่จะจดบันทึก ก็เลยคิดว่าการถ่ายภาพน่าจะทดแทนเรื่องราวต่างๆ ได้ดีกว่า…”

“พอเริ่มถ่ายภาพ ปอนมีโอกาสไปดูแข่งเรือยาวที่ จ. น่าน ปอนก็ไปถ่ายเรือยาว แล้วรู้สึกว่าการถ่ายกีฬา ถ่ายแอ็กชั่นมันสนุก ก็เลยชอบ ก็เริ่มซื้ออุปกรณ์ที่มีความสามารถตอบสนองตรงนั้นได้มากขึ้น แล้วถ่ายแข่งเรือยาวมาเรื่อยๆ”

ครูปอนอาจกลายเป็นช่างภาพหญิงชื่อดังของวงการแข่งเรือยาวไปแล้ว หากไม่ได้พบกับ (อดีต) แฟนซึ่งเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เล่นให้กับสโมสรเชียงใหม่ เอฟซี ในดิวิชัน 3 ขณะนั้น

“ก็ตามไปเชียร์ในสนามเหมือนแฟนนักบอลทั่วไป แต่เรามีกล้อง ก็ลองถ่ายดู พวกแฟนบอล พี่ๆ ต่างๆ เขาเห็น เขาบอกว่าภาพสวยนะ ปอนมาถ่ายทุกนัดได้ไหม” ครูปอนเล่า “ตอนนั้นเราอยู่สระบุรี เสาร์-อาทิตย์ เราไปดูแฟนแข่งและถ่ายรูปที่เชียงใหม่ ก็คือถ่ายเล่นๆ ขำๆ”

จากจุดเริ่มต้นที่บอกว่าแค่ถ่ายเล่นๆ ขำๆ เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นครูปอนอาจไม่รู้ก็ได้ว่าเธอจะชื่นชอบและอยู่บนเส้นทางการถ่ายภาพฟุตบอลมาจนถึงทุกวันนี้ โดยผ่านการทำงานเป็นช่างภาพให้กับหลากหลายสโมสร ตั้งแต่ ทีทีเอ็ม พิจิตร, ราชบุรี มิตรผล, ชัยนาท ฮอร์นบิล, สมุทรปราการ ซิตี้ และล่าสุดเป็นช่างภาพให้กับ AIS PLAY FOOTBALL ตระเวนถ่ายการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกตามสนามต่างๆ ทั่วประเทศไทยทุกวันหยุดสุดสัปดาห์

Team Nantawut

ความท้าทายของการถ่ายภาพฟุตบอล

ระยะเวลากว่าสิบปีของการถ่ายภาพฟุตบอล พิสูจน์ให้เห็นถึงความรักชอบในงานที่ทำ แต่สงสัยบ้างไหมว่าหญิงสาวคนหนึ่งประทับใจอะไรในเกมลูกหนัง แทนที่จะไปถ่ายภาพของสวยๆ งามๆ ประเภทอื่น

“เคยไปถ่ายแฟชั่นอยู่ครั้งหนึ่ง มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางของเรา เรามองว่านางแบบเขาสวย ถ่ายยังไงมันก็สวย อยากให้ดี จัดแสงหรือเสื้อผ้าก็ได้… ถ่ายไม่สวย บอกนางแบบโพสต์ท่าใหม่ก็ได้” ครูปอนเผย “แต่การถ่ายฟุตบอล ถ่ายกีฬา มันต้องทีเดียวจบ เราไม่สามารถสั่งนักฟุตบอลว่า เฮ้ย หยุด ฉันยังเก็บจังหวะนี้ไม่ได้ ต้องใช้ความสามารถของเรา เช่น จังหวะที่กองเชียร์เฮ ดีใจ คือมันเป็นอารมณ์จากภายในที่ไม่ได้เสแสร้ง”

“แล้วมันท้าทายตรงที่เวลาเราไปแต่ละสนาม มันจะไม่เหมือนกันเลย อย่างสนามนี้ไฟดีมาก สนามนี้ไฟไม่ดี วันไหนฝนตก เอายังไง อย่างไปราชบุรี ทุกคนหลบฝน กล้องกูพังแน่ ไม่เป็นไร กล้องฉัน พังก็ของฉัน นั่งเลยค่ะ กลางฝน กลางสนาม ไม่หลบ ไม่ย้าย พอดีโชคดีมาก มีน้องบอลบอยเอาเสื้อกันฝนมาให้ เราก็คลุมกล้องเราเลย เอาแค่หัวมุดไป คือเปียกทั้งตัว แล้วก็ถ่าย ภาพที่ได้ออกมามันสวยมาก”

ครูปอนไม่ได้เรียนด้านการถ่ายภาพมาโดยตรง เมื่อมาถ่ายภาพฟุตบอลที่เป็นเกมแห่งความฉับไว มีการปะทะ คาดเดาอะไรไม่ได้ ยิ่งทำให้สับสนในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นเรียนรู้…

“ตอนแรกเลยที่ปอนถ่ายฟุตบอล งงเลย คือแบบ เรากะว่าเราจะถ่ายตรงนี้ ปรากฏว่าไม่ได้แล้ว มันไว วันแรกคือไม่ได้ภาพอะไรเลย ตลกมาก ไม่เหมือนที่เราดูในภาพข่าวกีฬา ที่มีจังหวะเสียบอะไรอย่างนี้ เราก็อาศัยทำการบ้าน สมมุตินัดพรุ่งนี้ เราจะถ่ายทีมไหน คือเราชอบดูบอล เราจะไปดูว่า เออ แบ็กซ้ายเขาเล่นแบบนี้นะ เวลาเขาได้บอล เขาโยนแบบนี้นะ เขาจับ (บอล) อย่างนี้นะ คือเราทำการบ้านก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าพอเราถ่ายปุ๊บ เขาได้บอลแล้ว เขาต้องส่งแน่ เราก็แพนกล้องไปรอเลย หรือจังหวะนี้ยิงประตูแน่ ประตูเซฟแน่ๆ คือมีการคาดการณ์ล่วงหน้า มันเป็นเซนส์ เหมือนกับต้องดูบอลเป็นด้วย ถ้าอยู่ๆ คนที่ดูบอลไม่เป็นหรือไม่เคยดูบอล แล้วไปถ่าย มันยาก”

FB : ปรียาพร โพธิรินทร์

รูปเล่าเรื่อง จากมุมมองช่างภาพหญิง

จะว่าไปแล้วการทำงานที่มีการเตรียมพร้อม ศึกษาข้อมูลล่วงหน้า และเรียนรู้จากประสบการณ์ ก็คือวิถีทางของมืออาชีพไม่ว่าจะเป็นช่างภาพหญิงหรือชาย ทว่าด้วยความเป็นช่างภาพหญิงลงไปทำงานในสนามฟุตบอล ที่บรรดานักเตะ ทีมงานสตาฟโค้ช หรือแม้แต่กองเชียร์ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ความแตกต่างเหล่านี้ส่งผลอะไรต่อเธอหรือไม่ ครูปอนบอกว่า

“ตอนแรกเลยนะ ยังสาวๆ ประมาณ 25-26 เห็นผู้ชายเยอะๆ (ในสนามบอล) มันก็เขิน บางทีนักบอลเขาถอดเสื้อผ้า ถ้าถ่ายทีม 11 คน เขาต้องมองที่เราคนเดียว รู้สึกเขินอายเหมือนกัน แต่พอเราอยู่กับทีมนานๆ มันก็เหมือนพี่ เหมือนน้อง คือการที่เราสนิทกับทุกคน ทุกคนเล่นกับเรา รู้จังหวะ ก็ทำงานสะดวกขึ้น”

ครูปอนยังพูดถึงแง่มุมความเป็นช่างภาพหญิงที่มาถ่ายภาพฟุตบอลอีกว่า “เรื่องการถ่ายภาพ คือมุมมองบางมุมมอง (ช่างภาพ) ผู้ชายเขาก็จะเน้นจังหวะสกัด จังหวะเตะบอลนู่นนั่นนี่ แต่ผู้หญิงอาจจะมองว่า แบบจังหวะนี้นักบอลเขาเหมือนเสียใจนะ เขาก้มลง เขาผิดหวัง เขาเตะลูกโทษไม่เข้า เขาเศร้า คือเราอยากจะสื่อตรงนั้นออกมา ความเป็นผู้หญิงของเราอาจจะช่วยในเรื่องของการมองภาพ การถ่ายภาพที่สื่อความอ่อนโยน หรือความรู้สึกในจิตใจออกมา”

เธอยังขยายความว่าชอบภาพถ่ายที่สามารถเล่าเรื่องได้ “ถ้าบางครั้ง นักบอลยิงเข้าประตู บางทีเราไม่ได้จังหวะนั้น ปอนจะถ่ายตรงที่ว่า ทีมที่ชนะเขาจะเฮ ทีมที่แพ้จะเศร้า ก้มหน้า หรืออะไรอย่างนี้ ปอนจะถ่ายให้มันคอนทราสต์กัน อยู่ในภาพเดียวกัน คนเห็นปุ๊บรู้เลยว่า อ๋อ ทีมเสื้อสีเหลืองนี่แพ้แน่นอน เพราะก้มหน้าเหมือนเสียใจ และทีมนี้พากันเฮ หรือว่าจังหวะที่แฟนบอลเฮกัน จะถ่ายแบบว่า ข้างหน้าคนดีใจ ข้างหลังคนก็ดีใจ คือดูปุ๊บเราก็รู้ได้เลยว่า มันคือความสุขของภาพนั้นนะ”

KruPondPond

มิตรภาพจากสนามฟุตบอล

สำหรับครูปอนแล้ว ในสนามฟุตบอลจึงไม่ได้มีแต่เกมการแข่งขัน ผลแพ้ชนะ แต่ยังมีเรื่องราวของชีวิต อารมณ์ความรู้สึก ความดีใจ เสียใจ และที่สำคัญคือมิตรภาพล้ำค่าที่หลายๆ คนหยิบยื่นแก่เธอ

“ปอนก็มานั่งนึกย้อนกลับไปว่า เออ เรามาถึงตรงนี้ได้ สิ่งที่เราได้มากกว่าการเป็นช่างภาพ คือมิตรภาพจากพี่น้อง จากแฟนบอล ทุกครั้งที่ปอนไปทำงาน ปอนรู้สึกประทับใจมาก อย่างไปไกลๆ เช่น จ. หนองบัวฯ แฟนบอลมารับเราที่สนามบิน พาเราไปกินข้าว พาเราไปพักที่บ้านเขา คือดูแลเลี้ยงดูเราดี เขาก็ไม่ได้รู้จักเรา เขาแค่มาติดตามเรา… เราไปเชียงใหม่ เราไปขอนแก่น โคราช เราไปทุกที่ จะมีพวกแฟนบอลคอยมาดูแลเรา ให้มิตรภาพที่ดีกับเรา”

“การที่เราเป็นครูด้วย มาเป็นช่างภาพด้วย ได้รู้จักคนโน้นคนนี้ ได้รู้จักทีมสโมสรต่างๆ เราก็นำตรงนี้ไปบอกเล่าให้เขาฟัง เขามีชุดแข่ง มีอะไร ก็เอามาช่วยสนับสนุน (ทีมฟุตบอล) เด็ก การที่เราได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เวลาเราโพสต์ขอความช่วยเหลือ ทุกคนบริจาค โอนเงินมาช่วยเหลือเด็กที่บ้านไฟไหม้ บ้านน้ำท่วม เราก็ใช้ตรงนี้ พยายามทำให้รู้ว่า การที่เราเป็นครูด้วยนะ เป็นช่างภาพด้วยนะ มันไม่ได้ทำให้ด้านใดเสียหาย เราพยายามทำสองด้านไปพร้อมๆ กันให้ดี”

ครูปอนจึงอยากใช้โอกาสนี้กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงเพื่อนมิตรในวงการฟุตบอลว่า

“จริงๆ ปอนไม่ได้เป็นมืออาชีพหรือเก่งในด้านนี้ ไม่ได้เป็นเจ้าแม่หรืออะไร เพียงแต่คงเป็นเพราะโชคดี ได้โอกาสจากหลายๆ ที่ หลายๆ คน ปอนก็ขอบคุณไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลหรือทุกๆ คน ไม่ว่าปอนจะเจอปัญหาอะไร ทุกคนจะให้กำลังใจปอนตลอด” “ต่อจากนี้ไปถ้าครูปอนไม่ได้ถ่ายรูปแล้ว หรือว่าห่างหายจากวงการไป มิตรภาพก็ยังขอให้เป็นเหมือนเดิมนะ แต่ช่วงนี้ยังถ่ายอยู่ ก็ยังพยายามที่จะสร้างผลงาน แล้วก็เอาภาพฟุตบอลมาฝากแฟนๆ ทุกคน แล้วเดี๋ยวหมดโควิด แฟนบอลได้เข้าสนาม เราก็จะได้ถ่ายภาพแฟนบอล ก็เรียกปอนได้เหมือนเดิม”

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares