Link Copied!

ROAD TO ACL 2021 4 สโมสรไทย…ใครจะไปไกลกว่ากัน?

4 สโมสรตัวแทนของไทยเปิดหัวในศึกเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก 2021 รอบแบ่งกลุ่มกันไปเรียบร้อย ซึ่งทั้งราชบุรี, การท่าเรือ และเชียงราย ต่างพบกับความพ่ายแพ้ มีเพียงบีจีที่กู้หน้าคว้าชัยได้สำเร็จ

กับคำถาม “ใครจะไปไกลกว่ากัน?” แม้จะเพิ่งออกสตาร์ต แต่ก็พอมองเห็นอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง และทิศทาง

#ราชันมังกร : ยังอ่อนประสบการณ์

สำหรับผม ไม่แปลกใจเลยสักนิด เพราะราชบุรีคือทีมใหม่แกะกล่องของรายการนี้ ดังนั้นเรื่องประสบการณ์ในเวทีเอเชียไม่ต้องพูดถึง ถือว่ามาลองเชิงให้รู้ นี่คือ ACL ไม่ใช่ไทยลีก ที่จะมาเดินเล่นกันแบบสบายๆ ไม่มีเพรสซิ่ง ซึ่งปัญหาอาจจะเป็นเรื่องสภาพความฟิต บวกกับมีการเปลี่ยนแปลงทีมค่อนข้างเยอะทั้งตัวไทยและต่างชาติ แม้ผู้เล่นจะมีคุณภาพมากเพียงใด แต่สุดท้ายก็ต้องใช้เวลาเพื่อคลุกเคล้าส่วนผสมใหม่กับเก่าให้เข้ากัน

กอปรกับคู่แข่งในกลุ่มทั้งโปฮัง สตีลเลอร์ส (เกาหลีใต้), นาโกยา แกรมปัส เอต (ญี่ปุ่น) และ ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม (มาเลเซีย) ต่างเหนือกว่าราชบุรีทั้งประสบการณ์และความแข็งแกร่ง ซึ่งในเกมที่เหลือ “ราชันมังกร” เก็บได้ซัก 2-3 แต้มติดมือมาสำหรับปีแรกใน ACL ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะขนาดและคุณภาพทีมราชบุรียังเล็กเกินไปสำหรับทัวร์นาเมนต์แบบนี้

#สิงห์เจ้าท่า : เก็บทรงไม่อยู่

แม้จะเป็นครั้งแรกในรอบแบ่งกลุ่มของการท่าเรือ แต่ถือว่าออกสตาร์ตได้น่าผิดหวังหลังเสียท่าให้กับคิตฉี ที่ผมกล้าบอกว่า มาตรฐานบอลฮ่องกงยังเป็นรองไทย แถมคู่แข่งประกอบไปด้วยผู้เล่นอายุ 30 อัพหลายคน แต่ “สิงห์เจ้าท่า” กลับไม่สามารถฉกฉวยความได้เปรียบตรงนี้ โดยเฉพาะสามตัวรุกโฉมใหม่ที่ลงเล่นร่วมกันเป็นครั้งแรกอย่าง “ซัวเรซ-บาจโจ้-โรลเลอร์” มองตายังไม่รู้ใจ ต่างคนต่างเล่น บวกกับแทคติกของ “โค้ชอู๊ด” ที่ใช้บอลโยนยาวไปให้นักเตะไซส์ S อย่างบาจโจ้ ดวลลูกกลางอากาศกับคู่แข่งหลายครั้ง ถือว่าสอบตกอย่างแรง

หาก “สิงห์เจ้าท่า” ยังเป็นสภาพแบบนี้ แฟนๆ คงต้องทำใจรอไว้ได้เลยกับ ACL รอบแบ่งกลุ่มครั้งแรก เพราะคู่ต่อสู้ที่เหลือทั้ง กว่างโจว เอฟซี ดีกรีอดีตแชมป์ ACL 2 สมัยจากจีน และ เซเรโซ่ โอซาก้า จากญี่ปุ่น ถือเป็นงานหนักกว่า ก่อนที่ ท่าเรือ จะวนกลับมาเจอ คิตฉี ในนัดสุดท้าย

#กว่างโซ้งมหาภัย : ทำได้ตามมาตรฐาน

ทีมแชมป์ช้าง เอฟเอ คัพ สู้ได้สมศักดิ์ศรี แม้จะแพ้ให้กับชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส (เกาหลีใต้) ก็ไม่ใช่เรื่องน่าเซอร์ไพร์ส เพราะคู่แข่งมีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว แต่เชียงรายยังเล่นได้ดีมีทรงตามคาแรกเตอร์ของตัวเอง มีการเพรสซิ่ง วิ่งไล่บอล บวกกับมีประสบการณ์ในเวทีนี้มาก่อน จึงสอนให้เชียงรายรู้ว่าจะรับมือกับคู่แข่งอย่างไร เพราะผ่านทุกสถานการณ์มาหมดแล้ว และที่สำคัญ โครงสร้างทีมแทบไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนักเตะไทยและตัวต่างชาติ เล่นกันแบบมองตารู้ใจ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ “กว่างโซ้งมหาภัย” เสียเปรียบอีก 3 ทีมจากไทยคือ เป็นสโมสรเดียวที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาพ ต้องออกไปเล่นที่อุซเบกิสถาน แถมเจอกระดูกชิ้นโตทั้งชุนบุค ฮุนได และกัมบะ โอซากา (ญี่ปุ่น) ที่ขนมาแบบจัดหนักจัดเต็ม จะมีเพียงแทมปิเนส โรเวอร์ส รองแชมป์เอสลีกสิงคโปร์ที่เข้ามาเล่นรายการนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งถ้าเชียงรายยังเล่นได้ตามมาตรฐาน ผมเชื่อว่าได้ลุ้นสนุกแน่ เพียงแค่บทสรุปสุดท้ายจะดีพอตีตั๋วไปต่อหรือไม่?

#เดอะ แรบบิท : ความหวังของหมู่บ้าน

สมราคาแชมป์ไทยลีก เมื่อเจอกับทีมจากประเทศที่มาตรฐานต่ำกว่า บีจีก็จัดการกับคาย่าจากฟิลิปปินส์ได้อยู่หมัด แต่ก็อาจจะวัดอะไรไม่ได้มากเพราะศักยภาพคู่แข่งเป็นรองค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ดี 3 แต้มในเกมเปิดหัวก็น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักเตะ โดยเฉพาะคู่หัวหอก ธีรศิลป์ แดงดา กับ ดิโอโก หลุยส์ ซานโต ที่ประเดิมซัดกันไปคนละ 2 ประตู ทำให้เวลานี้มิอาจปฏิเสธได้ว่าพวกเขาคือความหวังของสโมสรตัวแทนจากไทย

อย่างไรก็ตามโจทย์ของบีจีคือตัวสำรองต้องลงไปทดแทนตัวจริงให้ได้ในบอลทัวร์นาเมนต์แบบนี้ เพราะจากรูปเกมที่เหนือกว่าเห็นๆ กลายเป็นไม่ได้เหนือกว่าเมื่อทยอยเปลี่ยนตัวสำรองลงไป แถมเสียประตูให้คู่แข่งอีกต่างหาก ดังนั้นบีจีจะต้องกำจัดจุดอ่อนนี้ให้ได้ในการเผชิญหน้ากับอุลซาน ฮุนได เจ้าของแชมป์ ACL ฤดูกาลล่าสุดจากเกาหลีใต้ และเวียตเทล แชมป์วีลีกจากเวียดนาม ซึ่งถือเป็นก้างขวางคอชิ้นโต

#ย้อนผลงานในอดีต

สโมสรธนาคารกสิกรไทยเคยสร้างปรากฏการณ์คว้าแชมป์ถ้วยใหญ่ของเอเชียมาแล้วถึง 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1994 และ 1995 ยุคที่ยังใช้ชื่อรายการ “Asian Club Championship” โดยมีนักเตะดังๆ ในชุดนั้นอย่าง นิพนธ์ มาลานนท์, สะสม พบประเสริฐ, วรวุธ ศรีมะฆะ และ เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์

จากนั้นในปี 2002 เอเอฟซี เปลี่ยนชื่อรายการมาเป็น “AFC Champions League” ซึ่งบีอีซี เทโรศาสน ที่มี “โค้ชแต๊ก” อรรถพล ปุษปาคม พร้อมนักเตะอย่าง วรวุธ ศรีมะฆะ, ดุสิต เฉลิมแสน, เทิดศักดิ์ ใจมั่น, เศกสรรค์ ปิตุรัตน์ ก็ประเดิมสร้างผลงานทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ทันที ก่อนจะพ่ายให้กับอัล ไอน์ จากยูเออี ด้วยสกอร์รวมสองนัด 1-2 ได้แค่รองแชมป์ หลังจากนั้นก็ยังไม่มีสโมสรจากไทยผ่านเข้าไปถึงรอบชิงได้อีกเลย

โดยเฉพาะยุคใหม่ที่เอเอฟซีปรับรูปแบบ พร้อมจำกัดโควตาในแต่ละชาติ ทำให้สโมสรจากประเทศไทยมีโอกาสเข้ามาเล่นรอบแบ่งกลุ่มยากขึ้น ซึ่งขุนพล “ปราสาทสายฟ้า” บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เคยทำไว้ดีสุดเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในปี 2013 ก่อนจบเส้นทางเพียงแค่นี้ หลังพ่ายเอสเตกลาล จากอิหร่าน ด้วยสกอร์รวม 1-3

หลังจากนั้นในปี 2017 “กิเลนผยอง” เมืองทอง ยูไนเต็ด เข้าถึงรอบ 16 ทีม ก่อนโดนคาวาซากิ ฟรอนตาเล จากญี่ปุ่น ถล่มไปด้วยสกอร์รวม 7-2 ขณะที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เข้าถึงรอบ 16 ทีมได้อีกครั้งในปี 2018 ก่อนพ่ายชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส จากเกาหลีใต้ อย่างน่าเสียดาย ด้วยสกอร์รวม 3-4

และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่สโมสรจากไทยทะลุเข้าถึงรอบน็อกเอาต์ถ้วยเอเชีย

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares