Link Copied!

42 (2013) – คนแรก ครั้งแรก ครั้งสำคัญ (2)

หนังสดุดี แจ็คกี้ โรบินสัน นักเบสบอลผิวสีคนแรกของเมเจอร์ลีกเบสบอล สหรัฐอเมริกา นอกจากจะพิสูจน์ฝีมือในสนามให้ประจักษ์แล้ว แฟนเบสบอลยังต้องยอมแพ้ใจให้กับความเป็นสุภาพบุรุษนักกีฬาของเขาอีกด้วย

1.

หนังเริ่มเรื่องปี 1945 สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสงบลงหมาดๆ ทหารหาญทยอยกลับบ้าน ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการตามเดิม รวมทั้งเบสบอลลีกสูงสุดก็นำนักกีฬาอาชีพกลับมาแข่งขัน สร้างความบันเทิงแก่เหล่าผู้ชมเต็มรูปแบบ

ปีนั้น แบรนช์ ริคกี้ (แฮริสัน ฟอร์ด) เจ้าของทีมทีมบรูกลิน ดอดเจอร์ส คิดจะทำเงินเพิ่ม เขาเห็นว่าเบสบอลนิโกรลีก มีคนผิวสีติดตามอยู่มากมาย ไม่ว่าจะในนิวยอร์กหรือที่อื่นๆ 

แบรนช์กล่าวว่า “เงินดอลลาร์ไม่ได้สีขาวหรือสีดำ มันเป็นสีเขียว สีเขียวทุกใบด้วย”

ธุรกิจต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ ถึงเวลาก็ควรหาสินค้าเพิ่มเติม เปิดตลาดให้กว้างขึ้น และขยายกิจการออกไป ถ้าเจาะจงจะขายของให้เฉพาะคนขาวหรือคนดำ คงขายได้แค่ครึ่งเดียว แล้วจะขายให้คนครึ่งเดียวทำไม ในเมื่อมันขายให้ทุกคนได้

ยิ่งกีฬาด้วยแล้ว มันเป็นความบันเทิงสำหรับคนทุกเชื้อชาติ ทุกชนชั้น ไม่เลือกสีผิว ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย กีฬามันวัดกันที่ศักยภาพของนักกีฬา ใครสามารถพาทีมชนะได้ก็เป็นคนสำคัญ ไม่ได้คัดสรรคนเก่งด้วยสีผิวสักนิดเดียว เอาเข้าจริงถ้าคัดด้วยสีผิว คนผิวขาวอาจต้องพ่ายความทรหดของคนผิวสีด้วยซ้ำ

2.

เสียงนักข่าวบรรยายว่า “เบสบอลเป็นตัวพิสูจน์แน่ชัดได้ว่าประชาธิปไตยมีอยู่จริง ในตารางคะแนนยิ่งชี้ชัด มันไม่ได้บอกหรอกว่าตัวนายใหญ่ขนาดไหน นายนับถือศาสนาอะไร นายโหวตให้พรรคไหน หรือผิวนายสีอะไร มันบอกแค่ว่านายเป็นนักเบสบอลประเภทไหนในวันแข่งนั้นๆ”

แบรนช์ตัดสินใจแล้วว่าจะเปิดตลาดใหม่ด้วยการเติมผู้เล่นผิวสีเข้าไปในลีกที่มีแต่ผิวขาวล้วนมายาวนาน เขาสั่งลูกน้องให้รวบรวมโปรไฟล์นักกีฬาที่โดดเด่นมาและจะคัดเลือกด้วยตัวเอง จนมาสะดุดตาที่ แจ็คกี้ โรบินสัน (แชดวิค โบสแมน) นักกีฬาผิวดำ อายุ 26 ปี ตอนนี้เล่นตำแหน่งชอร์ตสต็อป สลับกับเบสที่สองให้กับทีมแคนซัสซิตี้ โมนาชส์ ในนิโกรลีก

แจ็คกี้เคยเล่นกีฬาหลายประเภทที่ รร. มัธยม และที่มหาวิทยาลัย (ยูซีแอลเอ) ในอเมริกันฟุตบอล เขาเป็นควอเตอร์แบ็กนำทีมรุก ในบาสเกตบอลเล่นตำแหน่งการ์ด อีกทั้งยังเป็นแชมป์กรีฑาประเภทกระโดดไกล และสวิงแร็กเกตอยู่ในชมรมเทนนิสอีกด้วย ส่วนเบสบอลนั้นดูเหมือนเขาทำผลงานด้อยกว่ากีฬาอื่นด้วยซ้ำ

สิ่งหนึ่งที่ทีมงานติงว่าอาจเป็นจุดด้อยให้โดนสื่อโจมตีได้ คือคดีติดตัวแจ็คกี้ ที่เขาไม่ยอมนั่งท้ายรถของกองทัพ จนทำให้ถึงกับต้องปลดประจำการทหาร ทว่าแบรนช์กลับเห็นในมุมต่าง เขายิ่งมั่นใจกว่าเดิมว่าลูกทีมคนใหม่นี้พร้อมยืนหยัดต่อต้านเรื่องเหยียดสีผิว 

วันแรกที่แบรนช์เรียกแจ็คกี้มาสัมภาษณ์…

แจ็คกี้: คุณอยากได้ผู้เล่นที่ไม่กล้าพอจะลุกขึ้นตอบโต้หรอกเหรอ

แบรนช์: ไม่…ไม่เลย ฉันอยากได้นักกีฬาที่กล้าพอที่จะไม่โต้ตอบต่างหาก ผู้คนยังรับเรื่องนี้ไม่ได้ พวกนั้นจะยั่วยุนายทุกทางเพื่อให้นายตบะแตก สบถคำหยาบใส่กันไปมา ซึ่งพวกคนดูจะได้ยินแต่คำหยาบของนาย โห่แล้วโห่อีก แล้วพลอยสรุปกันว่า ‘เจ้านิโกรมันคุมอารมณ์ไม่อยู่เอง’ เลยไปถึง ‘เจ้านิโกรไม่เหมาะกับลีกนี้หรอก’ คู่ต่อสู้เราจะยิ่งได้ใจ นายจะพลาดได้อัดเขาตอนเขาจิตตก เราจะชนะด้วยการตีบอล วิ่ง และคุมพื้นที่ ซึ่งจะชนะแบบนั้นได้ก็เพราะสองอย่างนี้คือ นายต้องเป็นสุภาพบุรุษชั้นดี และเป็นนักเบสบอลชั้นเลิศ นายต้องกล้าพอที่จะยื่นแก้มอีกข้างให้พวกนั้นตบ ทำได้มั้ยล่ะ

แจ็คกี้: งั้น…คุณเอาชุดมาให้ผม ติดเบอร์ไว้ที่ด้านหลัง เดี๋ยวผมจะแสดงความกล้าหาญให้เห็นเอง

สัญญาปากเปล่าของชายสองคน ที่นำพาไปสู่ความยิ่งใหญ่เริ่มต้นขึ้นที่วันนั้นเอง…

3.

แบรนช์ส่งแจ็คกี้ไปลองชิมลางลงเล่นกับมอนทรีออล รอยัลส์ อีกทีมในสังกัดที่เล่นอยู่ลีกรอง เป็นทีมน้องที่ไว้ใช้ปั้นนักกีฬาดาวรุ่งให้เติบโตมารับใช้ทีมพี่อย่างบรูกลิน ดอดเจอร์ส ทว่าในเกมอุ่นเครื่องทีมน้องปราบทีมพี่เสียอยู่หมัด ซึ่งคนที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็ไม่ใช่ใครอื่น แจ็คกี้ทำสถิติในปี 1946 ไว้ เรทตีโดนที่ .349 ขโมยเบสได้ 40 หน จึงถูกดึงตัวกลับมาในเวลาเพียงฤดูกาลเดียว

ในทีมดอดเจอร์ส ตำแหน่งชอร์ตสต็อปมีมือหนึ่งของลีกอย่าง พีวี รีส เล่นอยู่ ส่วนเบสที่สองได้ เอ็ดดี สแตงกี ยืนคุม แจ็คกี้ที่เคยเล่นแค่สองตำแหน่งนี้ในนิโกรลีกและทีมโมนาร์ช เขาจำต้องขยับไปเล่นเบสที่หนึ่งแทน และภายใน 7 วันนี้แจ็คกี้ต้องเรียนรู้รายละเอียดอีกหลายอย่างเพื่อลงแข่งเป็นตัวจริงสัปดาห์หน้า

CHADWICK BOSEMAN as Jackie Robinson in Warner Bros. Pictures’ and Legendary Pictures’ drama “42,” a Warner Bros. Pictures release.

…มาถึงวันแรกของฤดูแข่งขัน แบรนช์คุยกับลูกน้องคนสนิทว่า

แบรนช์: ถึงวันเปิดสนามอีกครั้งแล้วนะแฮโรลด์ จะมีแต่อนาคต ไม่มีอดีตหรอก

แฮโรลด์: หน้ากระดาษยังว่างเปล่าอยู่เลยครับท่าน

เรื่องราวต่างๆ และสถิติจะถูกบันทึกไว้บนหน้ากระดาษ เรื่องไหนที่สำคัญ กระทบกับผู้คนในวงกว้าง รุนแรง และส่งผลยาวนาน เราจะเรียกมันว่าหน้าประวัติศาสตร์ วันนี้เป็นวันแรกของวันที่เหลืออยู่ เราจะปล่อยกระดาษให้ว่างเปล่าไปอีกหนึ่งหน้าหนึ่งวัน หรือเราจะร่วมกันทำสิ่งที่มันจรรโลงใจผู้คน ค้ำชูสังคมจนคู่ควรแก่การบันทึกไว้ดี? แน่นอนว่าแบรนช์เลือกอย่างหลัง

4.

ภารกิจผู้เล่นผิวสีคนแรกในลีกช่างหนักหนา เห็นทีจะไม่ได้ผ่านพ้นไปง่ายๆ ด้วยคู่ต่อสู้ของแจ็คกี้ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว เขาต่อสู้กับอาการเมินเฉยของเพื่อนร่วมทีมในห้องล็อกเกอร์ ในสนามลงต่อสู้กับทีมคู่แข่งด้วยฝีมือและความสามารถยังไม่พอ ต้องต่อสู้กับผู้ตัดสินที่ตาชั่งเอียงกระเท่เร่ ต่อสู้กับเสียงโห่ ต่อสู้กับคำดูหมิ่นดูแคลน คำพูดหยาบคายหยามศักดิ์ศรีจากคนดูข้างสนาม และต่อสู้กับกระแสสังคมเหยียดผิวที่นอกสนามตลอดทาง

เบน แช็ปแมน โค้ชฝ่ายตรงข้ามตะโกนใส่แจ็คกี้ว่า “ทำไมไม่หัดส่องกระจกเสียบ้าง นี่มันเกมกีฬาของคนขาวโว้ย”

แจ็คกี้ก็ต่อสู้ด้วยความนิ่งสงบตามที่สัญญาไว้ เขาอดทน อดกลั้น รอโอกาสเพื่อแสดงฝีมือแท้จริง รอวัดกันด้วยผลงานของทีมดีกว่า

(L-r) NICOLE BEHARIE as Rachel Robinson and CHADWICK BOSEMAN as Jackie Robinson in Warner Bros. Pictures’ and Legendary Pictures’ drama “42,” a Warner Bros. Pictures release.

แจ็คกี้: ผมไม่สนใจหรอกว่าพวกนั้นจะชอบผม ผมไม่ได้มาหาเพื่อนใหม่ และไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าพวกเขาจะเคารพผม ผมรู้จักตัวเองดี ผมเคารพตัวเอง พวกนั้นชนะผมไม่ได้หรอก

เรเชล: พวกนั้นไม่มีทางชนะคุณแน่นอน

แจ็คกี้: วันนี้เขาก็เกือบชนะนะ

เขาใช้น้ำใจนักกีฬาปลดความป่าเถื่อนทิ้ง เปลื้องความไม่เท่าเทียมออกไป จนขั้นต้นเพื่อนร่วมทีมหลายคนต้องยอมจำนนกับความเป็นสุภาพบุรุษนักกีฬาที่แท้จริง

5.

แม้แจ็คกี้โดนโขกสับแสนสาหัสบนเวทีที่หน้าม่าน แต่ที่หลังม่านเขายังมีคนคอยปลอบประโลมเสมอมา เรเชล คู่รักจากวัยเรียน จนวันนี้เป็นภรรยาที่คอยยืนหยัดสนับสนุน แบรนช์ เจ้าของทีมคอยผลักดันให้มั่นใจ ต่อมาได้โค้ชและเพื่อนร่วมทีมหลายคนช่วยเติมพลังให้ นอกจากนี้ยังได้เพื่อนบ้าน และชาวเมืองช่วยเสริมกำลังใจ พร้อมกับแฟนผู้รักกีฬาตัวจริงคอยเชียร์ให้สู้ไม่ถอย

แบรนช์ ริคกี้: เราได้ชัยจากพวกคลั่งชาติในเยอรมนีและตอนนี้ถึงเวลาต้องชนะพวกเหยียดสีผิวที่บ้านบ้าง

ขณะที่แจ็คกี้กำลังกรุยทางให้ตนเองและนักกีฬาผิวสี เขาได้เริ่มสร้างมาตรฐานนักกีฬาใหม่ให้วงการ เขาปรับจูนทัศนคตินักกีฬาคนอื่นๆ ตลอดจนผู้คนทั่วประเทศไปด้วยโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งค่านิยมใหม่นี้จะนำพาโลกกีฬาและสังคมไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่

6.

และที่ลืมเสียไม่ได้คือ เวนเดล สมิธ อีกหนึ่งตัวละครในหนังที่มีตัวตนจริง เขาได้ร่วมเฝ้ามองเหตุการณ์ตั้งแต่วันแรกในฐานะนักข่าว หลังจากที่เขารู้จักตัวตนของแจ็คกี้ดีพอ ก็เอาใจช่วยแจ็คกี้และแบรนช์ด้วยความเชื่อมั่นในใจลึกๆ ว่าเรื่องนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่กับคนรุ่นเขาและรุ่นถัดไป โดยที่ไม่รู้ว่ายังคงส่งแรงกระเพื่อมต่อเนื่องมาตลอด 70 กว่าปีให้หลัง

เวนเดลไม่ได้รับอนุญาตให้นั่งรวมกับนักข่าวและสื่อต่างๆ เขาต้องนั่งรายงานข่าวอยู่ในคอกผู้ชมผิวสี ครั้งหนึ่งเมื่อแจ็คกี้ตีโฮมรันได้ เขากดแป้นพิมพ์ดีดว่า “โรบินสันในรอบที่สาม กำลังวิ่งเข้าโฮม…สวีทโฮม” เวนเดลเคยเขียนยกย่องเพื่อนคนนี้ไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่มีผู้เล่นหน้าไหนเลยที่พยายามอย่างหนักเพื่อโตในลีก ถ้าโรบินสันล้มเหลวไปละก็ คงต้องใช้อีกหลายขวบปีกว่านิโกรจะมีบทบาทได้” ต่อมาเขาได้เป็นนักข่าวผิวสีคนแรกที่เข้าร่วมสมาคมนักข่าวกีฬาเบสบอลเมื่อปี 1948

บทเจรจาหลายชุดในหนังอ้างอิงจากที่บันทึกเอาไว้ บ้างมาจากบทความของนักข่าวร่วมสมัยอย่างเวนเดล บ้างก็จากบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร บ้างก็อยู่ในรายการโทรทัศน์ ผู้กำกับ ไบรอัน เฮลเกแลนด์ นำมาประกอบภาพเล่าเอาไว้อย่างกลมกล่อม ให้ผู้ชมได้อรรถรสครบครัน รับทราบอารมณ์รันทดใจของตัวละครเอก หากเปรียบเทียบว่าเป็นตัวเองแทนที่แล้ว เชื่อว่าน้อยคนคงจะทนรับไหว ซึ่ง แชดวิก โบสแมน ในบทแจ็คกี้กลับส่งแววตาไม่ยอมแพ้สู่ผู้ชมให้ได้รับพลังบวกไปเต็มๆ

7.

อีกฉากหนึ่งที่น่าประทับใจ แจ็คกี้ถามถึงสาเหตุที่แบรนช์เลือกเขาเข้าสู่ทีม แบรนช์กลับบ่ายเบี่ยง และตอบกลับแบบนี้แทน “ฉันรักเบสบอล ฉันทุ่มทั้งชีวิตลงไปกับมัน เมื่อ 40 ปีก่อนฉันเป็นโค้ชให้มหาวิทยาลัยโอไฮโอเวสเลียน เรามีแคทเชอร์เป็นนิโกร ชื่อ ชาร์ลี ธอมัส เขาตีบอลเก่งที่สุดในทีมเลย เป็นเด็กดีเสียด้วย ฉันเห็นเขาโดนกดขี่จนแตกสลาย ก็เพราะสีผิวของเขานี่แหละ ส่วนฉันก็บอกตัวเองให้ช่วยนะ แต่แล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย มีบางอย่างไม่ยุติธรรมในเกมที่ฉันรัก แต่ฉันกลับเมินเฉย เมื่อเวลาผ่านไปฉันก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่นาย…นายมาทำให้ให้ฉันกลับมารักเบสบอลอีกครั้ง ขอบใจนะ”

แต่ไม่ใช่แค่แบรนช์คนเดียวที่ขอบคุณ คนทั้งวงการเบสบอลพร้อมใจกันสดุดี แจ็คกี้ โรบินสัน ตั้งแต่ปี 2004 ลีกกำหนดให้วันที่ 15 เมษายนของทุกปี เป็นวันแจ็คกี้ โรบินสัน แฟนๆ และนักกีฬาเบสบอลพากันสวมเสื้อเบอร์ 42 เพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณของนักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ และเลข 42 นี้ยังเป็นเพียงหมายเลขเดียวที่ถูกสงวนไว้ไม่ให้ใครใช้อีกเลยในวงการเบสบอลอเมริกันจนถึงปัจจุบัน

ตามอย่างที่ พีวี รีส ได้กล่าวเอาไว้นานมาแล้ว “บางทีพรุ่งนี้เราจะใส่เบอร์ 42 กันทุกคน จะได้ไม่มีใครบอกว่าเราต่างกัน”

8.

แจ็คกี้ลาวงการด้วยสถิติ เรทตีโดนที่ .313 ตีได้ 1,563 ครั้ง วิ่งได้แต้ม 972 ครั้ง ขโมยเบสได้ 200 หน 141 โฮมรัน

เกียรติประวัติบางส่วนของ แจ็คกี้ โรบินสัน

1945 ผู้เล่นออลสตาร์ นิโกรลีก

1947 เป็นผู้เล่นปีแรกยอดเยี่ยมของลีก (Rookie of the Year)

1949-1954 ผู้เล่นออลสตาร์ 6 ปีติดต่อกัน

1949 รางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปี (Most Valuable Player)

1955 ชนะเวิลด์ซีรีส์ (เคยเข้าถึงรอบเวิลด์ซีรีส์ 6 ครั้ง)

1962 แจ็คกี้ได้เข้าสู่หอเกียรติยศ

1967 แบรนช์ ริคกี้ ได้เข้าสู่หอเกียรติยศ

1973 เรเชลก่อตั้งมูลนิธิแจ็คกี้ โรบินสัน ให้ทุนการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

1984 พีวี รีส ได้เข้าสู่หอเกียรติยศ

หมายเหตุ

บทความอ่านประกอบ : The English Game (2020) – คนแรก ครั้งแรก ครั้งสำคัญ

ติดตามได้ที่ The English Game (2020

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares