Link Copied!
the rider

The Rider (2017) – ชีวิตแสนพยศ

ภาพยนตร์ The Rider ฝีมือ โคลอี เจา ผู้กำกับยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์คนล่าสุด เรื่องราวของชายหนุ่มนักขี่ม้าโรดีโอ กำลังสับสนว่าเขาจะต้องใช้พลังมากมายกำราบม้าพยศให้อยู่มือ หรือจะค่อยๆ ปลอบประโลมจนมันเชื่องดี เพราะอย่างไรเสียเขากับม้าก็ต้องอยู่ร่วมกันต่อไป

แถวชุมชนปศุสัตว์เล็กๆ แห่งหนึ่งในเซาท์ดาโคตา เบรดี แบล็กเบิร์น นักขี่ม้าพยศและครูฝึกม้า เริ่มจะมีชื่อเสียงในวงการบ้างแล้ว เขาเรียนรู้ทุกสิ่งอย่างจากคนที่บ้าน ทั้งจากพ่อที่ยังแข็งแรง และแม่ที่เพิ่งจากไปไม่นาน ตอนนี้เบรดีอยู่ในช่วงพักฟื้นหลังตกจากหลังม้าในการแข่งขันโรดีโอ เขากะโหลกแตก สมองช้ำ ต้องใส่แผ่นเหล็กดามกะโหลกเอาไว้ อันที่จริงยังต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกพักใหญ่ แต่เขากลับหนีออกมาอยู่บ้านแทน

เบรดีตั้งใจว่าจะกลับไปขี่ม้าให้ได้เร็วที่สุด เพราะเป็นความสามารถเดียวที่เขาทำได้ ซึ่งหมอแนะนำว่าเขาไม่ควรขึ้นหลังม้าอีกเลยด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้สมองสะเทือน จนอาจส่งผลให้ใช้ชีวิตปกติไม่ได้อีก เบรดีไม่อยากให้คนรอบตัวมองเขาเป็นเด็กอ่อนที่ต้องมีคนคอยประคบประหงม อยากกลับเป็นหนุ่มโคบาลกร้าวแกร่งดังเดิมตามคนต้นแบบอย่าง เลน สกอตต์ แม้ตอนนี้เลนจะต้องนั่งบนรถเข็น เป็นอัมพาตไปตลอดชีวิตแล้วก็ตาม

อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้มือขวาของเบรดีตอบสนองไม่ดีดังเดิม บางครั้งกำมือแล้วไม่ยอมแบออก ช่วงหลังยิ่งเป็นถี่ขึ้น จำต้องหางานทั่วไปทำ หันเหเป็นพนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ตแทน ต่อมาไม่นานเขาได้ม้ามาตัวหนึ่ง เขาค่อยๆ ฝึกม้าพยศให้สงบลงได้อยู่มืออย่างใจเย็น วันหนึ่งม้าพันธุ์ด้อยตัวนั้นของเบรดีถูกลวดหนามเกี่ยวขาจนเหวอะหวะ คงใช้งานอะไรไม่ได้อีก พ่อบอกเขาว่าต้องกำจัดทิ้ง ทว่าเขาใจไม่กล้าพอ พ่อต้องคว้าปืนมาจัดการให้แทน

เบรดี : ถ้าพวกสัตว์เลี้ยงแถวนี้บาดเจ็บแบบผม ป่านนี้มันคงถูกปลิดชีวิตไปแล้ว (If any animal around here got hurt like I did, they’d have to be put down)

เบรดีอยากหวนไปมีเกียรติและฮึกเหิมอยู่บนหลังม้าพยศ จึงตัดสินใจลงแข่งอีกครั้ง ทั้งหมอ พ่อ และลิลลี น้องสาวออทิสติกต่างทัดทาน แต่เขาไม่ยอมฟังใคร เมื่อวันแข่งมาถึง เขาแต่งตัวครบเครื่อง ของใช้ครบครัน แต่ก่อนจะขึ้นคร่อมม้า เบรดียอมหันหลังกลับอย่างง่ายดาย ตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตไม่สมประกอบเท่าที่มีอยู่อย่างสงบ

หนังเล่าถึงคนที่ความสามารถล้นเหลือ เขาเฉิดฉายท่ามกลางกลุ่มเพื่อนไร้ความสามารถ ทว่าดูแลตัวเองได้กระท่อนกระแท่นพอกัน วันที่คนเก่งประสบอุบัติเหตุ ต้องถอยตัวเองลงมาอยู่ระดับเดียวกับคนรอบข้าง ทั้งที่ใจเขาเตลิดต่อไปไกลแล้ว ทว่าร่างกายกลับติดๆ ขัดๆ ไม่ยอมตอบสนองตาม ความใฝ่ฝันที่ล่มสลายแปรเป็นความเศร้า ความทุกข์ที่ต้องเก็บเอาไว้กับตัวเงียบๆ คนเดียว จึงหงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้เป็นธรรมดา บรรยากาศรอบข้างก็พลอยขุ่นมัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เมื่อความฝันอันอ่อนแรงไม่มีวันเป็นจริง มันถูกตัดทอนออกไปด้วยบางข้อจำกัด ในบางช่วงเวลา หากเป็นม้าคงต้องโดนยิงทิ้งไปแล้ว แต่เพราะเป็นคนจึงได้โอกาสอยู่ต่อ ไม่มีใครรู้อยู่ดีว่าตายไปแบบสัตว์ที่หมดประโยชน์ หรือมีชีวิตอยู่อย่างน่าเบื่อหน่าย แบบไหนมันดีกว่ากัน ถ้าเขามัวแต่ซึมเซา ก่นด่าปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ตลอดไป ตายไปเลยอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่หนังก็ชี้ชวนให้มองว่า เราไม่ควรไปใส่ใจกับส่วนที่ขาดหายไป ควรโฟกัสกับส่วนที่ยังเหลืออยู่มากกว่า ใช้ประโยชน์ของมันให้สูงสุด และเมื่อปรับตัวปรับความคิดได้ เข้าใจว่ามันได้เท่าที่ได้เท่านั้น ความสุขก็จะกลับมาประโลมใจได้อย่างที่หนังสรุปไว้ให้

การปราบม้าพยศเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้กำกับเข้ารหัสไว้ชั้นเลิศ ทั้งการปราบมันแบบกีฬาโรดีโอในสนามแข่ง เราจะขึ้นขี่มัน ใช้ร่างกายแข็งแรงทรงตัว ใช้พลังมากมายสู้กับมันอยู่บนนั้นจนครบกำหนดเวลาสั้นๆ รอคำสรรเสริญกึกก้องจากผู้อื่น หรือจะใช้เวลามากหน่อยค่อยๆ ปลอบประโลมม้าจนมันเชื่อง ขึ้นขี่ได้ง่ายๆ ให้ตัวเองและผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ และอยู่ร่วมกันไปโดยไม่มีใครต้องฝืนใจกัน

หนังเสนอภาพชีวิตของตัวละครเอก ชายหนุ่มที่กำลังรุ่งโรจน์ แรงผลักดันพุ่งทะยานเต็มเปี่ยม แต่กลับต้องมาระทมทุกข์กับร่างกายที่ไม่สมประกอบอย่างกะทันหัน แม้เขาจะสามารถใช้ชีวิตปกติต่อไปได้ จะเป็นพนักงานร้านชำ หรือเป็นครูฝึกม้าชั้นดีได้ แต่ศักดิ์ศรีของนักขี่ม้าพยศรุ่นพี่อย่าง เลน สกอตต์ ไอคอนคนสำคัญในอดีตยังเป็นภาพฝันตรึงอยู่กับเขาตลอดมา

the rider 4

ที่เบรดีก้าวข้ามพ้นความเสี่ยงสาหัสออกมาได้ แยกความฝันออกจากความจริงสำเร็จนั้น ถือเป็นวัยเปลี่ยนผ่านจากเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เขารู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควรมากกว่าแค่อยากจะดื้อทำจนสำเร็จ พร้อมกันนี้เขายอมรับผลพวงจากการกระทำนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง มองไกลไปที่ผลกระทบต่อตัวเองและครอบครัวในระยะยาวด้วย

หนังเสนอข้อคิดไว้ด้วยว่า ชีวิตคนก็เปรียบดั่งม้าพยศ แต่ละคนเลือกได้ว่าจะปราบมันอย่างไร เบรดีเลือกดำรงชีวิตแบบประนีประนอมกับข้อขัดแย้งภายในตน สยบความตื่นกลัวต่ออนาคตให้บรรเทาลง แล้วประคองจิตวิญญาณที่พ่ายแพ้ให้อยู่ร่วมกับร่างกายไม่สมประกอบอย่างสันติ โดยที่ไม่ต้องอายใคร ฉากง่ายๆ ที่เขาแบกอานม้าเดินกลับไปหาพ่อและน้องสาวที่รถยนต์ สร้างความหวังเรืองรองให้คนดูไม่น้อยเลย เพราะมันแฝงนัยสำคัญไว้ว่าเขาจะรับผิดชอบต่อสังคมใหญ่ได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

ผู้กำกับหญิง โคลอี เจา เก่งมากๆ สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของอารมณ์ลึกซึ้งซับซ้อนได้อย่างละเมียดละไม โดยใช้เพียงนักแสดงสมัครเล่นที่เป็นนักขี่ม้าตัวจริง คนเลี้ยงม้าตัวจริง บุคคลที่มีตัวตนจริงทั้งครอบครัว ตลอดจนตัวประกอบอื่นๆ ที่แสดงได้เป็นธรรมชาติจนแทบแยกไม่ออกว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือการแสดง เธอดำเนินเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป จังหวะเล่าเรียบง่าย น่าเชื่อถือ ฉากหลังในเมืองเล็กๆ ดูสมจริง งานภาพสวยหม่นก็เกื้อหนุนอารมณ์ของตัวละครและเรื่องได้ดีเหลือเกิน …ปีนี้ โคลอี เจา มีผลงานใหม่เรื่อง Nomadland ขยับคุณภาพขึ้นไปอีกขั้น ถูกเสนอเข้าชิงออสการ์ถึง 6 รางวัล ทั้งนี้เธอคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและหนังยอดเยี่ยมจากเวทีใหญ่ที่สุดนี้ไปครองสำเร็จ

the rider 5

แนวทางของหนังเรื่องนี้ดูคล้ายกับหนังช้าๆ อารมณ์เข้มข้นของปู่ คลินต์ อีสต์วูด เห็นความสัมพันธ์ของคู่ตัวละครใกล้ชิดต่างวัย ที่มองคนละมุมในสถานการณ์คับขันเดียวกัน นอกจากนี้ยังชวนให้นึกถึงคำพูดของทอม สมิธ ในหนังเรื่อง Seabiscuit (2003) ว่า “รู้ใช่ไหมว่าเราไม่โยนทั้งชีวิตทิ้งเพราะมันแค่พังนิดๆ หน่อยๆ หรอก” (You know, you don’t throw a whole life away just ’cause he’s banged up a little.)

หมายเหตุ : โรดีโอ (Rodeo) ผันมาจากศัพท์ภาษาสแปนิชว่า Rodear หมายถึง การล้อม ไล่ต้อน ควบคุมสัตว์ เริ่มจากการฝึกฝนทักษะต่างๆ ของเหล่าโคบาลชายหญิงที่ต้องทั้งแข็งแรง ว่องไว และไหวพริบดี จากความบันเทิงยามว่าง กลายเป็นงานประกวดประชันกันในชุมชนปศุสัตว์ในประเทศสเปน ส่งต่อมาถึงทวีปอเมริกา และพัฒนากลายมาเป็นกีฬาประจำถิ่น นิยมมากมายในรัฐเท็กซัส ไวโอมิง โคโลราโด และเซาท์ดาโคตา จนมีรายการแข่งขันใหญ่โตเป็นประจำทุกปี

กีฬาโรดีโอเป็นชื่อชุดกีฬาหลายประเภท ทั้งคล้องบ่วงบาศวัดความแม่นยำ ควบคุมม้าและวัวเข้าเส้นชัย ใครถึงก่อนชนะไป คล้องมัดลูกวัวให้ได้ภายในเวลากำหนด ใครเร็วที่สุดคว้ารางวัล และประเภทที่รู้จักกันแพร่หลายเห็นจะเป็นการแข่งทรงตัวบนหลังม้าหรือวัวพยศ แบบมีอานและไม่มีอาน โคบาลนักแข่งจะใช้มือเพียงข้างเดียวกุมบังเหียน อีกมือต้องชูเอาไว้เพราะห้ามสัมผัสตัววัว ขั้นต้นต้องอยู่บนหลังมันได้นานเกิน 8 วินาทีถึงจะผ่านเกณฑ์ หลังจากนั้นใครอยู่ได้นานที่สุดก็เป็นผู้ชนะ สมัยนี้ยังมีขี่แกะพยศสำหรับโคบาลรุ่นเยาว์แถมเพิ่มมาอีกด้วย

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares