Link Copied!
ดราฟต์

“ดราฟต์” ตาตีได้ตาร้ายเสีย

ลีกกีฬาอาชีพในสหรัฐฯ ไม่มีระบบซื้อ-ขายผู้เล่นเหมือนในยุโรป ปัจจัยแห่งความสำเร็จของแต่ละทีม จึงอยู่ที่การแลกตัว และการ ดราฟต์ หรือการคัดเลือกผู้เล่นจากมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แฟนๆ ลุ้นระทึกที่สุดในช่วงปิดฤดูกาล

ว่ากันว่าสำหรับแฟนบอลทั่วโลก หลังปิดฤดูกาลแล้ว ช่วงเวลาที่ระทึกใจที่สุดคือช่วงตลาดซื้อ-ขายนักเตะก่อนเปิดฤดูกาล เหตุผลหลักคือมันเป็นโอกาสที่ทีมรักของตนจะซื้อนักเตะใหม่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้มากกว่าเดิม ยิ่งเป็นช่วงที่มีข่าวว่าอยากได้นักเตะชื่อดังคนนั้นคนนี้ แฟนบอลยิ่งติดตามลุ้นข่าวดีด้วยใจระทึก และแน่นอนว่าทีมที่ได้เปรียบคือทีมใหญ่ๆ ที่มีเงินถุงเงินถังทั้งหลาย ซึ่งมีกำลังทรัพย์มากพอจะทุ่มซื้อนักเตะชั้นแนวหน้ามาเสริมทีม โดยยินดีจ่ายค่าจ้างแพงๆ ให้นั่นเอง

ระบบลีกกีฬาอาชีพในยุโรปและทั่วโลกมักเป็นแบบนี้ ไม่เหมือนที่สหรัฐฯ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในการแข่งขันมากกว่า แต่ละทีมจึงถูกบังคับด้วยเพดานค่าจ้างของผู้เล่นในทีม โดยจะมีการกำหนดไว้ว่าแต่ละฤดูกาลจะอนุญาตให้จ่ายค่าจ้างผู้เล่นทั้งหมดในทีมมากที่สุดเท่าไร เพื่อให้ทั้งทีมเล็กและทีมใหญ่มีโอกาสได้ผู้เล่นชั้นดีมาร่วมทีมให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะหากเปิดโอกาสให้ใช้จ่ายเงินได้ตามใจชอบ ทีมใหญ่ๆ ย่อมใช้สถานะทางการเงินดึงผู้เล่นชั้นดีเข้ามาจนล้นทีม เหมือนทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในยุโรป อาทิ บาร์เซโลนา, เรอัล มาดริด หรือ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง

และที่แตกต่างกันอีกอย่างระหว่างสโมสรกีฬาอาชีพในยุโรปกับสหรัฐฯ คือ ที่สหรัฐฯ จะไม่มีการซื้อ-ขายผู้เล่น จะย้ายทีมได้ต่อเมื่อถูกทีมต้นสังกัดเดิมปล่อยตัว หรือ “เทรด” แลกตัวผู้เล่นของทีมตนเองกับผู้เล่นของอีกทีม หรือแลกกับสิทธิ์ในการดราฟต์ตัวผู้เล่นดาวรุ่งจากมหาวิทยาลัยของอีกทีม หรือจะแลกกับทั้งผู้เล่นและสิทธิ์ในการดราฟต์ตัวของอีกทีมพร้อมกันในครั้งเดียวก็สามารถทำได้เช่นกัน เช่น ทีมเออยากได้ตัวนาย ก. ผู้เล่นของทีมบี จึงยอมแลกตัวนาย ข. และสิทธิ์ดราฟต์ตัวผู้เล่นในรอบ 2 ของทีมเอในปีนี้ ให้กับทีมบีเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงระหว่างทั้งสองทีมและตัวผู้เล่นเอง  

แต่การเทรดตัวหรือการแลกตัวไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ไม่เหมือนการดราฟต์ตัวผู้เล่นจากมหาวิทยาลัย ซึ่งมีขึ้นตามกำหนดแน่นอนเป็นประจำทุกปี จึงถือได้ว่าเป็นช่วงที่แฟนกีฬาในสหรัฐฯ ตื่นเต้นที่สุด เพราะนอกจากจะได้ลุ้นว่าผู้เล่นดาวรุ่งจากมหาวิทยาลัยที่ตนเองชอบ จะถูกทีมรักดราฟต์ตัวหรือไม่ และทีมรักจะดราฟต์ผู้เล่นดาวรุ่งคนใดเข้ามาเสริมทีมบ้าง ทีมคู่แข่งจะได้ใคร เรียกว่าลุ้นกันสนุกเหมือนช่วงตลาดซื้อ-ขายนักเตะในยุโรปเลยทีเดียว เพียงแต่การดราฟต์ตัวจะใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน โดยใช้ระบบทีมที่มีผลงานแย่ที่สุด ได้โอกาสเลือกเป็นทีมแรก จากนั้นก็ลดหลั่นกันลงไป โดยทีมที่มีผลงานดีที่สุดหรือแชมป์ฤดูกาลหลังสุดจะได้เลือกหรือดราฟต์ผู้เล่นเป็นทีมสุดท้ายในแต่ละรอบ

 พูดง่ายๆ คือทีมที่มีผลงานแย่ที่สุด จะมีโอกาสได้เลือกผู้เล่นดาวรุ่งที่เก่งที่สุดก่อน!

ล่าสุดที่เพิ่งมีการดราฟต์ตัวกัน คือการดราฟต์ตัวนักอเมริกันฟุตบอลของ NFL เมื่อวันที่ 29 เมษายนถึง 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่น่าสนใจมากคือมีผู้เล่นตำแหน่งควอเตอร์แบ็กถูกเลือกในการดราฟต์ตัวรอบแรกถึง 5 คน และที่ฮือฮาคือ 3 คนแรกที่ถูกดราฟต์ตัวในปีนี้ เป็นผู้เล่นตำแหน่งควอเตอร์แบ็กล้วนๆ คนแรก หรือ นัมเบอร์วัน ดราฟต์ชอยซ์ ปีนี้คือ เทรเวอร์ ลอว์เรนซ์ จากมหาวิทยาลัยเคลมสัน ซึ่งว่ากันว่าเป็นควอเตอร์แบ็กที่มีรูปร่างและคุณสมบัติครบเครื่องที่สุดในรอบหลายปี ทีมที่ได้ตัวเขาไปคือ แจ็คสันวิลล์ จากัวร์ส ซึ่งมีสถิติ ชนะ 1 แพ้ 15 ห่วยสุดในฤดูกาลที่ผ่านมา ส่วนทีมที่จะได้ดราฟต์เป็นอันดับสุดท้ายในรอบแรกคือ แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ทีมแชมป์ซูเปอร์โบวล์นั่นเอง

คนต่อมาคือ แซ็ค วิลสัน จากมหาวิทยาลัย บริกแฮม ยัง ซึ่งถูกทีม นิวยอร์ก เจ็ตส์ ดราฟต์ตัวมาเป็นคนที่ 2 ซึ่งก็เป็นไปตามโผ ส่วนคนที่ 3 คือ เทรย์ แลนซ์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทดาโคตา ถูกทีมซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส ดราฟต์ไปซบรัง ฝีไม้ลายมือของแลนซ์ใกล้เคียงกับ แม็ค โจนส์ ควอเตอร์แบ็กจากมหาวิทยาลัยแอละแบมา และ จัสติน ฟิลด์ส จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ โดยฟิลด์สถูกทีมชิคาโก แบร์ส ดราฟต์ตัวไปในอันดับที่ 11 ส่วนโจนส์ถูกทีมนิวอิงแลนด์ ดราฟต์ตัวเป็นคนที่ 15 ในรอบแรก ซึ่ง บิลล์ เบลิชิก คาดหวังว่าเจ้าหนุ่มคนนี้จะกลายเป็นตัวตายตัวแทนของ ทอม เบรดี ในอนาคตอันใกล้

สาเหตุที่อันดับในการถูกดราฟต์ของแลนซ์, ฟิลด์ส และโจนส์ ห่างกันมาก ทั้งๆ ที่ฝีมือใกล้เคียงกัน เป็นเพราะทีมอื่นๆ ที่ได้สิทธิ์เลือกก่อน พอใจในตัวควอเตอร์แบ็กคนปัจจุบันของทีมอยู่แล้ว และชอบผู้เล่นในตำแหน่งอื่นมากกว่า โดยเฉพาะ คายล์ พิตส์ ปีกในจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ที่ถูกทีมแอตแลนตา ฟอลคอนส์ ดราฟต์ตัวเป็นคนที่ 4 ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นผู้เล่นตำแหน่งปีกในที่ถูกดราฟต์ตัวในอันดับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ว่ากันว่าเขาเป็นปีกในที่แววดียิ่งกว่า ร็อบ กรอนคาวสกี กับ ทราวิส เคลซี เสียอีก เพราะรูปร่างสูงใหญ่ แต่กลับมีความคล่องแคล่วรวดเร็วเกินรูปร่าง อีกทั้งยังรับลูกดียิ่งกว่าผู้เล่นตำแหน่งปีกนอกทุกคนที่ร่วมดราฟต์ในปีนี้เสียอีก

หากทีมแจ็คสันวิลล์ จากัวร์ส, นิวยอร์ก เจ็ตส์ และซานฟรานซิสโก ฟอร์ตีไนเนอร์ส ไม่ต้องการควอเตอร์แบ็ก เผลอๆ คายล์ พิตส์ จะกลายเป็น นัมเบอร์วัน ดราฟต์ชอยซ์ ในปีนี้!

 ความสนุกเร้าใจในวันที่มีการดราฟต์ 99% จะเกิดขึ้นในวันแรก ซึ่งเป็นการดราฟต์ตัวในรอบแรกจากบรรดาทีมในลีกทั้งหมด ในแต่ละปีสื่อมวลชนสายกีฬาในสหรัฐฯ ทุกสำนักจะต้องทำนายว่าทีมใดจะเลือกใคร ตำแหน่งอะไร ในแต่ละรอบ ซึ่งที่ลุ้นกันมากที่สุดคือในรอบแรก เพราะถือเป็นผู้เล่นดาวรุ่งที่มีแววรุ่งโรจน์ที่สุด หากไม่ใช่ทีมที่ได้ดราฟต์ในอันดับต้นๆ แล้ว ส่วนใหญ่จะสงวนท่าทีไม่เปิดเผยว่าอยากได้ใครมาเสริมทีม เพราะกลัวถูกทีมที่ได้ดราฟต์ก่อน ตัดหน้าแย่งตัวไปก่อน บางครั้งหากมีผู้เล่นที่ทีมอยากได้ตัวมากๆ แต่อันดับของทีมอยู่ท้ายๆ ก็ต้องใช้วิธีขอเทรดกับทีมที่ได้ดราฟต์ก่อน เพื่อเลื่อนอันดับขึ้นไปเลือกผู้เล่นที่หมายปองไว้ก่อน ตรงนี้คือการอุบไต๋วัดใจกันอย่างแท้จริง

แต่แม้ปีนี้จะมีการดราฟต์ตัวควอเตอร์แบ็กในรอบแรกถึง 5 คน แต่ไม่ใช่ปีที่มีการดราฟต์ตัวควอเตอร์แบ็กในรอบแรกมากที่สุดนะครับ เพราะปีที่ควอเตอร์แบ็กถูกดราฟต์ในรอบแรกมากที่สุดคือในปี 1983 ซึ่งครั้งนั้นมีควอเตอร์แบ็กถูกเลือกในรอบแรกรวมกันถึง 6 คน 3 ในจำนวน 6 คนคือผู้เล่นระดับตำนาน ได้แก่ จอห์น เอลเวย์ ตำนานจอมทัพของทีม เดนเวอร์ บรองโกส์, แดน มาริโน ยอดควอเตอร์แบ็กขวัญใจตลอดกาลของทีม ไมอามี ดอลฟินส์ และ จิม เคลลี จอมขว้างมือปืนกลของทีมบัฟฟาโล บิลส์ ควอเตอร์แบ็กคนเดียวพาทีมเข้าชิงแชมป์ซูเปอร์โบวล์ 4 ปีติดต่อกัน แต่แพ้รวด!

การดราฟต์ตัวของ NFL ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 7 รอบ แต่ละรอบเรียงกันไปตามผลงานของแต่ละทีม แต่ทุกทีมสามารถเทรดอันดับในการเลือกแต่ละรอบกับทีมอื่น หากสามารถตกลงกันได้ จะแลกกับผู้เล่นของทีม หรือใช้สิทธิ์ดราฟต์ตัวปีนี้ ปีหน้า หรือปีต่อๆ ไปมาแลกก็สามารถทำได้ เช่นกรณีของทีมซานฟรานซิสโก ฟอร์ตีไนเนอร์ส ซึ่งความจริงแล้วจะต้องดราฟต์ในอันดับที่ 12 แต่อยากได้ตัว เทรย์ แลนซ์ มาก จึงต้องเลื่อนไปอยู่ในอันดับที่ 3 ให้ได้ จึงยอมเสียสิทธิ์ดราฟต์ตัวในรอบแรกถึง 3 ปีคือ รอบแรกในปีนี้, ปี 2022 และปี 2023 รวมทั้งสิทธิ์ดราฟต์รอบ 3 ปี 2022 ให้กับทีมไมอามี ดอลฟินส์ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่แพงมหาศาล เพราะเท่ากับว่ากว่าทีมซานฟรานซิสโก จะได้กลับมาดราฟต์ผู้เล่นในรอบแรกอีกครั้ง ต้องรอจนถึงปี 2024

ทราบกันแล้วว่า อันดับก่อน-หลังในการดราฟต์ ใช้เกณฑ์ผลงานของแต่ละทีมในฤดูกาลที่ผ่านมา ทีมใดผลงานแย่ที่สุด ทีมนั้นได้เลือกก่อน แต่การดราฟต์นั้นจำเป็นหรือไม่ที่ต้องจบมหาวิทยาลัยก่อน ตอบเลยครับว่าไม่จำเป็น เพราะนักกีฬาที่เข้าร่วมดราฟต์มีข้อบังคับอย่างเดียวคือ ต้องจบระดับมัธยมศึกษาแล้วอย่างน้อย 3 ปี นั่นหมายถึงผู้เล่นปี 3 ในมหาวิทยาลัยก็สามารถเข้าร่วมการดราฟต์ตัวได้ ถ้าคิดว่าตนเองมีดีมากพอ และผู้เล่นในลีกอื่นๆ อย่างเช่น แคนาเดียนลีก หรือลีกอเมริกันฟุตบอลในยุโรป ก็สามารถเข้าร่วมการดราฟต์ในแต่ละปีได้

เมื่อการดราฟต์ตัวสำคัญต่อความแข็งแกร่งของทีมมากขนาดนี้ แต่ละทีมจึงต้องมีคนทำหน้าที่แมวมองอย่างจริงจัง โดยติดตามผลงานของผู้เล่นดาวรุ่งตั้งแต่ในระดับมัธยมปลายจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาดูผลงานของผู้เล่นแต่ละคนว่ามีดีพอจะเล่นใน NFL หรือไม่ และจะเล่นเข้ากับทีมต้นสังกัดหรือไม่ ซึ่งหลักๆ คือดูฟอร์มการเล่นของแต่ละคนในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะแบ่งลีกแข่งขันกันหลายระดับ ลีกระดับดิวิชัน 1 ที่มีทีมมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าลงแข่งหลายทีมที่สุด ย่อมมีแมวมองจับตามากที่สุด ส่วนลีกรองๆ หากฝีมือดีจริงๆ ก็มีแมวมองไปซุ่มดูเช่นกัน

โดยช่วงก่อนการดราฟต์ของ NFL จะมีการเชิญผู้เล่นจากมหาวิทยาลัยมาทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย เช่น วิ่งทางตรง วิ่งซิกแซ็ก กระโดดสูง ยกน้ำหนัก ใครทำได้ดีในวันทดสอบยิ่งมีแต้มต่อขึ้นไปอีก ในทางตรงกันข้ามหากใครเลือกที่จะไม่ทดสอบ หรือลงทดสอบแต่ทำผลงานได้ไม่ดี โอกาสที่จะถูกดราฟต์ในอันดับต้นๆ หรือในรอบแรกๆ ก็พลอยลดน้อยถอยลง มีให้เห็นเป็นประจำ ส่วนใครโชคร้ายบาดเจ็บในช่วงก่อนการดราฟต์ไม่นาน ถือว่าโอกาสที่จะถูกดราฟต์ตัวในรอบแรกๆ หรือแม้แต่ในรอบท้ายๆ จะลดลงเช่นกัน

สำหรับนักกีฬาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น ความฝันของหลายคนแค่เพียงถูกดราฟต์แม้จะเป็นเพียงรอบสุดท้ายหรือรอบที่ 7 ก็เปรียบเสมือนฝันที่เป็นจริงแล้ว แต่หากเก่งจริง การไม่ถูกดราฟต์ตัวใช่ว่าจะเหมือนกับโลกล่มสลาย เพราะตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีผู้เล่นหลายคนที่แม้จะไม่ถูกดราฟต์ตัว แต่ยังสามารถประสบความสำเร็จใน NFL ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ จอห์น แรนเดิล อดีตดีเฟนซีฟ แทคเกิล ดีกรีระดับฮอลออฟเฟมของทีมมินนิโซตา ไวกิงส์ ในยุค 90 ซึ่งถูกมองข้ามเพราะรูปร่างเล็กเกินไปสำหรับผู้เล่นตำแหน่งดีเฟนซีฟ แท็คเกิล แต่เมื่อได้รับโอกาสเขากลายเป็นหนึ่งในจอมแซ็กควอเตอร์แบ็กที่เก่งกาจที่สุดในประวัติศาสตร์ NFL

อีกตัวอย่างหนึ่งสำหรับผู้เล่นที่ไม่ถูกดราฟต์ แต่ก้าวต่อไปจนประสบความสำเร็จใน NFL คือ เคิร์ท วอร์เนอร์ ควอเตอร์แบ็กผู้เคยพาทีมเซนต์หลุยส์ แรมส์ คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ ปี 1999 และคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าในปี 1999 และ 2001 หลังจากจบมหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์น ไอโอวาปี 1994 ไม่มีทีมใดดราฟต์วอร์เนอร์เลย มีทีมกรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ที่ดึงตัวเขาไปร่วมการฝึกซ้อมก่อนเปิดฤดูกาล แต่ก็ถูกปล่อยตัวออกจากทีม เพราะในทีมมีควอเตอร์แบ็กเก่งๆ อยู่แล้วถึง 3 คนคือ เบร็ตต์ ฟาร์, มาร์ก บรูเนลล์ และ ทาย เด็ตเมอร์ เมื่อไม่มีทางเลือกวอร์เนอร์จึงไปเล่นในอารีนา ฟุตบอลลีก และ NFL ยุโรปแทน

เป็นทีมเซนต์หลุยส์ แรมส์ ที่ให้โอกาสวอร์เนอร์ลงเล่น NFL ในปี 1998 กระทั่งปีต่อมาเขากลายเป็นตัวจริง และทำสถิติเป็นควอเตอร์แบ็กคนแรกที่ลงเล่นเป็นตัวจริง 3 เกมแรก แล้วสามารถขว้างทำ 3 ทัชดาวน์ได้ทั้ง 3 เกม ซึ่งสถิติของเขาเพิ่งถูก แพทริก มาโฮมส์ ทำลายเมื่อปี 2018 ในยุคที่มีวอร์เนอร์นำ ทีมเซนต์หลุยส์ แรมส์ กลายเป็นทีมที่มีเกมรุกชนิดระเบิดเถิดเทิง การที่เขาไต่เต้ามาจากการเป็นผู้เล่นจากที่ไหนไม่รู้ แต่ทำผลงานได้อย่างสุดยอดในการลงเล่นฤดูกาลแรก ทำให้นิตยสาร Sport Illustrated ถึงกับพาดหัวว่า “หมอนี่เป็นใคร” เรื่องราวของเขาจึงเปรียบเสมือนเทพนิยายบทหนึ่งของ NFL

ส่วนผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ตัวในรอบแรก จะทำผลงานใน NFL ดีสมความคาดหมายหรือไม่ ต้องยอมรับละครับว่ามีทั้งดีสมความคาดหวัง และมีทั้งทำผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะผู้เล่นตำแหน่งควอเตอร์แบ็กเหมือนกับซื้อหวยเลยทีเดียว เพราะมีไม่กี่คนที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมเกินความคาดหมาย เช่น แพทริก มาโฮมส์ ที่ถูกแคนซัส ซิตี ชีฟส์ ดราฟต์เป็นคนที่ 10 ในรอบแรกปี 2017 แต่กลับทำผลงานได้ดีเหนือกว่า มิตเชลล์ ทรูบิสกี ที่ถูกทีมชิคาโก แบร์ส ดราฟต์เป็นคนที่ 2 ในปีเดียวกัน ชนิดฟ้ากับเหว มาโฮมส์คว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าตั้งแต่ในฤดูกาลแรก ก่อนพาทีมคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ในฤดูกาลถัดมา ส่วนทรูบิสกีถูกปล่อยตัวออกจากทีมหลังจบฤดูกาลที่ผ่านมา และเพิ่งเซ็นสัญญาเป็นควอเตอร์แบ็กตัวสำรองของทีมบัฟฟาโล บิลส์

แน่นอนครับผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ตัวในรอบที่ต่ำกว่า ใช่ว่าจะต้องทำผลงานด้อยกว่าผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในรอบต้นๆ เสมอไป ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ทอม เบรดี ควอเตอร์แบ็กที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของ NFL ก็ไม่ได้ถูกดราฟต์ตัวในรอบแรก แต่ถูกทีมนิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ ดราฟต์ตัวในรอบที่ 6 หรือถูกเลือกเป็นคนที่ 199 ในปี 2000 ซึ่งปีนั้นควอเตอร์แบ็กที่ถูกดราฟต์ตัวในรอบแรกมี แชด เพนนิงตัน ซึ่งถูกทีมนิวยอร์ก เจ็ตส์ ดราฟต์ในอันดับที่ 18 เพียงคนเดียว เพนนิงตันกับควอเตอร์แบ็ก 5 คนที่ถูกดราฟต์ก่อนเบรดีในปีนั้น ทำผลงานรวมกันสู้เบรดี เพียงคนเดียวไม่ได้เลย เบรดีคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์กับทีมนิวอิงแลนด์ 6 ครั้ง และเพิ่งนำทีมแทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส คว้าแชมป์ได้ในวัย 43 ปี เพิ่มสถิติคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์สูงสุดเป็นครั้งที่ 7

ระบบการดราฟต์ตัวอาจมีข้อดีในเรื่องของการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันให้กับทุกทีม แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การให้ทีมที่มีผลงานแย่ที่สุดได้เลือกก่อน อาจทำให้หลายทีมแกล้งแพ้ในช่วงท้ายฤดูกาล หรือในช่วงที่ทีมหมดโอกาสลุ้นเข้ารอบเพลย์ออฟแล้ว เพื่อโอกาสได้ดราฟต์ผู้เล่นเป็นทีมแรกหรือทีมต้นๆ แต่ในความเป็นมืออาชีพของผู้เล่นทุกคน ไม่มีใครอยากเป็นผู้แพ้ และผลงานรวมถึงสถิติในแต่ละนัด มันมีผลถึงการเซ็นสัญญาฉบับต่อไป ทุกคนจึงเล่นกันเต็มที่ ดูได้จากทีมนิวยอร์ก เจ็ตส์ ในฤดูกาลที่ผ่านมา พวกเขามีโอกาสดราฟต์เป็นทีมแรกหากแพ้ทุกนัดในช่วงท้ายฤดูกาล แต่ทว่าพวกเขากลับเอาชนะทีมที่เหนือกว่าอย่าง คลีฟแลนด์ บราวน์ส ทำให้ทีมนิวยอร์ก เจ็ตส์ มีสถิติดีกว่าแจ็คสันวิลล์ จากัวร์ส จึงได้ดราฟต์ในอันดับที่ 2 หมดลุ้นคว้าตัว เทรเวอร์ ลอว์เรนซ์

แม้ระบบการดราฟต์และเพดานเงินค่าจ้าง อาจช่วยให้ทุกทีมมีโอกาสสร้างทีมให้แข็งแกร่งอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ทีมใหญ่ๆ อาทิ ดัลลัส คาวบอยส์, นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์, พิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส, ไมอามี ดอลฟินส์ หรือวอชิงตัน ฟุตบอลทีม (เรดสกินส์ เดิม) ยังไงก็ยังได้เปรียบ เพราะเป็นทีมที่มีแฟนๆ มาก โอกาสที่ผู้เล่นจะหาสปอนเซอร์ย่อมง่ายกว่าการเล่นให้กับทีมที่เล็กกว่า ส่วนทีมที่อยู่ในเมืองที่สภาพอากาศอบอุ่นแสงแดดสดใสตลอดปี ย่อมดึงดูดใจผู้เล่นมากกว่าทีมที่อยู่ในเมืองสภาพอากาศหนาวจัดหิมะตกหนัก เช่น บัฟฟาโล บิลส์ เมื่อหมดสัญญากลายเป็นผู้เล่นอิสระหรือฟรีเอเย่นต์ ผู้เล่นเก่งๆ จึงมักเลือกไปอยู่กับทีมใหญ่ๆ มากกว่า แม้จะเสนอค่าจ้างให้เท่ากันก็ตาม

จากเหตุผลโดยรวม การดราฟต์ตัวจึงเป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จสำหรับสโมสรกีฬาอาชีพในสหรัฐฯ หากในวันดราฟต์เลือกผู้เล่นได้ดี โอกาสคว้าแชมป์รับรองว่าอยู่ไม่ห่างไกล ตรงกันข้ามหากเลือกผู้เล่นผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คงได้แต่นั่งมองดูชัยชนะของทีมอื่น ต่อให้เป็นทีมเงินถุงเงินถัง ก็ซื้อความสำเร็จไม่ได้ครับ!

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares