การแข่งขันหมากรุกสากลแบ่งประเภทโดยใช้เงื่อนไขเรื่องเวลาเป็นหลักได้แก่เกมบลิทซ์หรือเกมสายฟ้าแลบเกมราปิดหรือหมากรุกเกมเร็วและเกมมาตรฐานมาดูกันว่าเกมการแข่งขันแบบไหนจะเหมาะสมสำหรับนักหมากรุกรุ่นเล็กอายุน้อยๆที่เพิ่งจะเริ่มย่างก้าวเข้าสู่โลกของหมากรุกสากล
ต้นฉบับบทความชิ้นนี้ได้เขียนจบก่อนที่การแข่งขันหมากรุกสากลรายการชิงแชมป์ประเทศไทยประจำปีพุทธศักราช 2564 จะเสร็จสิ้นลง ผู้เขียนเลยไม่มีโอกาสนำเรื่องราวความเป็นไปและบรรยากาศของการแข่งขันมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ผู้อ่านหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ปกครองของเยาวชนและเด็กเล็กที่กำลังเริ่มศึกษาในเกมหมากรุกสากลได้ติดตามรับทราบข่าวสาร ความเคลื่อนไหวในแวดวงการแข่งขันหมากรุกสากลระดับมาตรฐานภายในประเทศ ก็หวังว่าถ้ามีโอกาสจะนำเรื่องราวมานำเสนอในภายหลังนะครับ
หลังจากที่ผู้เขียนนำเสนอรายละเอียดของประเภทเกมการแข่งขันหมากรุกสากลมาให้ได้รับทราบกันแล้วในบทความสองสามตอนก่อน ซึ่งประเด็นสำคัญของการแบ่งแยกและจัดประเภทการแข่งขันนั้น เราใช้เงื่อนไขเรื่องของปริมาณเวลาเป็นหลัก มาถึงตอนนี้เราจะมาพิจารณาดูกันว่าเกมการแข่งขันแบบไหนจะเหมาะสมสำหรับนักหมากรุกรุ่นเล็กๆ อายุน้อยๆ ที่เพิ่งจะเริ่มย่างก้าวเข้าสู่โลกของหมากรุกสากล
สำหรับเกมกีฬาแทบจะทุกชนิด เมื่อตัวนักกีฬาได้ทุ่มเทเวลา แรงกายแรงใจฝึกซ้อมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ตัวนักกีฬา ผู้ฝึกสอนหรือโค้ชก็จะต้องทดสอบผลงานของการทุ่มเทฝึกซ้อมนั้นว่าประสบผลหรือได้รับความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ก็คือการเข้าร่วมทำการแข่งขันในชนิดกีฬานั้นๆ นั่นเอง
เกมหมากรุกสากลคล้ายกับการแข่งขันวิ่ง เรารู้ว่าการวิ่งแข่งแยกเป็นหลายประเภทหลายระดับ ในขณะที่ประเภทเกมการแข่งขันของเกมหมากรุกนั้นมีเวลาเป็นตัวกำหนด แต่การวิ่งแข่ง เราใช้ระยะทางเป็นตัวกำหนด เช่น วิ่ง 100 เมตร 400 เมตร มินิมาราธอน มาราธอน ส่วนการวิ่งแข่งอย่าง 4 x 100 เมตร 4 x 200 เมตร หรือวิ่งวิบาก ก็เป็นการเพิ่มลูกเล่น แทคติก ทำให้การแข่งขันวิ่งนั้นสนุก มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น แต่โดยหลักการพื้นฐานทั่วๆ ไป นักกีฬาจะลงแข่งขันในประเภทกีฬาที่ตนเองมีความถนัด และได้ฝึกซ้อมเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี การฝึกซ้อมวิ่งมาราธอนระยะทาง 40 กิโลเมตรเศษ ย่อมไม่เหมาะสมกับตัวนักกีฬาที่จะสมัครลงแข่งขันวิ่งระยะสั้น 100 เมตร นักกีฬาที่มีความถนัดในการวิ่ง 100 เมตรก็อาจจะทำผลงานได้ไม่ดีนักในการแข่งขันวิ่งระยะไกลหรือการวิ่งวิบาก
เกมการแข่งขันหมากรุกสากลนั้น อย่างที่เราได้ทราบกันมาแล้วว่ามีเวลาเป็นตัวกำหนด และแยกแยะประเภทของเกมการแข่งขัน เกมบลิทซ์หรือเกมสายฟ้าแลบ ดูแวบแรกมันช่างน่าตื่นเต้น น่าสนใจ มีความสนุกทั้งผู้เล่นและผู้ชมรอบข้าง ด้วยเวลาที่มีน้อย ต่ำกว่า 10 นาทีสำหรับผู้แข่งขันแต่ละฝ่าย บีบบังคับให้ผู้แข่งขันต้องคิดให้เร็ว เดินหมากให้เร็ว กดนาฬิกาให้เร็ว เป็นแอ็กชั่นท่าทางที่ดูตื่นเต้นเร้าใจ การวาดมือไปมาบนกระดานของผู้เล่น บางครั้งก็ดูคล้ายกับการวาดมือของวาทยกรวงดุริยางค์ซิมโฟนีออร์เคสตรา บางครั้งดูไม่ต่างจากท่าทางการสาวพวงมาลัยของโชเฟอร์รถบรรทุกสิบแปดล้อ
ปฏิกิริยาท่าทางการแสดงออกของสีหน้าผู้เล่นล้วนแต่ดึงดูดความสนใจผู้ชมรอบข้าง ยิ่งช่วงที่เวลาของผู้เล่นกำลังจะหมดลง ทุกสายตาจับจ้องทั้งเกมบนกระดานและตัวผู้แข่งขันอย่างแทบไม่กะพริบตา ก่อนที่บรรยากาศตึงเครียดจะคลายตัวลงหลังจากเกมการแข่งขันจบสิ้น ทั้งหมดนี้เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เกมบลิทซ์เป็นที่นิยมกันอย่างมากในโลกหมากรุกสากลในขณะนี้
แต่กว่าที่ผู้แข่งขันเกมบลิทซ์จะสามารถปฏิบัติขั้นตอนดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ จะต้องผ่านการฝึกฝน ฝึกซ้อม และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากการเล่นเกมหมากรุกเกมมาตรฐานและเกมเร็วมาอย่างมากมาย นับจำนวนเกมแทบไม่ถ้วน หลักการคือเมื่อผู้เล่นสามารถทำทุกอย่างได้อย่างถูกต้องและมีผลลัพธ์ที่ดีแล้วบนเกมมาตรฐาน เมื่อมาแข่งขันในเกมเร็วราปิด หรือเกมบลิทซ์เกมสายฟ้าแลบ ผู้เล่นก็เพียงแค่เร่งความเร็วและทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นนั่นเอง
ดังนั้นเด็กเล็กที่เพิ่งรู้จักและหัดเล่นหมากรุกได้ในเวลาไม่นานนัก จึงยังไม่เหมาะสมที่จะลงแข่งขันในเกมหมากรุกประเภทเกมบลิทซ์ นอกจากความรู้ความเข้าใจในเกมที่ยังมีไม่มาก จึงอาจจะทำผลลัพธ์ของการแข่งขันได้ไม่ดี ความละเอียด ความรอบคอบ ความแม่นยำในกฎกติกาและมารยาทที่มีน้อย ยิ่งอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่ายขึ้นมากขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงความเสียเปรียบของร่างกาย ด้วยความที่ตัวเล็ก แขนสั้น การเอื้อมหยิบจับตัวหมากและกดนาฬิกาจับเวลาย่อมไม่สะดวกง่ายดายนัก ด้วยความเร็วของเกมและกฎกติกาที่ละเอียดยิบย่อย บางทีเมื่อเกมจบสิ้นลง นักกีฬาตัวจิ๋วของเรายังอาจจะงงๆ กับผลที่เกิดขึ้น แพ้อย่างไร ชนะอย่างไร
โดยส่วนใหญ่เกมบลิทซ์มักจบลงด้วยสาเหตุว่าเวลาของผู้แข่งขันฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหมดลง ข้อนี้เข้าใจได้ง่าย แต่กรณีการทำฟาวล์ หรือการทำผิดกติกาการเดินหมากรุก หรืออีเลกัล มูฟ (illegal move) หรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องบนหรือในกระดานหมากรุก เช่น การใช้สองมือจับตัวหมากตอนเข้าป้อม หรือการกินตัวหมากของคู่ต่อสู้ เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้น กรรมการอาจปรับโทษให้แพ้ได้ทันที ซึ่งบางทีกรรมการก็อาจจะอธิบายสาเหตุของการปรับโทษหรือไม่อธิบายก็ได้ ถ้านักกีฬาตัวเล็กของเราไม่เข้าใจ หรือไม่เคยรับทราบกฎกติกาข้อนั้นมาก่อน ก็จะสับสน ตกใจ บางคนถึงขั้นน้ำตาไหลร้องไห้เสียใจกับผลที่เกิดขึ้นก็มี
เด็กเล็กบางคนมีความมั่นอกมั่นใจทั้งในฝีมือการเดินหมาก และความรู้ ความแม่นยำในกฎกติกามารยาทของตนเอง ก็อาจจะรบเร้าผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ หรือโค้ชผู้ฝึกสอน เพื่อขออนุญาตลงแข่งขันในเกมบลิทซ์ ถ้าเป็นการแข่งขันที่จะต้องพบเจอคู่แข่งขันในรุ่นราวคราวเดียวกัน กรณีอย่างนี้ก็น่าจะสนับสนุน แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเผื่อไว้ซักเล็กน้อย ถ้านักกีฬาของเราเกิดผิดหวังล้มเหลวกลับออกมา
แต่ถ้าเจอคู่แข่งที่มีอายุมากกว่าหรือเป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์สูง อย่างนี้ทั้งโค้ชทั้งผู้ปกครองควรพูดคุยให้คำแนะนำไว้บ้างว่า ตัวนักกีฬามีความพร้อมมากแค่ไหน แนะนำให้รู้จักพละกำลังของตัวเองและคู่ต่อสู้ว่า ถ้าผลการแข่งขันไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้จะเป็นอย่างไร แม้ผู้เขียนเป็นผู้ฝึกสอนหมากรุกให้กับเด็กเล็กก็อธิบายได้ยากว่าต้องแนะนำอย่างไร จึงจะไม่เป็นการทำลายกำลังใจ ไม่ทำให้นักกีฬาของเรารู้สึกว่า ขนาดคุณพ่อคุณแม่ โค้ชของตัวเองยังไม่มั่นใจในตัวของเขาเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก
ถ้าแรงดึงดูดและมนตร์เสน่ห์ของเกมบลิทซ์มันมีอำนาจจนตัวนักกีฬาไม่อาจต้านทานได้ ถ้าเขาอยากจะลองก็ให้เขาลองจะได้ให้หายสงสัย เป็นประสบการณ์ที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเกมหมากรุกสะสมเอาไว้ แต่โดยสรุป จากการฟังคำแนะนำของโค้ชผู้ฝึกสอนมาหลายคน ก็แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เกมบลิทซ์นั้นยังไม่เหมาะกับนักหมากรุกเด็กเล็ก แต่อาจจะยินยอมให้เขามีโอกาสลองสัมผัสกับบรรยากาศของเกมบ้างนานๆ ครั้ง ถ้าเขามีความต้องการ กระตือรือร้นที่จะลอง และมีความพร้อมในการเผชิญกับผลลัพธ์และสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้
มาดูเกมมาตรฐานกันบ้าง โดยปกติจะเป็นเกมการเล่นที่กินเวลานาน มีขั้นตอนการปฏิบัติในการเล่นมากกว่าเกมการแข่งขันประเภทอื่นๆ (เกมบลิทซ์และเกมราปิด) อีกเล็กน้อย แต่เป็นขั้นตอนที่สำคัญ และอาจจะดูยากสำหรับนักหมากรุกเด็กเล็ก ก็ขนาดผู้ใหญ่บางคนยังบ่นและมีปัญหากับขั้นตอนนี้อยู่เลยครับ ก็คือการจดบันทึกการเดินหมาก
เกมการแข่งขันแบบเกมมาตรฐานมีกฎอยู่ข้อหนึ่งกำกับไว้ว่า ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายจะต้องจดบันทึกการเดินหมากในแต่ละตาเดินให้ถูกต้องครบถ้วน บันทึกทั้งตาเดินของฝ่ายตัวเองและฝ่ายคู่ต่อสู้จนจบเกมการแข่งขัน จึงเป็นตามนี้คือ ผู้เล่นคิดคำนวณการเดินหมาก เมื่อคิดคำนวณเสร็จสิ้นจึงทำการเดินหมาก จากนั้นเอื้อมมือ (ข้างเดียวกันกับที่ใช้จับเดินตัวหมาก) ไปกดนาฬิกา สุดท้ายคือจดบันทึกการเดินหมากตานั้นลงในใบสกอร์ชีท เป็นเช่นนี้ไปจนจบสิ้นเกมการแข่งขัน
ขั้นตอนการจดบันทึกการเดินหมากนั้น ผู้เขียนเคยอธิบายไว้คร่าวๆ ในบทความตอนก่อนๆ ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนพอประมาณ สำหรับนักหมากรุกมือใหม่หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาการเล่นหมากรุก อาจจะทำได้อย่างลำบาก ขลุกขลักบ้างในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อได้ปฏิบัติบ่อยๆ หรือฝึกฝนให้เกิดความชำนาญก็จะสามารถจดบันทึกการเดินหมากได้คล่องแคล่วไม่ติดขัด
ต่อคำถามที่ว่า ทำไมเกมมาตรฐานจึงมีข้อบังคับให้ผู้เล่นผู้แข่งขันต้องจดบันทึกการเดินหมากนั้น ผู้เขียนก็กำลังพยายามค้นหาคำตอบอยู่ ผู้เล่นหลายคนแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ถ้าเกมมาตรฐานจะต้องชดเชยเวลาให้ต่อหนึ่งตาเดินมากมายหลายสิบวินาที สู้ลดเวลาชดเชยลง แล้วไม่ต้องบังคับให้ผู้เล่นต้องจดบันทึกการเดินหมาก น่าจะดีกว่า สะดวกสำหรับผู้เล่นมากกว่า ยิ่งในสมัยนี้บางรายการแข่งขันมีการใช้กระดานหมากรุกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะบันทึกการเดินหมากเป็นภาษาหมากรุก หรือเชส โนเทชั่น (chess notation) โดยอัตโนมัติ หรือไม่ก็ติดตั้งกล้องวิดีโอวงจรปิดบันทึกเกมการแข่งขันตลอดทั้งเกม จึงยิ่งมองไม่เห็นความจำเป็น (ในทรรศนะความคิดเห็นของผู้เล่น) ที่จะต้องจดบันทึกการเดินหมากโดยผู้เล่นหรือผู้แข่งขันแต่อย่างใด
สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ยังไม่สามารถสรุปออกมาได้อย่างเด่นชัด แต่ในแง่มุมของการเรียนหรือศึกษาวิชาทฤษฎีหมากรุก การเรียนรู้วิธีการจดบันทึกการเดินหมากมีความสำคัญอย่างมาก โดยทั่วไปผู้ฝึกสอนหรือโค้ชจะสอนบทเรียนเรื่องการจดบันทึกการเดินหมากให้กับนักเรียนของตนเองเป็นบทเรียนบทแรกๆ เพราะมันคือกุญแจที่จะใช้ศึกษาเพิ่มเติม หรือต่อยอดความรู้ในวิชาทฤษฎีหมากรุกให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
กลับมาพูดเรื่องนักหมากรุกเด็กเล็กกับการลงแข่งขันในเกมมาตรฐาน อันที่จริงถ้าเป็นเด็กเล็กที่ยังใหม่ต่อเกมหมากรุก และใหม่ต่อเกมการแข่งขัน เกมมาตรฐานที่มีเวลามากกว่าหนึ่งชั่วโมงก็ยังอาจจะหนักเกินไป เกมมาตรฐานในความคิดของผู้เขียนเป็นเกมที่ใช้พลังงานสูงมาก ทั้งการคิดคำนวณ ประมวลผล สมาธิ และความอดทน
เด็กเล็กๆ มักจะมีสมาธิได้ไม่นานนัก การคิดคำนวณและประมวลผลก็อาจจะไม่ละเอียดพอ ส่วนใหญ่มักจะคิดเร็ว เดินเร็ว ความอดทนและสมาธิในการนั่งจ้องมองตัวหมากบนกระดานมีไม่มาก บางทีก็ขอออกไปห้องน้ำแบบกะทันหัน เกมมักจะจบลงอย่างรวดเร็วโดยที่มีผลลัพธ์ไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจเท่าไร
ไม่ใช่แค่ผลแพ้ชนะที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่สภาพความเป็นไปของเกม ทุกตาเดินของเกมก็มักจะมีความสับสน ยิ่งถ้าเด็กเล็กไม่สามารถจดบันทึกการเดินหมากได้ดีพอ ครูหรือโค้ชผู้สอนก็แทบจะไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างบนกระดาน ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อยอดเสริมสร้างความรู้อะไรได้ บางครั้งถ้าได้ผลลัพธ์ที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก เด็กอาจจะหมดกำลังใจ หมดความกระตือรือร้นจนเลิกสนใจเกมหมากรุกไปเลย
ถึงแม้ผู้เขียนจะยกปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ในเกมมาตรฐานซึ่งมีผลกับนักหมากรุกรุ่นจิ๋ว แต่เกมมาตรฐานก็ยังถือว่ามีความสำคัญที่นักหมากรุกรุ่นจิ๋วทุกคนจะต้องเข้าร่วมและลงแข่งขัน หลังจากที่ผ่านช่วงระยะเวลาไปประมาณหนึ่ง เพื่อประเมินศักยภาพของตนเองอย่างแท้จริง เกมมาตรฐานก็เป็นเหมือนอย่างที่เรายอมรับว่า การเป็นมหาอำนาจทางลูกหนัง คือแชมเปี้ยนของเกมฟุตบอลสนามใหญ่ 90 นาที ไม่ใช่แชมเปี้ยนเกมฟุตซอลอย่างใดอย่างนั้น
ดังนั้นที่เหลืออยู่สุดท้าย คือเกมการแข่งขันที่น่าจะเหมาะสมมากที่สุดสำหรับนักหมากรุกเด็กเล็ก ยิ่งเด็กเล็กที่ยังใหม่มากๆ กับเกมการแข่งขัน นั่นก็คือ เกมราปิดหรือหมากรุกเกมเร็วนั่นเอง
เกมราปิดไม่เร็วไม่ช้าจนเกินไป อยู่ระหว่าง 10 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง เกมการแข่งขันสามารถจบลงได้ในเวลาไม่นานนัก ส่วนใหญ่เกมราปิดที่จัดการแข่งขันกันนิยมกำหนดเวลาไว้ที่ 15/10 (15 นาทีทดเวลาเพิ่ม 10 วินาทีต่อทุกหนึ่งตาเดิน) ซึ่งค่อนข้างเหมาะสมกับเด็กเล็ก เหมาะสมกับการใช้พลังงานความคิดและสมาธิ ที่สำคัญเมื่อนี่ไม่ใช่เกมมาตรฐานก็จะไม่มีการบังคับให้จดบันทึกการเดินหมาก ซึ่งที่นักกีฬาจะต้องปฏิบัติมีเพียงสามขั้นตอน คิดคำนวณ จับตัวหมากเดิน และกดนาฬิกา นักหมากรุกรุ่นจิ๋วจึงสามารถทำได้อย่างสบายง่ายดาย จึงใช้สมาธิไปกับการคิดและการเดินหมากได้อย่างเต็มที่
เมื่อนักกีฬามีความคุ้นเคย ชำนาญ สามารถทำผลงานได้อย่างคงที่มีประสิทธิภาพ ครูหรือโค้ชผู้ฝึกสอนจึงจะแนะนำให้นักกีฬาลงแข่งขันในเกมมาตรฐานเป็นลำดับถัดไป ซึ่งศักยภาพความสามารถของนักกีฬาก็จะเพิ่มพูนขึ้นด้วย
บทความนี้คงทำให้ผู้อ่านที่เป็นผู้ปกครองหรือคุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจภาพรวม และแนวความคิดในการจัดเตรียมนักกีฬาตัวจิ๋วของท่านให้เหมาะสมกับประเภทของเกมการแข่งขันได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ถ้านักกีฬามีโค้ชผู้ฝึกสอนประจำตัว คำแนะนำของโค้ชก็ควรจะถูกรับฟังและนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก ความพิเศษแตกต่างของเด็กๆ แต่ละคนก็เป็นเรื่องที่ต้องนำมาคิดพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้เขียนมีความคาดหวังแค่เพียงว่า เมื่อนักกีฬาหน้าใหม่ๆ ก้าวเข้ามาสู่วงการเกมการแข่งขัน พวกเขาจะรู้สึกสนุก มีความกระตือรือร้นและกระหายอยาก มีความต้องการที่จะทำผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในเกมการแข่งขันครั้งต่อๆ ไป หรือจะพูดสรุปอย่างสั้นๆ ว่า “ขอให้สนุกกับเกมหมากรุกทุกๆ คนครับ”
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม