บทสรุปของแบดมินตันไทยในโอลิมปิกครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า “ผิดความคาดหมาย” จากการคาดหวังของกองเชียร์ชาวไทย แต่ถึงอย่างไรภารกิจยังไม่จบ อยู่ที่เราจะนำความพลาดหวังครั้งนี้ไปปรับปรุงแก้ไขอย่างไรในโอลิมปิกครั้งต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า ค้นหาว่าแบดมินตันไทยของเราควรมีทิศทางไปทางใด ควรจะเสริมเพิ่มอะไร เพื่อลดจุดอ่อน ลดข้อผิดพลาด ลดช่องว่าง แม้เพียงจุดเล็กจุดน้อยก็มีความสำคัญ
หากเปรียบมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 “โตเกียวเกมส์” ที่กำลังจะปิดฉากลง เหมือนการแข่งขันวิ่งมาราธอน คงเทียบได้กับการที่นักวิ่งผู้นำใกล้ถึงเส้นชัยในอีก 100 เมตรสุดท้าย ก่อนจะขึ้นรับเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวโลก แต่หากจำแนกชนิดกีฬารายประเภท โดยเฉพาะกีฬา “แบดมินตัน” สำหรับกองเชียร์ชาวไทยแล้ว โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้คงปิดฉากจบลงตั้งแต่การตกรอบก่อนรองชนะเลิศของ “น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ ความหวังลุ้นเหรียญรางวัลสุดท้ายของไทย ที่พ่ายต่อ “ไต้ จือ อิง” 1 ต่อ 2 เกมครับ
การพ่ายแพ้ในครั้งนี้ไม่เหมือนความพ่ายแพ้ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เสียงชื่นชม ปลอบขวัญ ให้กำลังใจนักกีฬาเรามีมากมาย ไม่เพียงแค่เฉพาะประเทศไทย แต่ยังรวมถึงแฟนแบดมินตันชาวไต้หวัน แฟนแบดมินตันทั่วโลก รวมถึงสหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) ที่จัดให้แมตช์นี้ เป็นหนึ่งในแมตช์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในโอลิมปิกเกมส์ คงเพราะทั้งเมย์และ ไต้ จือ อิง ต่างแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเททุกแต้ม และทั้งคู่ต่างก็แสดงศักยภาพของความเป็นนักกีฬามืออาชีพอย่างแท้จริงอีกด้วย และที่สำคัญจะมีใครรู้ไหมว่า โอลิมปิกครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่เมย์พกความไม่สมบูรณ์ของร่างกายเข้าแข่งขัน โดยก่อนเดินทางเข้าร่วมโอลิมปิกประมาณ 3 สัปดาห์ เมย์มีอาการบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมบริเวณเอ็นไขว้หลังหัวเข่าซ้าย ทำให้การซ้อมที่ผ่านมาทำได้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ดีมันก็ไม่ใช่เป็นข้ออ้างในความพ่ายแพ้แต่อย่างใด เพราะตราบใดที่นักกีฬาสามารถแสดงให้ผู้ชมเห็นถึงการเต็มที่ในเกมการแข่งขันแล้ว แม้จะพ่ายแพ้ก็เป็นเพราะวันนั้นไม่ใช่วันของเราเท่านั้น ไม่มีใครมาต่อว่าแน่ ตรงข้าม เชื่อว่าทุกคนต่างก็จะให้กำลังใจต่อไป เอาใหม่ สู้ใหม่ในโอกาสหน้า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับกรณีนี้ก็คือ ความพ่ายแพ้ของนักชกไทย “น้องแต้ว” สุดาพร สีสอนดี ต่อ เคลลี แฮร์ริงตัน จากไอร์แลนด์ แชมป์โลกปี 2018 และมือวางอันดับ 1 ในรุ่นไลต์เวท 60 กก. ที่เมื่อการแข่งขันจบลง เคลลีผู้ชนะได้เดินเข้าไปชูมือน้องแต้ว เพื่อยกย่องให้เกียรติคู่ต่อสู้ เป็นภาพที่สวยงาม น่าชื่นชมในสปิริตการแข่งขันอย่างแท้จริง
ย้อนกลับมามองถึงผลงานของทีมแบดมินตันไทยในโอลิมปิกครั้งนี้ ถ้าจะบอกว่าประสบ “ความล้มเหลว” นั้น อาจพูดได้ไม่เต็มปากเท่าใดนัก แต่คงอาจกล่าวได้ว่า “ผิดความคาดหมาย” จากการคาดหวัง คงให้น้ำหนักคำนี้มากกว่า อย่างที่เคยได้วิเคราะห์มาแล้วว่า “ความหวัง คาดหวัง ใครหวัง” นั้น นอกเหนือจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกจะเป็นที่รวมของบรรดาสุดยอดนักกีฬาจากทุกมุมโลก 4 ปีครั้งแล้ว ยังเป็นที่รวมความเครียด ความกดดัน ความไม่แน่นอนอีกด้วย เราจึงเห็นการด่วนตกรอบของบรรดาตัวเต็งในแต่ละประเภทอย่าง เคนโตะ โมโมตะ ความหวังสูงสุดของเจ้าภาพ ในประเภทชายเดี่ยว เควิน/กีเดียน มืออันดับ 1 โลกจากอินโดนีเซีย ในประเภทชายคู่ ชาง เป็งสุน/โก๊ะ หลิว หยิง ของมาเลเซีย เหรียญเงินโอลิมปิกริโอเกมส์ ในประเภทคู่ผสม ล้วนต่างโดนพิษของความกดดันและความคาดหวังทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานของทีมแบดมินตันไทยผิดความคาดหมาย ผิดเป้าหมายไป อยู่ที่ว่าเราจะนำความผิดพลาดครั้งนี้ไปปรับปรุงแก้ไขอย่างไรในโอลิมปิกครั้งต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้ามากกว่า
บทสรุปผลงานของน้องๆ นักกีฬาแบดมินตันไทย ผมคงจะไม่กล่าวถึงอีก เพราะทุกท่านคงได้เห็นจากการถ่ายทอดสดกันไปแล้ว แต่ “บทสรุปที่ไม่จบ” นั้น ความหมายในที่นี้คือ แบดมินตันไทยของเราควรมีทิศทางไปทางใด ควรจะเสริมเพิ่มอะไร เพื่อลดจุดอ่อน ลดข้อผิดพลาด ลดช่องว่าง แม้เพียงจุดเล็กจุดน้อยแต่สำคัญ
สิ่งที่ได้เห็นในทีมกีฬาประเภทต่างๆ หากไม่รวมนักกีฬา สตาฟโค้ช ทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ประจำทีม ฯลฯ แล้ว ยุคสมัยใหม่นี้เราคงได้ยินว่ามีนักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักกายภาพ หมอนวดประจำทีม นักโภชนาการทีม เป็นส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ทีมอยู่บ่อยๆ เพราะปัจจุบันการมีนักกีฬาที่เก่ง ทีมงานสตาฟโค้ชสุดยอด เพียงแค่นี้ไม่เพียงพอที่จะนำพาไปจุดสูงสุดคือชนะเลิศเสียแล้ว ทีมงานเบื้องหลังที่คอยสนับสนุนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก การเตรียมร่างกายนักกีฬาให้พร้อมสมบูรณ์ที่สุด ล้วนมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นทีมงานสนับสนุนเบื้องหลังดังกล่าวจึงมีบทบาทอย่างมากที่หลายชาติให้ความสำคัญ และหากเรามีทีมงานที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเพิ่มเติมขึ้นไปอีกขั้นล่ะ จะยิ่งทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นไปอีกไหม ในระยะสั้นอาจจะไม่เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนัก แต่ในระยะยาวเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทีมกีฬาของเรา (ไม่จำกัดเฉพาะกีฬาแบดมินตันเท่านั้น) อย่างแน่นอน ซึ่งทีมงานเบื้องหลังที่ผมหมายถึงนี้คือ นักจิตวิทยาการกีฬาประจำทีม และนักวิเคราะห์สถิติการกีฬาประจำทีม
นักจิตวิทยาการกีฬาประจำทีม
หลายคนอาจเข้าใจว่า โค้ช นอกเหนือจากการทำหน้าที่ฝึกสอน ซ้อม วางแผนรูปแบบการเล่นให้นักกีฬาแล้ว ตัวโค้ชต้องมีจิตวิทยาในการสื่อสารกับนักกีฬาด้วย ซึ่งหากมองผิวเผินก็อาจใช่ แต่สำหรับระดับโลกแล้ว การที่โค้ชคนหนึ่งทำหน้าที่หลายๆ อย่างพร้อมกันก็ไม่ใช่ว่าจะดี อาจมีคนที่ทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดีทั้งหมด แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่มีจิตวิทยา ไม่สามารถสื่อสารกับนักกีฬาได้เช่นกัน การมีนักจิตวิทยาการกีฬาประจำทีมเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้โค้ชสามารถโฟกัสอยู่ที่การฝึกสอนและการแก้เกมในระหว่างแข่ง ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นในส่วนสภาพจิตใจนักกีฬา เพราะหากมีนักจิตวิทยาการกีฬาแล้ว นักกีฬาจะได้รับการฝึกจิตใจ วิธีคิด รู้จักควบคุมตัวเอง พร้อมรับมือในสภาวะกดดันจากผู้ที่มีประสบการณ์การสอนด้านจิตวิทยาโดยตรง
กรณีตัวอย่างความสำคัญของนักจิตวิทยาการกีฬาที่ชัดเจนคือในช่วง 7 วินาทีทองสุดท้ายของ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ สามารถควบคุมสมาธิ ความนิ่ง และความกดดันจากคะแนนที่ตามอยู่ และใช้เท้าซ้ายทำ 2 คะแนนพลิกกลับมาชนะนักเทควันโดสาวชาวสเปน คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ให้กับสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังส่วนหนึ่งจากการให้สัมภาษณ์สื่อของน้องเทนนิส เหตุที่ควบคุมสมาธิและจิตใจได้นั้น เป็นเพราะได้คุยกับนักจิตวิทยาทุกวัน ช่วยแก้ไขปัญหาความรู้สึกกดดันในจิตใจได้นั่นเอง
นักวิเคราะห์สถิติการกีฬาประจำทีม
“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ข้อคิดเชิงปรัชญาจากซุนวูนี้ยังคงใช้ได้เสมอ ในด้านการแข่งขันก็เช่นกัน การศึกษาข้อมูล ลักษณะ วิธีการ รูปแบบการเล่นของคู่แข่งที่เราจะเจอนั้น เชื่อว่านักกีฬาทุกคนคงทำแบบนี้อยู่แล้ว ทั้งจากการศึกษาผ่านคลิปการแข่งขัน หรือจากที่เคยได้แข่งขันกันมาในอดีต แต่จะดีกว่าไหมหากมีนักวิเคราะห์สถิติการกีฬา ศึกษา ประเมิน วิเคราะห์รูปแบบการเล่น จุดอ่อน จุดแข็งของคู่แข่ง โดยอาศัยจากการศึกษาข้อมูลการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ มากกว่าศึกษาข้อมูลจากคลิปการแข่งขันแต่เพียงอย่างเดียว แล้วอาศัยจากการคาดเดารูปแบบการเล่นในระหว่างแข่งต่อไป หลายทีมกีฬาในต่างประเทศต่างมีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สถิติประเมินคู่แข่งกันทั้งนั้น เพื่อเป็นทีมงานสนับสนุน สรุปรายงานจุดเด่นจุดด้อยของคู่แข่งต่อนักกีฬา สตาฟโค้ช ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้การทำงานมีรูปแบบ เป็นระบบ และช่วยเหลือทีมทำงานได้ง่ายขึ้น
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทีมแบดมินตันทีมชาติญี่ปุ่นมีตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สถิติประจำทีมนี้ คอยทำหน้าที่วิเคราะห์การเล่น จุดแข็ง-จุดอ่อน ประเมินรูปแบบการเล่นของคู่แข่งแต่ละคน ประชุมร่วมกับสตาฟโค้ช นักกีฬา สรุปรายงานวันต่อวัน ส่งผลให้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา แบดมินตันทีมชาติญี่ปุ่นสามารถต่อกรได้อย่างสูสีกับมหาอำนาจเดิมอย่างทีมชาติจีน แล้วครองความยิ่งใหญ่ในหลายๆ ประเภท อาทิ ประเภทชายเดี่ยว ประเภทหญิงคู่ (แต่มาเสียรังวัดกับโอลิมปิกที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ โดยสามารถคว้าเพียง 1 เหรียญทองแดงจากประเภทคู่ผสม จากเป้าหมาย 3 เหรียญทอง)
จะเห็นได้ว่าบทสรุปของแบดมินตันไทยในโอลิมปิกครั้งนี้ แม้เราพบกับความผิดหวัง ไม่เป็นไปตามคาดหวัง แต่ภารกิจสำคัญยังไม่จบ การพัฒนาความก้าวหน้าของแบดมินตันไทยยังต้องมีอยู่อย่างต่อเนื่อง มองในแง่บวก ความผิดหวังโอลิมปิก สะท้อนมุมมองปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น หากสามารถทำได้แล้ว เชื่อเหลือเกินว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า โอลิมปิก 2024 ปารีสเกมส์ เราคงได้สมหวังกับการสร้างประวัติศาสตร์ “เหรียญรางวัลโอลิมปิกแรก จากกีฬาแบดมินตัน” จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
โดย ปุ๊ กว่างโจว
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม