Link Copied!

ฤๅยุทธวิธีผิดพลาด แบดไทยในโธมัส-อูเบอร์ คัพ

แม้ว่าการแข่งขันแบดมินตันชิงแชมป์โลก ประเภททีมชายอย่าง “โธมัส คัพ” และประเภททีมหญิง “อูเบอร์ คัพ” ซึ่งจัดแข่งขันทุกๆ 2 ปี โดยครั้งก่อนจัดขึ้นในปี 2018 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่วนครั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนจากปี 2020 มาแข่งขันกันในปีนี้ที่ประเทศเดนมาร์กเป็นเจ้าภาพ จะจบการแข่งขันได้สักพักแล้ว ซึ่งครั้งนี้ “แชมป์เก่า” ทีมชาติจีน ในประเภททีมชาย และทีมชาติญี่ปุ่น ในประเภททีมหญิง ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ โดยแชมป์โลกประเภททีมชาย “โธมัส คัพ” ทีมชาติอินโดนีเซีย สามารถครองแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ด้วยการเอาชนะทีมชาติจีน 3-0 คู่ ส่วนแชมป์โลกประเภททีมหญิง “อูเบอร์ คัพ” ทีมชาติจีนสามารถกลับมาครองความยิ่งใหญ่ คว้าแชมป์ได้อีกครั้ง ด้วยการเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่น 3-1 คู่

แบดไทยในโธมัส คัพ

สำหรับผลงานของทีมแบดมินตันชายไทย หากดูที่ผลการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แฟนแบดมินตันหลายคนอาจไม่สบอารมณ์เท่าใดนัก เพราะไม่สามารถผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศได้ ทั้งๆ ที่มีผู้เล่นอันดับโลกสูงอย่าง กันตภณ หวังเจริญ และดาวรุ่งพุ่งแรง กุลวุฒิ วิทิตศานต์ แชมป์ชายเดี่ยวเยาวชนโลก 3 สมัยติดต่อกันคนแรกของโลกอยู่ในทีมชุดนี้ แต่เนื่องจาก “โธมัส คัพ” คือการแข่งขันแบดมินตันชิงแชมป์โลก ประเภททีมชาย การที่ชาติใดสามารถคว้าแชมป์ได้นั้น ไม่เพียงแค่มีนักกีฬาระดับโลกเพียงคนเดียวหรือประเภทเดียว แต่หมายรวมถึงทั้งทีม ทั้งประเภทเดี่ยวและคู่ จากอดีตที่ผ่านมามีชาติมหาอำนาจในวงการแบดมินตันที่สามารถคว้าแชมป์โธมัส คัพได้เพียง 5 ชาติเท่านั้น คือ อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเดนมาร์ก

จากอดีตถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเราก็ไม่เคยผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศเลยนับตั้งแต่จัดการแข่งขันมา ผลงานที่ดีที่สุดของทีมแบดชายไทยก็คือการผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งครั้งนี้เราก็สามารถทำได้ดีกว่าครั้งที่เราเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2018 ที่ไม่สามารถผ่านรอบแบ่งกลุ่ม โดยเป็นที่ 3 ของกลุ่ม เป็นรองอินโดนีเซียและเกาหลีใต้

แม้ทีมแบดชายไทยจะไม่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ครั้งนี้ถือว่าเราทำผลงานได้อย่างน่าพอใจ เพราะในรอบแบ่งกลุ่ม ทีมแบดชายไทยอยู่ในกลุ่มแข็งอย่างมาก มีเพื่อนร่วมสายอย่างอินโดนีเซีย ทีมวางอันดับ 1 และไต้หวัน ทั้งสองทีมคือมหาอำนาจที่มีอันดับโลกสูงกว่าไทย โดยเฉพาะไต้หวันมีนักกีฬาชายเดี่ยวที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกถึง 2 คนคือ โจวเทียนเฉิง (อันดับ 4) และ หวังซึเหว่ย (อันดับ 10) และมีนักกีฬาชายคู่ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020 โตเกียวเกมส์ครั้งล่าสุดอย่าง หลี่หยาง และ หวังชิหลิน อยู่ในทีม แต่ในนัดแรกปรากฏว่าทีมแบดชายไทยก็สามารถเอาชนะทีมแบดชายไต้หวันมาได้ 3-2 คู่ แม้ว่านัดต่อมาทีมแบดชายไทยจะพ่ายต่ออินโดนีเซีย 2-3 คู่ โดย 2 คะแนนที่ไทยเราได้มาจากอินโดนีเซียนั้น เป็นผลงานจากประเภทชายเดี่ยวมือ 1 และ 2 แต่ผลการแข่งขันก็เพียงพอที่ทำให้เราผ่านเข้ารอบมาได้

เรื่องที่เป็นข้อเสียเปรียบของทีมแบดชายไทยครั้งนี้คือ การที่เราขาดแคลนนักกีฬาประเภทชายคู่ที่มีประสบการณ์ในเวทีแข่งขันระดับนานาชาติและระดับโลก นักกีฬาส่วนใหญ่ชุดนี้เป็นเยาวชนดาวรุ่งที่เพิ่งก้าวขึ้นมาติดทีมชาติชุดใหญ่ รวมถึงศักยภาพผู้เล่นอันดับโลก เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงด้านแบดมินตันแล้วเป็นรองแทบทุกทีม ซึ่งคงต้องรอให้ดาวรุ่งเราเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เดินทางแข่งขันตามทัวร์นาเมนต์ของประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น หากทำได้ตามนี้ เมื่อบวกกับนักแบดชายเดี่ยวมือระดับโลกที่มี เชื่อได้เลยว่าการแข่งขันครั้งหน้าที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ ทีมชายโธมัส คัพของไทยอาจสร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบรองชนะเลิศ คว้าเหรียญรางวัลการแข่งขันครั้งแรกก็เป็นได้

แบดไทยในอูเบอร์ คัพ

ผลงานของทีมแบดสาวไทยในอูเบอร์ คัพเมื่อปี 2018 สามารถคว้าตำแหน่งรองแชมป์เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของวงการแบดมินตันไทย ดังนั้นในอูเบอร์ คัพครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทีมแบดสาวไทยต้องได้รับการคาดหมายจากแฟนๆ ชาวไทยว่าอย่างน้อยต้องสามารถผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ การันตีเหรียญรางวัลใดๆ ให้ได้ การได้เป็นทีมวาง 1 ใน 4 ของกลุ่ม ล้วนเป็นการสร้างความกดดันให้กับทีมแบดสาวไทยทุกคนอีกทางหนึ่ง เนื่องจากมีนักกีฬาหลายคนที่เป็นดาวรุ่ง ติดเป็นตัวแทนทีมชาติครั้งแรก

อย่างไรก็ดีผลงานในรอบแบ่งกลุ่มบี มีชาติร่วมสายอย่างอินเดีย สเปน สกอตแลนด์ ก็ไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งเท่าใดนัก ทีมแบดสาวไทยสามารถเอาชนะทั้งสามทีมไปได้โดยไม่เสียแม้แต่เกมเดียว ผ่านเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศ พบกับทีมแบดสาวจากอินโดนีเซีย และเป็นสาวไทยที่สามารถเบียดเอาชนะ 3-2 คู่ ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศตามเป้าหมายอย่างน้อยได้

แล้วอะไรล่ะที่บ่งบอกว่า ฤๅยุทธวิธีผิดพลาด? ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แม้ทีมแบดสาวไทยจะเป็นทีมวางอันดับ แต่ด้วยศักยภาพนักแบดสาวไทยนั้น จริงๆ แล้วชั้นเชิง เทคนิค ความแน่นอน รวมถึงรูปแบบการเล่นของแต่ละคนยังสู้ชาติอื่นๆ ไม่ค่อยได้ กล่าวได้ว่ามีเพียงแค่ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ที่ขึ้นถึงระดับโลกจริงๆ คนเดียว และยิ่งการแข่งขันประเภททีมต้องอาศัยผู้เล่นคนอื่นๆ ทำผลงานให้ดีในวันนั้นด้วยแล้ว การจะทำผลงานให้เหมือนหรือใกล้เคียงการแข่งขันครั้งก่อนจึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ต้องอาศัยการวางแผน กลยุทธ์วางตัวผู้เล่นจากทีมงานโค้ชอย่างละเอียดถี่ถ้วนนั่นเอง

คู่แข่งในรอบรองชนะเลิศคือ ทีมแบดสาวจีน แชมป์อูเบอร์ คัพ 14 สมัย ถือเป็นงานหินสำหรับทีมแบดสาวไทยเป็นอันมาก เพราะในทีมจีนประกอบไปด้วยนักกีฬาระดับโลกอย่าง เฉินยู่เฟย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก โตเกียวเกมส์ เหอปิงเจียว มืออันดับ 9 โลก และ เฉินชิงเฉิน/เจี่ยยี่ฟาง เหรียญเงินหญิงคู่ในโอลิมปิก และมืออันดับ 2 โลก ร่วมกับนักแบดดาวรุ่งมีดีกรีระดับโลกทุกคนอยู่ในทีม ขณะที่ทีมสาวไทยมีเพียง “เมย์” ที่น่าจะสามารถสู้ได้อย่างสูสีที่สุด แต่ด้วยเรื่องสภาพจิตใจจากการสูญเสียคุณแม่คำผัน และสภาพความฟิตที่ไม่สามารถฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ การวางยุทธวิธีเพื่อเอาชนะทีมจีนจึงต้องเสี่ยงวัดกำลังในมือวางอันดับรองลงมา ความได้เปรียบของ “เมย์” ในครั้งนี้จึงมีแค่อันดับโลกที่สูงกว่า “หมิว” พรปวีณ์, “ครีม” บุศนันท์, “จิว” พิชญาภา และคนอื่นๆ เท่านั้น การจับให้เมย์ลงสนามเจอกับ เฉินยู่เฟย มือวางอันดับ 1 นั้นจึงเป็นเรื่องของแทคติกของทีม พร้อมกับปรับแผน แยกคู่หญิงคู่มือหนึ่งของไทยให้ไปวัดกับหญิงคู่มือ 2 ของจีน (หากหญิงเดี่ยวมือ 2 ของทีมสามารถเอาชนะได้) พูดง่ายๆ คือ ยอมเสียคะแนนประเภทเดี่ยวมือ 1 และคู่มือ 1 เพื่อไปวัดกับมือรองลงมาน่าจะเป็นแทคติกที่เราจะสามารถเอาชนะได้ เป็นการวางมือที่ดีที่สุดเท่าทีเรามีโอกาสจะพลิกได้

แม้ท้ายที่สุดแทคติกที่วางไว้ของทีมแบดสาวไทยไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของทีมแบดสาวจีน โดยในประเภทเดี่ยวมือ 2 “หมิว” พรปวีณ์ แพ้ต่อ เหอปิงเจียว มืออันดับ 9 โลก จนทำให้ทีมแบดสาวไทยพ่ายต่อทีมจีนไป 0-3 คู่ จบเส้นทางแชมป์อยู่ที่รอบรองชนะเลิศ คว้าอันดับ 3 ในการแข่งขัน แต่ก็นับได้ว่าเป็นอันดับ 3 ที่น่าพอใจ เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ยุทธวิธีผิดพลาด? ส่วนตัวผมคิดว่า “ไม่ผิดพลาด” ครับ เพราะการวางแทคติกดังกล่าวเป็นไปตามสถานการณ์บังคับที่เราต้องลองเสี่ยงดู ด้วยสภาพนักกีฬาที่มี อันดับโลกที่ต่ำกว่า หนทางที่เอาชนะนั้นมีไม่มาก ทีมงานสตาฟโค้ชและผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเลือก หากเสี่ยงถูก สาวไทยสามารถเอาชนะได้ ก็ถือเป็นกำไรและเป็นการเสี่ยงที่ถูก แต่เมื่อผลลัพธ์คือ เสี่ยงผิด ความพ่ายแพ้ที่เกิดก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะที่สุดแล้วทีมแบดสาวจีนก็สามารถเอาชนะแชมป์เก่าอย่างทีมญี่ปุ่น 3-1 คู่ คว้าแชมป์อูเบอร์ คัพ แชมป์โลกแบดมินตันประเภททีมหญิงอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นชาติที่ได้แชมป์มากที่สุดถึง 15 ครั้งอีกด้วย

ประสบการณ์ที่ต้องสะสม

จะเห็นได้ว่าทั้งทีมแบดชายไทยโธมัส คัพ ทีมแบดหญิงไทยอูเบอร์ คัพ จะยังไม่สามารถก้าวไปสู่จุดสูงสุดของการเป็นแชมป์ (ซึ่งยากมากๆ ทีเดียว) แต่ทีมไทยก็มีพัฒนาการที่ดี ในโธมัส คัพ ทีมแบดชายไทยพ่ายแพ้ให้กับแชมป์โลกอินโดนีเซีย 3-2 คู่ ถือเป็นผลการแข่งขันที่ดีกว่าทีมจีน คู่ชิงชนะเลิศที่พ่าย 0-3 คู่เสียอีก ส่วนอูเบอร์ คัพ ทีมแบดสาวไทยก็พ่ายแพ้ให้กับแชมป์โลกอย่างจีนในรอบรองชนะเลิศ ก็เพราะความไม่สมบูรณ์ของนักกีฬา และประสบการณ์ในเวทีระดับโลกที่น้อยกว่า ยุทธวิธีที่เราวางทั้งสองทีมโดยเฉพาะทีมอูเบอร์ คัพ ต้องถือว่ายอดเยี่ยมเท่าที่จะเป็นไปได้ ณ ตอนนั้นแล้ว ในแวดวงการแบดมินตันน่าจะรู้ดี การเข้าถึงรอบรองชนะเลิศและพ่ายแพ้ต่อจีน จึงไม่สมควรที่จะถูกตำหนิครับ

สำหรับรายการที่เพิ่งจบลงอย่าง วิคเตอร์ เดนมาร์ก โอเพ่น 2021 รายการเก็บคะแนนสะสมโลกเวิลด์ทัวร์ระดับ 1000 ประเภทบุคคล และโยเน็กซ์ เฟรนซ์ โอเพ่น 2021 เวิลด์ทัวร์ระดับ 750 ที่กำลังทำการแข่งขันอยู่ตอนนี้ จะเป็นบทพิสูจน์และสร้างประสบการณ์ให้บรรดานักแบดมินตันไทยในเวทีระดับโลกอีกครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาความสำเร็จของทีมแบดมินตันชาย-หญิงของไทย ในการแข่งขันโธมัส-อูเบอร์ คัพ รอบสุดท้าย ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2022 ให้ได้ครับ

โดย ปุ๊ กว่างโจว

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares