Link Copied!

เพราะกำเนิดจากรากเหง้าเดียวกัน ตอนที่ 3

ความเหมือนและความต่างระหว่างหมากรุกไทยและหมากรุกสากล ก่อให้เกิดข้อเปรียบเทียบมากมายชวนให้สนใจและน่าศึกษา ข้อเหมือนและสิ่งต่างนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของสิ่งซึ่งถือกำเนิดมาจากรากเหง้าเดียวกัน

จากตอนที่แล้วที่ได้นำเสนอข้อเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของตัวหมากไปบ้างแล้ว เรามีหมากคิงและหมากขุนที่เหมือนกันอย่างแทบจะสมบูรณ์แบบ ข้อแตกต่างเดียวที่พอจะยกมากล่าวอ้างก็คงจะเป็นเรื่องของรูปพรรณสัณฐานของตัวหมาก ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่น แตกต่างไปตามอารยธรรมและมุมมองทางด้านศิลปะ

ตัวหมากอีกหนึ่งตัวหนึ่งชนิดที่มีความเหมือนกันในเรื่องของฟังก์ชั่นหน้าที่การทำงาน แต่มีความแตกต่างกันอย่างมากในด้านรูปร่างหน้าตาที่มองเห็น ตัวหมากตัวนี้ในเกมหมากรุกไทยเรียกว่า “เรือ” ในหมากรุกสากลเรียกว่า “รุก” (Rook) เป็นตัวหมากที่มีประสิทธิภาพในการเดินหรือการเคลื่อนที่เหมือนกัน คือเคลื่อนที่ไปตามช่องตาที่ว่างทั้งแนวตั้งและแนวนอน ไม่จำเป็นต้องเดินไปให้ถึงสุดทางช่องตาที่ว่าง แต่เลือกหยุดบนช่องตาที่ว่างช่องไหนก็ได้

ตำแหน่งที่ตั้งของตัวหมากเรือและ “รุก” ตอนเริ่มต้นเกมก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน คือมุมกระดานทั้งสี่มุม พูดถึงเรื่องตำแหน่งการตั้งตัวหมากบนกระดานตอนเริ่มต้นเกม หมากคิงและหมากขุนจะตั้งตำแหน่งแตกต่างกันเล็กน้อย ขุนในหมากรุกไทยจะตั้งอยู่บนช่องตาแถวแนวนอนแถวแรก และนับจากช่องแรกไปทางขวามือจำนวนสี่ช่อง ช่องตาที่สี่นี้เป็นตำแหน่งที่ใช้วางตัวขุน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหมากขาวหรือหมากดำก็ยึดวิธีวางตำแหน่งหมากขุนเหมือนกัน

ดังนั้นเมื่อตั้งตัวหมากทุกตัวเสร็จเรียบร้อย ขุนของทั้งสองฝ่ายจะไม่ยืนอยู่บนแถวแนวตั้งเดียวกัน แต่จะเยื้องค่อนไปทางซ้ายมือหนึ่งช่องตาของผู้เล่นแต่ละฝ่าย ซึ่งแตกต่างจากตำแหน่งหมากคิงของเกมหมากรุกสากล

คิงในหมากรุกสากลจะยืนตำแหน่งแตกต่างจากหมากขุน คิงของหมากฝ่ายสีขาวจะยืนอยู่บนช่องตาแนวนอนแถวแรกช่องที่ห้าจากซ้ายมือของผู้เล่น คือเลื่อนไปอีกหนึ่งช่องตาจากตำแหน่งขุนของหมากรุกไทย ในขณะที่หมากสีดำ คิงจะตั้งอยู่บนช่องตาที่สี่นับจากซ้ายมือของผู้เล่นหมากดำเอง ซึ่งก็จะยืนอยู่ในตำแหน่งเดียวกันหรือเหมือนกับขุนดำในหมากรุกไทย เมื่อเป็นเช่นนี้หมากคิงของทั้งสีขาวและสีดำจึงตั้งอยู่บนแถวแนวตั้งเดียวกัน หรือยืนตรงกันนั่นเอง

ทำไมหมากรุกสากลจึงตั้งตำแหน่งหมากคิงเช่นนั้น มีอยู่หนึ่งแนวคิดที่อธิบายเรื่องนี้ว่า น่าจะเป็นเพราะคิงของทั้งสองฝ่ายต้องหลบเลี่ยงจากอานุภาพการโจมตีของหมากควีนที่มีความรวดเร็วและรุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ายอมให้ควีนหมากขาวยืนตำแหน่งแถวแนวตั้งเดียวกันกับคิงดำ หมากดำจะยิ่งมีความเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น มีจุดอ่อนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกมการเล่นขาดความสมดุลไม่สนุก และคุณภาพในการเล่นต่ำมาก

บางคนอาจจะมีคำถามว่า แล้วทำไมหมากรุกไทยจึงตั้งหมากขุนค่อนมาทางด้านซ้าย แทนที่จะเป็นหมาก “เม็ด” คำถามนี้ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดหรือข้อสันนิษฐานนำมาอ้างอิงได้ แต่พอจะมีแนวคิดที่อาจจะอธิบายได้อย่างน่าพิจารณาคือ เป็นหลักความเชื่อตามประเพณีไทยโบราณ และอาจจะสืบทอดมาจากหลักคิดหลักปฏิบัติของราชสำนักขอมในอดีต นั่นคือการยกย่องพระราชาผู้เป็นใหญ่ที่สุด สำคัญที่สุด ให้ประทับหรืออยู่ทางด้านซ้ายเสมอ แต่เป็นเพียงแนวคิดที่ยังเลื่อนลอยไม่แน่ชัด

ย้อนกลับมาที่ตัวหมากเรือและตัวหมาก “รุก” พูดถึงรูปพรรณสัณฐานหรือลักษณะของหมากตัวนี้ “รุก” ในหมากรุกสากลมีรูปร่างดูเหมือนหอคอยของปราสาทในยุคสมัยศักดินาของยุโรป หอคอยนี้ยามมีศึกสงครามก็จะใช้เป็นจุดสังเกตการณ์หรือตรวจการณ์พื้นที่การรบ หรืออาจจะเป็นตำแหน่งซุ่มยิงของพลธนู หรือติดตั้งปืนใหญ่ก็สามารถทำได้ บางทีเราจึงได้ยินบางคนเรียกตัวหมาก “รุก” ว่า คาสเซิล (Castle) หรือปราสาทนั่นเอง

ซึ่งรูปร่างลักษณะของตัวหมากเรือในหมากรุกไทยกลับไม่เหมือนเรือแม้แต่น้อย ลักษณะของตัวหมากคล้ายหมุดบนหัวเสา หรือบนยอดสุดของคันธงในงานศิลปะสถาปัตยกรรมของไทย และการเรียกตัวหมากนี้ว่าเรือ ก็คงจะเป็นเพราะประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ ที่ไม่มีตัวหมากตัวอื่นใดในหมากรุกไทยจะสามารถเทียบชั้นกับตัวหมากนี้ได้ และคงเป็นความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยที่มีความคุ้นเคยกับเรือ ซึ่งคนไทยใช้เป็นยานพาหนะในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่อดีต

รูปร่างลักษณะทรวดทรงของตัวหมากรุกไทยที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นรูปทรงมาตรฐานที่นักหมากรุกไทยหรือผู้ที่เล่นและดูหมากรุกไทยอย่างเข้าใจจะรู้จักและระบุได้ว่า ตัวหมากแต่ละตัวคือตัวอะไร เรียกว่าอะไร และเดินอย่างไร จะเรียกว่าเป็นรูปทรงมาตรฐานก็คงจะไม่เกินเลยไปนัก เช่นเดียวกับชุดตัวหมากแบบมาตรฐานของหมากรุกสากลที่เรียกว่า แบบสตอนตัน (Staunton) และก็คงยากที่จะระบุว่ารูปพรรณสัณฐานของตัวหมากรุกไทยมีที่มาอย่างไร หรือใครเป็นผู้ออกแบบ แต่จากการสังเกตและพิจารณาอย่างคร่าวๆ รูปร่างลักษณะของตัวหมากรุกไทยนั้น คงจะเลียนแบบหรือลอกเอาจากสิ่งของเครื่องใช้ที่รายล้อมอยู่รอบตัวของคนไทยในยุคก่อน ตัวหมากขุน โคน และเม็ดของหมากรุก มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน ต่างกันที่ขนาด โดยขุนจะมีขนาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือโคน และเล็กที่สุดคือเม็ด ทั้งสามตัวหมากมีลักษณะเหมือนพานพุ่มเครื่องราชบรรณาการ หรืออาจจะเป็นการเลียนแบบถ้วยชามของประดับมีราคาในตระกูลที่มีอันจะกิน บ้างก็ว่าทรวดทรงของตัวหมากทั้งสามตัวนี้ออกแบบให้คล้ายกับโกศที่ใช้บรรจุพระบรมศพ ซึ่งก็คงเป็นมุมมองที่ไม่สามารถบอกให้แน่ชัด ตัวหมากเรือนั้นอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า คงเลียนแบบตัวหมุด หรือหัวหมุดบนหัวเสา หรือยอดสุดของคันธง ส่วนเบี้ยคงจะใช้วัสดุสิ่งของอะไรก็ตามแต่ที่หาได้ง่าย ที่เข้าใจกันว่าเป็นเปลือกหอยนั้นก็ไม่ยืนยัน อาจจะมีใช้หรืออาจจะเป็นวัสดุสิ่งของอย่างอื่นก็ได้

คิดว่าในสมัยแรกๆ ที่เกมหมากรุกได้เข้าสู่อุษาคเนย์คงนิยมเล่นกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองเท่านั้น เพราะความยากในการจัดทำตัวหมาก อย่างง่ายที่สุดนั้น ตัวหมากน่าจะทำจากชิ้นไม้ และนำมาแกะสลักด้วยช่างฝีมือ ซึ่งต้องอาศัยทักษะพิเศษที่ชาวบ้านคนทั่วไปไม่สามารถ หรือทำได้ยาก ต่อเมื่อเกมหมากรุกเป็นที่นิยมเล่นกันมากขึ้นในหมู่ประชาชน การผลิตและทำตัวหมากก็กระจายออกไป แต่ก็จะมีความหยาบความละเอียดตามแต่ความสามารถของผู้ผลิต หรือตามระดับฐานะความเป็นอยู่ของเจ้าของชุดตัวหมากนั้นๆ

มาถึงการเปรียบเทียบตัวหมากอีกหนึ่งชนิดที่ต้องบอกว่ามีความเหมือนกันอย่างมากที่สุด เป็นตัวหมากตัวเดียวที่นักหมากรุกสากลผู้ที่ไม่เคยเห็นตัวหมากรุกไทยมาก่อน หรือนักหมากรุกไทยผู้ที่ไม่เคยเห็นตัวหมากของชุดหมากรุกสากลมาก่อนจะรู้และเข้าใจตรงกันว่า นี่คือหมากม้าหรืออัศวิน

ม้า หรือทางสากลเรียกว่า ไนท์ (Knight) ซึ่งแปลว่า อัศวิน นั้น มีลักษณะที่แม้แต่เด็กเล็กที่เพิ่งหัดเรียนและเริ่มเล่นหมากรุก ก็จะสามารถจดจำหน้าตาของหมากตัวนี้ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว รูปร่างของหัวม้า หน้ายาว หูตั้งชูชัน ก้มหน้างุ้ม มีทิศทางและประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่เหมือนกัน แต่การอธิบายถึงทิศทางการเดินของหมากตัวนี้กลับเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก ไม่ชัดเจนง่ายดายเหมือนหน้าตาของมัน แต่ ณ ที่นี้คงจะไม่ขอกล่าวถึงอีก เพราะได้เคยอธิบายไว้แล้วในบทความครั้งก่อนๆ

ถึงตอนนี้เราได้ทราบแล้วว่ามีตัวหมากที่มีความเหมือนกันอยู่สามชนิดจากเกมหมากรุกทั้งสองประเภท ความเหมือนกันในด้านประสิทธิภาพ ทั้งทิศทางในการเคลื่อนที่ บทบาทหน้าที่ของมันบนกระดาน คุณค่าหรือค่าพลังประจำตัวหมาก (ซึ่งจะได้นำมากล่าวถึงและนำเสนอในภายหลัง) ความเหมือนเหล่านี้ทำให้เกมหมากรุกไทยและหมากรุกสากลมีเนื้อหาหรือสาระในการเล่นที่คล้ายกัน จนในบางครั้งเราอาจจะใช้แทคติกหรือกลยุทธ์ในการเดินหมากมาแทนกันหรือเรียกแทนกันได้

บทความตอนต่อไปจะนำเสนอและกล่าวถึงตัวหมากที่เหลือ ซึ่งมีภาพรวมที่ทำให้เกมหมากรุกไทยและหมากรุกสากลนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares