อาณาจักรคุปตะ ประเทศอินเดีย ในสมัยโบราณ เมื่อประมาณ 1,500 กว่าปีล่วงมาแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของเกมหมากกระดานที่ถือว่าเก่าแก่และมีพัฒนาการมายาวนานมากที่สุด เรียกว่า จัตุรงค์ (Chaturanga) ซึ่งนักประวัติศาสตร์ให้การยอมรับว่า นี่คือรากเหง้าเดียวที่ได้สืบเนื่องมาจนกลายเป็นเกมหมากรุกสากล และเกมหมากรุกแบบอื่นๆ ที่นิยมเล่นกันในทุกภูมิภาคทั่วโลก ณ ปัจจุบันนี้
เกมจัตุรงค์ หรือ ชาทตูรังกา ถูกนำไปเผยแพร่สู่ภูมิภาคต่างๆ ผ่านการคมนาคมติดต่อสื่อสารไปมาหาสู่กัน และในแต่ละท้องถิ่นต่างก็รับเกมจัตุรงค์ไปปรับปรุงพัฒนาให้กลืนเข้ากับประเพณีวิถีชีวิต ความเชื่อ และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ จนกลายมาเป็นเกมหมากรุกนานาชนิดที่นิยมเล่นกันในวันนี้
จากบทความตอนที่ผ่านมา ได้เปรียบเทียบความเหมือนและความต่างในหลายๆ ด้าน ระหว่างหมากรุกสากลและหมากรุกไทย ซึ่งทั้งสองต่างก็เป็นผลสืบเนื่องจากวิวัฒนาการของเกมจัตุรงค์ ในตอนนี้เราจะมาตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างตัวหมากบิชอปในเกมหมากรุกสากล และตัวหมากโคนของหมากรุกไทย
ตัวบิชอปมีรูปลักษณะเห็นเป็นหมวกที่สวมอยู่บนศีรษะของบาทหลวงในศาสนาคริสต์ ในเกมหมากรุกสากลนั้น ฝ่ายหนึ่งจะมีบิชอปอยู่สองตัว ตำแหน่งเริ่มต้นหรือตำแหน่งก่อนเริ่มเล่นเกม ตัวหนึ่งจะยืนตำแหน่งบนช่องตาที่ 3 จากซ้ายมือของผู้เล่นในแถวแนวนอนแรก อีกตัวหนึ่งจะอยู่บนช่องตาที่ 3 จากขวามือ หรือช่องตาที่ 6 ถ้านับต่อเนื่องมาจากทางซ้ายมือ ทั้งสองฝ่ายตั้งหมากตัวนี้เหมือนกัน
เราจะสังเกตเห็นว่า บนกระดานหมากรุกสากลมีช่องตาสีเข้มและสีจางเรียงสลับเป็นแนวทแยงพาดไปมาอยู่ ตัวหมากบิชอปจึงยืนตำแหน่งบนกระดานบนช่องตาคนละสีกัน โดยตัวทางซ้ายมือของผู้เล่นจะยืนอยู่บนช่องตาสีเข้ม และตัวทางขวาจะยืนอยู่บนช่องตาสีจาง และทั้งคู่จะยืนและเดินไปมาอยู่บนช่องตาสีของตัวเองเช่นนี้ไปจนกว่าเกมการเล่นจะจบสิ้นลง หรือตัวมันเองถูกกินและถูกนำออกจากกระดาน เช่นนี้เราจึงเห็นว่าบิชอปหนึ่งตัว ไม่ว่าจะยืนอยู่บนช่องตาสีอะไร จะสามารถเคลื่อนที่ได้เพียง 32 ช่องตา หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของพื้นที่บนกระดานเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนหรือความอ่อนด้อย แต่ตัวหมากบิชอปจะก้าวเดินไปตามเส้นทางได้ในระยะไกลเหมือนอย่างหมากรุค หรือเรือ หรือควีน ก็พอจะชดเชยและเสริมพลังให้แก่ตัวมันอยู่บ้าง และจะดีมากที่สุด ถ้าผู้เล่นฝ่ายหนึ่งจะยังคงรักษาบิชอปทั้งสองตัวไว้ตลอดการเล่นเกม เพราะถ้ามีทั้งคู่อยู่บนกระดาน นั่นก็คือประสิทธิภาพในการครอบครองพื้นที่บนกระดานได้ทั้งหมด และยังสามารถรุกจนคิงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เมื่อเทียบชั้นหมากที่ใกล้เคียงกันคืออัศวินหรือม้า ซึ่งม้าทั้งสองตัวอาจจะยากหรือถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำการรุกจนคิงฝ่ายตรงข้าม
หมากบิชอปและหมากโคนยืนตำแหน่งเริ่มต้นเดียวกัน แต่อำนาจบทบาทและพลังประสิทธิภาพของตัวหมากแตกต่างกันอย่างมาก เช่นเดียวกับหมากควีนและเม็ด จึงเป็นอย่างที่เคยกล่าวไว้ข้างต้นว่า ข้อแตกต่างเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกมหมากรุกไทยแตกต่างจากเกมหมากรุกสากลอย่างสำคัญ
ก่อนจะพูดถึงหมากโคน ลองมาดูตัวหมากดั้งเดิมที่ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของบิชอปและโคนกันก่อน เผื่อว่าจะทำให้เราเข้าใจความเป็นไป การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาของตัวหมากโคนและบิชอปได้มากขึ้น
เมื่อจัตุรงค์พัฒนาการเล่นจากผู้เล่น 4 คนมาเหลือ 2 คน ตัวหมากที่ใช้แทนกองทัพช้าง ซึ่งภาษาสันสกฤตเรียกว่า “หัสดี” นั้น ถูกยุบมารวมเป็นกองทัพเดียวกัน เป็นสองตัวหมากที่ยืนตำแหน่งตอนเริ่มต้นถัดจากหมากคิงพระราชาและตัวหมากทหารรับใช้ โดยขนาบไว้ทั้งข้างซ้ายขวา เช่นเดียวกับตำแหน่งของบิชอปและโคนในสมัยปัจจุบันนี้ ส่วนความสามารถและประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่นั้น ยิ่งดูน่าเห็นใจกว่าตัวหมากบิชอปในยุคปัจจุบันเสียอีก
ถ้าเทียบกันให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยตัวเลข จะพบว่า บิชอป 2 ตัว มีประสิทธิภาพการเดินครอบคลุมทั้งกระดาน 64 ช่องตาหรือ 100% เต็ม บิชอปเพียงหนึ่งตัว ประสิทธิภาพเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง 32 ช่องตาหรือ 50% ขณะที่หัสดีหรือช้างสามารถเคลื่อนที่ไปมาบนกระดานได้แค่เพียง 8 ช่องตา หรือคิดเป็น 12.5% ช้างสองเชือกรวมกันครอบคลุมสมรภูมิพื้นที่การรบ 25% คิดเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ของกระดาน ตัวหมากตัวนี้มีลักษณะการเคลื่อนที่อย่างไรจึงทำให้ประสิทธิภาพของมันมีค่าเพียงน้อยนิดเท่านี้
ตัวหมากหัสดียืนตำแหน่งอยู่บนช่องตาที่ 3 และช่องตาที่ 6 บนแถวแนวนอนแถวแรกชิดขอบกระดาน เช่นเดียวกับหมากบิชอปของหมากรุกสากล และโคนของหมากรุกไทย ทั้งหมดยืนตำแหน่งในช่องตาที่เหมือนกัน แต่หัสดีนั้นมีรูปแบบวิธีการเคลื่อนที่ที่แปลกไปจากบิชอปและโคนอย่างมาก กล่าวคือ จากจุดเริ่มของช่องตาที่ตัวหมากยืนตำแหน่งอยู่ มันจะเดินเฉียงเป็นแนวทแยงทั้งสี่ทิศ เฉียงหน้าซ้าย เฉียงหน้าขวา เฉียงหลังซ้าย และเฉียงหลังขวา ท่านผู้อ่านต้องนึกภาพว่านี่มันเหมือนหรือมันคือการเดินของหมากเม็ดในหมากรุกไทยนี่นะ แต่หัสดีพิเศษกว่านั้นอีกเล็กน้อย คือเม็ดจะเดินเฉียงไปทิศทางไหนก็ได้เพียงหนึ่งช่องตา ส่วนหัสดีเดินเฉียงไปทางไหนก็จะกระโดดข้ามไปได้สองช่องตา ถ้าช่องตาที่ตัวหมากกระโดดลงไปนั้นว่าง หรือมีตัวหมากของคู่ต่อสู้ยืนตำแหน่งอยู่ และไม่คำนึงว่าช่องตาแรกที่กระโดดข้ามไปนั้นจะว่างหรือมีตัวหมากอะไรยืนตำแหน่งขวางทางอยู่ ลักษณะเช่นนี้น่าจะเป็นข้อด้อยของตัวหมากหัสดีมากกว่าเป็นข้อดี การกระโดดข้ามไปไกลได้ถึงสองช่องตานั้น ทำให้ตัวหมากเดินไปได้ไกลและเร็วกว่าเม็ด แต่นี่กลับทำให้หัสดีมีจุดยืนตำแหน่งเพียงแปดช่องตาเท่านั้นบนกระดาน ในขณะที่เม็ดมีช่องที่ยืนตำแหน่งได้มากกว่าถึง 4 เท่า คือ 32 ช่องตา พิจารณาดูจากภาพประกอบเรื่อง คุณผู้อ่านจะเห็นประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ของตัวหมากหัสดีได้อย่างชัดเจน และข้อสังเกตที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ นอกจากมันจะไม่สามารถยืนตำแหน่งบนช่องตาในกระดานได้ถึง 16 ช่องแล้ว หัสดีทั้งคู่ยังไม่สามารถเดินไปแตะขอบกระดานของฝั่งตรงข้ามได้เลย และถ้าตำแหน่งตั้งต้นตอนเริ่มเกมอยู่บนช่องตาที่ 3 จากด้านขวา มันก็จะไม่สามารถเดินไปแตะขอบกระดานทางซ้าย และก็เช่นกัน ตัวที่ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายช่องที่ 3 ก็จะไม่สามารถเดินไปแตะขอบกระดานทางด้านขวา
ด้วยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ถ้าตัวหมากหัสดีในเกมจัตุรงค์มีรูปแบบวิธีการเดินเช่นนี้จริง ก็น่าจะสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่า เซี่ยงฉีหรือหมากรุกจีนนั้น ก็น่าจะเป็นอีกสาขาหนึ่งของตระกูลเกมหมากรุกที่พัฒนาปรับเปลี่ยนมาจากเกมจัตุรงค์ด้วยเช่นกัน เพราะในเกมหมากรุกจีนมีหมากตัวหนึ่งที่เรียกว่า เซี่ยง ซึ่งหมายถึง ช้าง มีวิธีการเดินและยืนตำแหน่งตอนเริ่มเกมได้คล้ายคลึงกับหัสดีของเกมจัตุรงค์ และเช่นเดียวกันกับบิชอปของหมากรุกสากล และโคนของหมากรุกไทย คือยืนตำแหน่งเป็นลำดับที่ 3 ถัดจาก เชอ หรือในบ้านเราเรียก กือ ซึ่งเท่ากับรุคในหมากรุกสากล ต่อมาคือ หม่า หรือม้า ในบ้านเราเรียกเบ๊ แล้วจึงเป็น เซี่ยง หรือช้าง คนไทยเรียกเฉีย หมากรุกจีนนั้น ตัวหมากยืนตำแหน่งบนจุดตัด และเคลื่อนที่ไปมาบนเส้นที่เชื่อมระหว่างจุด เซี่ยง หรือ เฉีย ซึ่งมีวิธีการเดินเหมือนหัสดี แต่เป็นการกระโดดจากจุดตัดหนึ่ง ข้ามจุดตัดที่อยู่ในแนวทแยงหนึ่งจุด แล้วจึงไปหยุดยืน ณ จุดตัดที่สองที่อยู่ในแนวทแยงเดียวกัน หัสดีนั้นกระโดดไปลงช่องที่สองได้เลย ไม่ว่าช่องตาเฉียงที่อยู่ใกล้นั้นจะว่างหรือไม่ว่าง จะมีตัวหมากอะไรยืนขวางอยู่หรือไม่มี ขอเพียงช่องตาแนวเฉียงที่ไกลออกไปช่องที่สองนั้นว่าง หรือมีตัวหมากของคู่ต่อสู้ยืนอยู่ หัสดีก็สามารถเดินไปได้ แต่เซี่ยงของหมากรุกจีน ถ้าจุดตัดแรกในแนวทแยงที่ตัวหมากต้องการเคลื่อนที่ไปมีหมากตัวอื่นยืนขวางอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวหมากของฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายตรงข้าม เซี่ยง หรือช้างจะเดินข้ามไปลง ณ จุดตัดที่สองไม่ได้เลย ลักษณะนี้ เรียกว่า ขัดขาช้าง เป็นกติกาพิเศษเฉพาะของหมากรุกจีน
ด้วยความที่ตัวหมากหัสดี ค่อนข้างจะด้อยประสิทธิภาพในการใช้งาน มีข้ออ่อนด้อยอยู่มาก จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มันถูกปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการเดินเสียใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม และเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
โอกาสหน้า ผู้เขียนจะนำเสนอเรื่องของโคน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งร่างอวตารของตัวหมากหัสดีในแง่มุมของบทบาท ประสิทธิภาพและความเป็นมา
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม