Link Copied!

เมื่อผมเป็นอาร์บิเตอร์ ตอน มวยล้ม ต้มคนดู (1)

ในแวดวงการแข่งขันหมากรุกในช่วงนี้ มีประเด็นเรื่องหนึ่งถูกพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในวงหมากรุกสากลและหมากรุกไทย ก็คือเรื่องการสมยอมให้กันระหว่างผู้เล่น หรือการกำหนดผลการแข่งขันก่อนเริ่มเกมการแข่งขันระหว่างผู้เล่น

การสมยอมกันหรือตกลงกำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้าก่อนที่เกมจะเริ่มขึ้นนั้น ในแวดวงของผู้เล่นผู้แข่งขันเรียกกันง่ายๆ สั้นๆ ว่า “โยน” ก็คือการโยนคะแนนให้แก่กันระหว่างผู้เล่น ซึ่งส่วนใหญ่หรือแทบจะทั้งหมดมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกันและกันระหว่างผู้เล่นหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับเกมการแข่งขันทั้งทางตรงและทางอ้อม

เหมือนกับเกมกีฬาอีกหลายๆ ประเภทที่มีการกำหนด “ผล” การแข่งขันไว้ล่วงหน้า มีการจ่ายค่าตอบแทนหรือสัญญาตกลงว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ ถ้าผู้แข่งขันฝ่ายหนึ่งสมยอมให้ หรือยอมแพ้ให้แก่ฝ่ายที่เสนอค่าตอบแทน ฝ่ายเสนอได้คะแนน ฝ่ายที่สมยอมก็จะรับอามิสสินจ้างจะเป็นเงินหรือผลตอบแทนในลักษณะรูปแบบอื่นๆ ตามที่ตกลงกัน

ในแวดวงการแข่งขันของเกมหมากรุก การกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นและมีอยู่จริง ไม่ต่างจากการชกมวยหรือการแข่งขันฟุตบอล อาจจะทำได้ง่ายและแนบเนียนกว่า เพราะมีบุคคลที่จะร่วมการสมยอมจำนวนไม่มาก การพูดคุยกันเพียงไม่กี่คำ ไม่กี่ประโยคก่อนเริ่มเกมการแข่งขัน สามารถกำหนดผลลัพธ์ของเกมหมากรุกเกมนั้นได้อย่างง่ายดาย วิธีการก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน อันนี้คือในกรณีคู่แข่งขันให้ความร่วมมือหรือสมยอมนะครับ เรื่องจะง่ายมาก

เราจะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำหรือไม่ว่านี่ก็คือการโกงอีกรูปแบบวิธีหนึ่ง ผู้เล่นหรือผู้แข่งขันมีสิทธิ์ที่จะกระทำการในลักษณะนี้ได้โดยไม่มีความผิด หรือไม่ถูกตำหนิได้หรือไม่ ไม่ว่าจะอย่างใด แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการกระทำลักษณะนี้คือ การทำลายสำนึกและจรรยาบรรณของความมีหัวใจเป็นนักกีฬาลงอย่างราบคาบ ไม่ว่าผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายนั้นจะมีเหตุผลหรือข้ออ้างอื่นใด มากไปกว่านั้นก็คือการหลอกลวงผู้ชมที่เฝ้าชมเกมการแข่งขัน และคาดหวังว่าจะได้เห็นเกมการแข่งขันที่สนุกสนานมีคุณภาพ หรือถ้าจะพูดกันแบบภาษาวงการกีฬาก็คงจะเป็น “รายการมวยล้มต้มคนดู” นั่นเอง

ตัวผู้เขียนเองในฐานะที่เป็นผู้เล่น ยังไม่เคยมีประสบการณ์ตรงกับการถูกขอให้ “โยน” ผลการแข่งขันจากใครคนอื่น ข้อนี้อธิบายได้ง่ายๆ ว่า ผู้เขียนมีฝีมือในการเดินหมากที่ไม่สูง ไม่มีศักยภาพพอที่จะทำให้ใครต้องกังวล หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องเอาใจใส่ แต่ในฐานะที่เป็นโค้ชผู้ฝึกสอนหมากรุกในระดับเด็กประถมฯ ผู้เขียนเคยถูกขอให้สมยอมผลการแข่งขันในการแข่งขันหมากรุกไทยประเภททีมระดับประถมศึกษา จากเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นโค้ชผู้ฝึกสอนทีมหมากรุกไทยจากอีกโรงเรียนหนึ่ง โดยทีมของผู้เขียนทำคะแนนนำเป็นที่หนึ่งในการแข่งขันแบบประเภทพบกันหมด หรือ ราวด์ โรบิน (Round Robin)

การแข่งขันในรายการนี้ นอกจากจะเป็นการแข่งประเภททีม 3 คนแล้ว ตัวนักกีฬามือหนึ่งของทีม หรือผู้แข่งขันที่นั่งประจำบอร์ดที่หนึ่ง ก็จะมีการคิดคะแนนเฉพาะต่างหาก เพื่อมอบรางวัลพิเศษให้อีก นอกเหนือไปจากรางวัลประเภททีม ซึ่งผู้เล่นประจำกระดานที่หนึ่งของทีมโรงเรียนผู้เขียนก็สามารถทำผลงานได้ดี ทำคะแนนนำและทิ้งห่างจากผู้เล่นกระดานหนึ่งของทีมโรงเรียนอื่นๆ เพียงแค่ทำผลเสมอในรอบสุดท้ายก็จะคว้ารางวัลพิเศษสำหรับผู้แข่งขันประจำกระดานที่หนึ่งไปครองทันที

ก่อนจะเริ่มทำการแข่งขันในรอบสุดท้าย โค้ชก็พาทีมนักกีฬาเข้าไปส่งในห้องแข่งขัน พูดคุยให้คำแนะนำให้กำลังใจกันในขั้นตอนสุดท้าย ในจังหวะนี้เองที่โค้ชเพื่อนรุ่นน้อง ซึ่งทีมของเขาเป็นคู่ต่อสู้กับทีมของผู้เขียนเดินเข้ามาใกล้ แล้วชวนคุยถึงตัวนักกีฬามือหนึ่งของทั้งสองทีม ประมาณว่ากำลังสรุปสถานการณ์ของนักกีฬาให้ผู้เขียนได้รับฟัง และก็พุ่งเข้าประเด็นในการพูดคุยว่า นักกีฬามือหนึ่งของทีมผู้เขียนแค่เสมอก็คว้าตำแหน่งที่หนึ่งไปครองได้อย่างแน่นอนแล้ว ในขณะเดียวกันผลเสมอก็จะทำให้นักกีฬามือหนึ่งของทีมโค้ชรุ่นน้องจะได้อันดับที่สาม มีเหรียญรางวัลติดตัวกลับโรงเรียน ผู้เขียนรับฟัง แต่ไม่ตอบว่าอะไร สุดท้ายโค้ชรุ่นน้องก็พูดว่า นักกีฬาโรงเรียนของเขาคงสู้นักกีฬาโรงเรียนของผู้เขียนไม่ได้ แต่อยากให้ผลการแข่งขันออกมาเสมอกัน นักกีฬาของเขาจะได้มีกำลังใจที่จะร่วมทีมลงทำการแข่งขันในปีต่อๆ ไป

ตัวผู้เขียนเองนั้นตั้งธงเอาไว้ในใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะปฏิเสธไม่รับฟังข้อเสนออะไรทั้งสิ้น ถ้าจะมีการขอให้สมยอมผลการแข่งขัน เหตุผลที่สำคัญมากๆ หนึ่งข้อก็คือ เราจะบอกนักกีฬาของเราว่าอย่างไร มีเหตุผลอะไรที่จะขอร้องให้เขาไม่ทำการแข่งขันอย่างสุดฝีมือ ที่สำคัญกว่านี้คือ ถ้าผู้ปกครองของนักกีฬาทราบเรื่องนี้เข้า แล้วเรื่องราวรู้ไปถึงอาจารย์ฝ่ายกีฬาของโรงเรียน เชื่อได้ว่าตัวผู้เขียนในฐานะที่เป็นโค้ชผู้ฝึกสอนก็คงจะไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานนี้ต่อไปได้ คงจบเส้นทางการทำงานในสายอาชีพนี้อย่างแน่นอน

เหตุผลที่ตัวผู้เขียนตอบกลับไปนั้นก็ง่ายๆ ตรงๆ ชัดเจน คือ ผู้เขียนอ้างว่าถ้านักกีฬาไปเล่าเรื่องนี้ให้ผู้ปกครองหรืออาจารย์ได้รับรู้ ตัวผู้เขียนจะต้องเดือดร้อนอย่างแน่นอน คงจะไปพูดขอให้ไม่ได้

เรื่องนี้ผู้เขียนมองว่า ตัวนักกีฬามือหนึ่งของทีมโรงเรียนของโค้ชรุ่นน้องคงไม่รู้เรื่องเกี่ยวข้องอะไรแม้แต่นิดเดียว คงจะเป็นความคิดความอ่านของตัวโค้ชเพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่ว่าอย่างไรการสั่งสอนนักกีฬาเด็กเล็กระดับประถมให้รู้จักกับการสมยอมกันในการแข่งขันกีฬานั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด และผู้เขียนก็คิดว่าโค้ชที่ดีก็จะไม่บอกให้นักกีฬาของตนเองออมฝีมือ หรือลงทำการแข่งขันอย่างไม่เต็มที่ เพื่อจะแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์อะไรก็ตาม ถ้านักกีฬาของเรามีความสามารถมากพอที่จะคว้ารางวัลจากการแข่งขันมาครอบครอง รางวัลนั้นก็เหมาะสมและคู่ควร แต่รางวัลที่ได้มาจากการสมยอมกัน แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันนั้น จะมีใครให้การยอมรับชื่นชมและเชิดชูบ้างครับ?

มีการพูดคุยและถกเถียงกันอยู่มากในประเด็นเกี่ยวกับการจัดระบบการแข่งขันเพื่อที่จะต่อต้านการสมยอมผลการแข่งขันในหมู่นักกีฬา ซึ่งจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปหรือมีมาตรการในการรับมือกับปัญหาเรื่องนี้แต่อย่างใด

ระบบการแข่งขันที่นำมาใช้กันและเป็นที่ยอมรับนั้นมีอยู่ 3 ระบบใหญ่ๆ คือ หนึ่ง สะสมคะแนนแบบพบกันหมด สอง สะสมคะแนนแบบพบกันอย่างสุ่มด้วยคะแนนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน และแบบที่สาม แพ้คัดออก หรือแบบน็อกเอาต์นั่นเอง อาจจะมีบางรายการแข่งขันมีการออกแบบให้มีการผสมระบบการแข่งขันสองถึงสามแบบเข้าด้วยกัน ก็คงจะเป็นเรื่องของความต้องการให้มีความลงตัว หรือมีความเหมาะสมอย่างที่สุดของจำนวนผู้แข่งขัน และระยะเวลาในการแข่งขัน

มามองในเรื่องประเด็นการโยนคะแนนให้แก่กันในหมู่นักกีฬา กับการเลือกระบบการแข่งขันเพื่อที่จะขจัดและป้องกันปัญหาเรื่องดังกล่าว

การแข่งขันในระบบแบบพบกันหมด ระบบนี้จะใช้ไม่ได้เมื่อการแข่งขันรายการนั้นมีผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวนมาก เพราะจำนวนเกมการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในรายการจะมีจำนวนมาก ต้องใช้ระยะเวลาในการทำการแข่งขันที่อาจจะนานถึงเป็นสัปดาห์ หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนทีเดียว

ในเกมหมากรุก ถ้ามีผู้สมัครเข้าร่วมทำการแข่งขันในตัวเลขหลักร้อย นั่นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจัดให้มีการแข่งขันแบบพบกันหมด แต่ถ้าในหลักจำนวนไม่ถึงสิบคน ทางผู้จัดการแข่งขันก็จะเลือกจัดได้ เพียงแต่อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นแบบพบกันหมดแบบสองขา หรือ ทู เลกส์ ราวด์ โรบิน (2 Legs Round Robin) แต่ถ้าจำนวนผู้แข่งขันมีเพียง 3 ถึง 4 คน ซึ่งมีอยู่บ่อยๆ ในรุ่นการแข่งขันระดับเยาวชน ผู้จัดก็อาจจะเลือกใช้แบบพบกันหมดแบบสองขา ให้เหมาะสมกับจำนวนคนและระยะเวลาในช่วงทำการแข่งขัน

เมื่อจับตามองในประเด็นการโยนคะแนนให้แก่กันของผู้เล่นในระบบแบบพบกันหมดก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อผู้เล่นผู้แข่งขันมีจำนวนน้อย การโยนคะแนนจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด จะมีคำถามหรือข้อสงสัยจากผู้ชมหรือกรรมการต่อผลการแข่งขัน หรือวิธีการเดินหมากในเกมที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความสมเหตุสมผลสักเท่าไร ผู้แข่งขันในบางครั้ง ตกลงขอเสมอกันเมื่อเริ่มเกมการแข่งขันไปได้เพียงไม่กี่ตาเดิน ทางผู้จัดฯ จึงป้องกันด้วยการกำหนดระเบียบการแข่งขันไว้ว่า จะไม่มีการตกลงเพื่อขอผลเสมอในเกมการแข่งขันก่อนสี่สิบตาเดินหรือตลอดทั้งเกม

เว้นเสียแต่ว่า ลักษณะตำแหน่งของตัวหมากบนกระดานจะบังคับให้เสมอด้วยตัวของเกมเอง เช่น หมากอับหรือสเตลเมท (Stalemate) การเดินล้อหรือซ้ำตำแหน่งเดิม โดยผู้เล่นทั้งสองฝ่ายไม่ยอมเปลี่ยนการเดินหมากไปเป็นตาอื่น เพราะจะทำให้รูปหมากและสถานการณ์ตกเป็นรอง (Three times or Threefold Repetition) และการที่ทั้งสองฝ่ายเหลือกำลังตัวหมากบนกระดานจนไม่เพียงพอที่จะทำการรุกจนหรือเช็กเมทคิงของฝ่ายตรงข้ามได้

บางครั้งเจตนาในการโยนคะแนนให้แก่กัน ก็ถึงขั้นฝ่ายที่จะโยนคะแนนให้ไม่มาทำการแข่งขัน หรือมาถึงโต๊ะแข่งขันสาย เพื่อจะทำให้ตนเองตกเป็นรองในเรื่องของเวลา อย่างนี้ก็ดูจะแนบเนียนกว่า สบายใจกว่าที่จะต้องลงนั่งทำการแข่งขันแล้วหาวิธีที่จะยอมหรือโยนคะแนนให้โดยไม่ถูกตั้งคำถาม

คงต้องขออนุญาตมาว่ากันต่อในตอนหน้านะครับ ยังมีประเด็นที่ต้องพูดถึงเกี่ยวกับการโยนคะแนนให้แก่กันในระบบการแข่งขันแบบพบกันหมดอีกหลายเรื่อง และการโยนคะแนนในรูปแบบหรือระบบการแข่งขันแบบอื่นๆ พบกันในตอนต่อไปครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares