Link Copied!
โอลิมปิก2020

โอลิมปิก 2020 มหกรรมกีฬาเพื่อ IOC

อีกไม่ถึง 2 เดือน จะมีพิธีเปิด โอลิมปิก 2020 ที่เลื่อนมานานถึง 1 ปีเต็ม แต่ ณ วินาทีนี้ ยังคงมีแต่ความไม่แน่นอน เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยากให้เลื่อนหรือยกเลิกไปเสียเลย ในขณะที่ IOC กับรัฐบาลญี่ปุ่นยังยืนยันเดินหน้าจัดการแข่งขันตามกำหนดเดิม

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ยืดเยื้อยาวนานข้ามปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมากมายมหาศาล มีผู้ติดเชื้อกว่า 168 ล้านคน เสียชีวิตแล้วเกือบ 3.5 ล้านคน แม้จะมีวัคซีนสารพัดรูปแบบ ที่ออกมาเพื่อการหยุดยั้งเชื้อไวรัสตัวร้ายนี้โดยเฉพาะ แต่ในหลายประเทศสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง แม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่น ยังพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 4,000-5,000 คนต่อวัน จนกระทั่งล่าสุดแม้แต่ทางการสหรัฐฯ ต้องประกาศเตือนพลเมืองของตนเองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่นิมิตหมายที่ดีนัก ในช่วงอีกเพียงไม่ถึง 2 เดือนกรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2020

แต่ไม่น่าเชื่อว่าทั้งที่เวลาล่วงเลยมาจนถึงบัดนี้แล้ว โอลิมปิก 2020 ยังเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอน แม้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC กับรัฐบาลญี่ปุ่นของนายโยชิฮิเดะ ซูงะ ยืนกรานว่าถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติจะมีขึ้นตามกำหนดในวันที่่ 23 ก.ค.-8 ส.ค. นี้ หลังจากที่เลื่อนการแข่งขันมานานถึง 1 ปีแล้ว ท่ามกลางเสียงคัดค้านของบุคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ซึ่งผลการสำรวจของสื่อมวลชนหลายสำนัก ล่าสุดพบว่ามีชาวญี่ปุ่นที่ไม่อยากให้โอลิมปิก 2020 มีขึ้นในปีนี้หรือยกเลิกการแข่งขันไปมีสูงถึง 60-80 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งในกรุงโตเกียวและเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศอีกหลายเมือง เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังกระจายเป็นวงกว้าง และมีจำนวนผู้ติดเชื้อหลักครึ่งหมื่นต่อวัน จนทำให้ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นใกล้ถึงจุดเกินรับมือไหวแล้ว โรงพยาบาลขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่ส่วนนั่งรอของคนไข้และพื้นที่ว่างที่มี เพื่อขยายจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย ส่วนโรงพยาบาลนอกเขตเมืองหรือโรงพยาบาลขนาดเล็กต้องปฏิเสธการรับรักษาผู้ป่วยอาการรุนแรง ขณะที่เมืองใหญ่อย่างโยโกฮามาผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่มีเตียงรักษาในโรงพยาบาล ต้องนอนรอเตียงอยู่กับบ้านจนเสียชีวิตเกือบ 20 คน

ด้วยเหตุนี้มันจึงมีภาพน่าเศร้าใจที่นายแพทย์ของโรงพยาบาลในกรุงโตเกียวแขวนป้ายข้อความเรียกร้องให้ยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 โดยบอกว่า “ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหวแล้ว ขอให้แพทย์-พยาบาลได้หายใจหายคอบ้าง จัดโอลิมปิกตอนนี้มันเป็นไปไม่ได้” ขณะที่ชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่พอใจรัฐบาลที่ดูเหมือนจะดื้อรั้นดันทุรังที่จะจัดโอลิมปิก 2020 ให้จงได้ ทั้งๆ ที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ก็แทบไม่เพียงพอที่จะรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน แล้วรัฐบาลยังมีหน้าเปิดรับสมัครพยาบาลอาสาจำนวน 500 คนเพื่อทำหน้าที่ในช่วงเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกด้วย ทำเหมือนกับไม่ดูดำดูดีชีวิตชาวญี่ปุ่นเอง

ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะมีชาวญี่ปุ่นกว่า 3.5 แสนคน ร่วมลงชื่อสนับสนุนการยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ผ่านการณรงค์ทางเว็บไซต์ change.org ซึ่งถือว่ามีชาวญี่ปุ่นร่วมลงชื่อสนับสนุนจำนวนมากขนาดนี้ ภายในเวลาอันรวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org ของญี่ปุ่น พร้อมกับมีเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาลของนายซูงะว่า เลิกมองว่าชีวิตประชาชนคนธรรมดาเหมือนผักปลาได้แล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นสมควรต้องรับผิดชอบ ตั้งแต่กรณีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว “Go To Travel” จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่เมื่อปีที่แล้ว

และที่น่าตำหนิยิ่งกว่าเดิมในสายตาชาวญี่ปุ่นคือ การที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเร็วเกินไป เพราะต้องการเปิดทางให้เริ่มต้นการวิ่งแห่คบเพลิงโอลิมปิกตามกำหนดในเดือนมีนาคม จนทำให้ชาวญี่ปุ่นชะล่าใจ คิดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศดีขึ้นแล้ว ผลที่ตามมาคือเกิดการระบาดระลอก 4 และการที่รัฐบาลยังยืนยันที่จะจัดการแข่งขันโอลิมปิกตามกำหนดเดิม ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีความเสี่ยงที่อาจเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ เหมือนกับให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมากยิ่งกว่าความปลอดภัยในชีวิตของชาวญี่ปุ่นเอง

อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกทุกครั้ง ย่อมตั้งความหวังว่าโอลิมปิกซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ จะนำมาซึ่งรายได้จำนวนมากจากการท่องเที่ยว แต่มันไม่ใช่เหตุผลหลักในการเดินหน้าจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 อีกต่อไป เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงปิดประเทศไม่เปิดรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังยืนยันชัดเจนแล้วว่าจะไม่เปิดให้ผู้ชมชาวต่างชาติเข้าสนามแข่งขันอย่างแน่นอน แม้แต่ชาวญี่ปุ่นเองถึงตอนนี้ยังไม่แน่ด้วยซ้ำว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าชมการแข่งขันในสนามด้วยหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ในความเห็นของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ หากยกเลิกการแข่งขัน การขาดทุน 5-7 แสนล้านบาท จึงดูเล็กน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ถ้ามีการล็อกดาวน์กรุงโตเกียว หากเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก การมีทัพนักกีฬากว่าหนึ่งหมื่นคนมารวมตัวกัน โดยจะต้องสัมผัสกับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครโอลิมปิกชาวญี่ปุ่นราว 75,000 คนนั้น มันมีความเสี่ยงสูงเหลือเกินที่ทัพนักกีฬาต่างแดนจะนำเอาเชื้อโรคเข้ามาด้วย ไม่ว่า IOC และคณะกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขันจะแจกคู่มือการปฏิบัติตัวให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนก็ตาม ไหนจะสื่อมวลชนจากต่างแดนอีกจำนวนมากที่จะต้องติดตามมารายงานข่าวอีก

ไม่เพียงรัฐบาลญี่ปุ่นเท่านั้นที่ถูกกดดัน แม้แต่นักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นก็พลอยถูกหางเลขไปด้วย อาทิ ริคาโกะ อิเคเอะ เงือกสาวขวัญใจชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งหายจากโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย และเพิ่งผ่านการคัดเลือกลงแข่งฟรีสไตล์ 100 เมตรและผีเสื้อ 100 เมตร ก็ยอมรับว่าทำใจลำบาก เพราะในฐานะนักกีฬาที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลายอย่าง เพื่อคว้าโควตาลงแข่งในโอลิมปิก แต่กลับต้องถูกสาธารณชนเรียกร้องให้แสดงจุดยืนคัดค้านการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ด้วยการประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับตัวเองเท่าไรนัก แต่ในฐานะที่เพิ่งหายป่วยจากโรคลูคีเมีย ริคาโกะเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนร่วมชาติว่า เหตุใดจึงไม่ต้องการให้จัดโอลิมปิกในปีนี้ หรือให้ยกเลิกอย่างถาวรไปเลย

ส่วนนักกีฬาญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสมือ 2 ของโลกเชื้อสายเฮติ-ญี่ปุ่นก็ลำบากใจในการแสดงความเห็นถึงประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องนี้ เพราะการได้ลงแข่งกีฬาโอลิมปิกเป็นความฝันของเธอมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะการได้ลงแข่งในแผ่นดินเกิดของคุณแม่ยิ่งพิเศษขึ้นไปอีก แต่เรื่องความปลอดภัยในชีวิตก็สำคัญไม่แพ้กัน ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ในญี่ปุ่นยังคงรุนแรงแบบนี้ นาโอมิให้ความเห็นแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นว่า หากโอลิมปิกทำให้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นมีความเสี่ยง หรือรู้สึกไม่สบายใจ มันอาจถึงเวลาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาว่าโอลิมปิก 2020 สมควรมีขึ้นตามกำหนดหรือไม่

ขณะที่ ฮิเดกิ มัตสึยามะ นักกอล์ฟญี่ปุ่นคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เมเจอร์รายการ เดอะ มาสเตอร์ส เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า แน่นอนว่าหนึ่งในเป้าหมายของเขาคือการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพ แต่ยังสงสัยอยู่ว่าจะสามารถจัดการแข่งขันอย่างปลอดภัยได้จริงหรือไม่ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในญี่ปุ่นขณะนี้น่ากังวลมาก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก หรือถ้าจะบอกตรงๆ คือสถานการณ์มันเลวร้ายมาก

นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ มากกว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอย่างแน่นอน เพียงแต่มั่นใจว่าด้วยมาตรการพิเศษที่กำหนดขึ้นมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในช่วงระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้โดยเฉพาะ จะช่วยควบคุมไม่ให้สถานการณ์แพร่ระบาดในญี่ปุ่นทรุดลงกว่าเดิม แต่ยังคงออกตัวว่าการยกเลิกโอลิมปิกครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลขาดทุนจากการลงทุนลงแรงไปเกือบ 7 แสนล้านบาท และถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการยกเลิก แต่ก็ต้องฟัง IOC ผู้มีอำนาจชี้ขาดอีกด้วย

ถามว่าแล้วจุดยืนของ IOC คืออะไร? ดิก พาวด์ หนึ่งในบอร์ด IOC ยืนยันว่า ยังไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอะไรที่จะต้องยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 เพราะ IOC พอใจกับมาตรการต่างๆ ที่ฝ่ายจัดการแข่งขันของญี่ปุ่นเตรียมไว้ สำหรับการเป็นเจ้าภาพในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ใช่ว่า IOC ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากสาธารณชน แต่ต้องยอมรับว่าชาวญี่ปุ่นที่คัดค้านไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า IOC และฝ่ายจัดการแข่งขันมีมาตรการที่รัดกุมเพียงไร ปัญหาขณะนี้คือจะให้ผู้ชมเข้าสนามหรือไม่ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของเขาเชื่อว่าน่าจะอนุญาตให้ผู้ชมชาวญี่ปุ่นเข้าไปชมการแข่งขันในสนามได้อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ของความจุสนาม

ส่วนในกรณีที่ต้องยกเลิกการแข่งขันจริงๆ จะต้องเห็นพ้องต้องกันระหว่าง IOC กับฝ่ายจัดการแข่งขันของญี่ปุ่น หากฝ่ายญี่ปุ่นยกเลิกการแข่งขันเสียเอง หมายความว่าค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปทั้งหมด ญี่ปุ่นต้องแบกรับฝ่ายเดียว เพราะสัญญาที่เซ็นกันไว้กับ IOC ระบุไว้เช่นนั้น และที่สำคัญหากทั้งสองฝ่ายเห็นแย้งกัน IOC จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะเลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขันได้หรือไม่ ซึ่งทุกประเทศที่เป็นเจ้าภาพก็รู้ดีในช่วงก่อนการเซ็นสัญญา เพียงแต่ตอนนั้นฝ่ายญี่ปุ่นคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่แบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกีฬาโอลิมปิกถือเป็นขุมทรัพย์ของ IOC และในฐานะเจ้าของตัวจริงของกีฬาโอลิมปิก IOC จึงมีอำนาจเด็ดขาดที่จะยกเลิกการแข่งขันหรือไม่ ซึ่งตามเงื่อนไขแล้วมีข้อยกเว้นในกรณีสุดวิสัยจริงเช่นเกิดสงครามโลก หรือเกิดจลาจลในประเทศ IOC จึงจะอนุญาตให้ชาติเจ้าภาพยกเลิกการแข่งขันได้ เพราะจะทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเกิดอันตรายต่อชีวิต ซึ่งความจริงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ก็น่าจะเพียงพอที่จะยกเลิกการแข่งขันได้เช่นกัน แต่ดูเหมือน IOC จะไม่ให้น้ำหนักมากพอ เท่ากับรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอันมากมายมหาศาลหลักหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

และที่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยก็คือ หาก IOC ยอมให้ยกเลิกการแข่งขัน มีปัญหาเรื่องเงินสินไหมประกันตามมาอย่างแน่นอน เพราะ IOC ทำประกันโอลิมปิกไว้ทุกครั้ง ชาติเจ้าภาพก็ทำประกันไว้เพื่อลดความเสี่ยง เช่นเดียวกับสื่อมวลชนที่ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอด รวมทั้งบรรดาสปอนเซอร์หลักๆ ดังนั้นหากโอลิมปิก 2020 ถูกยกเลิกการแข่งขันจริง คาดว่าจะเป็นการจ่ายเงินสินไหมประกันการแข่งขันกีฬาที่สูงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมาเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นสำหรับญี่ปุ่นเองแล้ว อย่างไรเสียก็ต้องขาดทุนยับเยิน เพราะนอกจากค่าก่อสร้างและปรับปรุงสนามต่างๆ แล้ว ยังมีห้างร้านและโรงแรมมากมายที่ลงทุนเพิ่มเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

จริงอยู่ IOC ไม่ใช่องค์กรตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลกำไร แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับรู้ดีว่ารายได้จากโอลิมปิกแต่ละครั้ง เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสหพันธ์กีฬาเล็กๆ ที่ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เหมือนสหพันธ์กีฬานานาชาติใหญ่ๆ เช่น ฟีฟ่า, ไอบา หรือ ฟีบา ฯลฯ การจะยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิกจึงเป็นไปได้ยากมาก ที่ผ่านมามีเพียง 3 ครั้งที่มีการยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคือในปี 1916 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และปี 1940 กับปี 1944 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คนที่ตกอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในชั่วโมงนี้หนีไม่พ้นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ถูกบีบทุกทาง ทั้งจากชาวญี่ปุ่น สปอนเซอร์ในประเทศ และจากนักการเมืองฝ่ายค้าน

ก่อนหน้านี้นายโยชิฮิเดะ ซูงะ ที่รับไม้ต่อจากนายชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หวังไว้ว่าหากสามารถจัดโอลิมปิก 2020 ในปีนี้ได้อย่างราบรื่น จะเป็นการปูทางให้ตนเองชนะเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มวาระเป็นสมัยแรก เพราะนอกจากจะเป็นการประกาศให้ชาวโลกรับรู้ถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่มีต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นการยืนยันว่าประเทศญี่ปุ่นฟื้นคืนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิแล้ว เขาหวังเช่นเดียวกับที่นายอาเบะเคยหวังว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เหมือนเมื่อครั้งที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1964

แต่จนถึงจุดนี้คะแนนนิยมของนายซูงะลดลงเหลือเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ และมีเสียงเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งดังขึ้นทุกทีๆ นับวันการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียง และบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นลดน้อยลงเรื่อยๆ ดูเหมือนไม่มีใครอยากยุ่งกับเผือกร้อน ในช่วงที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิก 2020 แต่ดูจากท่าทีที่เขาจะให้แพทย์และพยาบาลจากกองทัพมาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงโอลิมปิกแทน หลังจากถูกด่าหนักจากการขอแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครจากโรงพยาบาลต่างๆ 500 คน เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า โอลิมปิก 2020 จะมีขึ้นอย่างแน่นอน

ทางเลือกอย่างเลื่อนการแข่งขันก็แทบเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะในปีหน้าจะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง จึงขึ้นอยู่กับว่าในช่วงไม่ถึง 2 เดือนที่เหลืออยู่นี้ IOC จะยังคงดึงดันให้จัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ต่อไปหรือไม่ ซึ่งจากท่าทีของ โทมัส บัค ประธาน IOC แล้ว เขายังคงยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ได้เลวร้ายมากพอที่จะต้องยกเลิกโอลิมปิก ซึ่งเปรียบเสมือนการดับความฝันของนักกีฬาจากทั่วโลกที่ทุ่มเทฟันฝ่าอุปสรรคมากมายกว่าจะคว้าโอกาสได้ลงแข่งโอลิมปิกสักครั้งหนึ่งในชีวิต

มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะ 73 เปอร์เซ็นต์ของค่าลิขสิทธิ์โอลิมปิก 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขัน หากยกเลิกการแข่งขันจริง รายได้ของ IOC จะสูญหายไป ชนิดที่คงไม่มีบริษัทประกันแห่งใดจ่ายสินไหมได้ครอบคลุมทั้งหมด โอลิมปิก 2020 จึงอาจเป็นโอลิมปิกเพื่อ IOC มากกว่าจะเป็นโอลิมปิกสำหรับชาวญี่ปุ่น ซึ่งจนถึงตอนนี้เพิ่งฉีดวัคซีนไปได้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชาชากร พวกเขาจึงอดรู้สึกหวาดหวั่นไม่ได้ว่า หากเกิดการแพร่ระบาดในช่วงการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 มันจะกลายเป็นหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เลยทีเดียว

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares