Link Copied!

ลมกรดไทยในเวทีโลก

เทพ 100 เมตรไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว กรีฑาประเภทลู่เป็นหนึ่งในกีฬาที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอย่างมาก

นักวิ่งระยะสั้นคนแรกที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ จนถึงนักวิ่งรุ่นเหลนก็คือ พลตรี อาณัติ รัตนพล ผู้นำทัพนักวิ่งไทยไปสู่เวทีโลก ด้วย​การเป็นนักวิ่งระยะสั้นคนแรกของไทยที่เคยเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ประเภท 100 เมตร

อาณัติ เริ่มต้นสร้างชื่อจากการคว้าเหรียญทองได้ในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ.1970)​ จากการวิ่ง 200 เมตร, 4×100 เมตร ซึ่งถือเป็นเหรียญทองเหรียญแรกของทัพนักกรีฑาไทยในเอเชี่ยนเกมส์ และยังได้เหรียญเงินในประเภทวิ่ง 100 เมตรอีกด้วย

อาณัติ ทำเวลาดีที่สุดในของตัวเองสำหรับการวิ่ง 100 เมตรไว้ที่ 10.10 วินาที ในการแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการที่เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2515 (1972) ที่เป็นรายการก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี (ข้อมูลจากเวบไซต์ World Athletics)

ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเขาได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันวิ่งระยะ 100 เมตร ในโอลิมปิก 1972 แต่เกิดอาการบาดเจ็บในการซ้อมเสียก่อน จึงทำให้ร่างกายไม่สมบูรณ์ และไม่ได้ไปร่วมแข่งขัน

แต่ในอีก 4 ปีต่อมา อาณัติ ได้กลับไปแก้ตัวในการวิ่ง 100 เมตรอีกครั้งในโอลิมปิก 1976 (พ.ศ. 2519) ที่ประเทศแคนาดา ซึ่งในคราวนั้นเขาเป็นนักวิ่งจากเอเชียเพียงคนเดียวที่ผ่านรอบควอลิฟายด์รอบแรก ก่อนจะไปจบที่รอบก่อนรองชนะเลิศ (รอบ 32 คน)

ส่วนในปี พ.ศ. 2516 อาณัติ ก้าวขึ้นสู้ความเป็นจ้าวลมกรดแห่งเอเชีย ด้วยการคว้าอันดับ 1 ประเภทวิ่ง 100 และ 200 เมตรในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย ที่กรุงมะนิลา

โดยในการแข่งขันครั้งนั้นเขาทำเวลาดีที่สุดของตัวเอง ทั้งในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตรในรอบคัดเลือก ด้วยเวลา 20.8 วินาที และ ในระย​ะ 100 เมตร เขาทำเวลาดีที่สุดที่ 10.00 วินาที (ข้อมูลจากเวบไซต์ World Athletics) แต่ไม่ได้นับเป็นเวลาอย่างเป็นทางการเนื่องจากมีความเร็วลม +5.1 m/s ซึ่งเกินไปจากที่กำหนด

ในปีต่อมา อาณัติตอกย้ำความเป็นจ้าวลมกรดแห่งเอเชียอีกครั้ง ด้วยการคว้าเหรียญทองมาสวมคอได้ทั้ง 3 ประเภทคือ 100, 200 และ 4×100 เมตร ในกีฬาเอเชียนเกมส์ พ.ศ. 2517 (1974) ที่ประเทศอิหร่าน

อาณัติสามารถรักษาแชมป์จ้าวเอเชียจากการวิ่ง 100 และ 200 เมตรในรายการกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย พ.ศ. 2518 (1975) ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ไว้ได้อีกครั้ง

ก่อนที่จะปิดฉากตำนานนักวิ่งของตัวเองด้วย 1 เหรียญทองและ 1 เหรียญทองแดงในเอเชียนเกมส์ 2521 (1978) จากการวิ่ง 4×100 เมตร และ 200 เมตรตามลำดับ

โดยสถิติวิ่ง 100 เมตรที่ดีที่สุด (Personal Best) อย่างเป็นทางการของ อาณัติ คือ 10.39 วินาที ทำได้ในปี พ.ศ. 2518 (1975)

::

โดยในกีฬาเอเชียนเกมส์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ.1974)​ ที่กรุงเตหะราน ซึ่งทัพกรีฑา​ทีมชาติไทยคว้าเหรียญทอง 4×100 เมตร มาครองได้นั้น

ในทีมวิ่งผลัดที่มี อาณัติ รัตนพล วิ่งเป็นผลัดสุดท้ายนั้น ยังมีนักวิ่งดาวรุ่งดวงใหม่ในผลัดที่ 2 ที่ชื่อ สุชาติ แจสุรภาพ อยู่ด้วย

สุชาติ ที่ได้เหรีย​ญเงิน 100 เมตรจากซีเกมส์ครั้งที่ 7 (ค ศ.1973)​ ซึ่งครั้งนั้นเป็นครั้งที่ อาณัติ ได้เหรีย​ญทองระยะนี้เป็นสมัยที่ 2

โดย อาณัติ ยังคว้าเหรียญทองในการวิ่ง 100 เมตร ในขณะที่ สุชาติ สามารถคว้าเหรียญทองแดงมาสวมคอได้อีกคน

ในโอลิมปิกปี 1976 (พ.ศ. 2519) สุชาติ และ อาณัติ เป็นตัวแทนประเทศไทยในการร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศแคนาดาในประเภท 100 เมตร และ 4×100 เมตร แต่ไปได้แค่รอบคัดเลือก​

อีก 2 ปีถัดมาในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2521 (1978) ที่กรุงเทพ สุชาติ กับ อาณัติ ร่วมกันคว้าเหรียญทอง 4×100 เมตร อันเป็นแชมป์ประเภทนี้ 3 สมัยติดต่อกัน

แล้วทั้งสองคนยังเป็นคู่แข่งกันในการวิ่ง 100 เมตรเช่นเดิม แต่ครั้งนี้ สุชาติ มาเป็นตัวแทนรับช่วงลมกรดในตำนานต่อจาก อาณัติ โดย สุชาติ ล้มรุ่นพี่ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกก่อนจะคว้าเหรียญทองมาครองได้ ต่อหน้ากองเชียร์คนไทยเต็มสนามศุภชลาสัย

จึงทำให้ สุชาติ ก้าวขึ้นมาเป็นนักวิ่งระยะสั้นขวัญใจคนใหม่ของคนไทยได้เต็มตัว ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว (1977) เขาแพ้ให้ อาณัติ​ ในกีฬาซีเกมส์​ครั้งที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นเหรียญทอง​ 100 เมตร สี่ครั้งติดต่อ​กันของ อาณัติ อีกด้วย

ก่อนที่ สุชาติ จะครองความเป็นลมกรดแห่งอาเซียน 3 สมัยติดต่อกัน ด้วยการคว้าเหรียญทอง​ระยะ 100 เมตร จากซีเกมส์​ครั้งที่ 10-13 (1979 1981 1983)​

จากนั้นในปี พ.ศ. 2522 (1979) สุชาติ ไปประกาศศักดาต่อในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการคว้าอันดับ 1 ในการวิ่ง 100 เมตร

โดยในรายการชิงแชมป์​เอเชีย​นี้ สุชาติ สามารถคว้าแชมป์วิ่ง 100 เมตรได้ 3 สมัยติดต่อกันคือ พ.ศ. 2522, 2524, และ 2526 อันทำให้ทีมกรีฑา​ไทยได้ครองแชมป์ วิ่ง 100 เมตรชาย ติดต่อกัน 5 สมัย (อาณัติ 2 สมัยในปี พ.ศ.2516 และ 2518) ** ไม่มีการจัดแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกในปี พ.ศ. 2520 **

สุชาติเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศรายการวิ่ง 100 เมตรในรายการกรีฑาชิงแชมป์โลก IAAF ติดต่อกัน 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2520, 2522 และ 2524 (1977, 1979, 1981)

แม้ว่าในเอเชียนเกมส์ พ.ศ. 2525 (1982) เขาจะได้เพียงเหรียญเงินจาก 4×100 เมตร และเหรียญทองแดงจากการวิ่ง 100 เมตร ก็ตาม

แต่ในปี พ.ศ. 2526 สุชาติก็กลับมาคว้าเหรียญทองเป็นเกียรติประวัติให้ตัวเองอีกครั้งจากรายการกรีฑาชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศคูเวต ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันตามที่ได้เกริ่นเอาไว้แล้ว

::

หลังเข้าสู่​ยุคโรยรา​ คนที่รับไม้ต่อจาก สุชาติ แจสุภาพ คือ สุเมธ พรหมณะ แต่น่าเสียดายที่ สุเมธ ไม่สามารถครองความยิ่งใหญ่ได้เหมือนรุ่นพี่ทั้งสองคน

แม้ว่าเขาจะได้เหรียญทองจากการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียในปี พ.ศ. 2526 จากการวิ่ง 200 เมตร แต่ในระยะ 100 เมตรเขาทำได้แค่การเป็นจ้าวอาเซียนเท่านั้น

ส่วนในกีฬา​ซีเกมส์​ หลังจากที่ทีมกรีฑา​ไทยเข้าสู่ยุคทองของ อาณัติ​ กับ สุชาติ​ จนทำให้ครองเหรียญทอง​ในระยะ 100 เมตร ได้ถึง 7 สมัยติดต่อกัน​ ตั้งแต่ซีเกมส์​ครั้งที่ 6 -​ ครั้วที่ 12 (1971 -​ 1983)

ไทยจึงมาพลาดเหรียญทอง​ระยะ 100 เมตรในซีเกมส์​ครั้งที่ 13 ซึ่ง สุเมธ ทำได้แค่เหรียญ​เงิน ก่อนจะกลับมาแก้มือได้สำเร็​จในครั้งต่อมา

จนกระทั่งมาถึงยุคของ เหรียญชัย สีหะวงษ์ ผู้เป็นเจ้าของสถิติประเทศไทยในการวิ่ง 100 เมตรอย่างเป็นทางการคนล่าสุดด้วยเวลา 10.23 วินาที ซึ่งทำไว้ในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ที่กรุงเทพ ในรอบคัดเลือก

**ก่อนที่ “บิว” ภูริพล บุญสอน จะทำลายลงได้ด้วยเวลา 10.19 วินาที **

หลังจากที่ เหรียญ​ชัย เปิดตัวจากซีเกมส์​ครั้งที่ 18 (1995) ด้วยการเป็นนักวิ่งเพียงคนเดียวที่กวาด 4 เหรียญทอง​ จากระยะ 100, 200, 4×100, 4×200 มาครอง

เหรียญ​ชัย ยังสอบผ่านการคัดเลือกเข้าไปแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก 1996 (พ.ศ.2539) ที่แอตแลนตา​ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยลงโทษแบนเขา เนื่องจากขาดวินัยในการฝึกซ้อมอย่างร้ายแรง ทำให้ไม่ได้ไปร่วมแข่งขัน

ส่วนในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนั้น เหรียญชัย ได้เพียงเหรียญเงินจากการวิ่ง 100 เมตรชาย แต่ก็ถือเป็นการกลับมาคว้าเหรียญรางวัลเอเชี่ยนเกมส์ในการวิ่งระยะสั้นเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี

กีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 14 เมื่อปี พ.ศ. 2545 (2002) ที่ปูซาน เกาหลีใต้ เหรียญชัย และเพื่อนๆ ร่วมใจกันวิ่งจนนำทีมไต้ฝุ่นไทยคว้าเหรียญทอง 4×100 เมตรมาครองได้สำเร็จ

หลังจากที่ทีมวิ่งผลัดไทยคว้าเหรียญทอง 4×100 ในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2549 และกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย พ.ศ 2550

จากนั้นทีมกรีฑาประเภทลู่ของไทยก็ซบเซา มีการเปลี่ยนถ่ายนักวิ่งระยะสั้นมาหลายรุ่นจนมาถึง จิระพงษ์ มีนาพระ ทีมชาติไทยก็กลับมาประสบความสำเร็จในประเภทวิ่งผลัด 4×100 เมตรที่สามารถคว้าอันดับ 1 ได้ในกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย ปี พ.ศ. 2562 (2019)

::

มาถึงปีนี้ (พ.ศ.2565) ปรากฎการณ์ “เทพบิว” ภูริพล บุญสอน ก็ช่วยเปิดประตูความหวังในการวิ่งระยะสั้นของไทยขึ้นมาอีกครั้ง

โดย ภูริพล หนุ่มน้อยวัย 16 ปี สามารถทุบสถิติวิ่ง 100 เมตร ของ เหรียญชัย ที่อยู่มานานกว่า 24 ปี ลงได้

แล้วยังสามารถทำลายสถิติตัวเองลงได้ด้วยเวลา 10.09 วินาที ซึ่งถือเป็นสถิติโลกสำหรับนักกรีฑาอายุน้อยกว่า 18 ปี จนสามารถคว้าอันดับ​ที่ 4 มาจากรายการกรีฑาชิงแชมป์โลกเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ประเทศโคลอมเบียที่เพิ่งจบลงไป

แฟนกรีฑา​ไทย รวมทั้งสมาคมกรีฑา​ ต่างรอให้ ภูริพล สะสมประสบการณ์ สร้างกล้ามเนื้อ ฝึกทักษะอีกสักหน่อย แก้ไขการออกตัวได้อีกนิด

ลมกรดระยะสั้นของเราที่ร้างลาจากความสำเร็จ​ในระดับสูง​กส่าซีเกมส์​มานานหลายสิบปี น่าจะได้ “เทพวัยรุ่น” ที่ชื่อบิว กลับมาสร้างความภาคภูมิใจกับคนไทยอีกครั้ง

#PlayNowThailand#khelnow#วิ่ง100เมตร

ป.ล. สถิติ 100 เมตร ของสี่ตำนาน

อาณัติ​ 10.39 วินาที​ (ปี 1975 อายุ 28) (สถิติโลกตอนนั้น 9.95 วินาที)​

สุชาติ 10.44 วินาที​ (ปี 1978 อายุ 27) (สถิติโลกตอนนั้น​ 9.95)

สุเมธ​ 10.36 วินาที (ปี 1987 อายุ 29) **รอคอนเฟิร์ม​** (สถิติโลกตอนนั้น 9.95)

เหรียญ​ชัย 10.23 (ปี 1998 อายุ 22) (สถิติโลกตอนนั้น 9.85)

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares