Link Copied!

จเร เจียระไน คนไทยคนแรกที่ผ่านควอลิฟายสู่ “ไอรอนแมน”

ตลอดประวัติศาสตร์การแข่งขัน “ไอรอนแมน” ไตรกีฬาระดับตำนานที่โคนา หมู่เกาะฮาวาย มีคนไทยเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เคยผ่านการ “ควอลิฟาย” เข้าสู่สนามแข่งขัน หนึ่งในนั้นคือ จเร เจียระไน ผู้จารึกรอยเท้าเอาไว้ให้นักกีฬาชาวไทยได้ก้าวตาม

1

การแข่งขัน “ไอรอนแมน” หรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า ไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปียนชิพ (Ironman World Championship) ได้รับยกย่องว่าเป็นทั้งกีฬาและเกมชีวิต จะมีบทสอบใดท้าทายขีดความสามารถของมนุษย์ได้เทียบเท่าการว่ายน้ำ-ขี่จักรยาน-วิ่ง ติดต่อกันเป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร

ผลของการว่ายน้ำ 3.86 กิโลเมตร

ขี่จักรยาน 180.25 กิโลเมตร

ปิดท้ายด้วยวิ่ง 42.195 กิโลเมตร เทียบเท่าระยะมาราธอน

ไอรอนแมนจึงเป็นกีฬาของ “คนเหล็ก” สมดังชื่อรายการ

ตลอดประวัติศาสตร์การแข่งขันไตรกีฬาระดับตำนานที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “อภิมหาโคตรไตรกีฬา” มีคนไทยเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เคยผ่านการคัดเลือกหรือ “ควอลิฟาย”เข้าสู่สนามแข่งขันที่โคนา หมู่เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

และหนึ่งในนั้น…ชายผู้ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมแข่งขันมีชื่อว่า จเร เจียระไน

2

โดยทั่วไปแล้วการแข่งขันวิ่ง หรือไตรกีฬารายการสำคัญๆ ใช่ว่าใครนึกอยากจะเข้าร่วมก็สามารถทำได้ แต่ต้องผ่านการคัดเลือกหรือควอลิฟาย ไม่ต่างอะไรจากการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกหรือฟุตบอลโลกที่นักกีฬาหรือทีมชาติต่างๆ จากทุกทวีปจะต้องผ่านการแข่งขันในรอบคัดเลือก ผู้ที่ผ่านบททดสอบทำเวลาหรือทำคะแนนได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้นถึงจะได้สิทธิ์เข้าสู่รอบสุดท้าย

ยกตัวอย่างฮุสตันมาราธอนที่สหรัฐอเมริกา เป็นรายการที่สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติหรือ IAAF ให้การรับรองว่าเป็นสนามควอลิฟายสถิติเพื่อคัดเลือกไปสู่โอลิมปิก

ผู้ผ่านการวิ่งรายการอัลตราเทรลเมาท์เทนฟูจิ (Ultra-Trail Mt.Fuji) ที่ประเทศญี่ปุ่น จะได้สิทธิ์สมัครแข่งขันเวสเทิร์นสเตตส์ วันฮันเดรดไมล์ เอนดูแรนซ์รัน (Western States 100-Mile Endurance Run) รายการวิ่งเทรลเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นตำนานของสหรัฐอเมริกา

การวิ่งบางรายการยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิ่ง “เก็บแต้ม” หรือ “เก็บสะสมคะแนน” เพื่อนำไปสมัครแข่งวิ่งรายการอื่นๆ อาทิ ผู้ทำเวลาได้ตามกำหนดในรายการเดอะ นอท เฟซ วันฮันเดรด ไทยแลนด์ (The North Face 100 Thailand) ในเมืองไทย จะได้รับ 2 คะแนนสะสมนำไปสมัครวิ่งแข่งรายการเดอะ นอท เฟซ อัลตราเทรล ดูมงบล็อง (The North Face Ultra-Trail Du Mont Blanc) ที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

3

รายการแข่งขันที่ทำให้ จเร เจียระไนได้เข้าร่วมรายการไอรอนแมนที่โคนา ฮาวาย คือ ฮาล์ฟไอรอนแมนที่ประเทศฟิลิปปินส์ จเรล่าว่า “ปีนั้นผมไปแข่งฮาล์ฟไอรอนแมนที่ฟิลิปปินส์ ได้อันดับที่ 4 ในกลุ่มรุ่นอายุ (หมายถึงช่วงอายุที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันเช่น 31-35 ปี หรือบางรยการก็แบ่ง 31-40 ปี) ได้สิทธิ์ไปแข่งไอรอนแมนที่โคนา”

นอกเหนือจากความปลาบปลื้ม ความรู้สึกตกใจคือสิ่งที่ตามมา เนื่องจากเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งของการร่วมแข่งขันรายการสำคัญระดับโลกรายการนี้หนีไม่พ้นเรื่องค่าใช้จ่าย

“พอรู้ว่าได้สิทธิ์ผมก็ตกใจ ทีแรกคิดว่าจะไม่ไป เพราะถึงจะได้สิทธิ์แต่ก็ต้องจ่ายเงินอยู่ดี”

ผู้ที่มีส่วนโน้มน้าวให้จเรตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้คือเพื่อนนักกีฬาชาวต่างชาติ “เพื่อนฝรั่งที่ไปด้วยกันบอกว่าคุณไม่ไปโคนาไม่ได้นะ นี่มันรายการสำคัญระดับโลก ไม่รู้เหรอว่าการได้สิทธิ์ไปแข่งรายการนี้มันยากแค่ไหน ถ้าไม่ไปครั้งนี้คุณอาจจะไม่มีโอกาสไปแข่งไอรอนแมนอีกเลยก็ได้ ถึงจะต้องใช้เงินมาก แต่คุณรู้ใช่มั้ยว่าไม่ใช่ใครมีเงินแล้วจะไปได้นะ เพราะตามกฎต้องผ่านการคัดตัว”

เป็นความจริงตามที่เพื่อนของจเรกล่าว การแข่งขันบางรายการใช่ว่ามีเงินค่าสมัครหรือมีปัจจัยในการเดินทางแล้วจะสามารถเข้าร่วมได้เสมอไป

เมื่อรับฟัง เปิดใจ และให้โอกาสตัวเอง จเรจึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไปร่วมรายการไอรอนแมนที่โคนา โดยที่เพื่อนชาวต่างชาติรับปากว่าจะเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายให้

“เพื่อนจ่ายค่าสมัครให้ซึ่งก็ค่อนข้างแพง รวมทุกอย่างแล้วประมาณสองหมื่นบาท ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อเพื่อนอยากให้ไป เลยขอสักครั้งในชีวิต ผมแค่ต้องไปแข่งและไปให้ถึงเส้นชัย อันดับไม่ต้องพูดถึงเพราะเขาคัดมาจากทั่วโลก”

4

8 ตุลาคม 2011 ณ โคนา หมู่เกาะฮาวาย จึงปรากฏชื่อและร่างกายของ จเร เจียระไนยืนอยู่ ณ จุดปล่อยตัวของ ไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปียนชิพในฐานะคนไทยคนแรกที่เข้าร่วมรายการนี้

ในปีดังกล่าวมีนักไตรกีฬาทั่วทุกมุมโลกลงสนามแข่งขันประมาณ 1,900 คน ผลการแข่งขันปรากฏว่าชายหนุ่มยอดนักไตรกีฬาจากเมืองไทยวัย 31 ปี ทะยานเข้าสู่เส้นชัยลำดับที่ 1,033 และได้ที่ 133 ในรุ่นอายุ ยังความปลื้มปีติให้กับเจ้าตัวและผู้สนับสนุนอยู่เคียงข้าง

จเรเล่าว่า “เราชนะผู้แข่งขันเกือบครึ่งหนึ่ง ดีใจที่เราไม่ได้ช้ากว่าฝรั่งสักเท่าไหร่ ได้ครึ่งหนึ่งก็ดีใจแล้ว”

อาจไม่ต่างจากก้าวแรกของ นีล อาร์มสตรอง ที่เหยียบย่างลงบนดวงจันทร์ การออกตัวและวิ่งเข้าสู่เส้นชัยของจเรไม่ต่างอะไรกับการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่

“สำหรับไอรอนแมนมันเกินลิมิตของความเหนื่อยยาก คือร่างกายมันโอเวอร์ไปแล้ว แต่ทำไมเรายังไปต่อได้ ก็ยังงงตัวเองอยู่เหมือนกัน นี่แหละที่บอกว่าคุณต้องมีใจเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ มีความมุ่งมั่นที่จะฝ่าไป มีความตั้งใจ คุณต้องไปเกินร่างกายของคุณ”

ก้าวเล็กๆ ของชายหนุ่มคนหนึ่ง คือการจารึกรอยเท้าให้นักไตรกีฬาชาวไทยได้ก้าวตาม

Total
0
Shares