“โฟล-โจ อัจฉริยะตัวแม่ หรือ แค่สารกระตุ้น” ในวงการกีฬาความสัมพันธ์ระหว่างนักกีฬากับโค้ช หลายคู่มักจะมีความแน่นแฟ้นผ่านรูปแบบต่างๆ ตามความสนิทสนมที่เกิดขึ้น
แต่สำหรับ บ็อบ เคอร์ซี โค้ชกรีฑาตาแหลมแห่ง University of California, Los Angeles (UCLA) กับ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ สามารถเป็นได้ทั้งโค้ช , เพื่อนแท้ และ ผู้สร้าง
โฟลโจ (Flo Jo) คือ ชื่อเรียกสั้นๆ ของตำนานนักวิ่งระยะสั้นของวงการกรีฑาโลก ที่กว่าชีวิตของเธอจะประสบความสําเร็จได้ เธอต้องเกือบแลกมาด้วยการเป็นผู้หญิงธรรมดาที่หาเช้ากินค่ำในระบบทุนนิยมตามชนชั้นล่างของประเทศโดยทั่วไป
โฟลโจเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ในฐานะนักกรีฑา และ ประสบความสำเร็จพอประมาณในฐานะนักกรีฑาคนนึงพึงจะได้รับในช่วงแรกๆ
ปี 1980 โค้ชบ็อบต้องนำเงินส่วนตัวมามอบให้โฟลโจเพื่อให้นำไปดำรงชีวิต จนมีเวลากลับไปเรียนต่อ และ มีเวลาซ้อมวิ่ง
เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่ใช่วันของเธอ โฟลโจจึงไม่ผ่านการคัดเลือกการวิ่งระยะ 100 เมตร เพื่อไปแข่งโอลิมปิกที่มอสโก
ในโอลิมปิกปี 1984 ที่ลอสแองเจลิส โฟลโจ คือเจ้าของเหรียญเงินวิ่ง 200 เมตรหญิง ซึ่งแน่นอนว่าคนจะไม่จำอันดับสอง ซึ่งสะท้อนผ่านพิธีรับเหรียญรองแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปรอบสุดท้ายปีล่าสุดได้เป็นอย่างดี
นักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษหลายคนเลือกที่จะดึงเหรียญรองแชมป์ออกจากคอ บางคนเลือกที่จะใช้มือรับตั้งแต่ตอนส่งมอบ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ภูมิใจ แต่เป็นเพราะว่าในวินาทีนั้นพวกเขาผิดหวังเกินจะรับไหว นั่นคือเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป
สำหรับนักกรีฑาธรรมดาทั่วไปอย่างโฟลโจ เธอภาคภูมิใจในความสำเร็จนั้นจนไม่มีวันจะลืม แม้เพื่อนร่วมชาติของเธอจะจำความสำเร็จของเธอไม่ค่อยได้ แต่กลายเป็นว่าเรื่องปากท้องในชีวิตของเธอบีบรัดจนเธอไม่สามารถไปต่อได้
ในวัย 25 ปี ถ้าให้เธอเลือกระหว่างการซ้อมเพื่อไปต่อ กับการทำงานหาเลี้ยงชีพ โฟลโจเลือกที่จะดำเนินชีวิตต่อไปเช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนปากกัดตีนถีบอีกหลายสิบล้านคน มากกว่าการเสี่ยงดวงในสิ่งที่ยังจับต้องไม่ได้
เธอไม่ได้สนใจว่าตัวเองคือเจ้าของพรสวรรค์ที่น้อยคนจะมี เธอสนใจแค่ปัจจัยสี่ที่แทบจะไม่เพียงพอ การเป็นพนักงานธนาคารธรรมดาๆ ที่หน้าเคาน์เตอร์รับฝากเงินอย่างไรก็ทำให้เธอมีกิน
แต่โฟลโจในสายตาของ บ็อบ เคอร์ซี ไม่เคยแปรเปลี่ยน เขามั่นใจในพรสวรรค์ของเธอ และ มั่นใจในสายตาของตนเอง
ปี 1980 เขาดึงเธอกลับมาเข้าลู่วิ่งได้ แล้วทำไมเขาจะทำมันอีกครั้งในปี 1987 ไม่ได้ล่ะ
โชคดีที่โลกนี้ยังมีตา และ มนุษย์โลกยังมีบุญพอ รวมทั้งศรัทธาที่โค้ชผู้มีบุญคุณกับนักกีฬาพรสวรรค์มีให้กัน โฟลโจจึงได้หันกลับมาเข้าวงการอีกครั้ง นี่จึงเป็นดั่งการวัดดวงชะตาของคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งอันที่จริงโชคชะตายังปราณีโฟลโจอยู่เสมอ เมื่อภรรยาของโค้ชบ็อบ คือ แจ็คกี จอยเออร์-เคอร์ซี ที่เป็นเพื่อนรักยอดนักสัตตกรีฑาระดับตำนานของเธอ และ ยังเป็นน้องสาวของ อัล จอยเนอร์ เจ้าของเหรียญทองเขย่งก้าวกระโดดจากแอลเอเกมส์ 1984 ที่ต่อมากลายเป็นสามีของโฟลโจในปี 1987 นี่เอง
อัลจึงเป็นทั้งพี่ชายของเพื่อนรัก , เป็นสามี , เป็นกำลังใจ และ เป็นโค้ชอีกหนึ่งคนของเธอ โฟลโจจึงมีพลังใจที่เปี่ยมล้นมากกว่าทุกครั้ง การซ้อมวิ่งที่เคยเป็นกีฬาอันงมงายด้วยศรัทธาอันแรงกล้าจึงบังเกิดขึ้น
สำหรับคนอเมริกันในวันนั้น แทบไม่มีใครจะกล้าคิดว่าอดีตนักวิ่งที่ปล่อยเนื้อปล่อยตัวจนเกินเส้นของนักกรีฑาจะกลับมาได้
แต่เป็นเพราะหัวจิตหัวใจของเธอ จากกำลังใจรอบข้าง และ จากพรสวรรค์ระดับเทพประทาน โฟลโจจึงทำได้เกินจริงยิ่งกว่าสิ่งที่ทุกคนคาดคิด
ในการวิ่งรอบคัดเลือกเพื่อหานักกรีฑาหญิงประเภท 100 เมตรเข้าไปแข่งขันที่โอลิมปิก โฟลโจทำลายสถิติโลก 10.76 วินาทีของ เอเวอรีน แอชฟอร์ด เจ้าของเหรียญทองที่แอลเอ ด้วยเวลา 10.49 วินาที
นั่นคือสถิติที่ยืนยงคงกระพันมานานนับ 33 ปี สถิติในวันนั้นเธอทำได้ทั้งที่มีสายลมพัดช่วยเพียง 0.00 เท่านั้น
โลกทั้งโลกจึงหันมาจับตามองเธอด้วยความตื่นตะลึง
ก่อนโอลิมปิกจะเริ่มเกิน 1 ปี เธอคือสาวแบงก์ร่างอวบที่ถูกคนรอบข้างรุมจับฝึกซ้อม
ก่อนโอลิมปิกจะเริ่ม 2 เดือน เธอคือม้านอกสายตาของสถาบันการจัดอันดับทุกสถาบันในการวิ่งรอบคัดเลือก
วันที่ 16 กรกฎาคม 1988 เธอคือ World record 100 metre
และ เดือนกันยายน 1988 โฟลโจเป็นราชินีลู่ทั้งประเภท 100 เมตร กับ 200 เมตร , เป็นเจ้าของ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน , เป็นเจ้าของสถิติโลก และ เป็นเจ้าของสถิติ โอลิมปิก ทั้ง 100 เมตร 200 เมตร
ไม่มีใครลืมนักวิ่งที่มาในร่างแฟชั่นนิสต้าจ๋า ทั้งชุดแข่งล้ำดีไซน์ , เครื่องหน้าเปี่ยมสีสัน , ทรงผมนำสมัย , สีเล็บฉูดฉาดบาดตา และ ท่วงท่าราวนางพญาของเธอลง
เมื่อมีคนถามว่าใครเป็นราชา 100 เมตร คนธรรมดาใช้เวลาคิดไม่นานก็จะเอ่ยชื่อ ยูเซน โบลต์ ออกมาได้
แต่ถ้าถามว่าใครคือราชินีลู่ระยะเดียวกัน หลายคนจะขมวดคิ้วคิด และ จะเลิกคิ้วถามว่าจริงสิ เมื่อได้ทราบชื่อเจ้าของสถิติ และ ระยะเวลาอันยาวนานที่สถิติคงอยู่อย่างคงกระพัน
ในปี 1988 เธอคือผู้หญิงที่เร็วที่สุดในโลก
แต่ปี 1998 เธอคือผู้หญิงที่แทบจะทุกคนที่รู้จักต่างพากันเอ่ยถึงด้วยความเสียดายว่าเธอลาจากเร็วเกินไป
แต่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีใครไวไปกว่าเธอ
::
แม้จะมีเสียงค่อนขอดว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะมีผู้หญิงวิ่งไวขนาดนั้นในวันที่เทคโนโลยี และ วิทยาศาสตร์ด้านการกีฬายังไม่รุดหน้าเท่าในปัจจุบันนี้
เธอจะต้องพึ่งพาสารกระตุ้นแน่ๆ เพราะด้วยสภาพปัจจัยทุกอย่างของยุคสมัยนั้น จะไม่มีวันที่จะผู้หญิงหน้าไหนจะวิ่งได้ต่ำกว่า 10.6 วินาที
เพราะในวันนี้ที่อุปกรณ์ในฟิตเนสพร้อม , โภชนาการพร้อม , รองเท้าพัฒนามาถึงขีดสุด รวมทั้งชุดวิ่งมากนวัตกรรมจากนักวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องอำนวย
เชลลี แอนน์ เฟรเซอร์-ไพรซ์ ลมกรดหญิงวัย 34 ปี จากจาไมก้า เพิ่งจะวิ่งได้แค่ 10.63 วินาที อันเป็นสถิติโลกอันดับที่ 4 ต่อจาก 3 อันดับแรกที่โฟลโจเคยสับเอาไว้
แม้ว่าหลังจากผ่านการตรวจสารกระตุ้นมากกว่า 10 ครั้ง จะยืนยันได้ว่าโฟลโจคือผู้บริสุทธิ์ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ข้อครหายังคงอยู่
ในการประกาศเลิกวิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1989 โฟลโจต้องพลาดการทำตามความฝันด้วยการไปวิ่งอีกครั้งที่บาร์เซโลน่าเกมส์ ปี 1992 ก็ยิ่งทำให้ข้อครหาเพิ่มมากขึ้นจากเดิม
แต่สำหรับเธอ นั่นเป็นการทิ้งหนึ่งฝันเพื่อไปวิ่งไล่ตามอีกหนึ่งความฝันในเส้นทางที่ไม่ไกลจากเดิม
ในลู่วิ่งเธอคือเจ้าแม่แฟชั่น ฝันใหม่ของโฟลโจจึงไม่เกินกว่าที่แฟนๆ จะคาดได้ เมื่อเธอหันหน้าเข้าสู่ความเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ , สร้างแบรนด์เครื่องสำอาง , ทำวิดีโอสอนให้คนออกกำลังกาย , เข้าสู่วงการบันเทิง และ เป็นภรรยากับเป็นคุณแม่อย่างเต็มตัว
จนกระทั่งเดือนกันยายน ปี 1998 ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ ถูกพบว่านอนเสียชีวิตบนเตียงนอนที่บ้านตัวเอง
คนในครอบครัวไม่ได้ติดใจกับสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยอาการลมชักจนหมดสติ เพราะทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าโฟลโจมีอาการนี้มานับตั้งแต่ตั้งครรภ์
แล้วยังเคยหมดสติด้วยการชักในขณะร่วมแข่งวิ่งมาราธอน อันเป็นเป้าหมายสุดท้ายในลู่วิ่งที่เธอวางเอาไว้ว่าจะคัดตัวจนได้ไปร่วมแข่งที่โอลิมปิกเมื่อปี 1996
เธอจากไปพร้อมกับคำชื่นชม และ ความคิดถึง
ส่วนในสายตาของคนช่างสงสัยก็จะยังคงเก็บงำคำกล่าวหาต่อไปมาจนถึงทุกวันนี้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่ายุคนั้นการตรวจหาสารกระตุ้นยังไม่มีความก้าวหน้าเฉกเช่นยุคนี้ ทั้งที่บิ๊กเบนคือเหยื่อที่ไม่รอดพ้นการตรวจจากห้องแล็บเดียวกัน
แจ็คกี จอยเนอร์ คือคนในครอบครัวที่ยืนเคียงข้างเธอตลอดมา และ ตอบโต้ทุกคำกล่าวหาว่ามาจากพวกไร้เกียรติจนขาดความเคารพเพื่อนของตน
เธอยังรับดูแลลูกสาวคนเดียวของเพื่อนรักที่มีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ แล้วได้เลี้ยงดูประดุจลูกแท้ๆ ของเธอเอง เธอรับปากกับร่างอันไร้วิญญาณของโฟลโจว่าพวกเราจะดูแล แมรี แก้วตาดวงใจวัย 6 ปี ให้ดีที่สุดด้วยชีวิตของพวกเราทุกคน
ร่างของโฟลโจลาลับพวกเราไปแล้ว แต่อีกหนึ่งวัฒนธรรมป็อบที่เธอสร้างขึ้นมาไม่เคยจางหายไปไหน
ทุกวันนี้วงการกีฬายังเดินหน้าสานต่อความเป็นไอคอนของเธอ ด้วยการผนวกวงการกีฬาให้เป็นหนึ่งเดียวกับแคทวอล์คผ่านทุกสีสันของเธอที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ยุค 80s
ขีดจำกัดในลู่วิ่งของโฟลโจยังคงเป็นหนึ่งจนยังไม่มีใครไปถึง
แต่ข้อจำกัดอันแสนจะจืดชืดแห่งความเป็นนักกีฬา ที่ถูกเธอดีไซน์จนกลายเป็นผู้ที่เปิดให้โลกได้รู้ว่านักกีฬาสามารถสร้างสรรค์ผลงานบนแคทวอล์คได้ ก็ยังคงไม่หยุดวิ่งเช่นเดียวกับความคิดถึงที่หลายคนยังมีให้เธอ
ขีดจำกัด กับ ข้อจำกัด ไม่เคยมีอยู่จริงตราบใดที่เราไม่เคยหยุดหวัง
แต่คนที่หยุดนิ่งไม่ไหวติงกับทุกสิ่งสิมีอยู่จริงแท้ๆ และ แน่นอน
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม