Link Copied!

4 ปี 16 ล้าน! ‘ส.กีฬาบริดจ์’ ได้ ‘ธ.กรุงเทพ-GPSC’ หนุน

“ธ.กรุงเทพ-GPSC” ร่วมหนุน “ส.กีฬาบริดจ์”ตามนโยบายส่งเสริมกีฬาให้เป็น Soft Power ของรัฐบาล “ชยวัฒน์ พิเศษสิทธิ์” นายกสมาคมฯวางแผนเชิงรุก ลุยพัฒนาและเพิ่มประชากรนักกีฬาบริดจ์ ในทุกกลุ่มอายุ ให้เกิน 1 ล้านคนให้ได้

ตามที่ รัฐบาล มีนโยบายในการสนับสนุน Soft Power ของประเทศไทย ด้านการส่งเสริมและพัฒนากีฬา โดยขอความร่วมมือการสนับสนุนจากรัฐวิสาหกิจภาคส่วนต่างๆ ในการสนับสนุนสมาคมกีฬาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 เพื่อให้สมาคมกีฬาต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุน สามารถวางแผนพัฒนากีฬาในระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลได้มีการจัดพิธีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พ.ค.67 ที่โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร สมาคมกีฬาบริดจ์แห่งประเทศไทย ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สมาคมฯ กับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน ) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GPSC โดยมี นายชยวัฒน์ พิเศษสิทธิ์ นายกสมาคมกีฬาบริดจ์ฯ, นางปริญดา มาอิ่มใจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร (มหาชน) ร่วมลงนาม โดยมี คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ประธานสหพันธ์กีฬาบริดจ์ เอเซียแปซิฟิก และนายกกิติมศักดิ์สมาคมกีฬาบริดจ์ฯ พร้อมด้วย นายพัฑฒิ บุณยสุขานนท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการสาธารณะ GPSC ร่วมเป็นสักขีพยาน ในส่วนของธนาคารกรุงเทพนั้น ได้ดำเนินการในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีผู้แทนเข้าร่วมในครั้งนี้ โดย GPSC และ ธ.กรุงเทพฯ จะให้การสนับสนุนสมาคมฯ ปีละ 2 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 4 ปี รวมการสนับสนุนทั้งหมด 16 ล้านบาท

นายชยวัฒน์ พิเศษสิทธิ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สมาคมฯ มีแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานเชิงรุก ทั้งเพิ่มปริมาณจำนวนนักกีฬาในระดับเยาวชน ประชาชนและผู้สูงอายุ โดยเน้นที่กลุ่มเยาวชน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนที่เล่นกีฬาบริดจ์กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศทุกภูมิภาค กว่า 3-4 แสนคน หากสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนที่ดีกว่านี้ เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีนักกีฬาบริดจ์เป็นล้านๆ คนทั่วประเทศ

นอกจากการเพิ่มจำนวนประชากรกีฬาแล้ว สมาคมฯ ก็ผลักดันให้มีการบรรจุกีฬาบริดจ์ในรายการแข่งขันต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันกีฬาบริดจ์ ได้รับการบรรจุในกีฬานักเรียนระหว่างโรงเรียน ของกรมพลศึกษา, กีฬาเยาวชนแห่งชาติ, กีฬามหาวิทยาลัย และชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ในระดับเยาวชน, กีฬาแห่งชาติชาติ, กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ส่วนในระดับนานาชาติ มีทั้งในระดับอาเซียน SEABF, ระดับเอเชีย APBF และในระดับโลก WBF นอกจากนี้ยังได้รับการบรรจุในซีเกมส์และเอเชียนเกมส์อีกด้วย

นายชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า การผลักดันให้กีฬาบริดจ์ได้รับการบรรจุในมหกรรมกีฬาต่างๆ นั้น ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคเป็นอย่างมาก เพราะกีฬาบริดจ์ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้จะเคยทำผลงานทั้งในซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ ที่ผ่านมา อย่าง ซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า สมาคมฯ มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งบุคลากรด้านกีฬาบริดจ์ของไทย ที่มีทั้งผู้ตัดสิน และฝ่ายเทคนิคต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญ ผ่านประสบการณ์การจัดการแข่งขันจนเป็นที่ชื่นชมและยอมรับจากนักกีฬาในประเทศสมาชิกเป็นอย่างดี แต่ก็น่าเสียดายที่ทางฝ่ายจัดการแข่งขันของซีเกมส์ ยังไม่พิจารณาให้กีฬาบริดจ์ ได้จัดการแข่งขันแต่อย่างใด

“แม้จะเจออุปสรรคมากมาย แต่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยกันผลักดันให้หน่วยงานรัฐเห็นถึงศักยภาพทั้งของสมาคมฯ และนักกีฬา และต้องขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนสมาคมฯ ทั้ง 2 องค์กร ที่เข้ามาเติมเต็มเรื่องงบประมาณ ผมและกรรมการบริหารจะจัดสรรงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้ง ธนาคารกรุงเทพ และ โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ สมาคมฯ จะนำเอางบประมาณดังกล่าวไปพัฒนากีฬาบริดจ์ของไทย ให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น สามารถทำผลงาน และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศต่อไป” นายกกีฬาบริดจ์ กล่าวทิ้งท้าย

Total
0
Shares