ถ้าจะนับคู่อริของทีมชาติอังกฤษในสายตาแฟนบอล และ บรรดาผู้เล่นทีมชาติ ขุนพลอินทรีเหล็ก, ทัพตราไก่ , ขุนพลวิสกี้ และ ทีมชาติฟ้าขาวเจ้าประจำ ย่อมเป็น 4 จำเลยอันดับต้นๆ สำหรับทีมสิงโตคำรามเสมอ
จนกระทั่งเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 ที่ อิตาลี บุกมาเอาชนะ อังกฤษ คว้าแชมป์ได้ถึงสนามเวมบลีย์
บรรยากาศก่อนเกมทั้งจากแฟนบอล และ ระหว่างนักเตะ ทัพอัซซูรี่ จึงสถาปนาขึ้นมาเป็นอริสำคัญสำหรับสิงโตคำรามอีกหนึ่งทีม
ไม่ว่าจะเป็น การเย้ยหยันจากคู่แกร่งอย่าง โบนุชชี - คิเอลลินี และ วาทกรรมกินใจอย่าง Football’s coming Rome ที่ชาวอิตาเลียนบรรจงสร้างขึ้นมาล้อเลียนโปรเจ็กต์ Football’s coming home ที่ชาวอังกฤษรอคอยมานานเกือบจะครบ 60 ปีแล้ว
ในแมตช์รอบคัดเลือกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024 ระหว่าง อิตาลี ที่เปิดเมืองเนเปิลส์ สวรรค์บนดินของ ดีเอโก มาราโดนา นักเตะยอดเยี่ยมตลอดกาลของโลก รับการมาเยือนของ ทีมชาติอังกฤษ
การที่สนาม สตาดิโอ ดีเอโก อาร์มันโด มาราโดนา รังเหย้าของนาโปลีที่ตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ Hand of god of Naples ผู้ที่เคยใช้หนึ่งมือ และ สองขาขยี้จน ทีมชาติอังกฤษ พ่ายแพ้ไป 2-1 เมื่อคราวฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 1986
นั่นจึงทำให้แฟนบอลอังกฤษรู้สึกอินกับแมตช์นี้ราวกับว่าเป็นแมตช์ที่สมควรต้องชนะให้ได้ แฟนบอลบางคนจึงไม่สนความเป็นความตาย หรือ จริยธรรม ด้วยการทำป้าย ดีเอโกอยู่ในโลง “Diego’s in a box” ขึ้นมา
แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ก็จะมีการอ้างเหตุผลว่า นี่คืออารมณ์ร่วมของการเชียร์เพื่อรองรับการกระทำของตน
ซึ่งในสายตาของคนทั่วไป การกระทำแบบนี้จึงไม่ได้ต่างไปจากการล้อเลียนถึงเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมอย่าง มิวนิค 1958, ฮิลส์โบโร่ 96 หรือ เฮย์เซล 1985
ฟุตบอล ไม่ใช่ สงคราม, การเมือง หรือ คู่ขัดแย้งแบบทั่วไป คุณจึงไม่สมควรนำเอาความตายในแวดวงนี้ไปเปรียบเทียบกับเหล่าฆาตกร, อาชญากร หรือ การก่อวินาศกรรมที่ส่งผลต่อผู้บริสุทธิ์ได้
ยิ่งเมื่อฟุตบอลอยู่ในยุคที่เรียกร้องหาความยุติธรรม, ยุติความรุนแรง และ ความเสมอภาค สิ่งไม่ดีต่างๆ เหล่านี้ยิ่งไม่สมควรเกิดขึ้นเลย
การล้อเลียนในเชิงสร้างสรรค์ หรือ การเหยียดหยามกันในเรื่องของผลงาน จึงไม่เท่ากับ การดูหมิ่นที่มีความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง