Link Copied!

จตุรมิตรสามัคคี” เวทีสร้างนักฟุตบอลทีมชาติไทย และสปิริตที่ไม่เคยเลือนหาย

ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งประกอบด้วยทีมคู่แข่งจาก 4 โรงเรียนชายล้วน ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย นอกจากได้ชื่อว่าเป็นรายการฟุตบอลนักเรียนที่เก่าแก่และโด่งดังที่สุดแล้ว ยังเป็นเวทีที่บ่มเพาะและสร้างนักฟุตบอลจากดาวรุ่งขึ้นมาสู่ทีมชาติได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ดังเช่น “เก่ง” อดิศร พรหมรักษ์ นักเตะกองหลังดีกรีทีมชาติไทย ปัจจุบันสังกัดทีมการท่าเรือ เอฟซี ก็เป็นอีกคนที่เคยผ่านความตื่นเต้นในสนามแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรมาแล้ว สมัยเขายังนุ่งชุดนักเรียนขาสั้นของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

“ครั้งแรกเลยที่ผมเห็นจตุรมิตร รู้สึกตื่นเต้นว่าทำไมคนดูเยอะขนาดนี้ ทำไมศิษย์เก่าหรือทุกคนมาดู ให้ความสำคัญเยอะขนาดนี้ ตอนนั้นผมอยู่ ม.2 เข้าเรียนปีแรกด้วย รู้สึกมันอลังการมากเลย เหมือนฟุตบอลอาชีพหรือบอลยุโรปที่คนดูแน่นสนาม ดูแล้วรู้สึกอยากลงไปเล่นในสนามด้วยในตอนนั้นเลย”

“ผมได้เป็นตัวแทนไปแข่งจตุรมิตรตอน ม.4 ตอนนั้นผมต้องแบกอายุ 2 ปี มีพี่โย่ง วรวุธ ศรีมะฆะ พี่เหนียว วัชรกร อันทะคำภู และคนอื่นๆ มาช่วยทำทีม เป็นโค้ช แล้วทุกๆ คนได้มาเก็บตัวด้วยกัน จำได้ว่าผมรู้สึกกดดันมากๆ เพราะต้องเล่นกับรุ่นพี่ เวลาซ้อมจะคิดว่าเราทำดีหรือยัง มีอะไรขาดตกบกพร่องมั้ย แล้วก็ได้มาเจอโค้ชที่เป็นตำนานอีก แต่ว่ารุ่นพี่ก็คอยสอนคอยแนะนำ ก็ได้มีโอกาสลงตัวจริงทุกครั้ง”

“พอผมได้ลงไปอยู่ในสนาม ตอนนั้นจำได้เลยว่าขาสั่นมาก ปากสั่น แบบทำอะไรไม่ถูก แล้วใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เห็นว่า โอ้โห ทำไมคนดูเยอะขนาดนี้ แล้วเสียงมันดังมากๆ เขาเชียร์กันดังมาก จนไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ตื่นเต้นมากๆ ครับ”

นอกจาก อดิศร พรหมรักษ์ แล้วยังมีนักฟุตบอลชื่อดังที่เป็นผลผลิตของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ อีกหลายราย เช่น ปกเกล้า อนันต์, ทศวรรษ ลิ้มวรรณเสถียร, เชาว์วัฒน์ วีระชาติ หรือย้อนขึ้นไปรุ่นก่อนอย่าง “โค้ชโย่ง” วรวุธ ศรีมะฆะ

ขณะที่โรงเรียนอัสสัมชัญก็เป็นแหล่งสร้างนักฟุตบอลอาชีพและทีมชาติเช่นกัน ไม่ว่า กิตติศักดิ์ ระวังป่า, อภิภู สุนทรพนาเวศ, ภานุพงศ์ วงศ์ษา, ประเสริฐ ช้างมูล

รวมถึง “โค้ชใหม่” สันติ ไชยเผือก นักเตะฝีเท้าดีอีกคนของเมืองไทยที่ผ่านการเล่นให้สโมสรฟุตบอลอาชีพหลายแห่ง ก่อนผันตัวไปทำงานโค้ช และปัจจุบันทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนของทีมศรีสะเกษ เอฟซี เล่าถึงประสบการณ์ประทับใจสมัยที่ตนเองลงเล่นฟุตบอลจตุรมิตรให้กับโรงเรียนอัสสัมชัญว่า

“ตอนนั้นผมอยู่ ม.5 ผมยังจำแมตช์แรกที่ตัวเองเล่นจตุรมิตรได้ ก็คือพบกับกรุงเทพคริสเตียน เราโดนนำอยู่ 1-0 แล้วมาได้จุดโทษ เราก็มองหาเพื่อนร่วมทีมว่าใครจะเป็นคนยิง มันเป็นช่วงท้ายเกมแล้ว เพื่อนบอกให้ผมเดินไปยิง ผมเป็นคนยิงตีเสมอ 1-1 ถ้ายิงไม่เข้าทีมอาจแพ้ในนัดเปิดสนาม ผมยังจำบรรยากาศวันนั้นได้อย่างดี…ในปีนั้นเราได้แชมป์ร่วมกับสวนกุหลาบครับ”

“นักฟุตบอลคนไหนก็แล้วแต่ที่ผ่านศึกฟุตบอลจตุรมิตร ผมเชื่อว่าด้วยบรรยากาศสนามบอล ด้วยเสียงเชียร์ต่างๆ ไม่ต้องกลัวอีกแล้ว คุณสามารถเล่นสนามไหนก็ได้ในประเทศไทย คุณสามารถยกระดับเล่นไทยลีกได้อย่างสบาย”

ด้านโรงเรียนเทพศิรินทร์ซึ่งครองแชมป์เดี่ยวของฟุตบอลจตุรมิตรครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 29) ก็ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจลูกหนังขาสั้นในยุคหนึ่ง เต็มไปดาวรุ่งฝีเท้าดีที่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่นักฟุตบอลอาชีพจนถึงทีมชาติ เช่น พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี, อนุรักษ์ ศรีเกิด, ไพฑูรย์ เทียบมา, ศุภชัย คมศิลป์

นอกจากรายชื่อข้างต้น ผู้รักษาประตูฝีมือดีอย่าง “คิว” ณัฐพงษ์ ขจรมาลี ปัจจุบันเฝ้าเสาให้ทีมหนองบัว พิชญ เอฟซี ในไทยลีก เป็นอีกคนที่เคยผ่านหลักสูตรฟุตบอลจากเทพศิรินทร์ ซึ่งหล่อหลอมตัวเขาให้เติบโตอย่างมีคุณภาพเพื่อก้าวสู่วงการฟุตบอลอาชีพ

“การเป็นนักฟุตบอลที่เทพศิรินทร์ตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 สิ่งแรกเลยที่ถูกปลูกฝังคือเรื่องระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา ไม่ว่าเราจะเก่งขนาดไหน ถ้าเราไม่มีระเบียบวินัย เราก็จบ แต่ถ้าเรามีระเบียบวินัย เราขยัน เราตั้งใจฝึกซ้อม ต่อให้เราไม่เก่ง สักวันเราจะเก่งและประสบความสำเร็จได้ นั่นคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเทพศิรินทร์ครับ เพราะว่ามันต้องทั้งเรียน ทั้งฝึกซ้อม ไม่มีเวลาเหลวไหลไปไหนเลย จะต้องมีสมาธิกับการเรียนและฟุตบอล เราต้องมีความอดทนและระเบียบวินัยอย่างมาก”

ส่วนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยก็ไม่น้อยหน้าโรงเรียนอื่น เมื่อดูจากรายนามนักเตะชื่อดังหรือตัวทีมชาติที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ เช่น ณรงค์ชัย วชิรบาล, ธีรเทพ วิโนทัย, ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น, อดิศักดิ์ ไกรษร, โชคทวี พรหมรัตน์, สุทธินันท์ พุกหอม

แบ็กซ้ายดาวรุ่งแห่งทีมการท่าเรือ เอฟซี อย่าง “แม็ก” จตุรพัช สัทธรรม ซึ่งมีพื้นเพเป็นเด็กต่างจังหวัด ได้เข้าเรียนที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในช่วง ม.5 เล่าว่าการได้ลงเล่นในฟุตบอลจตุรมิตรนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ส่งให้เขาได้ไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

“เป็นบอลนักเรียนที่คนดูเยอะที่สุด ลงไปตอนแรกผมทำอะไรไม่ถูกเหมือนกันนะ แบบเราตื่นคนดู เราเป็นเด็กด้วย แต่ก็สนุก มันเป็นรายการที่ใหญ่ครับ เป็นรายการที่ถ้าเราทำผลงานดี มันสามารถก้าวไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้เลย”

จตุรพัชขยายความว่า “เพราะในการแข่งขันจะมีแมวมองหลายคนมาดูด้วย หลังจบการแข่งขันจตุรมิตรมีสโมสรราชบุรีและชัยนาทติดต่อเข้ามา แต่ผมเลือกชัยนาท เพราะมองว่าตัวเองมีโอกาสลงเล่นมากกว่า เรียกว่าพอจบบอลนักเรียนปีแรกผมก็ขึ้นไทยลีกเลย ความรู้สึกบอกไม่ถูก มันเกินคาดมากๆ”

ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีมีกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี ที่สนามศุภชลาสัย ทว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทย ทำให้คณะกรรมการจัดงานของทั้ง 4 โรงเรียนมีมติร่วมกันว่า ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 ซึ่งเดิมกำหนดจัดในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นเจ้าภาพ ให้เลื่อนไปจัดการแข่งขันในปี 2565 แทน

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นเหตุสุดวินัย แต่คงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งสำหรับนักฟุตบอลของทั้ง 4 โรงเรียน โดยเฉพาะน้องชั้น ม.6 ที่พลาดโอกาสลงแข่งฟุตบอลจตุรมิตรครั้งนี้ เพราะหลายคนมุ่งหวังตั้งใจและเตรียมตัวอย่างดีเพื่อจะได้ลงแข่งขันฟุตบอลรายการนี้สักครั้งในชีวิต

คนหนึ่งที่เข้าใจความรู้สึกของน้องๆ นักฟุตบอลได้ดีก็คือ อดิศร พรหมรักษ์ เพราะเมื่อปี 2554 เขาเรียนอยู่ชั้น ม.6 กำลังจะได้เป็นตัวหลักเล่นฟุตบอลจตุรมิตร แต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ทำให้การแข่งขันต้องเลื่อนออกไป เขาจึงอยากให้กำลังใจนักเตะรุ่นน้องทั้งสี่โรงเรียน

“ช่วงนั้นผมก็พลาดเล่นจตุรมิตรเพราะมีน้ำท่วม แต่ในปีนี้เป็นเพราะโควิด ความรู้สึกเดียวกัน ก็อยากให้น้องๆ อย่าเสียใจไป เรายังมีทัวร์นาเมนต์อีกหลายๆ รายการ มีอีกหลายๆ โอกาส ให้เรามองไปข้างหน้า แล้วก็ตั้งใจฝึกซ้อมไว้ อยากให้น้องพัฒนาฝีมือตัวเองเพื่อไปสู่ฟุตบอลอาชีพครับ”

หลายคนอาจรับรู้กันแล้วว่า คราวนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีต้องถูกเลื่อนจัดการแข่งขัน แต่หากนับจากจุดกำเนิดในปี 2507 ไม่ว่าต้องพบกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ที่ทำให้ต้องสะดุด ฟุตบอลจตุรมิตรก็สามารถกลับมาได้เสมอ และสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว จากปัจจัยสำคัญคือสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นของพี่น้องร่วมสถาบัน และระหว่างผองเพื่อนทั้งสี่โรงเรียน ส่งทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ก่อเกิดเป็นพลังแห่งความสามัคคีที่ยั่งยืน

เวลาเพียง 1 ปีคงไม่นานเกินรอ เตรียมตัวพบกับการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 ในปี 2565 “แล้วเราจะพบกัน”

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares