Link Copied!

ดูบอลเป็นเรื่อง ความสำเร็จของปีศาจแดงกับนักเตะจากชาติเล็กๆ

บอลยูโรคราวนี้ผมแอบส่งใจเชียร์ทีมชาติเล็กๆ อย่างสกอตแลนด์ เวลส์ มาซิโดเนียเหนือ หรือฟินแลนด์ ให้สร้างตำนานไว้ให้ผู้คนจดจำได้อย่างทีมชาติเดนมาร์ก หรือทีมชาติกรีซอีกสักครั้ง

ที่ใช้คำว่าทีมชาติเล็กๆ ไม่ได้จะดูถูกทีมชาติใด ผมกำลังพูดถึงทีมชาติในยุโรปที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสมาเล่นในรายการใหญ่ๆ อย่างฟุตบอลโลก หรือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปบ่อยครั้งนัก นักเตะที่เล่นอยู่ในทีมชาติเหล่านี้หลายคนมีความสามารถสูง แม้จะไม่ถึงกับสามารถแบกทีมให้เข้ารอบลึกๆ ได้ก็ตาม แต่หลายคนก็เป็นกำลังสำคัญในระดับสโมสร ความจริงแล้วการแบกทีมชาติด้วยนักเตะเพียงหนึ่งหรือสองคนเป็นไปได้ยากมาก เพราะทีมชาติเป็นการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ที่ต้องเตะกันถี่ๆ ต้องอาศัยทีมเวิร์กมากกว่าความสามารถเฉพาะตัว มีตัวอย่างให้เห็นมากมายไม่ว่าจะเป็นนักเตะอัจฉริยะอย่าง ลิโอเนล เมสซี, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี, พาเวล เนดเวด หรือแม้กระทั่ง ดราแกน สตอยโควิช พวกเขาใช่ว่าจะแบกทีมชาติให้ประสบความสำเร็จได้เหมือนกับเล่นให้สโมสร

ในทางกลับกัน นักเตะจากชาติเล็กๆ ที่ไม่ค่อยได้เล่นรายการใหญ่ๆ นั้นมีประโยชน์สำหรับการทำทีมสโมสรมาก เพราะนักเตะเหล่านี้จะมีเวลาพักร่างกายระหว่างฤดูกาลได้เต็มที่ มากกว่านักเตะทีมชาติของประเทศที่ได้ไปแข่งขันรายการใหญ่เป็นประจำ สโมสรต้นสังกัดของนักเตะต้องปวดหัวกันเป็นแถว เมื่อมีอาการบาดเจ็บกลับมาจากการแข่งขันระดับชาติ การที่มีนักเตะในสโมสรติดทีมชาติเป็นผลดีในแง่ของมูลค่าและประสบการณ์ของนักเตะก็จริง แต่ก็ต้องเสี่ยงกับอาการบาดเจ็บซึ่งอาจจะมีผลต่อการทำทีมในฤดูกาลหน้า

ไม่รู้ว่าเป็นความคิดอันแยบยลเฉียบแหลมของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นความบังเอิญ หรือเป็นความคิดฟุ้งซ่าน มโนเอาเองของผู้เขียน จากสถิติของผู้เล่นทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดสมัยที่ท่านเซอร์ทำทีมนั้น มักจะมีนักเตะทีมชาติสกอตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ ไอร์แลนด์ และทีมชาติเล็กๆ อื่นที่ไม่ค่อยได้ไปเตะทัวร์นาเมนต์ใหญ่เป็นนักเตะตัวหลักของทีมอยู่ทุกๆ ฤดูกาล พอไม่ค่อยได้เตะทีมชาติในรายการใหญ่ ร่างกายของนักเตะเหล่านี้ก็ฟิตพร้อมอยู่เสมอ ไม่ค่อยมีอาการบาดเจ็บ ทำให้ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในยุคนั้นสามารถลุ้นถ้วยแชมป์ได้หลายรายการ

เริ่มต้นจากปี 1986-87 ที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นผู้จัดการทีม ทีมปีศาจแดงมีนักเตะต่างชาติจากประเทศเล็กๆ อยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เคลย์ตัน แบล็คมอร์ จากเวลส์, อาร์เธอร์ อัลบิสตัน และ กอร์ดอน สตรัคคัน จากสกอตแลนด์, พอล แม็คกรัธ, เควิน โมแรน และ แฟรงค์ สเตเปิลตัน จากไอร์แลนด์, นอร์แมน ไวท์ไซด์ จากไอร์แลนด์เหนือ รวมถึง เจสเปอร์ โอลเซน จากเดนมาร์ก ทั้งหมด 8 คนในทีมซึ่งท่านเซอร์ยังเก็บนักเตะเหล่านี้ไว้ใช้ต่ออีกอย่างน้อย 3 ฤดูกาล มีเพียง แฟรงค์ สเตเปิลตัน เท่านั้นที่ย้ายออกไปอยู่ไอแอกซ์ตอนจบฤดูกาล 1986/87 แต่ก็ได้ ไบรอัน แมคแคลร์ ศูนย์หน้าชาวสก็อตเข้ามาแทน

พอมาถึงปี 1989/90 แม้ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดครองแชมป์เอฟเอคัพได้ในปีนั้น แต่ในดิวิชัน 1 อยู่ที่อันดับ 13 ซึ่งในฤดูกาลนั้นมีนักเตะต่างชาติเหลือแค่ 3 คนคือ เคลย์ตัน แบล็คมอร์ กับ มาร์ค ฮิวจ์ส จากเวลส์ และ ไบรอัน แมคแคลร์ จากสกอตแลนด์เท่านั้น

หลังจากนั้นทีมปีศาจแดงก็เริ่มกลับมามีนักเตะจากเวลส์ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ เช็ก นอร์เวย์ ตรินิแดดและโตเบโก มาประจำอยู่ในทีม 5-7 คนในทุกปี (ยกเว้นปี 1995/96) แม้ว่าจะมีนักเตะอังกฤษหลายคนจาก Class of ’92 เข้ามาอยู่ในทีมแต่นักเตะอย่าง เดนิส เออร์วิน (ไอร์แลนด์), รอย คีน (ไอร์แลนด์), ไรอัน กิ๊กส์ และ มาร์ค ฮิวจ์ส (เวลส์) รวมทั้ง ไบรอัน แมคแคลร์ (สกอตแลนด์) ก็ยังยืนเป็นตัวหลักอยู่

ในปี 1998/99 ที่ทีมปีศาจแดงของท่านเซอร์ครองความยิ่งใหญ่คว้าทริปเปิลแชมป์มาครองนั้น ในทีมมีนักเตะต่างชาติจากประเทศเล็กๆ ถึง 7 คนโดยนักเตะอย่าง เดนิส เออร์วิน, รอย คีน, ไรอัน กิ๊กส์, ดไวท์ ยอร์ค, เยสเปอร์ บลอมควิสต์ ที่ไม่ได้เข้าแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1998 ส่วนนักเตะทีมชาตินอร์เวย์อย่าง โอเล กุนนาร์ โซลชา, รอนนี ยอห์นเซน, เฮนนิง เบิร์ก ก็ตกรอบ 16 ทีม ประกอบกับความโชคดีบนความโชคร้ายของทีมชาติอังกฤษที่ตกรอบ 16 ทีมมาเหมือนกัน นักเตะอย่าง เดวิด เบคแฮม, พอล สโคลส์, แกร์รี เนวิลล์, เท็ดดี เชอริงแฮม เลยได้พักเต็มที่ก่อนเริ่มฤดูกาลด้วย นี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลที่ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดประสบความสำเร็จอย่างสูงนอกเหนือจากความสามารถของท่านเซอร์และฝีเท้าของนักเตะ

การที่มีนักเตะจำนวนมากไร้อาการบาดเจ็บทำให้สามารถหมุนเวียนนักเตะเล่นแทนกันได้ และไม่ต้องลงทุนมากมาย แต่แน่นอนว่าการทำทีมในอดีตกับปัจจุบันนั้นต่างกัน เพราะการซื้อนักเตะเกรด A+ มาร่วมทีม อาจจะหมายถึงกำไรจากการขายเสื้อ หรือสร้างมูลค่าของสโมสรให้มากขึ้นตามด้วย ทว่าก็ต้องแบกความเสี่ยงจากการบาดเจ็บของนักเตะที่ต้องเล่นให้กับทีมชาติบ่อยครั้ง

หลังจากที่ได้ครองแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกในปี 1998/99 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็เริ่มปรับเปลี่ยนให้มีนักเตะจากทวีปอื่นๆ นอกเหนือจากยุโรปเข้ามาเพิ่มเติม เช่น ควินตัน ฟอร์จูน (แอฟริกาใต้), ฮวน เซบาสเตียน เวรอน (อาร์เจนตินา), ดิเอโก ฟอร์ลัน (อุรุกวัย), กาเบรียล ไฮน์เซ (อาร์เจนตินา), เอริค เฌมบา-เฌมบา (แคเมอรูน), พาร์ค จี ซอง (เกาหลีใต้), อันโตนิโอ วาเลนเซีย (อุรุกวัย), ฮาเวียร์ เฮอร์นานเดซ (เม็กซิโก) การมีนักเตะต่างชาติจากทวีปอื่นเป็นผลดีต่อการทำทีมแบบหมุนเวียนนักเตะ เพราะการแข่งขันระหว่างชาติในแต่ละทวีปนั้นแข่งไม่ตรงกัน ช่วยลดอัตราความเสี่ยงในเรื่องของการบาดเจ็บของนักเตะพร้อมๆ กันหลายคนลงไปได้ ในช่วง 13 ปีสุดท้ายการทำทีมของท่านเซอร์จึงมักมีนักเตะต่างชาติทั้งประเทศเล็กๆ และประเทศในทวีปอื่นๆ ที่เป็นตัวหลักในทีมอยู่ 6-10 คนต่อฤดูกาลเสมอ

เมื่อเปรียบเทียบกับการทำทีมของทีมร่วมเมืองในปัจจุบันจะเห็นว่าแตกต่างกัน เพราะแมนเชสเตอร์ ซิตี้นั้นเลือกใช้นักเตะที่เป็นแกนหลักในทีมชาติเป็นส่วนใหญ่ และเนื่องจากโรคระบาดโควิดทำให้การแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปเลื่อนมาจัดตรงกับฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอเมริกาใต้ช่วงปิดฤดูกาลปีนี้ด้วย เมื่อเปิดฤดูกาล 2021/22 มา นักเตะหลายๆ คนจากทีมเรือใบคงจะมีอาการเหนื่อยล้าบ้างถ้าประเทศของเขาเข้าไปรอบลึกๆ หรืออาจจะมีอาการบาดเจ็บรบกวนบ้างในช่วงต้นฤดูกาล นักเตะตัวหลักของทีมเรือใบสีฟ้าที่ติดทีมชาติอังกฤษ 4 คน ทีมชาติโปรตุเกส 3 คน ทีมชาติบราซิล 3 คน ทีมชาติสเปน 3 คน ทีมชาติเยอรมัน 1 คน ทีมชาติเบลเยียม 1 คน ทีมชาติยูเครน 1 คน ทีมชาติเนเธอร์แลนด์อีก 1 คน ต้องลงแข่งขันในยูโร 2020/21 และรายการโคปา อเมริกา มีเพียง ริยาด มาห์เรซ เท่านั้นที่ได้พัก

นี่อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินแชมป์ทั้ง UCL และพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้า คงต้องตามดูว่าทีมแพทย์และนักกายภาพบำบัดของสโมสรต่างๆ จะสามารถฟื้นฟูร่างกาย สร้างความฟิตให้นักเตะกลับมาพร้อมได้เร็วแค่ไหนในฤดูกาลที่จะถึงนี้

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares