Link Copied!

ในวันที่โลกใกล้สิ้นหวังยังมีโอลิมปิก 2020

แม้โอลิมปิก 2020 จะมีปัญหามากมาย แต่ด้วยสปิริตของนักกีฬาจากทั่วโลก โอลิมปิกครั้งนี้ช่วยเยียวยาจิตใจผู้คน เป็นชัยชนะยกแรกที่มวลมนุษยชาติมีต่อโรคระบาดโควิด-19

ต้องยอมรับว่าโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี หลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา น่าประทับใจไม่แพ้พิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน แม้โอลิมปิกครั้งนี้จะประสบปัญหามากมายหลายอย่าง แม้กระทั่งช่วงที่พิธีเปิดเริ่มต้นไปแล้ว แต่ยังคงมีสื่อมวลชนส่วนหนึ่งที่คาดการณ์ว่า การจัดมหกรรมกีฬาที่มีทัพนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนหลายหมื่นคนจากทั่วโลกมารวมตัวกันในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 อาจกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่สำหรับประเทศญี่ปุ่น

แน่นอนมีการติดเชื้อในโอลิมปิกบับเบิลหรือชุมชนโอลิมปิกตามความคาดการณ์จริง แต่จำนวนของผู้ติดเชื้อหลักร้อย (458 คน) ไม่ได้มากมายถึงขนาดจัดการแข่งขันต่อไปไม่ได้ หรือทำให้ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นต้องล่มสลายตามที่หลายฝ่ายเป็นกังวล และเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตามกำหนดที่เลื่อนมา 1 ปี แต่หลังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกผ่านไปไม่กี่วัน กระแสคัดค้านโอลิมปิกค่อยๆ เลือนหายไป ตรงกันข้ามโอลิมปิก 2020 กลับทำให้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ลืมเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ และความปลอดภัยในชีวิตไปได้อย่างน้อยก็ชั่วคราว

ไม่ใช่แต่กับเพียงชาวญี่ปุ่น สำหรับผู้คนทั่วโลกโอลิมปิกครั้งนี้ช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของผู้คนมากมายที่กำลังเผชิญกับความหดหู่ที่เกิดจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งปัญหาเรื่องปากท้อง ทั้งความวิตกกังวลเพราะไม่รู้ว่าตนเองและครอบครัวจะติดเชื้อไวรัสมหันตภัยเมื่อไรหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากโอลิมปิกครั้งนี้มีประเทศที่ได้เหรียญรางวัลมากเป็นสถิติถึง 94 ประเทศ รวมถึงประเทศที่เพิ่งได้เหรียญโอลิมปิกเป็นครั้งแรก เช่น เติร์กเมนิสถาน ซานมารีโน บูร์กินาฟาโซ โดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองครั้งแรก เช่น ฟิลิปปินส์ ที่ได้หนึ่งเหรียญทองจากยกน้ำหนักหญิง มันคือความสุขในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของคนทั้งชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่กรุงโตเกียวได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2020 ครั้งนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะใช้โอกาสนี้พลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจของประเทศให้กลับสู่เส้นทางที่เรืองรองอีกครั้ง โดยเฉพาะโอกาสด้านการท่องเที่ยว แต่โควิด-19 ทำให้แผนการทุกอย่างล่มสลายราวกับปราสาททรายถูกคลื่นซัด การลงทุนทั้งหมดที่ว่ากันว่าอย่างน้อยที่สุดคือ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่มีทางคืนทุนอยู่แล้ว และการที่ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ หมายถึงการลงทุนของห้างร้านต่างๆ ที่เตรียมการไว้รองรับนักท่องเที่ยวกลายเป็นเรื่องสูญเปล่าเช่นกัน

มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่ก่อนการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่พอใจรัฐบาลที่ดึงดันจะจัดโอลิมปิกให้จงได้ เพราะพวกเขามองว่าจะยังไงก็ได้ไม่คุ้มเสีย พลอยเกลียดไปถึงคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC ที่ยืนกรานไม่ให้เลื่อนการแข่งขันหรือยกเลิกโอลิมปิก 2020 อย่างเด็ดขาด แต่สุดท้ายกลายเป็น IOC และฝ่ายจัดการแข่งขันของญี่ปุ่นเองที่พิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขามีข้อมูลและแผนการรับมือโควิด-19 ที่ดีพอ ไม่ได้ตื่นตระหนกหวาดกลัวจนเกินเหตุ ถึงขนาดยกธงขาวยอมแพ้โควิด-19 ตามกระแสเรียกร้อง

แม้โอลิมปิก 2020 จะมีบรรยากาศที่แตกต่างจากโอลิมปิกทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะการแข่งขันเกือบทุกนัดไม่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าไปในสนาม และนักกีฬา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนจากทุกชาติ จะต้องปฏิบัติตัวตามกฎอย่างเคร่งครัด แข่งเสร็จก็ต้องกลับที่พักเลย ห้ามออกไปเที่ยวเตร่เฮฮาข้างนอก แม้กระทั่งเซ็กซ์ในหมู่บ้านนักกีฬาซึ่งเคยทำกันมาตลอดอย่างเงียบๆ ยังกลายเป็นของต้องห้าม ดูราวกับว่าโอลิมปิกครั้งนี้น่าจะเป็นโอลิมปิกที่ไร้สีสันที่สุด แต่สปิริตการแข่งขันในโอลิมปิกยังคงยิ่งใหญ่เสมอ จึงเกิดเรื่องราวแห่งความทรงจำขึ้นมากมาย

2 เหรียญทองกีฬาสตรีตสเกตบอร์ดที่เพิ่งบรรจุร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก ที่นักกีฬาเจ้าภาพคว้ามาได้โดย โมมิจิ นิชิยะ สาวน้อยมหัศจรรย์วัย 13 ปี และสุดหล่อ ยูโตะ โฮริโกเมะ รวมทั้งเหรียญเงินกระดานโต้คลื่นจาก คาโนอะ อิการาชิ ปลุกกระแสโอลิมปิกฟีเวอร์ให้กับชาวญี่ปุ่นได้ในเวลาเพียงไม่นาน ยิ่งทัพนักกีฬาญี่ปุ่นทำผลงานได้ดี แม้ไม่มีกองเชียร์เจ้าภาพเข้ามาให้กำลังใจ ชาวญี่ปุ่นยิ่งกระหายอยากสัมผัสบรรยากาศโอลิมปิกมากขึ้น เรียกว่าสะพานบางแห่งที่สามารถมองลงมาเห็นสนามแข่งขันจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ได้ จะมีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไปยืนดูแม้มันไกลจนแทบจะมองอะไรไม่เห็นเลยก็ตาม

แม้แต่เมืองไทยบ้านเรา ขณะที่ผู้คนต่างหดหู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องทุกวัน “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หนึ่งในความหวังเหรียญทองของทัพนักกีฬาไทยก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง สามารถคว้าเหรียญทองเทควันโดหญิงมาครองได้สำเร็จ ตั้งแต่วันที่ 2 ของการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ จากนั้นไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า กระแสโอลิมปิกฟีเวอร์กลับมาระบาดในบ้านเราได้อีกครั้ง ผู้คนกระตือรือร้นกับการติดตามลุ้นนักกีฬาไทยลงแข่งขันในกีฬาหลายชนิด โดยเฉพาะมวยสากลสมัครเล่นกับแบดมินตัน เรียกว่ากลบกระแสความขัดแย้งเรื่องคุณภาพวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

ชาวญี่ปุ่นหลายคนที่เคยแอนตี้โอลิมปิกในตอนแรก กลายเป็นขาประจำที่นั่งหน้าจอรอลุ้นการถ่ายทอดสดแทบทุกรายการที่เพื่อนร่วมชาติลงแข่ง หลายคนถึงกับบ่นเสียดายที่ไม่มีโอกาสเข้าไปนั่งให้กำลังใจนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นในสนาม ยิ่งแข่งนานวัน กลายเป็นว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่างตื่นเต้นกับผลงานของนักกีฬาทีมเจ้าภาพ แม้ในเชิงธุรกิจเจ้าภาพโอลิมปิกจะต้องขาดทุนมโหฬาร แต่ในด้านการกีฬาแล้ว ทัพนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นนอกจากจะเอาชนะใจเพื่อนร่วมชาติได้อย่างมหาศาล ยังทำสถิติคว้า 27 เหรียญทอง เป็นผลงานโอลิมปิกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์วงการกีฬาของญี่ปุ่นอีกด้วย

ไม่เพียงแค่นั้น IOC และฝ่ายจัดการแข่งขันของญี่ปุ่นยังสร้างความประทับใจตั้งแต่พิธีเปิดจนพิธีปิด โลกได้รับรู้คำศัพท์ใหม่อย่าง พิกโตแกรม (Pictogram) หรือการใช้ภาพสื่อแทนตัวอักษร ผ่านการแสดงละครใบ้ที่สนุกสนานตื่นตาตื่นใจในพิธีเปิด ถือเป็นโชว์พิธีเปิดที่ดีที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่โอลิมปิกเคยมีมา ประกอบกับการใช้เพลงจากการ์ตูนอะนิเมะและเกมคอมพิวเตอร์ของญี่ปุ่นที่คอการ์ตูนและเกมเมอร์ทั่วโลกคุ้นเคยกันดีมาใช้สร้างบรรยากาศที่คึกคัก ถือเป็นการโฆษณาอิทธิพลทางวัฒนธรรมอีกด้านหนึ่งของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี หลังจากปล่อยให้วัฒนธรรมแบบเค-ป็อปของเกาหลีใต้บดบังมานาน

หากสังเกตเจ้าภาพพยายามสื่อความหมายถึงสปิริตความเป็นหนึ่งเดียวกันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเน้นความเท่าเทียมของทุกเพศทุกวัยทุกเชื้อชาติ จึงมีการเลือกเอาเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน เขยญี่ปุ่นสมาชิกวง The Beatles มาใช้ในพิธีเปิด และจะมีอะไรบังเอิญประจวบเหมาะไปกว่าการที่ ทอม เดลีย์ นักกระโดดน้ำหนุ่มจากสหราชอาณาจักร สามารถคว้าเหรียญทองเหรียญแรกได้ในโอลิมปิกครั้งนี้อีกเล่า เพราะเดลีย์ที่ลงแข่งโอลิมปิกเป็นสมัยที่ 4 เป็นนักกีฬาคนแรกๆ ที่กล้าประกาศตัวว่าตนเองเป็นคนกลุ่มหลากหลายทางเพศ และแต่งงานแล้วกับผู้ชายด้วยกัน

แน่นอนไฮไลต์สำคัญที่สื่อถึงสปิริตนักกีฬาโอลิมปิกได้ดีที่สุด หนีไม่พ้นวินาทีที่ มูตาซ บาชิม นักกรีฑาจากกาตาร์ กับ จานมาร์โก ทัมเบรี จากอิตาลี ที่กระโดดสูงทำระยะดีที่สุดได้เท่ากันที่ 2.37 เมตร แต่ไม่สามารถกระโดดทำระยะสถิติโอลิมปิกที่ 2.39 เมตรได้ทั้งคู่ แทนที่จะกระโดดวัดกันแบบซัดเดนเดธครั้งต่อครั้ง ทั้งคู่ตัดสินใจขอครองเหรียญทองร่วมกัน และที่สำคัญทั้งคู่เป็นเพื่อนที่คุ้นหน้าคุ้นตากันมาตั้งแต่หนุ่มๆ เพราะเจอกันบ่อยๆ จากการตระเวนแข่งขันรายการต่างๆ เป็นการแสดงออกว่า ความเป็นหนึ่งหาใช่ชัยชนะสูงสุดของนักกีฬาไม่ แต่ชัยชนะที่แท้จริงคือมิตรภาพในสนามแข่งขัน ซึ่งเป็นสปิริตที่สำคัญอย่างหนึ่งของโอลิมปิกนั่นเอง

ต้องขอบคุณนายชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผู้ที่ผลักดันเต็มที่เพื่อให้โอลิมปิก 2020 มีขึ้นตามกำหนดเดิมที่เลื่อนมาได้ ความหวังของเขาที่ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าโอลิมปิกครั้งนี้คือชัยชนะของมวลมนุษยชาติที่มีต่อโควิด-19 ได้กลายเป็นจริงสมหวังดังใจเขาแล้ว แม้มันอาจเป็นเพียงชัยชนะยกแรกก็ตาม อานิสงส์จากความสำเร็จของทัพนักกีฬาญี่ปุ่นและการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนี้ ยังอาจทำให้นายโยชิฮิเดะ ซูงะ อดีตมือขวาของนายอาเบะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มีคะแนนนิยมตีตื้นขึ้นมาบ้างในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ครั้งใหม่

อีกคนหนึ่งที่หายใจหายคอได้เสียทีคือ โธมัส บาค ประธาน IOC นั่นเอง แม้ตอนแรกเขาจะถูกชาวญี่ปุ่นรังเกียจเดียดฉันท์ว่า เห็นแก่รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดโอลิมปิกมากกว่าจะคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของชาวญี่ปุ่น แต่ทุกคนลืมไปว่าในฐานะอดีตนักกีฬาเก่าและประธาน IOC บาคย่อมรู้ดีว่าการยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิก 2020 จะทำลายความฝันของนักกีฬาอีกมากมาย เพราะสำหรับนักกีฬาบางคน การได้ผ่านเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกคือเกียรติยศครั้งใหญ่ในฐานะนักกีฬาแล้ว ใช่ว่ามันจะมีความหมายต่อนักกีฬาที่มีลุ้นคว้าเหรียญรางวัลเท่านั้น หากโอลิมปิกถูกยกเลิก การทุ่มเทในรอบคัดเลือก และฝึกซ้อมอย่างหนักของนักกีฬาทุกคนคงกลายเป็นสิ่งสูญเปล่า

แม้โอลิมปิก 2020 จะเผชิญกับอุปสรรคที่ท้าทายมวลมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุด แต่ยังคงมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้ชนะ รวมทั้งหยาดน้ำตาของผู้แพ้ เหมือนโอลิมปิกทุกครั้งที่ผ่านมา สีสันและเรื่องราวแห่งความทรงจำมากมายที่เกิดขึ้น ช่วยสร้างกำลังใจและความหวังให้กับคนทั้งโลกว่า ในอนาคตอันใกล้มนุษยชาติจะต้องเอาชนะโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน โอลิมปิกเคยยกเลิกการแข่งขันเพียง 2 ครั้ง และทั้ง 2 ครั้งเป็นเพราะมนุษยชาติเกิดความแตกแยกจนเกิดสงครามโลก แต่ความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายด้วยความสามัคคี ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้ปิดฉากลงอย่างน่าประทับใจ ทำให้ผู้คนนับถอยหลังรอเวลาที่ได้ชมโอลิมปิกปี 2024 ที่กรุงปารีสอีกครั้ง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า โอลิมปิก 2020 ช่วยเยียวยาจิตใจให้กับผู้คนมากมาย ในวันที่โลกป่วยหนักและเต็มไปด้วยความหดหู่จากวิกฤติโควิด-19 ใช่ครับ กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ จริงๆ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares