กว่า 14 ปีบนเส้นทางลูกหนัง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ทุ่มหมดหน้าตัก ล่าแชมป์การแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพระดับสูงสุดของประเทศไทย
14 ปี สำหรับใครบางคนอาจสมหวังในหลายสิ่ง แต่สำหรับทีมฟุตบอลบางทีมอาจยังต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย เฉกเช่นสโมสรแห่งนี้
จุดเริ่มต้น…
22 มกราคม 2550 คือวันที่สมาคมกีฬาบางกอกกล๊าสได้รับอนุมัติการจัดตั้งจากหน่วยงานรัฐบาลอย่างเป็นทางการ และนี่ถือเป็นจุดกำเนิดของสโมสรฟุตบอล “บีจี ปทุม ยูไนเต็ด” หรือชื่อเดิม “บางกอกกล๊าส เอฟซี”
โดยในปี 2549 บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด ได้เริ่มจัดตั้งทีมฟุตบอลเข้าร่วมแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการ และได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในปีดังกล่าว
ทัวร์นาเมนต์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของสโมสรบางกอกกล๊าส คือ ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ง. 2550/51 ซึ่งสโมสรสามารถก้าวไปคว้าตำแหน่งรองแชมป์ และได้สิทธิ์เลื่อนชั้นไปเล่นในฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ค. ในปีต่อมา
ปี 2551 สโมสรได้จัดตั้งบริษัท บีจีเอฟซี สปอร์ต จำกัด เพื่อดำเนินการบริหารให้เป็นไปตามแนวทางที่เอเอฟซีกำหนด และลงแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ค. สามารถผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนแพ้สโมสรเจดับบลิว กรุ๊ป ไป 1-2 แต่ยังคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นไปเล่นในถ้วย ข.
จุดพลิกผัน…
ในช่วงเดือนมกราคม 2552 สโมสรบางกอกกล๊าส ได้ตัดสินใจ “เทกโอเวอร์” สโมสรธนาคารกรุงไทย ทีมในลีกสูงสุด (ไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก) ณ เวลานั้น ที่ได้ประกาศยุบทีม เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เอเอฟซีกำหนดในเรื่องการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ ทำให้สโมสรบางกอกกล๊าสได้ลงแข่งในไทยพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนั้นแทนทันที และได้ย้ายไปเช่าสนามเฉลิมพระเกียรติ คลอง 6 เป็นการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงลีโอ สเตเดียม
ในปีแรกบนลีกสูงสุด สโมสรบางกองกล๊าสทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการจบอันดับที่ 3
ปี 2553 สโมสรบางกอกกล๊าสได้ปรับปรุงลีโอ สเตเดียมเสร็จสมบูรณ์จนได้กลับมาเล่นในสนามแห่งนี้อีกครั้ง พร้อมทั้งส่งทีมเข้าแข่งขันฟุตบอล ควีนส์ คัพ และสามารถคว้าแชมป์มาครองด้วยการชนะอินทรีเพื่อนตำรวจ 4-1
จนกระทั่งปี 2557 บางกอกกล๊าส เอฟซี ประสบความสำเร็จได้แชมป์เมเจอร์แรกในประวัติศาสตร์สโมสร คือ “ไทยคม เอฟเอ คัพ” ด้วยการเฉือน ชลบุรี เอฟซี 1-0 ในรอบชิงชนะเลิศ ทำให้ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันระดับทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก แต่ไม่สามารถผ่านเข้ารอบแบ่งกลุ่มได้สำเร็จ
จุดเปลี่ยน…
ในปี 2561 สโมสรบางกอกกล๊าสได้มีการปรับพื้นสนามลีโอ สเตเดียม จากหญ้าเทียมมาใช้หญ้าจริง เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลในระดับเอเชีย
นอกจากนั้นยังปรับรูปลักษณ์ของตัวเองใหม่ในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ที่โลดแล่นอยู่บนลีกสูงสุด ทั้งการเปลี่ยนโลโก้รูปกระต่าย และสีหลักประจำทีมจากเดิมสีเขียวเป็นสีน้ำเงินแทน
แต่ดูเหมือนจะไม่ถูกโฉลก เมื่อสโมสรบางกอกกล๊าสต้องตกชั้นลงไปเตะในไทยลีก 2 ฤดูกาล 2562 เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เทกโอเวอร์มาจากสโมสรธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2552
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ฤดูกาล 2562 บางกอกกล๊าส เอฟซี ได้เปลี่ยนชื่อสโมสรใหม่ มาเป็น “บีจี ปทุม ยูไนเต็ด” เพื่อให้เกียรติจังหวัดที่อยู่มาร่วม 10 ปี และต้องการสร้างฐานแฟนบอลให้มั่นคงยิ่งขึ้น แต่ยังคงใช้สีประจำสโมสรและโลโก้อันเดิม เปลี่ยนแปลงแค่ชื่อในโลโก้สโมสรเท่านั้น
ย้อนกลับไปในช่วงที่สโมสรต้องตกชั้น แฟนบอลหลายคนแอบเป็นห่วงว่าพวกเขาจะสามารถเก็บตัวผู้เล่นแกนหลักของทีมเอาไว้ต่อไปได้หรือไม่ แต่สุดท้ายนักเตะส่วนใหญ่ก็ยังคงปักหลักอยู่ช่วยทีม ทำให้แทบจะไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมากมาย เพียงแค่เติมเต็มในสิ่งที่ยังขาดแล้วก็เดินหน้าไล่ล่าตั๋วเลื่อนชั้นกลับไปอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่อีกครั้ง
นอกจากตัวผู้เล่นที่ยังอัดแน่นด้วยคุณภาพแล้ว การได้ “โค้ชโอ่ง” ดุสิต เฉลิมแสน ที่เพิ่งพาตราด เอฟซี สร้างประวัติศาสตร์ทะยานสู่เวทีลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกแบบเซอร์ไพรส์ ยิ่งทำให้บีจีพียูแทบจะไม่มีจุดอ่อนในฤดูกาล 2562 ให้เห็น
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องชื่นชมคือ “หัวจิตหัวใจ” ของบอร์ดบริหารที่ออกมายืนยันกับแฟนบอลอย่างชัดเจนว่าจะมุ่งมั่นพาทีมกลับมายืนบนเวทีลีกสูงสุดอีกครั้ง และก็สามารถทำได้จริงอย่างที่พูดเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น
จุดมุ่งหมาย…
การกลับมาอยู่บนลีกสูงสุดอีกครั้งในชื่อใหม่ บีจีพียูไม่ได้หวังเพียงแค่อยู่รอด ทว่าเป้าหมายคือการคว้าโทรฟี่แชมป์ฟุตบอลถ้วยหนึ่งรายการ พร้อมหวังติด Top 5 บนตารางคะแนนไทยลีก
ก่อนการเดินทางครั้งใหม่จะเริ่มขึ้น บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ได้เสริมทัพสร้างความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะรายของ สุมัญญา ปุริสาย, วิคเตอร์ คาร์โดโซ รวมถึง ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ที่กลับจากการยืมตัวของ โออิตะ ทรินิตะ ภายใต้คอนเซปต์ “BGPU Immortal Warriors”
อย่างไรก็ตามการแข่งขันผ่านไปเพียงแค่ 4 นัด ไทยลีกเจอพิษโควิดเล่นงาน ต้องหยุดชะงักไปนานกว่า 5 เดือน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนโปรแกรมใหม่จากเตะจบในปีเป็นเตะข้ามปี แต่ปัญหาที่ตามมาคือนักเตะหลายรายมีสัญญาเหลือแค่สิ้นปี จึงมีการเปิดตลาดซื้อ-ขายอีก 2 รอบเป็นกรณีพิเศษ
ทว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจบวกโควิดยังระบาด ทำให้หลายทีมในไทยลีกต่างเจียมเนื้อเจียมตัว แต่สำหรับบีจีพียูกลับสร้างความฮือฮาด้วยการทุ่มคว้าตัว 2 ดาวเตะอย่าง สารัช อยู่เย็น และ อันเดรส ตูเญซ มาเสริมทัพ เพื่อเตรียมพร้อมกลับมาเตะอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน พร้อมเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นในการลุ้น Top 4 คว้าตั๋วไปลุย ACL 2021
ด้วยขุมกำลังอัดแน่นด้วยนักเตะระดับคุณภาพ ทำให้บีจีพียูระเบิดฟอร์มเปรี้ยงปร้าง จนก้าวขึ้นมายึดตำแหน่ง “จ่าฝูง” ต่อเนื่องด้วยสถิติไร้พ่ายในเลกแรก ล่วงเลยมาถึงนัดที่ 16 ก่อนเจอโควิดเล่นงานอีกระลอก
อย่างไรก็ตามดูเหมือน “โควิด” จะไม่สามารถหยุดความมุ่งมั่นของ “เดอะ แรบบิท” ได้ เมื่อเปิดตลาดรอบสุดท้าย พวกเขาได้ทุ่มหมดหน้าตักคว้า 2 ดาวยิงชั้นนำอย่าง ดิโอโก หลุยส์ ซานโต และ ธีรศิลป์ แดงดา เพื่อคว้าแชมป์ไทยลีกมาครองให้ได้
ต้นเดือนกุมภา 2564 ฟุตบอลไทยลีกจะกลับมาเตะแบบปิดอีกครั้ง ซึ่ง ณ เวลานี้ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าบีจีพียูคือเต็งหนึ่ง.
กว่า 14 ปี สโมสรแห่งนี้ได้เข้ามาสร้างสีสันและร่วมพัฒนาให้กับวงการฟุตบอลไทย ด้วยระบบการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ
ขาดแต่เพียง “ถ้วยแชมป์ลีกสูงสุด” ที่ยังไม่มีอยู่ในมือเท่านั้น!!!…….
ในช่วงวิกฤติแบบนี้ “บีจีพียู” จะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า “การทุ่มหมดหน้าตัก” สามารถทำให้พวกเขาสมหวังได้หรือไม่?